13 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "รถไฟสายยามาโนเตะ" เส้นเลือดเลี้ยงหัวใจกรุงโตเกียว
รถไฟสายยามาโนเตะ (Yamanote) เป็นรถไฟสายสำคัญของกรุงโตเกียว เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของระบบไหลเวียนโลหิต นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะมีโอกาสได้นั่งรถสายนี้เพราะมันวิ่งเป็นวงกลมผ่านย่านธุรกิจและสถานบันเทิงส่วนใหญ่ในเมือง ชาวญี่ปุ่นถือว่ารถไฟสายนี้เป็นศูนย์กลางของตัวเมืองเพราะเป็นเส้นแบ่งระหว่างโตเกียวชั้นในกับชั้นนอก อีกทั้งธุรกิจที่อยู่ตามทางรถไฟสายนี้หรือบริเวณใกล้เคียงก็มักจะได้รับความนิยมสูงเพราะเข้าถึงง่ายอีกด้วย บทความนี้จะมาเล่า 13 เรื่องน่ารู้ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจรถไฟสายนี้และโตเกียวมากขึ้น!
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
1. วิ่งเป็นวงกลมและมีมากถึง 30 สถานี
รถไฟสายยามาโนเตะจะเดินรถเป็นวงกลม โดยใช้เวลาเฉลี่ยในการวิ่งอยู่ที่ 64 นาทีต่อรอบและมีการหยุดจอดมากถึง 30 สถานีบนเส้นทางที่มีระยะทางทั้งหมด 35.9 กิโลเมตร
เนื่องจากมีเส้นทางการเดินรถเป็นวงกลมจึงไม่สามารถบอกทิศทางตามจุดหมายปลายทางได้ ผู้คนจึงเรียกตามทิศทางแทน โดยการวิ่งตามเข็มนาฬิกาจะเรียกว่า "โซโตะมาวาริ" (外回り วงรอบนอก) ส่วนทิศทางทวนเข็มนาฬิกาจะเรียกว่า "อุจิมาวาริ" (内回り วงใน)
รถไฟสายนี้ดำเนินการโดย JR East (การรถไฟญี่ปุ่นภาคตะวันออก) จึงสามารถใช้ JR Pass และ Tokyo Wide Pass ในการนั่งได้ไม่อั้น แต่จะไม่รองรับการใช้งานของ Tokyo Metro Pass
คุณจะมีโอกาสได้ขึ้นรถไฟสายนี้ค่อนข้างสูงเพราะมันวิ่งผ่านย่านสำคัญๆ เช่น อุเอโนะ, อากิฮาบาระ, สถานีโตเกียว (ตัวเมือง), ชิบูย่า, ฮาราจูกุ และชินจูกุ
แต่ทางเหนือของเส้นนี้จะวิ่งผ่านย่านที่พักอาศัยที่ค่อนข้างเงียบสงบและมีสถานีที่ขนาดเล็กกว่า โดยสามารถเจอทางข้ามรถไฟที่มีถนนตัดกับรางรถไฟได้ในทางที่อยู่ระหว่างสถานีโคมาโกเมะ (Komagome) และสถานีทาบาตะ (Tabata) และจะสามารถเดินข้ามได้เมื่อไม่มีรถไฟผ่านเท่านั้น เมื่อคำนึงถึงความพลุกพล่านของรถไฟสายยามาโนเตะแล้ว ก็อาจจะต้องรอค่อนข้างนานเลยทีเดียว!
2. "ยามาโนเตะ" แปลว่าอะไร?
คุณอาจเคยได้ยินคำว่า "ชิตะมาจิ" (Shitamachi)" ที่แปลตรงตัวว่า "เมืองด้านล่าง" คำนี้เป็นชื่อที่ใช้เรียกพื้นที่แถบโตเกียวตะวันออกที่พลุกพล่านไปด้วยผู้อยู่อาศัยและพ่อค้า อย่างย่านอาซากุสะที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม นิฮงบาชิ และ "นินเกียวโจ" (Ningyocho) แต่ในทางกลับกัน คำที่มีความหมายตรงข้ามกับชิตะมาจิ คือ "ยามาโนเตะ" (Yamanote) ซึ่งแปลว่า "ทิศทางของเนินเขา" เป็นคำที่ใช้เรียกย่านชนชั้นสูงฝั่งตะวันตกของพระราชวังอิมพีเรียลซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของซามูไรและปัญญาชน
รถไฟสายยามาโนเตะนี้ แต่เดิมสร้างขึ้นใน ค.ศ.1885 เพื่อเป็นเส้นทางการขนส่ง มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ทางเหนือของโตเกียวเข้ากับท่าเรือโยโกฮาม่าทางตอนใต้ จึงจงใจสร้างรถไฟผ่านย่านยามาโนเตะในทางตะวันตกที่มีประชากรน้อย (เพราะสามารถสร้างได้ง่ายกว่า)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลา 100 ปีหลังจากนั้น ฝั่งตะวันตกของเมืองก็ได้รับการพัฒนามากขึ้น จากที่เคยเป็นย่านที่อยู่อาศัยเล็กๆ ก็กลายเป็นย่านการค้าเชิงพาณิชย์และแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมในปัจจุบัน (โดยเฉพาะชิบูย่าและชินจูกุ) นอกจากนี้ การพัฒนาเชิงพาณิชย์สมัยใหม่ยังส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างย่านชิตะมาจิและย่านยามาโนเตะน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย
3. ไม่ได้ชื่อ "ยามาโนเตะ" มาตั้งแต่ต้น
สำหรับคนที่อ่านตัวอักษรคันจิได้อาจจะเคยสงสัยว่าตัว 山 (ภูเขา อ่านว่า “ยามะ”) และ 手 (มือ แต่ในกรณีนี้ใช้สื่อถึงทิศทาง อ่านว่า “เตะ”) หากนำมารวมกันก็ควรจะอ่านเป็น “รถไฟสายยามาเตะ" (Yamate) มิใช่หรือ? อันที่จริงก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะในช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา คนญี่ปุ่นก็มักจะใช้ตัวอักษรคันจิเพื่อบ่งบอกถึงใจความสำคัญของคำเท่านั้น โดยจะข้ามเรื่องคำเชื่อมต่างๆ (ในกรณีนี้คือ "โนะ" ที่แปลว่า "ของ") ไปเลย
ความจริงแล้วรถไฟสายยามาโนเตะของโตเกียวนี้เคยได้ชื่อว่า "สายยามาเตะ" มาก่อน แต่เนื่องจากตัวโรมาจิ (การเขียนภาษาญี่ปุ่นโดยใช้ตัวอักษรโรมัน) เพิ่งจะเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในช่วงหลังสงคราม ทำให้มีการเขียนชื่อสายผิดเป็น "ยามาเตะ" (Yamate) และกลายเป็นชื่อเรียกติดปากกันอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งการรถไฟแห่งชาติได้พยายามเปลี่ยนชื่อใน ค.ศ. 1970 เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับสถานียามาเตะในจังหวัดโยโกฮาม่าที่อยู่ใกล้เคียง
4. เส้นทางรถก็ไม่ได้เดินเป็นวงกลมตั้งแต่แรกเหมือนกัน!
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น รถไฟสายยามาโนเตะเริ่มจากการวิ่งเป็นแนวตั้งไปทางตะวันตกของตัวเมือง ซึ่งกว่าจะเชื่อมกับรถไฟสายอื่นๆ ทางฝั่งตะวันออกเพื่อให้ได้เส้นทางการเดินรถเป็นวงกลมก็ใช้เวลาหลายปีเลยทีเดียว
แต่ถึงแม้จะทำการเชื่อมกับสายรถไฟเหล่านี้แล้วก็ยังมีช่องว่างระหว่างสถานีอุเอโนะและคันดะอยู่ ซึ่งก็ยังไม่ได้เชื่อมต่อจนกระทั่ง ค.ศ. 1925 ซึ่งก็นับว่าเป็นเวลา 40 ปีเต็มๆ หลังจากที่สายยามาโนเตะถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องจากก่อนหน้านั้นรถไฟสายนี้วิ่งเป็นรูปเลข 6 คือวิ่งเป็นเส้นทางที่เกือบเป็นวงกลมจากอุเอโนะไปจนถึงคันดะ จากนั้นจึงค่อยเลี้ยวไปทางทิศตะวันตกและรวมเข้ากับสายชูโอ (Chuo) ซึ่งแปลว่ารถไฟทุกขบวนจะหยุดจอดที่ชินจูกุถึง 2 ครั้ง!
โตเกียวไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว...และไม่ใช่ภายในทศวรรษเดียวด้วยซ้ำ!
5. เคฮิน-โทโฮคุ / อุเอโนะ-โตเกียว / โชนัน-ชินจูกุ ... ชื่อเหล่านี้หมายถึงอะไร?
เนื่องจากรถไฟสายยามาโนเตะเป็นเส้นทางที่สำคัญมากจนมีการพัฒนาเมืองส่วนใหญ่ขึ้นรอบๆ เส้นทางเดินรถ ส่งผลให้มีผู้คนพลุกพล่านตามไปด้วย ทางบริษัท JR จึงได้เพิ่มรางรถไฟขึ้นมาเป็นระยะเพื่อลดความแออัด
ทางฝั่งตะวันออกของสายจะมีทั้งหมด 6 ราง (ไม่นับรถไฟชินคันเซ็น) ได้แก่
- 2 รางสำหรับสายยามาโนเตะ
- 2 รางสำหรับสายเคฮิน-โทโฮคุ (Keihin-Tohoku รถไฟท้องถิ่นที่วิ่งขึ้นเหนือไปยังไซตามะและลงใต้ไปยังโยโกฮาม่า)
- 2 รางสำหรับสายอุเอโนะ-โตเกียว (Ueno-Tokyo รถไฟด่วนที่เชื่อมระหว่างสายรถไฟชานเมือง โดย 3 สายจะวิ่งไปทางทิศเหนือ ในขณะที่อีกสายลงทิศใต้)
และทางใต้ของสถานีโตเกียวก็มีการสร้างรางสำหรับรถไฟด่วนเพิ่มอีก 2 รางไว้ใต้ดินด้วย
ส่วนทางตะวันตกของสายจะมีอยู่ด้วยกัน 4 ราง คือ 2 รางสำหรับสายยามาโนเตะ และ 2 รางที่ใช้ร่วมกันระหว่างสายโชนัน-ชินจูกุ (Shonan-Shinjuku) และสายไซเคียว (Saikyo Line) ทั้งคู่เป็นรถไฟด่วนที่เชื่อมกับรถไฟชานเมือง
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็บอกได้เลยว่าความเยอะของชื่อสายรถไฟเหล่านี้ได้สร้างความสับสนให้กับคนอย่างมาก! โดยเฉพาะเมื่อคุณอยู่ที่สถานีใหญ่ๆ และพบว่ามีรางรถไฟ 8 - 12 สายหรืออาจจะมากกว่านั้น
อย่างไรก็ตาม เราหวังว่าแผนภาพด้านบนนี้จะช่วยให้ทำความเข้าใจกับสายรถไฟได้มากขึ้นนะ
6. แต่สุดท้าย...ก็ยังแออัดมากอยู่ดี
ในแต่ละปี รัฐบาลญี่ปุ่นจะประกาศ "อัตราความแออัด" ของเส้นทางรถไฟสายหลัก โดยอัตราความแออัด 100% จะแสดงถึงสภาพในรถไฟที่สามารถโดยสารได้ค่อนข้างสบาย ถึงแม้จะมีคนยืนแต่ก็มีพื้นที่ให้วางขาได้
ถึงแม้จะมีรถไฟวิ่งทุกๆ สองนาทีครึ่ง แต่อัตราความแออัดสูงสุดของสายยามาโนเตะนั้นจะอยู่ที่ 158% อาจจะฟังดูแย่ แต่จริงๆ แล้วนี่ถือเป็นหนึ่งในสายที่แออัดน้อยที่สุดในโตเกียวเลย (อันดับที่ 32 จาก 41)
ใน ค.ศ. 2014 อัตราความแออัดสูงสุดของสายยามาเตะเคยพุ่งสูงถึง 199% เนื่องจากยังไม่มีการสร้างสายอุเอโนะ-โตเกียว ซึ่งหมายความว่าผู้โดยสารจากรถไฟทั้ง 3 สายจะต้องลงพร้อมกันที่อุเอโนะและเปลี่ยนไปใช้สายยามาโนเตะเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป แต่ก็ยังโชคดีที่มีสายอุเอโนะ-โตเกียวมาช่วยแก้ไขปัญหานี้
สายอุเอโนะ-โตเกียว ใช้เงินในการสร้างกว่า 4 หมื่นล้านเยน หรือประมาณ 354 ล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน ดังนั้น หากพบว่าตัวเองถูกเบียดอัดอยู่ในมุมรถไฟสายยามาโนเตะในชั่วโมงเร่งด่วน และหวังว่าจะมีการสร้างรางใหม่เพิ่มอีกสักคู่แล้วล่ะก็...อนิจจา...ใช้งบขนาดนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ๆ
7. ครั้งหนึ่งเคยเป็นนิยามของศูนย์กลางโตเกียว
"สถานีต่อไป ชินจูกุ ประตูรถจะเปิดทางด้านซ้าย ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนเส้นทางไปสายชูโอะ สายโชนัน-ชินจูกุ สายไซเคียว สายโอดะคิว (Odakyu) สายเคโอะ (Keio) รถไฟใต้ดินสายมารุโนะอุจิ (Marunouchi) รถไฟใต้ดินสายชินจูกุ (Shinjuku) และรถไฟใต้ดินสายโอเอโดะ (Oedo)ได้ที่สถานีนี้”
ด้วยสายรถไฟมากมายที่มาบรรจบกันในที่เดียว จึงไม่แปลกที่ชินจูกุจะรองรับผู้โดยสารได้มากกว่าสถานีไหนๆ ในโลก โดยตกอยู่ที่ 3.64 ล้านคนต่อวัน แต่สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไรกันนะ?
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้เกิดการแข่งขันกันระหว่างบริษัทเอกชนเพื่อสร้างรถไฟเชื่อมเขตชานเมืองที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วไปยังใจกลางเมือง รถไฟเหล่านี้มักจะต้องหยุดสร้างเมื่อมาชนเข้ากับสายยามาโนเตะที่มีอยู่ก่อนแล้ว (เพราะการสร้างรางรถไฟใหม่ในตัวเมืองจะใช้งบสูงมาก) ดังนั้น การให้ผู้โดยสารเปลี่ยนสายรถเองจึงถูกและง่ายกว่า เป็นเหตุให้รถไฟโอดะคิว เคโอะ และเซบุมีสถานีปลายทางอยู่ที่ชินจูกุ เช่นเดียวกับรถไฟสายอื่นๆ ที่มักจะไปสิ้นสุดที่สถานีใหญ่ๆ อย่างอิเคะบุคุโระและชิบูย่า
ต่อมาในช่วงหลังสงคราม รัฐบาลเมืองโตเกียวก็ได้สร้างรถไฟใต้ดินขึ้นที่ใจกลางเมืองและวางรถไฟหลายสายให้ผ่านชินจูกุได้เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนสายรถไฟด้วยตัวเอง นี่เป็นเหตุที่ทำให้รถไฟและผู้โดยสารจำนวนมากต้องเดินทางผ่านสถานีชินจูกุทุกวัน
หากนับรวมกันแล้ว จะพบว่ามีรถไฟกว่า 12 สายที่หยุดจอดตามสถานีต่างๆ ของสายยามาโนเตะและยังเชื่อมกับรถไฟใต้ดินทั้ง 13 สายได้อีกด้วย
8. ขบวนรถไฟอันล้ำสมัย
หากคุณขึ้นรถไฟสายยามาโนเตะวันนี้ก็จะได้นั่งรถรุ่น E235 ที่เปิดตัวครั้งแรกใน ค.ศ. 2015 ทั้งมีความโดดเด่นและสะดุดตา แตกต่างจากรถไฟ JR อื่นๆ ทุกคัน
ประการแรก โมเดลนี้มีหน้าจออยู่เหนือที่นั่งผู้โดยสารที่แสดงทั้งประกาศและโฆษณาของ JR (รถรุ่นก่อนมีเพียงหน้าจอเหนือประตูและโฆษณากระดาษเหนือที่นั่ง) ตอนนี้รถแต่ละคันยังมี "พื้นที่ว่าง" ในมุมหนึ่งสำหรับวีลแชร์ รถเข็นเด็ก หรือสัมภาระที่มีน้ำหนักมาก อีกทั้งยังมีระบบควบคุมประตูและระบบระบายอากาศที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ด้วยความสำคัญของรถไฟสายยามาโนเตะ มันจึงได้รับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดก่อนสายอื่นๆ ซึ่งเพิ่งจะเริ่มได้ใช้โมเดลนี้เมื่อปีที่แล้วนี่เอง
9. บอกลาสถานีฮาราจูกุเก่า
ฮาราจูกุ (ศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมคาวาอี้สุดน่ารักของญี่ปุ่น) เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะอาคารสถานีแบบโบราณที่สร้างด้วยแผ่นไม้ซึ่งสร้างเสร็จใน ค.ศ. 1924 นับว่าเป็นอาคารสถานีไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในโตเกียว อย่างไรก็ตาม อาคารสถานีใหม่ได้เปิดตัวในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 เนื่องจากอาคารเก่าไม่ผ่านมาตรฐานที่เข้มงวดต่อความปลอดภัยจากอัคคีภัย
อาคารที่โดดเด่นแห่งนี้ได้เริ่มถูกรื้อถอนแล้ว แต่ยังคงส่วนหน้าของอาคารจำลองเอาไว้อยู่เพื่อรำลึกถึงอาคารเก่า เพราะนอกจากฮาราจูกุและอาคารอิฐสีแดงอันโด่งดังที่ด้านหน้าของสถานีโตเกียวแล้ว ในเมืองก็ไม่ได้มีสถานีที่ถูกสร้างไว้อย่างโดดเด่นมากนัก
10. ทักทายสถานีทาคานาว่าเกตเวย์ (Takanawa Gateway)
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2020 สถานีทาคานาว่าเกตเวย์ได้เปิดให้บริการในบริเวณตอนเหนือของชินากาว่า ซึ่งเป็นสถานีใหม่แห่งแรกนับตั้งแต่ ค.ศ. 1971 ออกแบบโดยเคนโกะ คุมะ (Kengo Kuma) สถาปนิกชื่อดังผู้สร้างสนามกีฬาแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์ Suntory ซึ่งออกแบบโดยใช้กระจกเงาและมีชั้นลอยแบบเปิดโล่งที่มองเห็นชานชาลาได้ อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่น ร้านสะดวกซื้ออัตโนมัติที่ไม่ต้องมีคนดูแล
คุณอาจสงสัยว่าสถานีนี้มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่าอะไร? และมันคือ "เกตเวย์" ของอะไร? คำตอบก็คือ มันไม่มีชื่อภาษาญี่ปุ่น (เป็นเพียง "เกตเวย์" ที่เขียนด้วยตัวอักษรคาตาคานะให้ดูงดงามเท่านั้น) และยังไม่ชัดเจนว่าเป็นประตูสู่อะไรด้วยเช่นกัน ดังนั้น เมื่อชื่อสถานีได้รับการเปิดเผยเป็นครั้งแรกก็ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์เป็นอย่างมากเพราะตอนที่บริษัท JR ได้ทำการเปิดโหวตชื่อสถานีนั้น ชื่อที่ได้อันดับ 1 ไปครองคือ "ทาคานาว่า (Takanawa)" ในขณะที่ "ทาคานาว่าเกตเวย์" นั้นมีคะแนนตามหลังอยู่มาก
โดยรวมแล้ว หากพิจารณาถึงความยากในการเข้าถึงและบริเวณแถวนั้นก็ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำ สถานีนี้ก็อาจจะดูฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น แต่โครงการนี้ก็ดูจะสมเหตุสมผลอยู่หากเราลองนึกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พื้นที่ทาคานาว่า-ชินากาว่าทั้งหมดจะได้รับการพัฒนาครั้งใหญ่โดยบริษัท JR ในอีกทศวรรษข้างหน้า และภายใน ค.ศ. 2024 พื้นที่ว่างในปัจจุบันก็จะถูกแทนที่ด้วยอาคารขนาดใหญ่ดังที่แสดงให้เห็นในภาพด้านบน อีกทั้งยังมีโครงการ Chuo Shinkansen ที่จะเชื่อมต่อระหว่างชินากาว่ากับนาโกย่าใน ค.ศ. 2027 ด้วย บางทีเราอาจจะสามารถตีความสถานีนี้เป็น "ประตู" ไปสู่อนาคตก็ได้!
ขณะนี้ยังไม่มีการวางแผนสร้างสถานีเพิ่มเติม แต่ก็เป็นเรื่องบังเอิญอันน่าแปลกใจที่สถานีรถไฟที่อยู่ติดกันนั้นคือสถานีชินากาว่าซึ่งเป็นสถานีที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ. 1872
11. มุ่งตรงสู่สนามบินฮาเนดะ?
สนามบินฮาเนดะได้เปลี่ยนเป็นสนามบินนานาชาติในช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ และได้รับการปรับปรุงและขยายใหม่อย่างน่าประทับใจ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวสามารถตรงเข้าสู่ตัวเมืองได้เลยโดยใช้รถไฟโตเกียวโมโนเรล [แต่ต้องเปลี่ยนสายเดินรถที่ฮามามัตสึโจ (Hamamatsucho) ซึ่งเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก] หรือไม่ก็ใช้สายเคคิว (Keikyu) ซึ่งเป็นรถไฟเอกชนที่ไม่สามารถใช้ JR PASS ได้
อย่างไรก็ตาม นี่จะเป็นปัญหาไปอีกแค่ 10 ปีเท่านั้น เนื่องจาก JR กำลังสร้างทางรถไฟที่ตรงไปยังสนามบินเลย ถึงแม้จะไม่สามารถวิ่งตรงไปยังสายยามาโนเตะที่ยังคงวิ่งเป็นวงกลมเหมือนเดิมได้ แต่มันจะวิ่งไปยังสายด่วนที่ขนานกัน อย่างสายโชนัน-ชินจูกุไปทางทิศตะวันตก และสายอุเอโนะ-โตเกียวไปทางทิศตะวันออก
12. ร้องเพลงสายยามาโนเตะ
ดนตรีมีความผูกพันกับการรถไฟของญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ ค.ศ. 1900 เมื่อนักกวีและอาจารย์ชื่อ "โอวาดะ ทาเคคิ" (Owada Takeki) ได้เขียนเพลงเกี่ยวกับรถไฟถึง 374 ท่อน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเดินทางข้ามประเทศด้วยรถไฟ อีกทั้งยังมีการบรรยายสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ที่ผ่านไปมาด้วย ชุดที่มีชื่อเสียงที่สุดคือชุดแรกซึ่งมีความยาวกว่า 66 ท่อน ซึ่งเล่าถึงการเดินทางบนรถไฟสายโทไคโดะ (Tokaido) จากชิมบาชิไปยังโกเบ ส่วนทำนองที่กำลังโด่งดังในขณะนี้นั้น มาจากปลายปากกาของนักดนตรีและครูสอนดนตรีที่ชื่อ "อุเมวากะ โอโนะ" (Umewaka Ono)
เมื่อเข้าสู่ศตวรรษถัดมา รายการสำหรับเด็กของ NHK ที่ชื่อ "Yugata Quintet" ก็ได้นำทำนองเดียวกันนี้มาใช้และร้องเพลงเป็นชื่อสถานีทั้ง 29 แห่งบน 2 เส้นทางของสายยามาโนเตะตามลำดับเพื่อช่วยให้จำง่ายขึ้น ทำให้เพลงเวอร์ชันนี้กลายเป็นเพลงฮิตขึ้นมาทันที แล้วทุกคนก็จะนึกถึงรถไฟสายยามาโนเตะขึ้นมาทันทีที่ได้ยินทำนองเพลงนี้!
แอบกระซิบว่าบททดสอบปราบเซียนที่แท้จริง คือ การให้ท่องชื่อสถานีทั้งหมดตามลำดับเวลาเมา! ถือเป็นเกมพื้นฐานของวงเหล้าญี่ปุ่นเลยทีเดียว
13. วาดรูปไปกับรถไฟสายยามาโนเตะ
"YamanoteYamanote" เป็นโปรเจกต์โดย Julien Mercier และ Julien Wulff สองนักออกแบบกราฟิกชาวสวิสเซอร์แลนด์ที่อาศัยอยู่ในโตเกียว พวกเขาได้ออกแบบโปสเตอร์ 2 ใบสำหรับแต่ละสถานีในสายยามาโนเตะโดยพยายามสื่อถึงจิตวิญญาณและความเป็นตัวตนของสถานีออกมา อีกทั้งยังมีการจัดกิจกรรมใกล้ๆ แต่ละสถานีเพื่อทำเป็นงานจัดแสดงโปสเตอร์ของสถานีนั้นๆ ด้วย
การออกแบบได้รวมเอาลวดลายที่สัมพันธ์กับแต่ละสถานีเอาไว้ เช่น ประภาคารที่ตั้งอยู่ใกล้สถานีโยโยงิ (Yoyogi) หรือเบียร์เยบิซุ (Yebisu Beer) ที่มีโรงงานตั้งอยู่ใกล้สถานีเอบิซุ ในขณะที่ย่านสุดฮิปอย่างชิบูย่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวก็ได้ถูกวาดให้เป็นลายรองเท้าผ้าใบ และสถานีอุเอโนะที่ขึ้นชื่อเรื่องสวนสาธารณะและพิพิธภัณฑ์ก็มีการออกแบบให้เป็นรูปดอกไม้
ส่งท้าย
หากคุณอยากเห็นโฉมหน้าและลักษณะต่างๆ ที่แสดงถึงเมืองโตเกียวทั้งหมด การแวะลงตามสถานีแต่ละแห่งของสายยามาโนเตะถือเป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมเลยทีเดียว เราหวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจถึงความสำคัญของรถไฟสายนี้ และได้เห็นว่ามีสิ่งน่าสนใจให้เยี่ยมชมบ้างเมื่อไปเยือนประเทศญี่ปุ่น!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่