7 เรื่องน่าสนใจในร้านอิซากายะที่ทำให้ชาวต่างชาติต้องตะลึง!

นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าญี่ปุ่นเป็น "สวรรค์ของนักดื่มแอลกอฮอล์" เพราะที่นี่มีร้านอิซากายะ (ร้านดื่มกินแบบญี่ปุ่น) ที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างถูกกฎหมายอยู่มากมายและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยแพงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ร้านอิซากายะหลายแห่งยังมีบุฟเฟต์เครื่องดื่มให้ลูกค้าได้ลองดื่มแอลกอฮอล์หลายๆ ประเภท และร้านเหล่านี้ก็มักจะทำให้ลูกค้าชาวต่างชาติทึ่งในการให้บริการและระบบร้านที่ต่างไปจากประเทศของตน ร้านอิซากายะจึงเป็นหนึ่งจุดหมายของเหล่านักดื่ม ในบทความนี้ เราได้สัมภาษณ์ชาวต่างชาติในญี่ปุ่นเกี่ยวกับเรื่องราวของร้านอิซากายะที่ทำให้พวกเขาต้องตะลึง!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

1. ดื่มไม่อั้นในราคาเพียง 1,500 - 2,000 เยน! เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในญี่ปุ่นช่างแสนถูก!

ร้านอิซากายะในประเทศญี่ปุ่นมักมีบริการบุฟเฟต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (All-You-Can-Drink) ซึ่งเป็นบริการที่เห็นได้ไม่บ่อยนักในประเทศอื่น ชาวต่างชาติจำนวนมากจึงรู้สึกทึ่งกับบริการนี้

"ตื่นเต้นมากค่ะที่ร้านอิซากายะมีบริการแอลกอฮอล์แบบบุฟเฟต์ ฉันเป็นนักดื่มตัวยงเพราะฉะนั้นบุฟเฟต์แอลกอฮอล์เลยเป็นมิตรกับเงินในกระเป๋ามากๆ แถมยังลองเครื่องดื่มได้หลายแบบด้วย ต้องบอกว่าคนญี่ปุ่นใจกว้างมากๆ เลยนะ ที่มีบริการแบบนี้ในราคาที่เท่ากับค่าเบียร์เพียงสองสามขวด" (ผู้หญิง, ชาวอเมริกัน)

"สิ่งที่ทำให้ฉันเซอร์ไพรส์สุดๆ คือ บุฟเฟต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ค่ะ มันดีมากกกก แถมยังถูกสุดๆ ฉันว่ามันเป็นแนวคิดที่ดีเลยนะ อย่างร้านอิซากายะที่ไปมาเมื่อวันก่อน เราสั่งบุฟเฟต์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปแล้วมันก็มีบาร์สำหรับ Self - Service (บริการตัวเอง) ทำให้เราได้ลองกดเบียร์สดจากแท็ปซึ่งเป็นอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อน มันเป็นประสบการณ์ที่พิเศษและดีมากๆ ค่ะ" (ผู้หญิง, ชาวไต้หวัน)

ในบางประเทศ การให้บริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบบุฟเฟต์ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ตัวอย่างเช่นประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ฝรั่งเศสกำหนดให้บริการนี้เป็นสิ่งผิดกฎหมายไปในปี 2552 และประเทศอังกฤษก็ได้สั่งห้ามเช่นกันในปี 2553 ตามมาด้วยประเทศอื่นๆ ในโซนยุโรป การที่ญี่ปุ่นยังคงให้บริการนี้เป็นสิ่งถูกกฎหมายแม้ว่ามันจะถูกสั่งห้ามในประเทศอื่นๆ นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งในสายตาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

2. เมนูที่ไม่ได้สั่งแต่ก็ยังมาเสิร์ฟ "โอโตชิ" คืออะไรไปดูกัน

ประเทศญี่ปุ่นไม่มีวัฒนธรรมการจ่ายทิปเหมือนประเทศทางฝั่งตะวันตก แต่อิซากายะบางร้านอาจมีการเรียกเก็บค่า "โอโตชิ (Otoshi อาหารเรียกน้ำย่อย)" ซึ่งเป็นค่าบริการคล้ายกับค่าเปิดโต๊ะ นี่เป็นเรื่องที่อาจสร้างความสับสนให้กับชาวต่างชาติที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมญี่ปุ่นและก่อให้เกิดปัญหาระหว่างร้านค้ากับลูกค้าได้

"พอไปถึงโต๊ะจะมีอาหารที่เราไม่ได้สั่งมาเสิร์ฟตรงหน้า เพื่อนคนญี่ปุ่นบอกว่ามันคือ โอโตชิ ซึ่งทางร้านจะเรียกเก็บเงินค่าโอโตชิตอนที่เราเช็คบิลด้วย อาหารที่เสิร์ฟก็อร่อยทุกจานนะ แต่มันน่าจะดีกว่านี้ถ้ามีใครมาอธิบายให้เราฟังก่อนว่าจะต้องจ่ายเงินซื้ออาหารในเมนูที่เราไม่ได้สั่งด้วย" (ผู้หญิง, ชาวอเมริกัน)

“ผมตกใจนิดหน่อยตอนเราโดนเรียกเก็บค่าโอโตชิ มันคือแบบ ค่าบริการเหรอ? พอถามพนักงานว่ามันเป็นอะไรที่ต้องจ่ายอยู่แล้วใช้ไหม? พนักงานก็ไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่มเติม ผมเลยสงสัยว่ามันอาจจะเป็นกฎที่คนที่นี่รู้กันดีอยู่แล้ว" (ผู้ชาย, ชาวออสเตรเลีย)

ดูเหมือนว่าชาวต่างชาติหลายคนจะไม่เข้าใจระบบโอโตชิของญี่ปุ่น ความจริงแล้ว โอโตชิ หรือ สึกิดาชิ (Tsukidashi) นั้นเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยที่ทางร้านจัดให้ลูกค้ารับประทานก่อนจะได้อาหารที่สั่งไว้ ซึ่งร้านอิซากายะส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้บริการนี้กันฟรีๆ เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติสำหรับคนญี่ปุ่นแต่อาจจะไม่ปกติสำหรับชาวต่างชาติสักเท่าไร ในบางกรณีลูกค้าสามารถเลือกไม่รับโอโตชิได้ แต่ทางที่ดีก็ควรสอบถามทางร้านให้แน่ใจเสียก่อน

3. ทำไมคนญี่ปุ่นถึงชนแก้วแค่ครั้งเดียว? ทำไมแก้วแรกต้องเป็นเบียร์? ธรรมเนียมแปลกๆ เกี่ยวกับการชนแก้วของญี่ปุ่น

ผู้ให้สัมภาษณ์บางคนก็ตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมเนียมบางอย่างที่มักจะเจอในร้านอิซากายะ มีชาวต่างชาติหลายคนพูดถึงพฤติกรรมนี้โดยเฉพาะชาวเอเชีย 

"มันเป็นเรื่องแปลกที่ชาวญี่ปุ่นมักจะชนแก้วเมื่อดื่มแก้วแรกเท่านั้น ที่ไต้หวันเราชนแก้วระหว่างดื่มกันหลายครั้งเลยค่ะ ทำไม่ที่นี่ถึงชนแค่ครั้งเดียวกันนะ?" (ผู้หญิง, ชาวไต้หวัน)

"เป็นเรื่องน่าสนใจมากค่ะที่คนญี่ปุ่นชนแก้วกันแค่ครั้งเดียว และยังดูเหมือนเป็นธรรมเนียมที่ต้องพูดว่า "มาเริ่มด้วยเบียร์กันเถอะ" ด้วย นี่เป็นเพราะคนญี่ปุ่นชอบดื่มเบียร์หรือว่าเพราะเบียร์เป็นเครื่องดื่มที่เอามาชนแก้วได้ง่ายกันนะ" (ผู้หญิง, ชาวจีน)

โดยทั่วไปแล้วชาวญี่ปุ่นจะชนแก้วกันแค่ครั้งเดียวหลังจากนั่งประจำที่และสั่งเครื่องดื่มแก้วแรกกันไปแล้ว ในทางกลับกัน ชาวไต้หวันและชาวจีนจะชนแก้วกันหลายครั้งระหว่างการดื่มและรับประทานอาหาร ส่วนประโยคที่ว่า "มาเริ่มด้วยเบียร์กันเถอะ" ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นคำพูดติดปากในงานเลี้ยงสังสรรค์กันไปแล้วก็สะท้อนให้เห็นว่าคนญี่ปุ่นสั่งเครื่องดื่มแก้วแรกเป็นเบียร์กันบ่อยแค่ไหน

แล้วทำไมคนญี่ปุ่นถึงมีวัฒนธรรมการชนแก้วด้วยเบียร์? เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในยุคสมัยที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังเฟื่องฟู ก่อนที่เบียร์จะกลายเป็นเครื่องดื่มที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายนั้น ชาวญี่ปุ่นนิยมดื่ม "อัทสึคัง (Atsukan สาเกร้อน)" แต่เมื่อการเติบโตของเศรษฐกิจพุ่งขึ้นสูงมากในปี 2498 เบียร์ก็กลายเป็นเครื่องดื่มที่ซื้อง่ายขายคล่องและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก นับแต่นั้นมาเบียร์จึงกลายเป็นเครื่องดื่มที่มักจะถูกสั่งเป็นอย่างแรกในงานเลี้ยงสังสรรค์ และเป็นที่มาของคำว่า "มาเริ่มด้วยเบียร์กันเถอะ" 

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์รูปแบบใหม่ๆ ก็ได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ชูไฮ (ค็อกเทลโซจู), ค็อกเทล, โซจู, ไฮบอล แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังคงเริ่มต้นด้วยการสั่งเบียร์เป็นอย่างแรก ทานอาหาร แล้วค่อยสั่งแอลกอฮอล์ชนิดอื่นทีหลังจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในร้านอิซากายะไปแล้ว

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

4. ทำไมอาหารในร้านอิซากายะถึงจานเล็ก?

มีหลายคนที่ตกใจกับปริมาณอาหารที่ร้านอิซากายะจัดมาให้ ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ถึงกับพูดออกมาตรงๆ เลยว่า "เราอยากทานเยอะกว่านี้" 

"ในเมนูเขียนว่าเป็น อาหารจานรวม ก็เลยแปลกใจนิดหน่อยที่ขนาดของ 'อาหารจานรวม' ที่ให้มามันเล็กมากๆ ที่เกาหลีถ้าคุณสั่ง 'ซาชิมิจานรวม' คุณจะได้ปลามาเกือบทั้งตัวเลยนะ ผมว่ารูปอาหารในเมนูมันต่างจากของจริงอยู่พอสมควรเลยล่ะ..." (ผู้ชาย, ชาวเกาหลี)

"คนญี่ปุ่นเขากินกันไม่เยอะเหรอคะ? คืออาหารปริมาณเท่านี้มันก็เหมาะสำหรับคนที่อยากทานอาหารหลายๆ ประเภทอยู่หรอกนะ แต่ในฐานะคนอเมริกัน ต้องบอกตามตรงว่าฉันรู้สึกว่ามันไม่พอ..." (ผู้หญิง, ชาวอเมริกา)

ในฐานะที่เป็นคนญี่ปุ่น ผู้เขียนคิดว่าปริมาณอาหารในร้านอิซากายะนี้เป็นเรื่องที่รู้กันดีอยู่แล้วในหมู่คนญี่ปุ่น แล้วก็ไม่ค่อยมีใครพุดถึงเรื่องนี้ด้วย เราคิดว่าอาหารจานเล็กแบบนี้ถือเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำเพราะมันจะทำให้เราเหลือที่ในกระเพาะไว้สำหรับลองเมนูอื่นๆ ได้ด้วย 

เรื่องนี้อาจจะมีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของคนญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน ในครอบครัวหรือโรงเรียนที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะสอนให้รับประทานอาหารกันอย่างสมดุล คือ แทนที่จะทานอาหารอย่างเดียวมากๆ ให้รับประทานอาหารหลากหลายประเภทในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไปจะส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่า

Klook.com

5. ผ้าเปียกสำหรับเช็ดมือพร้อมบริการทันทีที่คุณลงนั่ง! ความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ ที่สร้างรอยยิ้มให้กับผู้มาเยือน

"โอชิโบริ (Oshibori)" คือ ผ้าเช็ดมือหรือกระดาษทิชชู่แบบเปียกที่จะถูกเตรียมไว้ให้ลูกค้าทันทีที่คุณนั่งลงในร้านอาหาร คาเฟ่และร้านอิซากายะส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น สำหรับคนญี่ปุ่นการเช็ดมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารถือเป็นมารยาทบนโต๊ะอาหารที่ดี 

"ผมรู้สึกตกใจเมื่อพนักงานยื่นผ้าเช็ดมือให้ ด้วยความสับสนผมจึงบอกพนักงานไปว่าผมไม่ได้สั่งเพราะเราไม่มีอะไรแบบนี้ที่อเมริกา แต่แบบที่นี่มันฟรีจริงดิ!? ถ้าเป็นแถวบ้านผมนี่ต้องโดนคิดเงินไปแล้วแน่ๆ" (ผู้ชาย, ชาวอเมริกา)

"ในญี่ปุ่นเขาให้ผ้าเช็ดมือแทนทิชชู่หรือถ้วยใส่น้ำล้างมือล่ะ ผมคิดว่ามันดีและใช้งานง่าย ในฤดูร้อนจะเป็นผ้าเช็ดมือแบบเย็นที่ทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นด้วย ผมชอบมากนะ ถึงขั้นเอามาเช็ดหน้าเลยแหละ" (ผู้ชาย, ชาวอเมริกา)

ชาวตะวันตกส่วนใหญ่ดูจะแปลกใจกับการที่ไม่มีกระดาษทิชชู่หรือถ้วยน้ำล้างมือในร้านอาหาร แต่จะใ้ช้เป็นผ้าเช็ดมือแบบร้อนหรือเย็นตามฤดูกาลแทน แถมยังให้บริการกันแบบฟรีๆ อีกด้วย!

6. ฟังก์ชันสั่งอาหารได้หลายภาษาและ "ปุ่มเรียกพนักงาน" … นวัตกรรมปฏิวัติวงการสั่งอาหารในญี่ปุ่น

ความเห็นบางส่วนของลูกค้าที่รู้สึกทึ่งกับระบบการสั่งอาหารของร้านอิซากายะ:

"รู้สึกทึ่งกับปุ่ม "เรียกพนักงาน" ที่สามารถกดแล้วเรียกพนักงานมาที่โต๊ะได้เลย เป็นระบบที่สะดวกมากค่ะ" (ผู้หญิง, ชาวเกาหลี)

"ผมว่าการที่สามารถสั่งอาหารผ่านจอระบบสัมผัสได้มันเจ๋งมาก ทำให้ไม่ต้องรบกวนพนักงานทุกครั้งที่ต้องการสั่งอะไรเพิ่มและมีเวลาเลือกดูเมนูนานเท่าที่ต้องการ แถมยังมีประวัติการสั่งอาหารให้ดูทำให้รู้ว่าเราสั่งอะไรไปแล้วบ้าง ราคาเท่าไหร่ ไม่ต้องมานั่งนึกเพราะบางครั้งพอดื่มมากเข้าก็จะงงๆ เหมือนกันครับ..." (ผู้ชาย, ชาวอเมริกา)

ร้านอิซากายะจำนวนมาก (ส่วนใหญ่เป็นร้านที่มีสาขา) จะมีปุ่ม "เรียกพนักงาน" ไว้ใช้สำหรับเรียกพนักงานโดยเฉพาะ ปุ่มนี้มักจะติดตั้งอยู่ใกล้ๆ กับที่วางเมนู ช่วยขจัดความยุ่งยากในการพยายามเรียกความสนใจจากพนักงานที่กำลังง่วนอยู่กับการให้บริการ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ร้านอาหารหลายแห่งได้ติดตั้งแท็บเล็ตสำหรับสั่งอาหารเอาไว้ด้วย เพียงแค่เลือกเมนูและจำนวนอาหารที่ต้องการก็สามารถกดสั่งได้ทันที! และยังมีเมนูภาษาอังกฤษ, ภาษาจีน (ทั้งแบบตัวเต็มและตัวย่อ), ภาษาเกาหลี ซึ่งเมนูหลายภาษาพวกนี้จะช่วยให้ลูกค้าที่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นสามารถสั่งอาหารได้อย่างถูกต้อง และทำให้กระบวนการสั่งอาหารเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

7. ในญี่ปุ่นอนุญาตให้สูบบุหรี่ในร้านอาหารได้!? ถึงเครื่องดื่มและอาหารจะรสชาติดีมากแต่กลิ่นควันบุหรี่ทำให้ทนนั่งในร้านได้ไม่นานเลย...

มีความคิดเห็นหลายแนวเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ในร้านอาหารญี่ปุ่น คนส่วนใหญ่มักจะแปลกใจที่ร้านอิซากายะจำนวนมากอนุญาตให้สูบบุหรี่ได้ทุกที่ภายในร้าน

"ที่ไต้หวัน ร้านอาหารส่วนใหญ่จะเป็นร้านปลอดบุหรี่ หากต้องการสูบจะต้องออกไปสูบข้างนอก ถ้าเทียบกับประเทศอื่นแล้ว ฉันคิดว่าญี่ปุ่นไม่ค่อยมีพื้นที่แยกสำหรับคนที่สูบและไม่สูบบุหรี่มากนัก" (ผู้หญิง, ชาวไต้หวัน)

"ร้านอิซากายะในญี่ปุ่นไม่ใช่พื้นที่ปลอดบุหรี่ ผมคนนึงล่ะที่ไม่ชอบกลิ่นบุหรี่เลยทำให้นั่งในร้านอิซากายะได้ไม่นาน ซึ่งน่าเสียดายมากเพราะอาหารและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นั่นมันดีมากครับ" (ผู้ชาย, ชาวเวียดนาม)

ประเทศญี่ปุ่นค่อนข้างล้าหลังในเรื่องการจัดการกับผู้สูบบุหรี่ รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีการแยกพื้นที่สูบบุหรี่และปลอดบุหรี่มากขึ้น แต่ร้านอิซากายะส่วนใหญ่ก็ยังคงอนุญาตให้มีการสูบบุหรี่ในร้านได้ทุกที่ แต่ว่าเรื่องนี้น่าจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นหลังเดือนเมษายนปี 2563 เนื่องจากญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ร้านอาหารทุกแห่งในโตเกียวจะยกเลิกการอนุญาตให้สูบบุหรี่ในร้าน รวมถึงไม่อนุญาตให้มีการจัดโซนสูบบุหรี่ภายในร้านและให้สูบได้แค่ในเขตสูบบุหรี่เท่านั้น แน่นอนว่ามันจะทำให้เหล่านักสูบใช้ชีวิตกันลำบากขึ้น แต่ก็นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่จะทำให้ประเทศญี่ปุ่นตามทันประเทศอื่นมากขึ้นในเรื่องนี้

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

 

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Keisuke
Keisuke Tsunekawa
เป็นคนญี่ปุ่นที่ชอบหลีกหนีจากชีวิตในเมืองโตเกียวเป็นครั้งคราว เพื่อค้นพบเส้นทางใหม่ๆ รวมถึงท่องเที่ยวในประเทศอื่นๆ ซึ่งทำให้รู้สึกว่าได้สนุกกับการเชื่อมโยงกับสิ่งที่แตกต่างไปจากที่เคยทำเคยเห็นในชีวิตประจำวัน
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร