ทำไมคนญี่ปุ่นรักสะอาด? มาทำความรู้จักกับวัฒนธรรมความสะอาดของญี่ปุ่นกัน!
ว่ากันว่าญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่สะอาดที่สุดในโลก คนญี่ปุ่นค่อนข้างให้ความสำคัญกับความสะอาด และยังล้างมือและบ้วนปากบ่อยจนติดเป็นนิสัย คุณสามารถพบผลิตภัณฑ์ที่ติดป้ายบอกสรรพคุณอย่าง "ขจัดแบคทีเรีย" หรือ "แอนติแบคทีเรีย" เรียงรายอยู่มากมายตามซูเปอร์มาร์เก็ตญี่ปุ่น ทำไมคนญี่ปุ่นถึงหมกมุ่นเรื่องความสะอาดถึงขนาดนี้กันนะ? อะไรคือความแตกต่างระหว่างขจัดแบคทีเรียกับแอนติแบคทีเรีย? ไปหาคำตอบด้วยกันเลย!
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
ความแตกต่างระหว่างการขจัดแบคทีเรีย แอนติแบคทีเรีย และการปลอดเชื้อ
เรามักจะเห็นคำว่า "ขจัดแบคทีเรีย" และ "ปลอดเชื้อ" อยู่บ่อยๆ บนผลิตภัณฑ์ของใช้ในครัวเรือนอย่างผงซักฟอกและน้ำยาทำความสะอาดในร้านค้าญี่ปุ่น แม้แต่ราวจับในลิฟต์ก็ยังมีคำเหล่านี้แปะอยู่เช่นกัน!
สงสัยไหมว่าคำพวกนี้ความหมายว่าอะไร? ด้านล่างนี้เป็นคำอธิบายแบบง่ายๆ ที่เราสรุปมาให้ได้ทำความเข้าใจกัน
ขจัดแบคทีเรีย
ขจัดแบคทีเรีย หรือ โจคิน (除菌) หมายถึง "ลดแบคทีเรียและไวรัสได้ในระดับหนึ่ง"
ด้วยเหตุที่กฎหมายญี่ปุ่นอนุญาตให้มีเพียงผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และกึ่งการแพทย์เท่านั้นที่สามารถใส่คำว่า "ฆ่าเชื้อ" ลงบนแพคเกจได้ เพื่อเลี่ยงกฎหมายดังกล่าว คำว่า "ขจัดแบคทีเรีย" จึงเป็นคำที่เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับผลิตภัณฑ์อย่างน้ำยาทำความสะอาด ผงซักฟอก สเปรย์ที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ทิชชู่เปียก และอื่นๆ
แอนติแบคทีเรีย
แอนติแบคทีเรีย หรือ โคคิน (抗菌) หมายถึง "ระงับการเติบโตของแบคทีเรีย"
ผลิตภัณฑ์แอนติแบคทีเรียไม่ได้มีประสิทธิภาพในการฆ่าแบคทีเรีย แต่จะมีสารที่แบคทีเรียไม่ชอบเป็นส่วนประกอบ ตัวอย่างเช่น ทองแดง เงิน และไทเทเนียม เพื่อช่วยยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรีย เวลาซื้อขอแนะนำให้คอยสังเกตฉลาก หากมีคำว่า "SEK" จะนำไปใช้กับวัสดุที่เป็นผ้า ถ้ามีคำว่า "SIAA" จะนำไปใช้กับวัสดุอื่นๆ
ฆ่าเชื้อ
ฆ่าเชื้อ หรือ ซัคคิน (殺菌) หมายถึง "กำจัดแบคทีเรียและไวรัส"
กฎหมายญี่ปุ่นกำหนดให้คำคำนี้สามารถใช้ได้เฉพาะกับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างน้ำยาฆ่าเชื้อ และผลิตภัณฑ์กึ่งการแพทย์อย่างสบู่และยา โดยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดตามบ้านเรือนอื่นๆ จะไม่สามารถใช้คำคำนี้ได้
ปลอดเชื้อ
ปลอดเชื้อ หรือ เมคคิน (滅菌) หมายถึง "ปราศจากซึ่งแบคทีเรียและไวรัส"
เป็นคำที่พบเห็นได้บ่อยในผลิตภัณฑ์จำพวกผ้าพันแผลและพลาสเตอร์ แม้ว่ามันจะฟังดูเหมือนมีประสิทธิภาพสูงที่สุด แต่จริงๆ แล้วคำนี้ใช้เพื่อบ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการทำให้ปลอดเชื้อมาแล้ว ไม่ได้มีประสิทธิภาพในการทำให้วัสดุอื่นๆ ปลอดเชื้อแต่อย่างใด
ทำไมคนญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับความสะอาดขนาดนี้?
มีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเลยที่แปลกใจมากเมื่อได้เห็นความสะอาดของถนนหนทางญี่ปุ่น และแปลกใจยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อได้มีโอกาสพบปะกับคนญี่ปุ่น และรู้ถึงนิสัยด้านสุขลักษณะของชาวญี่ปุ่น สาเหตุที่อยู่เบื้องหลังความรักสะอาดนี้เป็นที่ถกเถียงกันมากมาย ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างของคำอธิบายที่มีคนเชื่อถือเป็นจำนวนมาก
คำสอนของชินโต
คำสอนของชินโตมีอิทธิพลต่อประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่โบราณกาล คนญี่ปุ่นเชื่อว่ามีเทพสถิตอยู่ในทุกสรรพสิ่ง แม้แต่ห้องน้ำและห้องครัวในบ้านก็ยังมีเทพเป็นของตัวเอง เนื่องจากเทพชื่นชอบสถานที่ที่มีความสะอาด ผู้คนจึงรู้สึกว่าต้องรักษาความสะอาดเพื่อเอาใจเหล่าเทพ แนวคิดเช่นนี้ฝังรากลึกลงไปในวัฒนธรรมญี่ปุ่น ผลักดันให้คนญี่ปุ่นชื่นชอบความสะอาดและหลีกเลี่ยงสิ่งที่พวกเขามองว่าสกปรก
อุณหภูมิที่ร้อนชื้น
ประเทศญี่ปุ่นมีอุณหภูมิที่ร้อนชื้นและมีฝนตกค่อนข้างมาก ทำให้ประกอบกันเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโตของแบคทีเรียเป็นอย่างมาก อาหารก็เสียเร็ว สิ่งของภายในบ้านก็ขึ้นราง่าย สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสะอาดกลายเป็นเรื่องที่มีความสำคัญไปโดยปริยาย
สภาพชีวิตที่มั่นคง
อีกหนึ่งคำอธิบายคือ คนญี่ปุ่นมีพลังงานเหลือมาทำความสะอาดเพราะมีสภาพชีวิตที่มั่นคงและสงบสุข ประกอบกับแหล่งน้ำที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ในยุคโชกุนโทคุกาวะ (1600 - 1868) สังคมมีความสงบสุข มีการสร้างคลองน้ำขึ้นแทบจะทุกแห่งหน ตั้งแต่เมืองใหญ่ๆ อย่างเกียวโตและเอโดะไปจนถึงละแวกชนบท เป็นเรื่องปกติมากที่จะพบเห็นผู้คนล้างผักและเสื้อผ้าอยู่ตามคลองเหล่านี้
รัฐบาลในยุคเมจิ (1868 - 1912) มีกฎหมายผลักดันให้ผู้คนทิ้งขยะอย่างถูกต้องเพื่อรักษาความสะอาดของระบบนิเวศ ความพยายามทั้งหมดนี้ได้ส่งผลให้ผู้คนมีพฤติกรรมดังเช่นในปัจจุบัน
ความใส่ใจในสุขภาพของคนญี่ปุ่นทั่วไป
ไม่สูบบุหรี่ ถุยน้ำลาย หรือรับประทานอาหารระหว่างเดิน
ในญี่ปุ่นจุดสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปตามถนน ทำให้แม้ว่าจะมีประชากรสูบบุหรี่อยู่มาก แต่ก็แทบจะไม่มีก้นบุหรี่ตกหล่นอยู่ให้เห็นตามท้องถนนเลย การถุยน้ำลายก็นับว่าเป็นเรื่องที่เสียมารยาท แม้แต่ในกรณีที่ป่วยคนญี่ปุ่นก็จะถุยน้ำลายใส่ทิชชู่และนำไปทิ้งในภายหลัง
การเดินไปกินไปในญี่ปุ่นยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ให้เหตุผลไว้ว่า:
(1) อาหารอาจตกโดนพื้นหรือเสื้อผ้าของผู้อื่น
(2) กลิ่นอาหารอาจไปรบกวนผู้อื่น
(3) คุณภาพอากาศที่ไม่ค่อยดีตามท้องถนนอาจทำให้การเดินไปกินไปไม่ดีต่อสุขภาพ
แม้ว่าอาหารหลายอย่างอาจสะดวกที่จะรับประทานระหว่างเดินทาง แต่เราก็ขอแนะนำให้ยืนรับประทานให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะออกเดินอีกครั้ง
ใส่หน้ากากอนามัยอยู่เป็นประจำ
เมื่อฤดูไข้หวัดและภูมิแพ้มาถึง ผู้คนจำนวนมากมักจะมีอาการไอและมีน้ำมูก คนญี่ปุ่นจึงใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตัวเองและลดการแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่น (บ้างก็ใส่เพื่อกลบเกลื่อนที่ไม่ได้แต่งหน้า)
คนญี่ปุ่นชอบอาบน้ำ แปรงฟัน และบ้วนปาก
ในบางประเทศอาจจะไม่จำเป็นต้องอาบน้ำทุกวัน แต่ในกรณีของญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นนั้นชื่นชอบการอาบน้ำเป็นชีวิตจิตใจ โรงอาบน้ำสาธารณะเป็นสิ่งที่เริ่มมีให้เห็นในยุคเอโดะ ในขณะที่ออนเซ็นนั้นเป็นที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว และสามารถพบได้ทั่วประเทศ คนญี่ปุ่นติดนิสัยที่จะต้องอาบน้ำอย่างน้อยวันละหนึ่งครั้งมาแต่โบราณ นอกจากนี้ยังได้รับการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กให้ล้างมือและบ้วนปากทุกครั้งที่กลับเข้าบ้าน เนื่องจากมีความเชื่อว่าการทำให้มือและปากสะอาดเป็นกุญแจที่จะช่วยป้องกันโรค
เครื่องซักผ้าและปั่นแห้งหยอดเหรียญที่มีอยู่มากมาย = เปลี่ยนเสื้อผ้าได้ทุกวัน
คนญี่ปุ่นเปลี่ยนเสื้อผ้าตลอดทุกวัน หลายครอบครัวก็จะเปลี่ยนผ้าเช็ดตัว ผ้าปูโต๊ะ และผ้าปูที่นอนทุกวันด้วยเช่นกัน บางคนอาจเปลี่ยนเสื้อคลุมทุกวัน ในบางกรณีอาจเปลี่ยนแม้กระทั่งเสื้อคลุมทุกวันทั้งๆ ที่เป็นแค่ทริปสั้นๆ ค้างแค่หนึ่งคืน ทั้งหมดนี้ทำไปเพื่อรักษาความสะอาดนั่นเอง
นอกเหนือจากการนำไปซักโดยตรงแล้ว คนญี่ปุ่นยังมีนิสัยชอบใช้สเปรย์ขจัดแบคทีเรียกับเสื้อผ้า เป็นการทำความสะอาดอย่างง่ายๆ ในกรณีที่เพิ่งกลับถึงบ้านหรือก่อนเข้านอน ซูปเปอร์มาร์เก็ตทั่วญี่ปุ่นมีสเปรย์ขจัดแบคทีเรียและกลิ่นอับสำหรับเสื้อผ้าวางขายอยู่หลากหลายชนิด ทั้งยังเป็นอุปกรณ์ที่สะดวกอย่างยิ่งในกรณีที่กลับมาจากการรับประทานอาหารตามอิซากายะและร้านชาบู
ข้อเสียของการหมกมุ่นเรื่องความสะอาด
ในขณะที่คนญี่ปุ่นมีชื่อเสียงเรื่องการรักความสะอาด ความสะอาดที่มากเกินไปก็มีข้อเสียอยู่เช่นกัน มีการศึกษาว่าการเติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่มีแบคทีเรียน้อยมากอาจขัดขวางพัฒนาการระบบภูมิคุ้มกันของเด็ก ส่งผลให้ป่วยและเป็นภูมิแพ้ได้ง่ายกว่าปกติ ปัจจุบันผู้คนได้ตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ และเริ่มปรับตัวเข้าสู่วิถีชีวิตที่มีแบคทีเรียอย่างพอประมาณเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่เราได้คัดสรรมาให้คุณได้เข้าใจ "วัฒนธรรมการฆ่าเชื้อ" ในญี่ปุ่นมากขึ้น ในตอนนี้สถานการณ์โควิด19 ในญี่ปุ่นเริ่มอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ สาเหตุหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะสุขลักษณะที่ดีของผู้คนที่นี่นั่นเอง ในเวลาเช่นนี้ลองนำวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่นนี้มาปรับใช้เพื่อดูแลสุขภาพของดูนะ!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่