10 เรื่องน่ารู้ของ "เกียวโต" ที่แม้แต่คนญี่ปุ่นเองยังงง
เกียวโต เมืองที่เป็นทั้งศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรม เป็นเมืองหลวงมานานกว่าพันปี แม้แต่ในปัจจุบันสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น วัด ศาลเจ้า สวน ปราสาทและโบราณสถานต่างๆ ยังคงดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศได้อย่างล้นหลาม และเต็มไปด้วยวัฒนธรรม ประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่อดีต หากคุณได้รู้จักและทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีดังกล่าว คุณจะสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาระหว่างการท่องเที่ยว และจะสามารถสัมผัสกับเสน่ห์อันลึกซึ้งและแท้จริงของเกียวโตได้ ในบทความนี้ นอกจากเรื่องของจารีตประเพณีแล้ว เราจะมาแนะนำ 10 เกร็ดความรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับเกียวโต มาเรียนรู้สิ่งที่เป็นความรู้ทั่วไปในเกียวโต และเพลิดเพลินกับเกียวโตเหมือนคนท้องถิ่นกันเถอะ
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
ทำไมเกียวโตถึงมีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์มากมาย?
กฎและประเพณีอันฝังรากลึกในเกียวโตทำให้แม้แต่คนญี่ปุ่นเองยังรู้สึกว่า "เกียวโตเป็นเมืองที่อยู่อาศัยยาก" สาเหตุของสิ่งนี้อาจหาคำตอบได้หากเราย้อนไปดูว่า หลังจากที่เกียวโตรุ่งเรืองในฐานะเมืองหลวงตั้งแต่ปี ค.ศ.794 เป็นเวลากว่าพันปี และมีการย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองเอโดะ (โตเกียวในปัจจุบัน) แล้ว ได้มีอะไรเกิดขึ้นบ้างกับเกียวโต
เกียวโตเมื่อครั้งยังเป็นเมืองหลวงนั้นเคยเป็นที่ที่ผู้คนและสิ่งต่างๆ จากทั่วประเทศมารวมตัวกัน และพัฒนาเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและวัฒนธรรม หลังจากที่ย้ายเมืองหลวงไปยังเมืองเอโดะแล้ว เกียวโตได้พัฒนาเป็นเมืองธุรกิจที่มีสถานที่ทำงานและที่อยู่อาศัยอยู่รวมกัน ผลของการพัฒนานี้ทำให้ชาวเกียวโตสร้างกฎการอยู่ร่วมกันอันแสนเป็นเอกลักษณ์ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีเสริมสร้างความสัมพันธ์และความไว้วางใจ หรือมาตรการที่ตั้งขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหา โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ชาวเกียวโตมีสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น
ในปัจจุบันเกียวโตได้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งจากคนในและนอกประเทศ แม้ว่าธรรมเนียมประเพณีบางอย่างจะเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีธรรมเนียมประเพณีอีกหลายอย่างที่ได้รับการถ่ายทอดและสืบสานกันมาจนถึงทุกวันนี้
1. ความเชื่อใจสำคัญกว่าเงินตรา กฎ "การปฏิเสธลูกค้าแปลกหน้า" คืออะไร?
แม้ว่าเกียวโตจะมีย่านการค้าและสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง แต่จริงๆ แล้วก็เป็นเมืองขนาดกะทัดรัดที่คุณสามารถปั่นจักรยานชมรอบเมืองได้ นอกจากนี้ยังมีร้านค้าเก่าแก่หลายแห่งที่เปิดดำเนินธุรกิจมานานหลายร้อยปี และมีผู้อยู่อาศัยจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกันมาหลายชั่วอายุคน ทำให้ความสัมพันธ์ของคนในเมืองค่อนข้างแน่นแฟ้น ส่งผลให้เรื่องเล่าทั้งเรื่องดีและไม่ดีแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
ด้วยเหตุนี้เองความสัมพันธ์และการไว้วางใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางธุรกิจ ความสัมพันธ์และความไว้วางใจระหว่างร้านค้าและลูกค้าถือเป็นปัจจัยอันดับหนึ่ง ดังนั้นในเกียวโตจึงมีการตั้งกฎที่เป็นเอกลักษณ์ขึ้นมา และหนึ่งในนั้นก็คือ "การปฏิเสธลูกค้าแปลกหน้า" นอกเสียจากว่าจะเป็นคนที่ได้รับการแนะนำมาจากลูกค้าที่ทางร้านรู้จักและเชื่อถือเท่านั้นถึงจะสามารถเข้ารับบริการได้ แม้ว่ากฎที่เคร่งครัดนี้จะค่อยๆ ผ่อนลงไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังมีร้านค้าจำนวนหนึ่งที่ยังคงเคร่งครัดกับกฎนี้อยู่
แม้จะเป็นเรื่องน่าผิดหวังสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ในแง่มุมของหลักการการทำธุรกิจให้มั่นคงนั้น คือให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ระยะยาวที่สร้างจากความสัมพันธ์ที่มั่นคงและความไว้วางใจมากกว่าผลประโยชน์ระยะสั้นที่อยู่ตรงหน้านั่นเอง แต่เมื่อไม่นานมานี้มีร้านค้าที่สามารถจองผ่านบริษัทท่องเที่ยวและจากโรงแรมหรือที่พักได้ก็เพิ่มมากขึ้น หากร้านไหนที่ยังใช้กฎที่กล่าวมาข้างต้นอยู่ ให้คุณลองเจรจากับทางร้านดูก่อน
2. การตอบ ใช่ หรือ ไม่ใช่ อย่างชัดเจนอาจเป็นปัญหา! หลีกเลี่ยงปัญหาด้วยการตอบแบบคลุมเครือ
อดีตเมืองหลวงกว่าพันปีอย่างเกียวโตต้องเผชิญกับสงครามและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมานับครั้งไม่ถ้วน ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้มีอำนาจอาจถูกขับไล่ได้ภายในชั่วข้ามคืน ในยุคบ้านเมืองไม่สงบจากภาวะสงคราม หากคุณให้ความใกล้ชิดสนิทสนมกับบุคคลใดมากเกินไป คุณก็อาจติดร่างแหได้เสมอเมื่อบุคคลนั้นล้มลง เพื่อเอาชีวิตรอดจากการติดร่างแหนี้ จึงก่อให้เกิดวัฒนธรรม "การพูดจาคลุมเครือ" ที่ไม่แสดงจุดยืนของตัวเองอย่างชัดเจนขึ้นมา
วัฒนธรรมการสื่อสารที่คลุมเครือนี้ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับชาวเกียวโต แต่ถือเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและเข้าใจยากสำหรับคนต่างถิ่น ยกตัวอย่างเช่น คุณเชิญคนเกียวโตมารับประทานอาหารร่วมกัน แล้วอีกฝ่ายตอบกลับมากว่า "ขอบคุณมากนะ ที่ชวนฉันมาทานข้าวบ่อยๆ" คุณจะรู้สึกอย่างไร? แน่นอนว่าคุณต้องคาดหวังว่ามันคือคำขอบคุณจริงๆ ของอีกฝ่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วอีกฝ่ายอาจกำลังบอกเป็นนัยว่า "ชวนฉันซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้จักเกรงใจบ้างหรือไง" แต่การปฏิเสธโดยตรงอาจทำให้ผู้ฟังเสียความรู้สึก จึงเลือกที่จะตอบอ้อมค้อมไปจนกว่าอีกฝ่ายจะยอมแพ้ไปเอง
ดังนั้น นอกจากรับฟังคำพูดแล้ว สิ่งสำคัญคือคุณต้องรู้จักการอ่านความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่แม้แต่คนญี่ปุ่นเองยังถือว่าเป็นเรื่องยากทีเดียว ในระหว่างการท่องเที่ยวหากคุณประสบกับปัญหาที่กล่าวมา ที่ไม่ว่าจะฟังอย่างไรคุณก็ไม่เข้าใจถึงเจตนาที่แท้จริงที่คนเกียวโตต้องการสื่อ ให้ลองถามคนรอบข้างหรือเจ้าตัวอย่างตรงไปตรงมาดู หากคุณถามอย่างสุภาพคุณจะได้รับคำตอบที่ชัดเจนอย่างแน่นอน
3. การเชิญกลับทางอ้อมด้วยบุบุสึเคะ (ぶぶ漬け)
บุบุแปลว่าชาในสำเนียงเกียวโต ดังนั้น บุบุสึเคะ จึงหมายถึงเมนู โอชะสึเคะ (ข้าวต้มสไตล์ญี่ปุ่น) นั่นเอง ในเกียวโตนั้นหากต้องการบอกให้ลูกค้ากลับโดยอ้อมๆ พนักงานจะถามว่า "Bubutsuke demo dou dosu? (รับบุบุสึเคะเพิ่มไหม?)" แต่หากตอบกลับไปว่า "Itadakimasu (รับ)" คุณจะได้รับสายตาเย็นชาพร้อมบรรยากาศที่แย่ลงกลับมาทันที
สาเหตุก็คือ การชวนให้สั่งบุบุสึเคะนั้นซ่อนความหมายเฉพาะของชาวเกียวโตว่า "กรุณากลับไปได้แล้ว" นั่นเอง
ประเพณีนี้ถือเป็นเรื่องที่ตลกและเป็นที่รู้กันดีในญี่ปุ่น นอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของชาวเกียวโตที่ชอบพูดจาอ้อมค้อมทำให้ยากที่จะเข้าถึงเจตนาที่แท้จริงของผู้พูดแล้ว ยังมีอีกทฤษฎีหนึ่งที่กล่าวไว้ว่า มันเป็นประโยคบอกลาที่แฝงความหมายดีๆ ว่า "จริงๆ แล้วอยากคุยต่ออีกนิด" ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หากคุณถูกถามคำถามดังกล่าว เพื่อความปลอดภัยจึงขอแนะนำให้ตอบว่า "Ie, sorosoro shitsureishimasu (ไม่เป็นไร ฉันกำลังจะกลับแล้ว)" ไว้ก่อน
4. กฎของคนเกียวโตในการใช้บันไดเลื่อนคือให้ยืนตามคนข้างหน้า
วิธีการขึ้นบันไดเลื่อนนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าในญี่ปุ่นก็มีความแตกต่างกันในแต่ละเมืองเช่นกัน ในญี่ปุ่นผู้คนมักเว้นด้านใดด้านหนึ่งของบันไดเลื่อนไว้สำหรับผู้ที่เร่งรีบและจะยืนเรียงหนึ่งที่อีกด้านหนึ่ง ในเมืองหลวงอย่างโตเกียวนั้นโดยปกติจะยืนทางด้านซ้ายและเว้นทางด้านขวาไว้ ส่วนในโอซาก้าจะยืนทางด้านขวาสลับกันกับโตเกียว ในภูมิภาคอื่นๆ ก็มีลักษณะคล้ายกัน โดยจะยืนฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
แต่สำหรับเมืองเกียวโตนั้นแตกต่างออกไป ที่นี่ไม่มีการกำหนดตำแหน่งยืน แต่จะยืนตามคนข้างหน้า ดังนั้นเวลาคุณขึ้นบันไดเลื่อนที่เกียวโตให้สังเกตว่าคนข้างหน้ายืนฝั่งไหนคุณก็ยืนฝั่งนั้น และที่สำคัญหากมีสัมภาระคุณควรตรวจให้แน่ใจว่ากระเป๋าเดินทางและสัมภาระของคุณไม่วางกีดขวางทางเดินของบันไดเลื่อน แม้จะมีกฎเกณฑ์พื้นฐานแต่สิ่งสำคัญคือการใส่ใจสิ่งรอบตัวและปรับเปลี่ยนไปตามสถาณการณ์นั้นๆ
5. รถบัสมาไม่ค่อยตรงเวลา
การคมนาคมในประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องของความตรงต่อเวลาเป็นอย่างมาก แต่เกียวโตต้องถือเป็นข้อยกเว้น เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ๆ อย่างโตเกียวและโอซาก้าแล้ว เกียวโตถือเป็นเมืองที่มีเส้นทางเดินรถไฟน้อยทีเดียว ในทางกลับกันเนื่องจากเส้นทางเดินรถบัสของเมืองนั้นครอบคลุมไปทั่วเมือง จึงถือเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากทุกวัน ไม่เพียงสำหรับคนในท้องถิ่นเท่านั้นแต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย ดังนั้นนี่จึงเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การเดินรถเกิดการล่าช้าเนื่องมาจากความไม่เข้าใจในการเปลี่ยนสายรถหรือการจ่ายเงิน หรือกระเป๋าเดินทางของนักท่องเที่ยวกีดขวางทางเดินบนรถ
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุคือ เกียวโตเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยงานประเพณีมากมาย เมื่อฤดูกาลของเทศกาลกิองเริ่มขึ้น ขบวนแห่มากมายจะจัดบนถนนใจกลางเมือง ซึ่งทำให้เส้นทางเดินรถอาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยต้องวิ่งอ้อม หรือติดอยู่กลางถนน ดังนั้นหากรถบัสที่คุณรอมาไม่ตรงเวลาก็ไม่ต้องตกใจ คุณอาจจะยืนรออีกสักหน่อย หรือคิดหาวิธีการเดินทางทางอื่นแทน
มีเส้นทางที่สามารถพาคุณไปยังจุดหมายได้ เราจึงขอแนะนำให้ศึกษาคู่มือ Subway / Bus Navi ให้ดีก่อนเพื่อการเดินทางที่ราบรื่น นอกจากนี้คุณอาจเจอสถานการณ์ที่รถสายเดียวกันมาถึงป้ายพร้อมกันเนื่องจากเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้นเช่นกัน
Subway / Bus Navi เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ (ด้านหน้า)
Subway / Bus Navi เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ (ด้านหลัง)
6. เกียวโตเมืองแห่งจักรยาน! ปั่นได้ทั่วเมืองเลาะได้ทุกซอกซอย
หากคุณไปเที่ยวเกียวโต เมื่อมองไปรอบๆ จะสังเกตเห็นว่าผู้คนส่วนมากเดินทางด้วยจักรยาน เมื่อเทียบกับโตเกียวแล้ว เกียวโตเป็นเมืองที่มีขนาดกะทัดรัดกว่า มีทางลาดน้อยกว่า และมีลักษณะถนนทำให้ขับด้วยจักรยานได้ง่าย เนื่องจากมีตรอกซอกซอยแคบๆ และถนนทางเดียวค่อนข้างมาก บวกกับเส้นทางเดินรถไฟที่น้อยและรถประจำทางในเมืองมักจะล่าช้าบ่อยครั้ง ทำให้การเดินทางด้วยจักรยานมีประสิทธิภาพมากกว่าการเดินทางโดยรถยนต์หรือระบบขนส่งสาธารณะ ดังนั้นชาวบ้านส่วนมากจึงเลือกใช้จักรยานในการเดินทางไปทำงาน เรียน หรือช็อปปิ้งมากกว่า
ในเกียวโตคุณจะพบเจอกับร้านเช่าจักรยานสำหรับขี่เที่ยวชมเมืองมากมาย โดยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานักท่องเที่ยวหันมาใช้จักรยานเป็นพาหนะมากขึ้น ตามวัดและศาลเจ้าส่วนใหญ่จะมีที่จอดรถจักรยาน และในเขตเมืองก็มีที่จอดจักรยานแบบเก็บเงินด้วยเช่นกัน
ในเกียวโตร้านค้าที่มีชื่อเสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านค้าทั่วไป หรือร้านขายงานฝีมือแบบดั้งเดิม ก็มักซ่อนตัวอยู่ในตรอกซอกซอยแคบๆ การเดินทางด้วยจักรยานจึงอาจทำให้คุณคุณจะได้พบเจอสถานที่ดีๆ ที่หลบซ่อนอยู่ก็เป็นได้
ราคาเช่าจักรยานนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 1,000 เยนต่อวัน หากได้ไปเที่ยวอย่าลืมลองเช่าจักรยานปั่นชมเมือง สัมผัสกับอากาศแสนสดชื่นในเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้ดูนะ รับรองได้ว่าจะต้องติดใจกับความอิสระนี้อย่างแน่นอน
7. ความจริงแล้วเกอิชาที่เห็นส่วนมากไม่ใช่คนเกียวโต
เกอิชาผู้สวมใส่กิโมโนสวยสง่าเดินอยู่ในเมืองนั้นสร้างบรรยากาศความเป็นเกียวโตได้เป็นอย่างดี แต่คุณรู้หรือไม่ว่าความจริงแล้วพวกเธอส่วนใหญ่เป็นคนที่ย้ายมาจากต่างถิ่นทั้งนั้น
เรื่องนี้มีที่มาอยู่ว่า การจะเป็นเกอิชาได้นั้นจำเป็นต้องผ่านการฝึกฝนในฐานะไมโกะ (เกอิชาฝึกหัด) มาก่อน และโดยทั่วไปแล้วจะจำกัดอายุการเป็นไมโกะไว้ที่ 15-20 ปี ส่งผลให้ผู้หญิงที่ใฝ่ฝันอยากเป็นเกอิชานั้นต่างต้องแยกจากครอบครัวที่บ้านเกิด และเดินทางมาเกียวโตเพื่อฝึกฝนร่วมกัน
การพบเกอิชาหรือไมโกะในตอนกลางวันนั้นเป็นไปได้ยากมาก และหากคุณมีโอกาสได้พบกับพวกเธอในตอนกลางวันก็ควรจะสำรวมกิริยา โดยปกติแล้วเกอิชาและไมโกะตัวจริงมักฝึกฝนศิลปะในเวลากลางวัน ทำให้โอกาสที่จะเห็นพวกเธอออกมาเดินตอนกลางวันนั้นมีไม่มาก เกอิชาและไมโกะที่เดินอยู่ในเมืองตอนกลางวันนั้นที่จริงแล้วจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มาสัมผัสประสบการณ์ลองเป็นเกอิชาหรือไมโกะเสียมากกว่า
ในกรณีที่คุณต้องการพบเกอิชาและไมโกะตัวจริง ขอแนะนำให้ให้ไปที่โรงน้ำชาในฮานามาจิ โดยค่าใช้จ่ายจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับจำนวนคน อาหารเครื่องดื่ม ค่าซื้อเวลาไมโกะหรือเกอิชา ค่าเช่าห้อง ฯลฯ โดยมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 20,000 เยนต่อคน แม้ราคาค่อนข้างสูง แต่ก็เป็นประสบการณ์อันมีค่าที่หาได้เฉพาะในเกียวโตเท่านั้น
สำหรับที่พักและร้านอาหารนั้นตามบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวต่างๆ มักมีโปรโมชั่นที่จัดให้ในราคาที่ไม่แพงสำหรับนักท่องเที่ยว ดังนั้นแม้จะเป็นการเที่ยวครั้งแรกคุณก็สามารถวางใจได้
8. ของฝากเกียวโตก็ต้องเป็นอาจาริโมจิ! รสชาติและราคาที่คนเกียวโตยอมรับ
อาจาริโมจิ (阿闍梨餅) ขนมขึ้นชื่อของเกียวโตที่วางขายตั้งแต่ปี ค.ศ.1856 เป็นขนมครึ่งสุกครึ่งดิบทำจากแป้งโมจิสอดไส้ถั่วแดงบดไว้อย่างเต็มปากเต็มคำ ถือเป็นของฝากจากเกียวโตที่ไม่ได้มีเพียงนักท่องเที่ยวเท่านั้นที่ซื้อ แต่ยังเป็นขนมที่แม้แต่คนเกียวโตเองยังชื่นชอบและชอบซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมืออีกด้วย
เคล็ดลับของความนิยมคือความอร่อยที่ไม่เปลี่ยนแปลงและวัตถุดิบที่คัดสรรมาเป็นอย่างดี ไส้ของขนมชนิดนี้มีความเฉพาะตัว ไม่เหมือนขนมอื่นๆ มีการคิดสูตรวัตถุดิบ รสชาติ รวมไปถึงกรรมวิธีการทำมาอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังมีข้อดีเป็นราคาแสนถูกอยู่ที่ชิ้นละ 119 เยน จากคติที่ว่าจะพยายามคงราคาเดิมไว้ให้มากที่สุด จึงเรียกได้ว่าเป็นขนมแห่งความไว้วางใจ คุณภาพดีราคาถูก แม้แต่คนเกียวโตเองที่ว่ากันเรื่องมากเรื่องรูปร่างภายนอก ก็สามารถนำไปเป็นของฝากได้อย่างสบายใจ
นอกจากร้านค้าที่ขายอาจาริโมจิโดยตรงแล้ว คุณยังสามารถหาซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้าและร้านขายของที่ระลึกหลายแห่งที่สถานีเกียวโต แต่ของฝากเหล่านี้จะขายดีเป็นอย่างมากในช่วงวันสุดท้ายของวันหยุดนักขัตฤกษ์ ดังนั้นควรเช็ควันให้ดีและรีบไปซื้อไว้ก่อน
9. สถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ถูกมองข้าม ความจริงที่ว่าคนเกียวโตไม่ค่อยรู้เรื่องท้องถิ่น
เกียวโตเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์มากมายตั้งอยู่ภายในตัวเมือง นอกจากนี้ วัด ศาลเจ้า และปราสาททั้งหมด 17 แห่งของเกียวโตถือเป็น "อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เกียวโตโบราณ" ที่ได้รับการลงทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก โดยมีศาลเจ้าประมาณ 800 แห่งและวัดประมาณ 1,700 แห่งในเมืองเกียวโต นอกจากนี้ เนื่องจากเกียวโตรุ่งเรืองในฐานะเมืองหลวงมานับ 1,000 ปี ทำให้มีสถานที่ชื่อดังอยู่ทั่วตัวเมือง ตัวอย่างเช่น ถนนและร่องรอยอาคารที่เคยมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้น
แต่อย่างไรก็ตาม คนที่เกิดและเติบโตในเกียวโตมักไม่ค่อยตระหนักถึงเรื่องราวเหล่านี้เท่าไรนัก อาจเป็นเพราะคนเหล่านี้มองเห็นสิ่งปลูกสร้างที่มีมาตั้งแต่โบราณอยู่ทุกวัน ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะตระหนักว่าศาลเจ้าและวัดที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จนได้ปรากฏอยู่ในหนังสือเรียนนั้นน่าทึ่งขนาดไหน เหมือนกับที่มีคนกล่าวไว้ว่าคนที่เกิดในโตเกียวนั้นไม่เคยขึ้นโตเกียวทาวเวอร์มาก่อน
สำหรับนักท่องเที่ยว เกียวโตเป็นเมืองที่น่าค้นหาและเต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ในประวัติศาสตร์อันเลื่องชื่อ หรือร้านลึกลับในซอกซอยต่างๆ ดังนั้นวางแผนการเที่ยวของคุณให้ดี และเพลิดเพลินไปกับมนต์เสน่ห์ของเกียวโตที่แม้แต่คนเกียวโตเองอาจยังไม่รู้จักกันเถอะ
10. สภาพอากาศที่ต่างกันสุดขั้วของหน้าร้อนและหน้าหนาว
เกียวโตตั้งอยู่ในพื้นที่เป็นแอ่งล้อมรอบด้วยภูเขาและที่ราบสูง ทำให้มีปริมาณฝนน้อยและสภาพอากาศระหว่างฤดูร้อนกับฤดูหนาว กลางวันกับกลางคืน แตกต่างกันเป็นอย่างมาก ในฤดูร้อนลมที่พัดผ่านจะถูกปิดกั้นด้วยภูเขาที่ล้อมรอบเมือง ทำให้เกียวโตมีสภาพอากาศร้อนชื้นและแดดแรง ส่วนในฤดูหนาวพื้นที่ที่เป็นแอ่งจะกักเก็บความหนาวเอาไว้ ความเย็นจากใต้พื้นที่เล่นจากฝ่าเท้าขึ้นมาทำให้หนาวไปถึงกระดูกเลยทีเดียว
ด้วยสภาพอากาศของเกียวโตเช่นนี้ ทำให้ผู้คนสรรหาวิธีการต่างๆ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในทุกฤดูกาล เช่น ในฤดูร้อนคนที่นี่มักเปลี่ยนปลอกของเบาะรองนั่งให้เป็นผ้านุ่มลื่นบางเบา เหมาะกับหน้าร้อน หรือแขวนกระดิ่งลมไว้นอกบ้าน ให้เสียงใสกังวานของกระดิ่งช่วยให้จิตใจสงบและร่มเย็น
ส่วนในฤดูหนาวอันหนาวเหน็บคนเกียวโตมักกินผักพื้นบ้านคุณภาพดีที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูงเพื่อป้องกันร่างกายไม่ให้เจ็บป่วย ประเพณีบางอย่างที่ทำให้เห็นถึงธรรมเนียมปฏิบัตินี้ก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น ไดโคะยาคิ (大根焚き) และ คาโบจาคุโย (かぼちゃ供養) ที่จะเสิร์ฟหัวไชเท้าและฟักทองต้มสุกให้กับผู้ร่วมงาน
เนื่องจากสภาพอากาศนั้นจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับฤดูกาล จึงควรตรวจสอบสภาพอากาศให้ดีก่อนเดินทาง ความหนาแน่นของผู้คนและสภาพอากาศต่างๆ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อุณหภูมิที่ร่างกายรับรู้เปลี่ยนไป แม้จะอยู่ในฤดูเดียวกันก็ตาม ดังนั้นไม่ว่าคุณจะท่องเที่ยวในฤดูไหนก็อย่าลืมเตรียมเสื้อผ้ามาให้พอเพียงล่ะ
วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของเกียวโตนั้นถือเป็นเรื่องเล่าน่าสนใจแม้แต่ในหมู่คนญี่ปุ่นเอง ครั้งแรกที่ได้ยินอาจทำให้คุณสงสัย แต่หากได้รู้ถึงความเป็นมาที่ซ่อนอยู่ คุณจะสัมผัสได้ถึงประวัติศาสตร์อันลึกซึ้งของเมืองโบราณที่สวยงามแห่งนี้ สิ่งที่ทำให้เกียวโตมีเสน่ห์นั้นไม่เพียงแต่ทิวทัศน์ของสิ่งปลูกสร้างที่แปลกตาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ด้วย
ในเมืองเล็กๆ แห่งนี้มีธรรมเนียมยิบย่อยอีกมากมายนอกจากที่เราได้นำเสนอไป ถือเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอีกอย่างว่าคุณจะได้พบเจอธรรมเนียมเหล่านี้อีกสักกี่ข้อ เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และทำให้คุณได้ท่องเที่ยวอย่างสนุกสนาน ภายใต้ปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับเมืองและผู้คนในเกียวโตนะ!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่