3 เคล็ดลับสู่ความสำเร็จของชินคันเซ็น รถไฟหัวจรวดของญี่ปุ่น

รถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่นเป็นรถไฟที่ได้รับคำชื่นชมไปในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นในด้านความตรงต่อเวลา ความสะดวกสบาย หรือความปลอดภัย ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับเคล็ดลับเบื้องหลังความสำเร็จของรถไฟดังกล่าวนี้

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

 

รถไฟชินคันเซ็นของญี่ปุ่น หรือรถไฟหัวจรวด เป็นหนึ่งในความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่โดดเด่นที่สุดของญี่ปุ่น และได้รับความสนใจอย่างมากจากต่างชาติ โทไคโดชินคันเซ็น (Tokaido Shinkansen) ใช้เวลา 2 ชั่วโมง 25 นาที ในการเดินทางระหว่างสถานีโตเกียวกับสถานีชินโอซาก้า มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปีค.ศ.2014 นี้นับได้ว่าครบรอบ 50 ปีของมัน ตั้งแต่เริ่มให้บริการมาในปีค.ศ.1964 โดยได้ขนส่งผู้คนมาแล้วกว่า 5 พันล้านคน

PIXTA

แน่นอนว่าความเร็วเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวตื่นตาตื่นใจไปกับชินคันเซ็น แต่ก็ยังมีเหตุผลอื่นๆ อยู่อีก ตัวอย่างเช่น ความตรงต่อเวลา ความสะดวกสบาย และความปลอดภัย

  1. ความตรงต่อเวลา: รถไฟแทบจะไม่เคยเลท ค่าเฉลี่ยในแต่ละปีของการดีเลย์ของรถไฟแต่ละสายนั้นอยู่ที่เพียง 30 วินาที
  2. ความสะดวกสบาย: รถไฟวิ่งอย่างราบลื่น และมีความสะอาดเป็นอย่างมาก
  3. ความปลอดภัย: ตลอด 50 ปีที่ให้บริการมา ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตเลยสักครั้ง

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้ก็เพราะเทคโนโลยี แต่จริงๆ แล้ว คนขับและเหล่าพนักงานที่คอยสนับสนุนการทำงานของรถไฟต่างหากที่กุมความลับเกี่ยวกับคุณภาพของชินคันเซ็นไว้

(ส่วนหนึ่งของบทความนี้นำมาจาก "Korezo Nippon Ryu" ของ TV Asahi โดยมีการใส่เนื้อหาเพิ่มเติม)

 

เคล็ดลับ #1: ผู้คุมรถไฟที่มีความสามารถสูง

Lee LeFever/Flickr

ใน 1 ปีจะมีรถไฟวิ่งบนสายโทไคโดชินคันเซ็นกว่า 120,000 เที่ยว ในวันที่คึกคักอาจมีได้ถึง 400 เที่ยวต่อวัน ในด้านของเวลา เท่ากับว่ามีรถไฟออกวิ่งทุกๆ 3 นาที

เนื่องจากช่วงเวลาระหว่างรถไฟแต่ละเที่ยวนั้นสั้นมาก หากมีเที่ยวไหนเลทแม้แต่เพียงเล็กน้อยแล้วล่ะก็ จะส่งผลกระทบต่อรถไฟทุกเที่ยวที่จะตามมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะรวมกรณีที่เกิดจากภัยธรรมชาติอย่างไต้ฝุ่นเข้าไปแล้ว ชินคันเซ็นก็มีค่าเฉลี่ยต่อปีของการดีเลย์ก็อยู่ที่เพียง 30 วินาที จึงไม่เกินไปที่จะกล่าวว่ารถไฟในเวลาปกตินั้นไม่มีการเลท

เนื่องจากมีชานชาลาอยู่ไม่มาก เพื่อที่จะสามารถให้บริการลูกค้าให้ได้มากที่สุด ความตรงต่อเวลาจึงมีความสำคัญมากกับชินคันเซ็น

สาเหตุที่แท้จริงที่อยู่เบื้องหลังความตรงต่อเวลาของชินคันเซ็นก็คือ ผู้คุมรถไฟ เนื่องจากชินคันเซ็นเป็นรถไฟที่ค่อนข้างไฮเทค คุณอาจจะคิดว่าผู้คุมรถไฟนั้นเป็นงานง่ายๆ แต่ในความจริงแล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ไปทำความรู้จักกับความลับบางส่วนที่อยู่เบื้องหลังการคุมรถไฟชินคันเซ็นกัน

 

a. การควบคุมความเร็วที่แม่นยำอยู่ตลอดเวลา

ผู้คุมรถไฟชินคันเซ็นต้องคำนวณความเร็วของรถไฟอยู่ในหัวตลอดเวลา เพื่อหาความเร็วที่รถไฟจะไปถึงสถานีต่อไปในเวลาที่ได้กำหนดไว้

นอกจากนี้ เมื่อรถไฟออกจากสถานี ผู้คุมรถไฟจะประกาศให้ทราบว่ารถไฟออกเร็วหรือช้ากว่าที่กำหนดไว้กี่วินาที และทำการยืนยันเวลาด้วยนาฬิกาพกพาที่ทางบริษัทจัดหามาให้

มิเตอร์ทั้งหมดของชินคันเซ็นทำงานในระบบดิจิตอล มีแต่นาฬิกาดังกล่าวเท่านั้นที่ยังเป็นแบบอนาล็อก เนื่องจากในกรณีของนาฬิกาดิจิตอล คุณต้องทำการคำนวณว่ารถไฟกำลังวิ่งช้าหรือเร็วเกินไป แต่ในกรณีของนาฬิกาอนาล็อก เพียงแค่มองผ่านๆ ก็สามารถรู้ได้แล้วว่ารถไฟจะถึงสถานีต่อไปในอีกกี่นาที ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้นาฬิกายังเป็นแบบอนาล็อกอยู่

นาฬิกาแบบพกพาทำให้การคำนวณแบบต้องแข่งกับเวลาสามารถทำได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่คุณเหลือเวลาอีก 1 ชั่วโมงเพื่อที่จะไปยังสถานีที่อยู่ห่างออกไป 100 กิโลเมตร คุณก็ต้องควบคุมรถไฟให้มีความเร็ว 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากเหลือเวลา 30 นาที ก็ต้องเป็น 200 กิโลเมตรที่ชั่วโมง นาฬิกาแบบพกพาทำให้การคำนวณในใจในลักษณะนี้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น

PIXTA

อีกทั้ง เพื่อให้ผู้คุมรถไฟสามารถรักษาความตรงต่อเวลาของรถไฟไว้ได้ ทางบริษัทได้มีการกำหนดเวลาในการเดินทางระหว่างสถานีไว้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นสถานีที่รถไฟจะจอดก็ตาม

ทุกๆ ครั้งที่รถไฟวิ่งผ่านสถานีที่ไม่ได้จอด ผู้คุมรถไฟจะประกาศให้ทราบทุกครั้ง พร้อมกับทำการยืนยันเวลา หากรถไฟกำลังวิ่งเร็วหรือช้ากว่ากำหนด จะมีการปรับความเร็วอย่างละเอียดอ่อนให้เข้ากับเวลา ด้วยทักษะขั้นสูง ผู้คุมรถไฟทำการแก้ไขความคลาดเคลื่อนของเวลาทุกครั้งที่รถไฟวิ่งผ่านสถานี

ผู้คุมรถไฟหญิง

ในกรณีตัวอย่าง จากสถานีชินโยโกฮาม่าไปสถานีนาโกย่านั้นมีระยะทาง 300 กิโลเมตร หากรถไฟวิ่งด้วยความเร็ว 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็จะใช้เวลา 1 ชั่วโมงกับอีกเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในความเป็นจริงแล้วมันใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที เนื่องจากเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร รถไฟจะลดความเร็วลงทุกครั้งที่พบกับโค้งหรือทางลาด

ด้วยการทำเช่นนี้ เมื่อผู้คุมรถไฟทำการคำนวณหาความเร็วที่จำเป็น พวกเขาจะไม่เร่งความเร็วให้มากจนเกินไป ในขณะเดียวกันก็ไม่ลดความเร็วลง ทั้งหมดนี้เพื่อให้ผู้โดยสารได้สัมผัสกับช่วงเวลาที่ดีบนรถไฟ

สำหรับผู้คุมรถไฟแล้ว การคำนวณความเร็วของรถไฟนั้น ข้องเกี่ยวอยู่กับความตรงต่อเวลาของรถไฟและความสบายของผู้โดยสารอยู่เสมอ

b. เตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง

ในความเป็นจริง ชินคันเซ็นอาจเกิดอาการขัดข้องเล็กน้อยได้ในระหว่างที่ออกวิ่ง แต่ก็ไม่ถึงกับที่ต้องหยุดรถไฟ เมื่อสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ผู้คุมรถไฟไม่สามารถเปลี่ยนกำหนดการของรถไฟได้ จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาไปในระหว่างที่ขับรถไฟอยู่

เพื่อที่จะสามารถควบคุมสติเมื่อมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น ผู้คุมรถไฟจะทำการฝึกฝนอยู่กับเครื่องซิมูเลเตอร์อยู่เสมอ

เครื่องซิมูเลเตอร์นี้จำลองสถานการณ์ที่อาการการขัดข้องต่างๆ เกิดขึ้น ในระหว่างที่ผู้คุมรถไฟขับรถไฟไป เขาจะอ้างอิงวิธีแก้ไขปัญหาจากคู่มือ และประกาศวิธีการแก้ไขปัญหาให้ผู้โดยสารได้ทราบ แน่นอนว่าในระหว่างที่ทำทั้งหมดนี้ ผู้คุมรถไฟก็ได้คำนวณและปรับความเร็วของรถไฟไปด้วย

เมื่อฝึกเช่นนี้เป็นประจำแล้ว ผู้คุมรถไฟก็จะสามารถควบคุมสติได้ไม่ว่าจะพบกับเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม

 

เคล็ดลับ #2: ความน่าทึ่งของพนักงานทำความสะอาด

ไม่เพียงแต่ผู้คุมรถไฟเท่านั้นที่ทำให้รถไฟชินคันเซ็นตรงต่อเวลาและมีความสะดวกสบาย

เมื่อรถไฟถึงที่หมายสุดท้าย ก่อนจะเลี้ยวกลับและออกวิ่งไปยังจุดหมายต่อไป มีช่วงเวลาว่างไม่ถึง 10 นาทีไม่นับเวลาที่ผู้โดยสารลงและขึ้นรถไฟ ในช่วงเวลาสั้นๆ ดังกล่าวนี้ พนักงานทำความสะอาดจะทำให้ภายในรถไฟดูใหม่เอี่ยมอย่างรวดเร็ว

insho impression/Flickr

เมื่อประตูเปิดออก พนักงานจะพุ่งตรงเข้าไปภายใน ปัดฝุ่นที่นั่ง เช็ดหน้าต่าง เช็ดโต๊ะ และเปลี่ยนผ้าคลุมที่นั่งด้วยความเร็วที่น่าเหลือเชื่อ ในมือพร้อมไปด้วยเครื่องทำความสะอาดไฟฟ้าและถุงขยะ  พนักงานทำความสะอาดทำให้ภายในรถไฟสะอาดเหมือนใหม่ในเวลาไม่ถึง 10 นาที จากนั้นจึงโค้งคำนับผู้โดยสารที่รออยู่บนชานชาลา และหายไปราวกับสายลม

www.yomiuri.co.jp

อาจเข้าใจง่ายกว่าหากคุณดูวีดีโอ จะเห็นได้ว่าพนักงานทำความสะอาดทำงานรวดเร็วเพียงใดในเวลาเพียงไม่ถึง 10 นาที

วีดีโอของพนักงานทำความสะอาดของไทไคโดชินคันเซ็น

วีดีโอของพนักงานทำความสะอาดของไทไคโดชินคันเซ็นและโจเอ็ตสึชินคันเซ็น (Joetsu Shinkansen) เนื่องจากมีเวลาทำงานไม่ถึง 7 นาที วิธีการทำงานของพวกเธอจึงเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก

หลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้ว พนักงานทำความสะอาดจะเรียงแถวกัน และโค้งคำนับผู้โดยสารที่รออยู่บนชานชาลา

ในตอนที่ประธานบริษัท TGV รถไฟฝรั่งเศสที่เร็วที่สุดในโลก เดินทางมาที่ญี่ปุ่น เขาได้กล่าวไว้ว่า:

"เทียบกับชินคันเซ็นไม่ได้เลย ผมอยากพาพนักงานทำความสะอาดกลับไปด้วย"

www.yomiuri.co.jp

ในลักษณะเช่นนี้ พนักงานทำงานอย่างรวดเร็วและสุภาพเพื่อรักษาตารางเวลาของชินคันเซ็น ในขณะเดียวกันก็ทำให้ผู้โดยสารได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

หากคุณมีโอกาสได้นั่งชินคันเซ็น และโชคดีได้รับชมการทำงานของพนักงานทำความสะอาด ก็คงน่าสนใจไม่น้อย

 

3. ระบบตรวจสอบความปลอดภัยที่ลงลึกในรายละเอียด

ตลอด 50 ปีที่ผ่านมานี้ สามารถกล่าวได้ว่าโทไคโดชินคันเซ็นไม่เคยมีอุบัติเหตุที่มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นเลย

ความปลอดภัยนี้เกิดขึ้นจากการตรวจสอบที่ใส่ใจในรายละเอียดหลายๆ ข้อด้วยกัน

a. มาตรการตรวจเช็ค 4 ชั้น

มาตรการตรวจเช็คของชินคันเซ็นเป็นระบบ 4 ชั้น ซึ่งถูกกำหนดโดยข้อบัญญัติของรัฐ

ทุกๆ 2 วัน ผู้ตรวจสอบจะทำการตรวจเช็คความเสียหายของรถไฟที่สามารถพบได้ด้วยการมองเห็นและสัมผัส ตรวจเช็คเสาอากาศรับพลังงาน และตรวจเช็คความเสื่อมสภาพของเบรค

ทุกๆ เดือน ชินคันเซ็นจะเข้ารับการตรวจเช็คอย่างละเอียด พร้อมทั้งเปิดเครื่องและตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งว่าระบบทำงานอย่างที่มันควรเป็นหรือไม่

syasara/Flickr

คุณจะเห็นความเอาใจใส่ในรายละเอียดได้เด่นชัดเป็นพิเศษในการตรวจเช็คประจำเดือน คน 4 คนจะทำการเช็คสภาพของน็อตแต่ละตัว หากมีตัวไหนที่ชำรุด ก็จะทำการเปลี่ยนน็อตตัวใหม่ให้ ส่วนของประตูนั้นได้รับการตรวจเช็คที่ละเอียดเป็นพิเศษ เพียงแค่ประตูเพียงอย่างเดียวก็มีจุดที่จำเป็นต้องเช็คอยู่ถึง 27 จุดแล้ว หากมีประตูบานใดเกิดเสียขึ้นมา ก็จะสร้างความลำบากให้กับการขึ้นลงของผู้โดยสาร และอาจทำให้ตารางเวลาเกิดการดีเลย์ได้

ทุกๆ 6 เดือน มอเตอร์และพื้นรถไฟที่ติดอยู่กับล้อจะถูกแยกออก การหมุนของมอเตอร์จะถูกเช็คว่ามีเพลาตัวใดอ่อนเหรือเปล่า และดูว่าปัญหาอื่นๆ อีกหรือไม่

ทุกๆ 3 ปี จะมีการตรวจสอบโดยรวมขนานใหญ่ รถไฟจะถูกแยกชิ้นส่วนออกเกือบทั้งหมด และได้รับการตรวจเช็คอย่างละเอียดเป็นระยะเวลากว่าครึ่งเดือน หลังจากนั้นรถไฟก็จะได้รับการทาสีและเคลือบเงาใหม่อีกครั้ง

Francisco Antunes/Flickr

รถไฟ 1 ขบวน (16 ตู้) ได้รับการตรวจสอบมากกว่า 500 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 3 ปี จำนวนครั้งในการตรวจสอบที่บ่อยครั้งนี้เองที่เป็นเคล็ดลับที่ช่วยให้ผู้โดยสารมีความปลอดภัย

แน่นอนว่าทุกๆ ครั้งที่เสร็จสิ้นการตรวจเช็คแล้ว รถไฟจะถูกทำความสะอาดอย่างถี่ถ้วน

b. การตรวจเช็ครางรถไฟด้วยความเร็วที่เหมาะสม

ในด้านของรางรถไฟนั้น รถไฟพิเศษที่ชื่อว่า Dr. Yellow จะวิ่งไปบนรางในความเร็ว 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมๆ กับตรวจเช็คสภาพของรางรถไฟ เสาอากาศ และสัญญาณไฟฟ้า

Fumiaki Yoshimatsu/Flickr

Dr. Yellow ไม่ได้พบเห็นได้บ่อยๆ หากคุณมีโอกาสได้เห็นในระหว่างที่อยู่ในญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ นับว่าคุณโชคดีมาก

โดย Dr. Yellow จะทำการตรวจเช็คใน 2 ลักษณะด้วยกัน

  1. ตรวจเช็ครางรถไฟ: ทำการตรวจเช็ครางรถไฟด้วยเลเซอร์ และวัดความห่างทุกๆ 1 มิลลิเมตร
  2. ตรวจเช็คสายไฟด้านบน: ทำการตรวจเช็คความเสื่อมสภาพและรอยแตกของสายไฟ (เนื่องจากเสียดสีกับเสาอากาศรับพลังงานอยู่ทุกวัน)

การตรวจเช็คเหล่านี้ทำขึ้นในกลางดึกของทุกๆ วันโดยพนักงานกว่า 3,000 คน คนจำนวนมากขนาดนั้นได้ทำงานเช่นนี้อยู่ทุกๆ วัน

Yuya Tamai/Flickr

c. เครื่องเปลี่ยนกรวดรางรถไฟเครื่องแรกของโลก

หินที่วางอยู่ 1 เมตรใต้รางรถไฟนั้นเรียกว่ากรวดรางรถไฟ ซึ่งจะถูกดูดขึ้นไปโดยการสั่นสะเทือนที่เกิดจากการวิ่งของรถไฟ ทำหน้าที่ปิดช่องว่างระหว่างรางรถไฟและช่วยลดเสียง

Sherwin Huang/Flickr

เนื่องจากชินคันเซ็นวิ่งด้วยความเร็วสูงอยู่ทุกวัน จึงกัดกร่อนกรวดชั้นบน ด้วยเหตุนี้เองจึงมีการเปลี่ยนกรวดรางรถไฟอยู่ทุกวัน

เครื่องจักรนี้สร้างขึ้นในญี่ปุ่น และนับได้ว่าเป็นเครื่องแรกของโลก

 

เครื่องเปลี่ยนกรวดรางรถไฟจะทำการเปลี่ยนกรวดรางรถไฟในทุกๆ คืน เพื่อให้คุณภาพมีความคงที่

วีดีโอของเครื่องเปลี่ยนกรวดรางรถไฟในขณะทำงาน

 

หลังจากนั้นผู้คนจะเริ่มทำความสะอาดด้วยมือ โดย 1 คนรับผิดชอบพื้นที่ประมาณ 50 เมตร

ด้วยการเช็คที่ลงลึกในรายละเอียดดังกล่าวนี้ จึงสามารถการันตีความปลอดภัยของชินคันเซ็นได้


 

เห็นได้ว่าความวิเศษของชินคันเซ็นไม่ได้อยู่แค่ที่เทคโนโลยี แต่ยังรวมไปถึงผู้คนและระบบโครงสร้างของมัน

ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น โทไคโดชินคันเซ็นได้เข้าสู่ปีที่ 50 ในปีนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง 50 ปี ทางบริษัทได้ทำการ์ดและข้าวกล่องที่ระลึกออกมาถึง 50 ชนิด หากมีโอกาสได้มาญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ ลองซื้อข้าวกล่องและการ์ดเหล่านี้ดูสิ!

 

[PS]

หนังสือพิมพ์ญี่ปุ่น อาซาฮิ (Asahi) ได้รายงานในวันที่ 18 กันยายนไว้ว่า โทไกโดชินคันเซ็นจะอัพเกรดความเร็วสูงสุดเป็น 285 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในฤดูใบไม้ผลิที่จะถึงนี้:

ในฤดูใบไม้ผลิที่จะถึงนี้ โทไกโดชินคันเซ็น (ระหว่างสถานีโตเกียวกับสถานีชินโอซาก้า) จะทำการอัพเกรดความเร็วสูงสุด นับได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี ไปสู่ความเร็วที่ 285 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจากมีทางโค้งอยู่มากในเส้นทางสายนี้ ที่ผ่านมาจึงไม่สามารถเร่งความเร็วได้สูงกว่า 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่ ชินคันเซ็น "โนโซมิ" (Nozomi) ได้ทำไว้ในปี 1992 วันแรกของเดือนหน้านับได้ว่าเป็นการครบรอบ 50 ปีของชินคันเซ็น การทลายสถิตินี้เป็นผลมาจากการมุ่งมั่นที่จะค้นหา "เทคโนโลยีที่ทำให้เข้าโค้งได้ดีและหยุดตัวได้เร็ว" อย่างไม่หยุดยั้ง

digital.asahi.com

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

tsunagu
tsunagu Japan
นี่คือแอ็คเคาท์ทางการของ tsunagu japan
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร