12 อาหารท้องถิ่นน่าลองของภูมิภาคโทโฮคุ
เนื่องจากภูมิภาคโทโฮคุ (Tohoku) มีฤดูหนาวที่ยาวนาน อาหารท้องถิ่นจำนวนมากของที่นี่จึงมีลักษณะเป็นอาหารจำพวกซุปและเมนูที่ใช้ข้าวเป็นส่วนผสม มาทำความรู้จักกับอาหารท้องถิ่นที่ควรลิ้มลองดูสักครั้งของภูมิภาคโทโฮคุกันเถอะ!
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
1. ซุนดะโมจิ (ずんだ餅)【จังหวัดมิยากิ】
ซุนดะโมจิ (ずんだ餅) เป็นขนมโมจิที่ทำขึ้นจากข้าวโมจิและถั่วแระญี่ปุ่น มีวิธีการทำโดยเริ่มจากการนำถั่วแระญี่ปุ่นไปต้ม ปอกทั้งเปลือกหนาและเปลือกบางออก นำถั่วที่ได้ไปบดในถ้วยบดแล้วปรุงรสด้วยน้ำตาล จะได้สิ่งที่เรียกว่า "ซุนดะ" หรือไส้ถั่วบดสีเขียว จากนั้นนำเอาซุนดะที่ได้ไปห่อหุ้มข้าวโมจิที่ผ่านการนึ่งไว้แล้ว ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนการทำซุนดะโมจิ ซึ่งเป็นขนมที่มีลักษณะคล้ายกับโอฮากิ (ขนมข้าวเหนียวหุ้มด้วยไส้ถั่วแดง) นั่นเอง
2. มะเขือยาวดอง (長茄子漬け)【จังหวัดมิยากิ】
มะเขือยาวดอง (長茄子漬け) นี้ไม่ใช่เมนูมะเขือยาวธรรมดาๆ แต่อย่างใด แต่คือเมนูที่นำมะเขือยาวที่ปลูกในเซนได (Sendai) ซึ่งมีลักษณะเรียวยาวอ่อนนุ่มไปดอง ถือเป็นของดองอันมีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยแคว้นดาเตะเลยทีเดียว
3. อิจิโกะนิ (いちご煮)【จังหวัดอาโอโมริ】
อิจิโกะนิ (いちご煮) เป็นอาหารประเภทซุปที่ทำขึ้นจากหอยเม่นและหอยเป๋าฮื้อที่เก็บได้แถวๆ เมืองฮาจิโนเฮะ (Hachinohe) เนื่องจากหอยเม่นเหล่านี้มีสีออกแดงซึ่งมองเผินๆ แล้วดูเหมือนกับสตรอว์เบอร์รีป่า (โนอิจิโกะ) จึงทำให้มันถูกเรียกว่าอิจิโกะนิ ในส่วนของรสชาตินั้น มีการปรุงรสด้วยเกลือเป็นหลักและเสริมด้วยโชยุอีกเล็กน้อย
4. ฮิตสึมิ (ひっつみ)【จังหวัดอาโอโมริ】
ฮิตสึมิ (ひっつみ) เป็นอาหารที่ทำขึ้นโดยการนำแป้งสาลีไปนวดกับน้ำจนเป็นแผ่นบางๆ จากนั้นจึงใช้มือตัดแล้วใส่ลงไปในหม้อต้มกับผักตามฤดูกาล เห็ดชนิดต่างๆ และเนื้อไก่ บางครั้งก็ใส่ปูที่จับได้ตามแม่น้ำเพิ่มลงไปให้มีรสชาติอร่อยมากขึ้นไปอีกระดับ
5. คุจิมาเมะบุจิรุ (久慈まめぶ汁)【จังหวัดอิวาเตะ】
มาเมะบุจิรุ (まめぶ汁) เป็นซุปที่ไม่เพียงแค่ใส่วัตถุดิบพื้นฐานอย่างเห็ด ผัก หรือเต้าหู้มาให้แบบพูนๆ แต่ยังมี "มาเมะบุ" หรือดังโงะที่มีรสชาติหวานผสมอยู่อีกด้วย หลายๆ คนอาจคิดว่าดังโงะหวานๆ คงไม่น่าจะเข้ากับอาหารคาวประเภทซุปได้สักเท่าไร แต่หากคุณได้ลองทานแล้วล่ะก็ รับรองได้ว่าจะต้องติดใจอย่างแน่นอน
6. โมริโอกะเรเมน (盛岡冷麺)【จังหวัดอิวาเตะ】
โมริโอกะเรเมน (盛岡冷麺) เป็นเมนูที่ประกอบด้วยเส้นที่มีสีใสและเหนียวนุ่มเป็นพิเศษซึ่งทำขึ้นจากสารอาหารจำพวกแป้ง และน้ำซุปกระดูกวัวที่มีการผสมเศษกระดูกไก่ลงไป นิยมทานกันแบบเย็นๆ และจะอร่อยมากขึ้นเมื่อทานคู่กับกิมจิ
7. คิริตันโบะนาเบะ (きりたんぽ鍋)【จังหวัดอาคิตะ】
คิริตันโบะ (きりたんぽ) คือการนำข้าวที่หุงสุกแล้วไปบดในถ้วยบดแล้วนำไปห่อบนไม้เสียบสำหรับทำคิริตันโบะโดยเฉพาะ จากนั้นนำไปย่างด้วยถ่านไม้ที่ร้อนกำลังพอดี เมื่อนำคิริตันโบะดังกล่าวไปใส่ในหม้อ ต้มกับเนื้อไก่ เห็ด และผักต่างๆ อย่างรากโกโบ พร้อมปรุงรสด้วยโชยุ ก็จะออกมาเป็นเมนูที่เรียกกันว่าคิริตันโบะนาเบะ (きりたんぽ鍋) นั่นเอง
8. ฮาตะฮาตะซูชิ (ハタハタ寿司)【จังหวัดอาคิตะ】
ฮาตะฮาตะซูชิ (ハタハタ寿司) หรือ นาเรซูชิ (馴れずし) เป็นซูชิหมักที่ทำขึ้นโดยการนำปลาฮาตะฮาตะ (ปลาทรายชนิดหนึ่ง) ข้าวที่ผสมหัวเชื้อหมัก ผักต่างๆ อย่างหัวผักกาดหรือแครอท และสาหร่ายคอมบุ ไปอัดลงในถังไม้แล้วใช้หินหนักๆ วางทับลงบนฝาเพื่อทำการดองโดยใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์จึงสามารถรับประทานได้
9. อิโมะนิจิรุ (芋煮汁)【จังหวัดยามากาตะ】
อิโมะนิจิรุ (芋煮汁) เป็นเมนูที่นำเผือกไปต้มกับรากโกโบและบุกญี่ปุ่น มีวิธีการทำที่แตกต่างกันไปตามพื้นที่ อาทิ แถวพื้นที่ในตัวเกาะที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองยามากาตะ (Yamagata) นั้นจะนิยมใส่เนื้อวัวและปรุงรสด้วยโชยุ ในขณะที่บริเวณโชไนหรือบริเวณที่ใกล้เคียงกับทะเลอย่างเมืองซากาตะ (Sakata) และเมืองสึรุโอกะ (Tsuruoka) นั้นจะนิยมใส่เนื้อหมูและปรุงรสด้วยมิโสะ
10. โมโซจิรุ (孟宗汁) หรือซุปหน่อไม้【จังหวัดยามากาตะ】
โมโซจิรุ (孟宗汁) นี้พูดง่ายๆ ก็คือซุปมิโสะที่ใส่หน่อไม้ลงไปนั่นเอง ซึ่งมีวัตถุดิบประกอบไปด้วยหน่อไม้ เนื้อหมู เห็ดชิตาเกะและเต้าหู้ทอด ปรุงรสแล้วกากสาเก (酒粕) จนได้เป็นซุปมิโสะ โมโซจิรุเป็นอาหารท้องถิ่นอันมีเอกลักษณ์ของบริเวณโชไน ในบางกรณีก็มีการใส่พืชผักที่เก็บได้ตามเขาลงไปด้วย
11. อังโคนาเบะ (あんこう鍋) 【จังหวัดฟุคุชิมะ】
ปลาอังโค (あんこう) หรือปลากูสนั้น แม้ว่าจะมีหน้าตาน่าสยดสยอง แต่ก็เป็นปลาที่สามารถนำมารับประทานได้ทุกส่วนไม่มีเหลือทิ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนตับของมันที่ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติยอดเยี่ยม อังโคนาเบะจึงเป็นเมนูหม้อไฟที่ประกอบด้วยปลาชนิดดังกล่าว คุณสามารถปรุงรสได้ตามใจชอบไม่ว่าจะเป็นรสมิโสะหรือรสโชยุ
12. ชิมิโมจิ (凍みもち)【จังหวัดฟุคุชิม่า】
เพื่อไม่ให้ข้าวอันมีค่านั้นถูกทิ้งเสียเปล่า ในสมัยก่อนจึงมีการนำเศษข้าวไปผสมกับโมจิหรือดังโงะเพื่อเก็บรักษาไว้ให้ทานได้ในภายหลัง เวลาจะรับประทานก็ต้องนำไปแช่ในน้ำเป็นเวลาประมาณครึ่งวันให้คืนรูปดังเดิม ปิดท้ายด้วยการนำไปย่าง ผู้คนนิยมทานชิมิโมจิกันโดยนำไปจิ้มกับผงถั่วเหลืองหรือไม่ก็โชยุที่ผสมน้ำตาล
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่