กินราเมงให้อร่อยกว่าเดิม! 5 เกร็ดน่ารู้ก่อนเข้าใช้บริการร้านราเมงในญี่ปุ่น รวมถึงราเมงประเภทต่างๆ
"ราเมง" เป็นอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมในระดับโลก หลายๆ คนเองก็คงอยากจะมาลิ้มลองราเมงที่ญี่ปุ่นดูสักครั้ง เมื่อมองแต่ผิวเผินอาจดูว่าเป็นราเมงหมือนกันหมด แต่จริงๆ แล้วมีซุปอยู่มากมายหลายแบบไม่ว่าจะเป็นทงคตสึ โชยุ ชิโอะ ทั้งซุปรสอ่อนๆ ไปจนถึงจัดจ้าน และร้านราเมงเองก็ยังมีกฎและมารยาทเฉพาะตัวอยู่ด้วย ถ้าเข้าไปใช้บริการโดยไม่รู้ก็อาจจะเจอดีเอาได้ ในบทความนี้ เราจะทำการอธิบายอย่างละเอียดเกี่ยวกับข้อควรรู้ต่างๆ ของราเมง รับรองได้ว่าเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน!
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
เหมือนจะรู้จักแต่ยังไม่รู้จัก!? ราเมงคืออะไร
ราเมงเป็นอาหารเมนูเส้นที่ใส่ส่วนประกอบต่างๆ ลงไป ไม่ว่าจะเป็นเส้นบะหมี่จีน น้ำซุป ต้นหอม และหน่อไม้ดอง เป็นต้น ต้นกำเนิดของราเมงนั้นมาจากประเทศจีน โดยกล่าวกันว่ามันเริ่มแพร่หลายอยู่ในย่านไชน่าทาวน์จากการเปิดท่าเรือ จนต่อมาก็ขยายกว้างไปทั่วประเทศญี่ปุ่น และมันก็ได้รับการปรับแต่งหลายรูปแบบไปตามกาลเวลาและตามลักษณะพิเศษของแต่ละพื้นที่ ทำให้วิวัฒนาการมาเป็นราเมงในยุคปัจจุบันนี้
เสน่ห์ดึงดูดของราเมงที่สำคัญเลยก็คือ การที่ประกอบไปด้วยสามปัจจัยอันได้แก่ ราคาถูก-ทำได้เร็ว-รสอร่อย ปกติแล้วราเมงจะมีราคาต่อชามอยู่ที่ประมาณ 600 - 900 เยน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่สบายกระเป๋า
และต่อจากนี้เราขอแนะนำวิธีเพลิดเพลินไปกับราเมง อาหารแสนเรียบง่ายแต่พอยิ่งค้นหาก็พบว่ามีความลึกล้ำนี้ ให้ทุกท่านได้เข้าใจได้ไปด้วยกัน!
1. มารยาทในร้านราเมง
เจ้าของร้านราเมงหลายคนมักจะมีความพิถีพิถันใส่ใจในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำซุป เส้นราเมง ส่วนผสม วิธีรับประทาน ฯลฯ ซึ่งในนั้นก็จะมีเจ้าของร้านที่มีความหัวแข็งอยู่ด้วย ถ้าคุณไม่รักษามารยาทให้ดีก็อาจจะถูกโกรธเอาได้ ดังนั้น ขอให้เรียนรู้มารยาทในร้านราเมงให้ดีก่อนล่วงหน้า แล้วแสดงให้เห็นถึงท่าทีในการรับประทานที่มีความจริงใจเพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องวุ่นวาย แล้วลิ้มรสราเมงให้สนุกกันไปเลย
・กฎเหล็กคือรีบกินรีบกลับ
ร้านราเมงในญี่ปุ่นส่วนมากเมื่อเทียบกับร้านอาหารทั่วไปร้านอื่นๆ มักจะมีที่นั่งค่อนข้างน้อย และมีหลายร้านที่มีเฉพาะที่นั่งเคาน์เตอร์ ด้วยเหตุนั้นเอง ในร้านยอดนิยมที่มีผู้คนรอคิวอย่างไม่ขาดสายจึงห้ามนั่งนานเป็นอันขาดเพื่อประโยชน์ของลูกค้าที่รอคิวอยู่ถัดไปด้วย
อีกทั้ง หากมัวแต่ค่อยๆ กินก็จะทำให้เส้นอืดจนความอร่อยลดลงไปครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว จึงต้องระมัดระวังตรงจุดนี้ไว้ด้วย ในร้านราเมงขอให้งดการจับกลุ่มพูดคุยเอาไว้ก่อน แล้วตั้งหน้าตั้งตารับประทานราเมงเพียงอย่างเดียวจะดีกว่า
・สั่งหนึ่งชามต่อหนึ่งคน
ถึงแม้จะอยากประหยัดเงินหรือไม่ค่อยหิวก็ตามแต่ การสั่งราเมงมาเพียงชามเดียวแล้วแบ่งกันรับประทานหลายๆ คนถือเป็นเรื่องต้องห้าม ถึงแต่ละร้านจะมีกฎที่ต่างกัน แต่โดยพื้นฐานแล้วก็ควรสั่งหนึ่งชามต่อหนึ่งคน แต่ถ้าใครรับประทานได้น้อยกว่าปกติก็ให้บอกกับพนักงานว่า "Men-sukuname-de (麺少なめで)" ที่แปลว่า "ขอเส้นน้อยๆ" เพื่อลดปริมาณเส้นราเมงลงจะดีกว่า ถึงราคาจะไม่ต่างกัน แต่ร้านที่รับรองด้วยวิธีเช่นนี้ก็มีอยู่มาก ถ้ารับประทานได้หมดทั้งชาม ก็คงจะคุ้มค่าสำหรับทางร้านและผู้สั่งทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่สามารถสั่งราเมงได้จริงๆ อันเนื่องมาจากอาการแพ้ ฯลฯ ก็สามารถสั่งข้าวผัดหรือเกี๊ยวซ่ามารับประทานแทนได้
・ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มเข้าร้าน
ร้านอาหารในญี่ปุ่นโดยทั่วไป มักจะห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มจากร้านอื่นเข้ามาในร้าน ถ้ามีอะไรที่ต้องการก็ขอให้สั่งจากทางร้าน อย่างไรก็ตาม ร้านส่วนใหญ่ก็มักจะเสิร์ฟน้ำดื่มหรือน้ำชาให้ฟรีอยู่แล้ว
・โดยมากจะสื่อสารภาษาอื่นนอกจากภาษาญี่ปุ่นไม่ได้
ไม่กี่ปีมานี้แม้จะมีร้านที่รับรองภาษาอื่นได้เพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ในปัจจุบันก็ยังมีร้านที่สื่อสารได้เฉพาะภาษาญี่ปุ่นอยู่มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งร้านตามชนบทที่ห่างไกลจากย่านใจกลางเมืองนั้น ต้องเตรียมใจไว้ก่อนเลยว่าจะไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาอื่นได้ เวลาที่อยากจะบอกอะไร ขอแนะนำให้ใช้แอพพลิเคชั่นแปลภาษาหรือสื่อด้วยท่าทาง แม้ว่าจะสื่อสารด้วยคำพูดไม่ได้ก็ไม่ควรยอมแพ้ง่ายๆ
2. วิธีสั่งที่ควรทราบไว้ก่อนล่วงหน้า
ร้านราเมงจะมีวิธีการสั่งอาหารอยู่ 2 รูปแบบ แบบแรกคือการเรียกพนักงานแล้วบอกเมนูที่ต้องการ ส่วนอีกแบบเป็นวิธีการสั่งโดยการซื้อตั๋วจากเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ วิธีนี้จะช่วยลดภาระของทางร้าน เพื่อให้สามารถเสิร์ฟอาหารได้รวดเร็วและไม่ผิดพลาด ถ้าคุณเห็นเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติอยู่ที่ร้านราเมงที่แวะมาล่ะก็ควรทราบไว้เลยว่าจำเป็นต้องใช้งานเครื่องนั้นเพื่อสั่งอาหาร ไม่กี่ปีมานี้ การสั่งอาหารผ่านเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติเช่นนี้เริ่มกลายเป็นกระแสหลักขึ้นมาแล้ว
วิธีการใช้งานเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติแม้จะต่างกันไปบ้างในแต่ละร้าน แต่ส่วนใหญ่ก็ให้ทำตามนี้
1) ใส่เงินเข้าไป
2) เลือกเมนูที่ชื่นชอบแล้วกดปุ่ม
นอกจากราเมงแล้ว ยังสามารถเลือกท็อปปิ้งและเมนูข้างเคียงได้อีกด้วย
3) รับตั๋วอาหารที่ออกมา
อาจมีกรณีที่เงินทอนออกมาโดยอัตโนมัติกับต้องกดปุ่มเองก่อนจึงจะออกมา ขอให้ระวังตรงจุดนี้ไว้ด้วย
อาจมีกรณีที่ต้องกดปุ่ม "ยืนยัน (確定)" ก่อนจึงจะสั่งอาหารสำเร็จ
4) นำตั๋วอาหารไปให้กับทางพนักงาน
ที่ปุ่มบนเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ จะมีชื่อเมนู (และราคา) บางร้านอาจมีรูปภาพประกอบด้วย แม้ว่าบางร้านอาจมีข้อมูลกำกับหลายภาษา แต่ก็มีหลายร้านที่มีเฉพาะภาษาญี่ปุ่นเท่านั้น สำหรับร้านที่มีแต่เมนูเป็นภาษาญี่ปุ่นก็สามารถสอบถามกับทางพนักงานได้ หรือจะถามว่า "Osusume wa? (オススメは?)" ที่แปลว่า "เมนูแนะนำคืออะไร?" เพื่อสั่งเมนูยอดนิยมก็อาจจะง่ายกว่าก็ได้ อีกทั้ง หากถึงคิวตัวเองแล้วค่อยคิดเมนูที่จะสั่งอาจกินเวลาจนสร้างความเดือดร้อนให้กับคนข้างหลังได้ ดังนั้น ก่อนที่จะใช้งานเครื่องขายตั๋วอัตโนมัติ ก็ขอให้คิดเมนูที่จะสั่งไว้ก่อนจะดีกว่า ส่วนที่ร้านจะมีเมนูอะไรอยู่บ้างนั้น คุณสามารถตรวจสอบได้จากรายการเมนูภายในร้านหรือนอกร้าน
สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่นอาจจะรู้สึกว่าการใช้เครื่องขายตั๋วอัตโนมัติมันยุ่งยากเกินไป แต่วิธีการใช้งานของมันง่ายดายมากๆ ยังไงก็ลองมาใช้กันดูนะ
3. ศัพท์ในวงการร้านราเมง
ต่อไปเราจะมาแนะนำศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับราเมงที่เมื่อใช้แล้วจะดูเท่ห์ขึ้นมาทันที เนื่องจากศัพท์เหล่านี้จะช่วยให้เราสั่งราเมงในแบบที่เราชอบได้มากยิ่งขึ้น หากจำได้แล้วก็จะสะดวกเป็นอย่างมาก
<ศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับฮากาตะราเมง>
Kaedama (替え玉) : หมายถึงการเหลือน้ำซุปเอาไว้แล้วสั่งเส้นราเมงเพิ่ม นอกจากฮากาตะแล้วยังเป็นคำศัพท์ที่ใช้ทั่วไปกับคิวชูราเมงด้วย
Bariyawa (バリやわ) : หนึ่งในรูปแบบการต้มเส้นฮากาตะราเมง เป็นการต้มเส้นให้นิ่มนวลยิ่งไปกว่า Yawa (นุ่ม)
Yawa (やわ) : หนึ่งในรูปแบบการต้มเส้นฮากาตะราเมง เหมาะสำหรับคนที่ชอบเส้นนุ่มๆ
Barikata (バリカタ) : หนึ่งในรูปแบบการต้มเส้นฮากาตะราเมง เหมาะสำหรับคนที่ชอบเส้นแข็งๆ
Harigane (ハリガネ) : หนึ่งในรูปแบบการต้มเส้นฮากาตะราเมง เป็นการต้มเส้นให้แข็งยิ่งกว่า Barikata
<ศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับสึเคเมง (ราเมงที่เสิร์ฟเส้นแยกกับซุปน้ำข้น)>
Atsumori (あつもり) : การเสิร์ฟเส้นสึเคเมงมาแบบร้อนๆ
Hiyamori (ひやもり) : การเสิร์ฟเส้นสึเคเมงมาในสภาพที่แช่น้ำเย็นเพื่อกระชับเส้นมาก่อน
Soup wari (スープ割り) : การนำซุปที่เหลือจากการรับประทานสึเคเมงมาเติมดาชิ (น้ำซุปปลาแห้งและสาหร่ายคอมบุ) ลงไปแล้วนำมาซด
<ศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับ Ie-kei Ramen (家系ラーメン)>
เวลาสั่ง Ie-kei Ramen เราจะถูกถามเรื่องความเข้มข้นของรสชาติ ความแข็งของเส้นราเมง ปริมาณน้ำมัน ก็ขอให้สั่งไปตามที่ชอบใจได้เลย
・ความเข้มข้นของรสชาติ (Koime (เข้มข้น) / Futsu (ปานกลาง) / Usume (อ่อน))
・ความแข็งของเส้นราเมง (Katame (แข็ง) / Futsu (ปานกลาง) / Yawarakame (นุ่ม))
・ปริมาณน้ำมัน (Ome (มาก) / Futsu (ปานกลาง) / Sukuname (น้อย))
<ศัพท์เฉพาะเกี่ยวกับ Jiro-kei Ramen (二郎系ラーメン)>
ถ้าท่านพอใจในท็อปปิ้งปริมาณปกติก็ให้บอกกับทางพนักงานว่า "Zenbu futsude (ธรรมดาทั้งหมด)" แต่ถ้าท่านต้องการสั่งท็อปปิ้งในปริมาณที่มากกว่าปกติก็ให้บอกด้วยวลีดังต่อไปนี้
・ Mashi (マシ) : มากกว่าธรรมดา
・ MashiMashi (マシマシ) : ประมาณ 2 เท่าของธรรมดา
・ Chomoranma (チョモランマ) : ประมาณ 3 เท่าขึ้นไปของธรรมดา
※ นอกจาก "Mashi" แล้ว บอกว่า "Ome" ก็เข้าใจได้เหมือนกัน
※ ปริมาณสำหรับ "Mashi" จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละร้าน ซึ่งบางร้านก็เยอะมาก จึงควรตรวจสอบกับพนักงานให้ดีก่อนล่วงหน้า
※ อาจไม่สามารถสั่ง "Chomoranma" ได้สำหรับบางร้าน
4. ประเภทของราเมงโดยทั่วไป
หลังจากที่ได้ทราบเกี่ยวกับมารยาทเกี่ยวกับราเมงแล้ว ก็ได้เวลาแนะนำข้อมูลที่จำเป็นเมื่อจะรับประทานราเมงกันเสียที ราเมงในญี่ปุ่นจะมีซุปแบบอ่อนและซุปแบบข้น ส่วนประกอบที่ใส่ตามรสชาติแต่ละแบบก็มีอยู่หลากหลาย แม้ว่าการปรุงรสและใส่ท็อปปิ้งจะต่างกันไปในแต่ละร้าน แต่เมื่อแบ่งประเภทแบบกว้างๆ ก็จะแบ่งได้ตามนี้
・โชยุ
เรียกได้ว่าเป็นรากฐานของราเมงญี่ปุ่น คิดค้นขึ้นโดยร้าน "Rairaiken (來々軒)" ที่ถือกำเนิดขึ้นมาในฐานะร้านราเมงแห่งแรกในญี่ปุ่นที่ย่านอาซากุสะของกรุงโตเกียว
โชยุราเมงเป็นเมนูที่ใช้น้ำซุปที่ปรุงรสด้วยโชยุในการทำ ประเภทของซุปดาชินั้นก็แตกต่างกันออกไปตามแต่ละพื้นที่หรือร้าน โดยมักจะทำขึ้นโดยการนำกระดูกไก่มาเคี่ยวกับวัตถุดิบอื่นๆ แต่บางร้านที่ทำซุปดาชิจากกระดูกหมู กระดูกวัว หรือปลาก็มีอยู่เช่นกัน
โชยุราเมงถูกแบ่งประเภทออกมากมายตามซุปดาชิที่เป็นส่วนประกอบ ตั้งแต่รสชาติอ่อนรับประทานง่ายๆ ไปจนถึงรสชาติเข้มข้น ส่วนผสมที่มักใช้ในการทำก็มีตั้งแต่ต้นหอม หน่อไม้ หมูชาชู สาหร่ายโนริ และไข่ เป็นต้น เป็นรสชาติที่คุ้นเคยกันมาอย่างลึกซึ้งในญี่ปุ่น ถึงขนาดที่เมื่อพูดว่า "ราเมง" เฉยๆ เพียงคำเดียว ส่วนใหญ่แล้วก็จะนึกนึกโชยุราเมงกันเป็นอันดับแรก
・ชิโอะ
กล่าวกันว่าเมนูที่เสิร์ฟใน "Yowaken (養和軒)" ร้านอาหารตะวันตกในย่านฮาโกดาเตะของฮอกไกโดซึ่งเป็นเมนูต้นแบบของชิโอะราเมงนั่นเอง
ชิโอะราเมงทำขึ้นด้วยน้ำซุปที่ผสมผสานซอสเกลือเข้ากับซุปดาชิที่ได้จากกระดูกไก่ กระดูกหมู และวัตถุดิบอื่นๆ ส่วนประกอบที่มักใช้กันนั้นก็ได้แก่ ต้นหอม หน่อไม้ ผัก และพวกลูกชิ้น (ลูกชิ้นปลานารูโตะหรือลูกชิ้นปลาคามาโบโกะ) เป็นต้น ทั้งยังเข้ากันได้ดีกับท็อปปิ้งอาหารทะเลต่างๆ อย่างกุ้ง หอยลาย สาหร่ายวากาเมะ ฯลฯ น้ำซุปมีความใสและรสอ่อนๆ ที่สัมผัสถึงรสอูมามิได้ง่ายๆ จึงได้รับความนิยมในหมู่สาวๆ ด้วย
・ทงคตสึ
มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่ "Nankinsenryo (南京千両)" ร้านราเมงที่เมืองคุรุเมะในจังหวัดฟุกุโอกะได้คิดค้นซุปทงคตสึขึ้นมา จากนั้นร้าน "Sankyu (三九)" ในเมืองคุรุเมะก็ได้เผลอปรับระดับความแรงของไฟผิดพลาดไปจนเกิดเป็นน้ำซุปสีขาวขุ่นขึ้นมาแล้วก็เป็นที่แพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยเหตุนั้นเอง จึงมักจะมีร้านที่ให้บริการทงคตสึราเมงอยู่มากในคิวชูโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดฟุกุโอกะ
แม้ว่าการปรุงรสจะต่างกันไปในแต่ละร้าน แต่โดยทั่วไปแล้วก็จะมีลักษณะเด่นเป็นซุปสีขาวขุ่นที่มาจากกระดูกหมูและเส้นที่เล็กเป็นพิเศษ (ประมาณเส้นหมี่) การต้มกระดูกหมูด้วยน้ำร้อนที่เดือดพล่านจากไฟแรงทำให้เจลาตินละลายออกมาจนเกิดเป็นน้ำซุปสีขาวขุ่น มีจุดเด่นอยู่ที่กลิ่นที่ไม่เหมือนใครและรสชาติแสนเข้มข้นจากไขมันหมู
ส่วนประกอบหลักได้แก่หน่อไม้ หมูชาชู ต้นหอม ไข่ต้ม เห็ดหูหนู และขิงแดง เป็นต้น ด้วยความที่เปี่ยมด้วยปริมาณ จึงได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนหนุ่มสาว ในไม่กี่ปีมานี้ก็ยังได้รับความนิยมในหลายประเทศอีกด้วย
・มิโซะ
กล่าวกันว่าถือกำเนิดมาจากการที่เจ้าของร้าน "Aji no Sanpei (味の三平)" ซึ่งเป็นร้านราเมงที่เมืองซัปโปโรในฮอกไกโด มีความคิดว่ามิโซะนั้นดีต่อร่างกาย จึงได้คิดค้นสูตรราเมงที่มีซุปมิโซะเป็นพื้นฐานซ้ำไปซ้ำมาจนออกมาเป็นราเมงรสมิโซะในปัจจุบัน
น้ำซุปทำขึ้นโดยนำซุปดาชิที่เคี่ยวขึ้นมาด้วยกระดูกหมูและผัก มาเติมมิโซะลงไปแล้วเพิ่มความร้อน ท็อปปิ้งหลักๆ ได้แก่หน่อไม้ หมูชาชู ต้นหอม และไข่ แต่ก็มีหลายร้านที่โปะข้าวโพดและเนยมาด้วย น้ำซุปที่สัมผัสได้ถึงความเข้มข้นของมิโซะนี้จะช่วยเติมเต็มความอยากอาหารได้เป็นอย่างดี
・Tori Paitan (ซุปไก่สีขาว)
แม้จะไม่แน่ชัดเรื่องแหล่งกำเนิด แต่กล่าวกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากมิซุทากิ (水炊き หรือไก่ตุ๋นหม้อไฟ) ซึ่งเป็นอาหารท้องถิ่นของฮากาตะในฟุกุโอกะ ใช้น้ำซุปที่ได้จากการบรรจงเคี่ยวกระดูกไก่จนออกมาเป็นสีขาวขุ่นในการทำ
ส่วนประกอบหลักๆ ได้แก่ เนื้อหมูหรือหมูชาชู ต้นหอม ถั่วงอก ผักอย่างเช่นกะหล่ำปลี และไข่ เป็นต้น เมื่อเทียบกับซุปทงคตสึแล้วจะไม่มีกลิ่นแรง มีรสอูมามิอันเข้มข้นจากไก่ และมีรสอ่อนรับประทานง่าย ทำให้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางจากคนทุกเพศทุกวัย
นอกจากนี้ "Noko Tori Paitan (ซุปไก่สีขาวสูตรเข้มข้น)" ที่ตัวซุปมีความหนืดสูงและมีความกลมกล่อมราวกับซุปข้นก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
・สึเคเมง
อาหารตระกูลเส้นที่หลังจากต้มเส้นราเมงแล้วก็แช่น้ำให้เส้นกระชับจากนั้นก็นำมาจุ่มน้ำซุปรับประทาน กล่าวกันว่ามีต้นกำเนิดมาจากการที่พนักงานร้าน "Taishoken (大勝軒)" ในโตเกียวได้นำเส้นราเมงไปจุ่มในน้ำซุปเพื่อรับประทานเป็นอาหารสำหรับพนักงาน ตัวเส้นจะมีความหนากว่าเส้นราเมงปกติ และจากการที่ถูกทำให้กระชับด้วยน้ำ จึงสัมผัสได้ถึงความแน่นหนึบที่มากขึ้น
จุดเด่นของสึเคเมงอยู่ที่น้ำซุปที่แสนเข้มข้น แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบได้แก่แบบร้อน (Atsumori) และแบบเย็น (Hiyamori) ส่วนประกอบจะแตกต่างกันไปในแต่ละร้าน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นหมูชาชู หน่อไม้ สาหร่ายโนริ และไข่ต้ม หลังจากที่รับประทานเส้นหมดแล้วก็สามารถขอให้เติมซุปดาชิร้อนๆ ลงไปในซุปเป็น "Soup wari" แล้วนำมาซดได้ ซึ่งนี่ก็เป็นความสนุกอีกอย่างหนึ่งของการรับประทานสึเคเมงนั่นเอง
・อะบุระโซบะ
อะบุระโซบะเป็นราเมงแบบที่ไม่มีซุป จุดเริ่มต้นของเมนูนี้มีอยู่สองทฤษฎี ทฤษฎีแรกคือร้านราเมง "Sanko (三幸)" ได้ไอเดียขึ้นมาจากราเมงเส้นอืดและนำไปเสิร์ฟเป็นเมนูแกล้มเหล้า ทฤษฎีที่สองคือร้าน "Chinchintei (珍々亭)" ได้คิดค้นขึ้นโดยต่อยอดมาจาก "บันเมง (拌麺)" ที่เป็นเมนูหมี่แห้งของจีน ซึ่งไม่ว่าจะทฤษฎีไหนต่างก็มาจากร้านที่ตั้งอยู่ในย่านมุซาชิโนะในกรุงโตเกียว ย่านนี้จึงเป็นที่รู้จักกันในฐานะแหล่งกำเนิดของอะบุระโซบะนั่นเอง
เนื่องจากมีราคาถูกแต่ก็ยังมีปริมาณมาก จึงได้รับความนิยมและการอุดหนุนจากกลุ่มนักเรียนหนุ่มสาวจนแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ มีจุดเด่นอยู่ที่วิธีการรับประทานที่คลุกเคล้าเส้นราเมง ส่วนประกอบต่างๆ และซอสทาเระที่เสิร์ฟพูนมาในภาชนะให้เข้ากัน ซอสทาเระส่วนใหญ่แล้วจะมีส่วนผสมหลักเป็นโชยุ มีความสนุกอยู่ที่สามารถเติมน้ำมันพริกญี่ปุ่นหรือน้ำส้มสายชูลงไปเพื่อเปลี่ยนรสชาติในระหว่างที่รับประทาน
ส่วนประกอบที่นิยมใช้กันนั้นได้แก่หมูชาชู หน่อไม้ ต้นหอม และไข่ เป็นต้น บางทีก็เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "มาเซะโซบะ (まぜそば)"
5. ราเมงรูปแบบแปลกใหม่ที่กำลังโด่งดัง
ร้านราเมงทั่วประเทศญี่ปุ่นนั้นกล่าวกันว่ามีอยู่มากถึงกว่า 30,000 ร้าน ซึ่งไม่ได้มีเพียงร้านเก่าแก่ที่รักษารสชาติแบบดั้งเดิมมาเท่านั้น แต่ยังมีร้านราเมงสายวิวัฒนาการที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ผู้ชื่นชอบราเมงที่เสาะแสวงหารสชาติที่แปลกใหม่ถือกำเนิดขึ้นมาด้วย
แต่ถึงจะบอกว่าเป็นสายวิวัฒนาการก็ตาม ด้วยความนิยมที่ได้รับก็ได้ทำให้มีร้านมากมายกระจายไปทั่วประเทศ ถึงขนาดที่ว่าหากลองแวะร้านราเมงโดยไม่คิดอะไรแล้ว ก็อาจจะเจอร้านดังกล่าวเลยก็ว่าได้ เป็นประเภทของราเมงที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อยากรู้เกี่ยวกับเทรนด์ต่างๆ ในวงการราเมงปัจจุบัน
・Ie-kei
เป็นร้านในเครือที่แตกแขนงมาจาก "Yoshimuraya (吉村家)" ซึ่งเป็นร้านสาขาหลักที่ตั้งอยู่ในเมืองโยโกฮาม่าของจังหวัดคานากาว่า ชื่อร้านมักจะลงท้ายด้วยคำว่า "ya (家 แปลว่าบ้าน)" จึงเป็นที่รู้จักในชื่อ "Ie-kei (家系)" กล่าวกันว่ามีต้นกำเนิดมาจาก "โยโกฮาม่าราเมง" มีจุดเด่นอยู่ที่ซุปทงคตสึโชยุที่เข้มข้นและเส้นราเมงที่หนาตรง ส่วนท็อปปิ้งก็มักจะใส่หมูชาชู ผักขม และสาหร่ายโนริ เป็นต้น
นอกจากนี้ก็ยังมีจุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ ตอนที่สั่งสามารถเลือกปรับความแข็งของเส้น ความเข้มข้นของซุป ปริมาณน้ำมันในซุปได้ตามความชอบ
・Jiro-kei
เป็นร้านในเครือตามแบบฉบับของ "Ramen Jiro (ラーメン二郎)" ที่มีสาขาหลักอยู่ที่เขตมินาโตะในกรุงโตเกียว มีจุดเด่นอยู่ที่ซุปทงคตสึโชยุที่มีไขมันมากและปรุงรสอย่างเข้มข้น เส้นใหญ่พิเศษที่เคี้ยวได้เต็มปากเต็มคำ ผักอย่างเช่นถั่วงอกปริมาณมหาศาลที่โปะจนมองไม่เห็นเส้น และยังสามารถเลือกท็อปปิ้งได้ไม่ว่าจะเป็นกระเทียม มันหมู คาราเมะ (ซอสทาเระเพื่อเพิ่มความเข้มข้นให้รสชาติ) หรือว่าผัก เป็นต้น
ร้านที่เสิร์ฟราเมงประเภทนี้มักจะใช้ชื่อ "Jiro Inspire (二郎インスパイア)" ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากร้าน Ramen Jiro นั่นเอง โดยมีอยู่หลายร้านทั่วประเทศ ซึ่งก็มีแฟนๆ ที่คลั่งไคล้ในรสชาติจนเรียกกันว่าเป็น "Jirolian (ジロリアン)" อยู่หลายคนเลยทีเดียว
・Awa-kei
Awa-kei Ramen ถือกำเนิดในจังหวัดเกียวโต และได้รับความนิยมมาตั้งแต่หลายปีก่อนในแถบพื้นที่คันไซ เป็นราเมงที่นำน้ำซุปทงคตสึหรือซุป Tori Paitan มาต้มในหม้อ แล้วใช้มิกเซอร์เพื่อทำให้เกิดฟอง มีจุดเด่นอยู่ที่ผิวสัมผัสที่ละเอียดและอ่อนนุ่มราวกับฟองของกาแฟคาปูชิโน่ ประโยชน์ของฟองพวกนี้คือช่วยให้เส้นราเมงและน้ำซุปเข้ากันได้ดีและมีรสสัมผัสที่แปลกใหม่
ราเมง เมนูแสนอร่อยในราคาสบายกระเป๋า ได้กลายเป็นที่ชื่นชอบในฐานะรสชาติสไตล์ชาวบ้านไปถึงระดับโลก ในประเทศญี่ปุ่นมีร้านราเมงตั้งแต่ร้านเครือข่ายขนาดใหญ่ ไปจนถึงร้านส่วนบุคคลที่หารับประทานได้เฉพาะในพื้นที่เท่านั้น
ด้วยการที่มีร้านราเมงอยู่ทั่วทุกแห่งหนทั่วประเทศนี่เอง ทำให้ไม่ว่าจะรับประทานที่ใดหรือสั่งราเมงประเภทไหน เราก็จะสามารถสัมผัสกับเอกลักษณ์อันไม่เหมือนใครของราเมงชามนั้นๆ ได้อยู่เสมอ ถ้ามีโอกาสได้มาเยือนประเทศญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ ลองหาโอกาสมาดื่มด่ำไปกับราเมงสักชามที่มาจากความพิถีพิถันของแต่ละร้านและแต่ละพื้นที่กันดูนะ!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่