[รีวิว] ชมอาคารและสถานที่รอบ "สวนโคมาบะ" โตเกียว สนุกกับวรรณกรรมญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และงานฝีมือพื้นบ้านใน 1 วัน!

"โตเกียว" เป็นเมืองแห่งวรรณกรรมและการออกแบบ ที่นี่จึงเต็มไปด้วยงานศิลปะ วัฒนธรรม และสถาปัตยกรรมมากมาย แม้แต่นักเขียนชาวไต้หวันที่เที่ยวญี่ปุ่นมานานหลายปี และชม Art Gallery มาแล้วหลายแห่งก็ยังมีสถานที่ที่ยังไม่เคยไปอยู่อีกเพียบ ในครั้งนี้ บทความซีรีส์ "จุดท่องเที่ยวในโตเกียวที่ฉันอยากไปหากมีเวลา 1 วัน! " ของ tsunagu Japan จะพาคุณไปชม "สวนโคมาบะ" ในเขตเมกุโระกัน หากคุณชอบสถาปัตยกรรมโบราณ วรรณกรรมญี่ปุ่น และงานฝีมือพื้นบ้านแล้วล่ะก็ ตามมาผจญภัยเพื่อชมงานศิลปะทั้งในสวนและบริเวณรอบนอก ต่อด้วยการเดินเล่นชมเมือง และสนุกเพลิดเพลินกับการชมสถาปัตยกรรมและคาเฟ่ธีมวรรณกรรมญี่ปุ่นกันเถอะ

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

จุดท่องเที่ยวบนแผนที่

ฉันคิดว่าหลายๆ คนคงมี "ลิสต์คาเฟ่ที่อยากไป" หรือปักหมุดเอาไว้บนแผนที่ Google Map เหมือนกันใช่ไหม?

ฉันเองก็มีหมุดบนแผนที่อยู่เต็มไปหมดเหมือนกัน ถึงแม้จะอยู่โตเกียวมานานหลายปีแล้วก็ตาม แต่เมื่อถึงวันหยุดที่คิดว่าจะลองแพลนทริปเที่ยวในเมืองดู สุดท้ายก็จะมีเรื่องนู้นเรื่องนี้เข้ามาจนทำให้ต้องเลื่อนออกไปทุกที

ตอนที่เขียนบทความซีรีส์ "สถานที่ที่อยากไปหากมีเวลา 1 วัน!" ฉันลองกลับไปดูแผนที่ Google Map อีกครั้งเพื่อหาสถานที่ที่อยากไป แล้วก็เจอคาเฟ่หนึ่งที่ชื่อ "BUNDAN COFEE&BEER" ที่เป็นคาเฟ่ในสวน

ฉันจำไม่ได้ว่าไปเห็นคาเฟ่นี้ในนิตยสารหรือรายการโทรทัศน์ที่ไหน แต่ก็ปักหมุดเอาไว้ก่อน ครั้งนี้ฉันจึงลองหาข้อมูลเพิ่มเติมดู แล้วก็พบว่าในสวนนี้ยังมี "พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่" (日本近代文学館) "คฤหาสน์โบราณของขุนนางตระกูลมาเอดะ" (旧前田伯爵家本邸) และ "พิพิธภัณฑ์งานฝีมือพื้นบ้านญี่ปุ่น" (日本民藝館) อยู่ด้วย ฉันไม่เคยไปแถวนั้นมาก่อนจึงรู้สึกว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะได้ชมวัฒนธรรมญี่ปุ่นและมุมใหม่ๆ ในโตเกียวที่ยังไม่รู้จัก วันนี้ก็เลยอยากชวนเพื่อนๆ นักอ่านของเราไปผจญภัยชมงานศิลปะด้วยกัน!

ประวัติย่านโคมาบะ (เขตเมกุโระ, โตเกียว)

"โคมาบะ" (駒場) เป็นพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับม้าตามตัวอักษรคันจิที่อยู่ในชื่อ ว่ากันว่ามีที่มามาจากชื่อ "ทุ่งโคมาบะ" (駒場野) ที่เคยใช้ในการพักม้าและนกเหยี่ยวเวลามีคนออกไปล่าสัตว์ แต่แน่นอนว่าโตเกียวในปัจจุบันนี้ไม่มีการพักม้าอีกต่อไปแล้ว

เมื่อพูดถึงพื้นที่ทั้ง 2 แห่งนี้ ตอนแรกฉันนึกภาพเมืองที่ผสมผสานความสง่างามของ "โอคุชิบุ" (*奥渋) เข้ากับบรรยากาศของ "ชิโมะคิตะซาว่า" (下北沢) ที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า แต่เมื่อเดินทางมาถึงสถานี "โคมาบะ โทไดมาเอะ" (駒場東大前) ของรถไฟสายอิโนะคาชิระ ฉันกลับเห็นแค่ทางเข้าแคมปัสโคมาบะของมหาวิทยาลัยโตเกียวอยู่ตรงหน้า และใกล้ๆ กันก็มีเพียงแมคโดนัลด์กับบ้านเรือนต่างๆ เท่านั้น นับว่าเป็นย่านที่เงียบสงบมากทีเดียว

ที่นี่มีเพียงเสียงรถไฟและเสียงจั๊กจั่นที่ดังอยู่รอบตัว เป็นภาพลักษณ์ที่แตกต่างจากเมืองมหา'ลัยทั่วไปที่มักจะครึกครื้นกันอยู่เสมอ

 

*โอคุชิบุ: ย่อมาจาก "โอคุชิบูย่า" (奥渋谷) หรือที่เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "อุระชิบูย่า" ( 裏渋谷) เป็นพื้นที่ตั้งแต่ร้าน Tokyu Department Honten ไปจนถึงสถานีรถไฟโยโยงิ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ โอคุชิบุมีชื่อเสียงขึ้นมาในฐานะแหล่งรวมตัวของคาเฟ่ที่สวยงามเรียบง่ายและร้านค้าต่างๆ

"สวนโคมาบะ" พื้นที่สีเขียวในย่านที่อยู่อาศัย

หลังจากที่เดินไปตามแผนที่และป้ายต่างๆ ฉันก็มาถึง "สวนโคมาบะ" (駒場公園) ที่ตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัย ความจริงแล้วหากคุณเดินทางด้วย "รถไฟสายอิโนะชิตะ" (井の頭線) ก็จะสามารถเข้าสวนได้ 2 ทาง คือ ถนนสายเล็กๆ ที่ดูราวกับทางเดินลับซึ่งเชื่อมกับประตูทางทิศใต้ และถนนโคมาบะโดริที่เชื่อมอยู่กับประตูฝั่งตะวันออกที่ทำด้วยไม้และไม้ไผ่

ส่วนในกรณีที่เดินทางมาจาก "สถานีโยโยงิ อุเอฮาระ" (代々木上原駅) การเข้าทางประตูหลักจะเป็นเส้นทางที่สะดวกที่สุด

ประตูหลักและป้อมรักษาการณ์ที่อยู่ตรงนี้ให้ความรู้สึกสงบหนักแน่น อีกทั้งยังได้รับการกำหนดเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สำคัญด้วย

เมื่อคุณก้าวเข้าไปในสวน ก็จะได้พบกับต้นไม้สีเขียวชอุ่มที่ช่วยให้รู้สึกเย็นใจจนแทบจะลืมไปเลยว่าอยู่กลางกรุงโตเกียว ฉันเห็นครอบครัวพ่อแม่ลูกที่กำลังดีใจกับการเจอด้วงเขี้ยวกาง ผู้ชายที่นั่งอ่านหนังสืออยู่ใต้ต้นไม้ และนักเรียนในชุดเครื่องแบบฤดูร้อนที่ใช้สวนแห่งนี้เป็นทางลัดไปโรงเรียน เป็นฉากที่ดูสมกับเป็นวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นในฤดูร้อนเอามากๆ เลย

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

"คฤหาสน์ขุนนางมาเอดะ" ชมวิถีชีวิตขุนนางในสมัยต้นโชวะ

พื้นที่ใจกลางสวนมีสถาปัตยกรรมที่ดูแปลกตาจนรู้สึกราวกับได้กระโดดเข้าไปในประตูไปที่ไหนก็ได้ของโดราเอมอนเลย ตรงทางเข้ามีตัวอักษรที่เขียนว่า "ตระกูลมาเอดะ" (前田家) ทำให้ฉันสงสัยขึ้นมาเลยมาว่าคนแบบไหนกันที่อาศัยอยู่ในที่อย่างนี้

คำตอบก็คือ ที่นี่เป็น "คฤหาสน์โบราณของขุนนางตระกูลมาเอดะ" (旧前田家本邸) ที่สร้างขึ้นโดย "มาร์ควิสโทชินาริ มาเอดะ" (前田利為) ทายาทลำดับที่ 16 ซึ่งเป็นผู้ปกครองแคว้นคางะ หรือจังหวัดอิชิคาว่าในปัจจุบัน

มาร์ควิสโทชินาริมีประสบการณ์ท่องเที่ยวในยุโรปและเคยทำงานเป็นข้าราชการทหารในสถานทูตอังกฤษมาก่อน เมื่อเขากลับมาถึงญี่ปุ่นในค.ศ. 1927 เขาก็ตัดสินใจออกแบบคฤหาสน์ในโคมาบะแห่งนี้ขึ้นใหม่ โดยมีทั้ง "บ้านสไตล์ตะวันตก" (洋館) ที่เขาใช้อาศัยอยู่กับครอบครัว "เรือนรับรอง" (迎賓館) สำหรับต้อนรับแขกกิตติมศักดิ์จากต่างประเทศ และ "บ้านสไตล์ญี่ปุ่น" (和館) ที่ใช้สะท้อนวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้ผู้มาเยือนได้รับชมกัน

บ้านสไตล์ตะวันตกแห่งนี้ออกแบบมาในดีไซน์ของบ้านชนบทอังกฤษ มีประตูทางเข้าที่ใหญ่พอให้รถม้าขับผ่านไปได้ และมีอาคารหลังคาทรงพีระมิดที่ดูเหมือนหอคอยปราสาทอยู่ทางขวา ส่วนทางใต้นั้นจะมีเฉลียงสำหรับเดินชมสวนที่ออกแบบให้มีประตูโค้ง 3 ประตูเรียงกัน (ภาพขวาล่าง) และมีระเบียงชั้นสอง ส่วนประตูหน้า ทางเข้า และโถงทางเดินในตึกนั้นจะมีรูปทรงโค้งแบนซึ่งเป็นแบบที่พบได้ในสถาปัตยกรรมแบบทิวดอร์ (Tudor architecture)

เมื่อเข้าไปชมใกล้ๆ ก็จะเห็นว่าตัวกำแพงมีการใช้กระเบื้องสีน้ำตาลที่มีลายเหมือนรอยขีดข่วนซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่ใช้ในโรงแรมอิมพีเรียล (Imperial Hotel) ในอดีต เช่นเดียวกับอาคารโบราณต่างๆ ที่ไต้หวันในยุคนั้นด้วย ความสนุกอย่างหนึ่งของการชมอาคารประวัติศาสตร์เหล่านี้ คือ เราจะได้เพลิดเพลินกับการชมรายละเอียดต่างๆ การตกแต่ง และการเชื่อมต่อตัวอาคารที่สะท้อนให้เห็นว่างานสถาปัตยกรรมรูปแบบไหนกำลังได้รับความนิยมในสมัยนั้น

เมื่อเข้ามาด้านใน คุณจะสัมผัสได้ถึงความหรูหราในทุกซอกทุกมุมของบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแชนเดอเลียดีไซน์ต่างๆ ห้องรับแขกขนาดเล็กใหญ่มากมายที่ตกแต่งอย่างหรูหรา และห้องอาหารที่มีเตาผิงหินอ่อนสีขาวขนาดใหญ่ นอกจากนี้ก็ยังมีการออกแบบและฟังก์ชั่นการใช้งานที่น่าตื่นตาตื่นใจ เช่น ปุ่มกดเรียกพ่อบ้านหรือคนรับใช้ และเมื่อเดินออกจากห้องอาหาร คุณก็จะพบกับบริเวณที่ตกแต่งอย่างเรียบง่าย ดูพื้นๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่สำหรับคนรับใช้ที่ทำงานในคฤหาสน์จึงเน้นเรื่องความสะดวกในการทำงานมากกว่าความหรูหราฟู่ฟ่าที่ใช้โชว์แขกผู้มาเยือน

บันไดใหญ่กลางบ้านที่เชื่อมอยู่ระหว่างชั้น 1 และชั้น 2 มีการตกแต่งด้วยเสาแกะสลักลายใบอะแคนทัสที่ได้รับความนิยมมากในยุโรป และสิ่งที่ฉันประทับใจมากๆ เลยก็คือการใช้พื้นที่ใต้บันไดของที่นี่

ในปัจจุบัน คนทั่วไปมักจะทำพื้นที่ในส่วนนี้เป็นห้องน้ำหรือห้องเก็บของ แต่ที่นี่กลับทำเป็นประตูโค้งเหมือนกับที่ใช้อยู่นอกตัวบ้าน และในนั้นก็มีการติดตั้งเตาผิงกับโซฟาเอาไว้ นี่เป็นรูปแบบของดีไซน์ที่เรียกว่า "อิงเกิลนูค" (Inglenook) ซึ่งหมายถึงพื้นที่สำหรับการพักผ่อนที่อุ่นสบายนั่นเอง

เมื่อเดินขึ้นไปชั้น 2 ก็จะพบกับห้องต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นห้องทำงาน ห้องนอน หรือห้องเด็ก เห็นได้ชัดว่ามีการปรับเปลี่ยนห้องเมื่อครอบครัวขยายใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ ฉันก็ยังรับรู้ได้ถึงความพยายามของคนญี่ปุ่นที่จะอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างแบบจำลองของทรัพย์สินทางวัฒนธรรมเหล่านี้ขึ้นมาใหม่ด้วย อันนี้ต้องขอบคุณแปลนภาพที่เป็นภาพถ่ายขาวดำกับชิ้นส่วนของวอลเปเปอร์และพรมต่างๆ ที่เหลือทิ้งไว้ เพราะมันทำให้คนในยุคปัจจุบันสามารถซ่อมแซมห้องในคฤหาสน์ให้กลับมาดูเหมือนต้นฉบับได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนหนังสือในห้องทำงานนั้นก็เป็นของที่ได้รับมาจากทายาทของตระกูลมาเอดะซึ่งถูกนำมาจัดเรียงให้เหมือนสมัยที่ยังมีการใช้งานคฤหาสน์แห่งนี้อยู่

นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่และวัสดุต่างๆ รวมถึงติดตั้งเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดแสดงเข้าไปเพื่อให้สามารถนำเสนอเสน่ห์ของอาคารประวัติศาสตร์แห่งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ตัวอย่างเช่น ห้องที่เคยเป็นของบุตรชายคนที่ 3 ของตระกูลมาเอดะได้ถูกดัดแปลงให้เป็นห้องสมุดที่มีนิตยสารการท่องเที่ยวของจังหวัดคานาซาว่าและอิชิคาว่า ซึ่งเป็นสองพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับตระกูลนี้ และในอีกทางหนึ่งก็มีคำอธิบายที่ทำให้เราได้รู้ว่าพื้นที่ที่ยื่นออกไปทางฝั่งขวาของตัวอาคารนั้นเป็นส่วนที่สร้างขึ้นใหม่ เพื่อติดตั้งลิฟท์ให้ผู้คนสามารถเข้าชมกันได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายบรรยาการ พื้นที่ หรือสไตล์ดั้งเดิมของตัวอาคารด้วย

ในห้องจัดแสดงมีภาพเปรียบเทียบอดีตและปัจจุบันอยู่มากมาย คุณจะได้เห็นช่วงเวลาที่สมาชิกครอบครัวมาเอดะกำลังสนุกกับการขี่ม้าและเล่นสกี, ภาพสเก็ตช์ดีไซน์เฟอร์นิเจอร์สั่งทำในห้องนอนซึ่งผลิตโดยโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ชั้นสูงในประเทศอังกฤษ และแผ่นไม้ซึ่งเป็นเครื่องรางในการอธิษฐานให้การก่อสร้างสำเร็จได้ด้วยดี อีกทั้งยังมีการดัดแปลงห้องประชุมในสมัยก่อนให้กลายเป็นห้องฉายวิดีโอสำหรับแนะนำคฤหาสน์แห่งนี้ด้วย

ระหว่างที่เดินชม ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ก็ได้บอกเราว่ามีแผนที่จะฟื้นฟูคฤหาสน์ต่อไปอย่างไรบ้าง เมื่อฟังแล้วฉันก็รู้สึกประทับใจในความปรารถนาอันแรงกล้าของคนญี่ปุ่นที่จะอนุรักษ์อาคารทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ แถมที่นี่ยังเปิดให้เข้าชมฟรี ถึงแม้จะเป็นทรัพย์สินอาคารที่มีค่ามากก็ตาม คุณสามารถเดินชมรูปได้อย่างอิสระ หรือจะใช้บริการไกด์ทัวร์อาสาสมัครฟรีก็ได้

นอกจากนี้ก็ยังมีการเปิดพื้นที่ในส่วนของบ้านญี่ปุ่นให้คนภายนอกสามารถเช่าเพื่อจัดงานอีเวนต์ต่างๆ เช่น พิธีชงชา งานจัดดอกไม้ และงานเกี่ยวกับกลอนไฮกุได้ด้วย ทั้งหมดนี้ทำให้ได้เห็นว่าคนญี่ปุ่นตระหนักถึงความสำคัญและให้ความเคารพต่อศาสตร์การออกแบบสถาปัตยกรรมมากแค่ไหน มันยิ่งทำให้ฉันยิ่งรู้สึกสนใจอาคารทางประวัติศาสตร์ในโตเกียวที่ยังไม่เคยไปมากขึ้นไปอีก

Klook.com

"พิพิธภัณฑ์วรรณคดีญี่ปุ่นสมัยใหม่" ใคร่ครวญดื่มด่ำกับผลงานชิ้นเอกของเหล่าปรมาจารย์นักเขียนชาวญี่ปุ่น

ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ยุคที่เรียกว่า "สมัยใหม่" นั้นเริ่มตั้งแต่มีการปฏิรูปเมจิ (ค.ศ. 1868) ไปจนถึงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1945) ถึงแม้จะฟังดูเหมือนผ่านมานานแล้ว แต่สเน่ห์ของวรรณกรรมก็เป็นสิ่งที่คงความอมตะเอาไว้ได้ตลอดกาล ตัวอย่างเช่น นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่โด่งดังในด้านวรรณกรรมสมัยใหม่อย่าง ริวโนะสุเกะ อะคุตะงะวะ (芥川龍之介) นัตสึเมะ โซเซกิ (夏目漱石) ยาซูนาริ คาวาบาตะ (川端康成) และ ดะไซ โอซามุ (太宰治) ผลงานของพวกเขาได้รับการแปลในหลายภาษา ฉันยังจำได้ว่าเรื่องสั้นที่ชื่อ "In a Grove" ของอะคุตะงะวะนั้นเคยอยู่ในรายชื่อหนังสือภาษาญี่ปุ่นที่บังคับเรียนในโรงเรียนที่ไต้หวันซึ่งเป็นบ้านเกิดของฉันด้วย เห็นได้ชัดเลยว่าบทบาทของวรรณกรรมญี่ปุ่นนั้นสำคัญมากในระดับโลก

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่หลงรักวรรณกรรมญี่ปุ่น และสามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้แล้วล่ะก็ "พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่" (日本近代文学館) ที่อยู่ติดกับคฤหาสน์ของตระกูลมาเอดะและบ้านสไตล์ญี่ปุ่นนี้ก็ถือเป็นสถานที่ที่จะทำให้คุณได้ใกล้ชิดกับแก่นแท้แห่งวรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่ได้อย่างเต็มที่

คุณสามารถซื้อโปสการ์ดที่มีลวดลายน่าสนใจได้ที่เคานท์เตอร์ที่อยู่ใกล้ประตูทางเข้าชั้น 1 มีทั้งรูปที่เป็นหน้าปกงานประพันธ์ที่มีชื่อเสียง ภาพถ่ายต้นฉบับของหนังสือเรื่องต่างๆ และอีกมากมาย ฉันลองไปเดินดู แล้วก็พบหนังสือนวนิยายบางเรื่องที่ฉันเคยอ่าน รวมถึงเรื่อง "The Sound of the Mountain", "The Dancing Girl of Izu" และ "The Setting Sun" ฉันรู้สึกผูกพันกับหนังสือเหล่านี้จึงซื้อบางเล่มมาเก็บไว้ ตั้งใจว่าจะส่งให้เพื่อนที่ชอบอ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นทีหลัง นอกจากนี้ ที่นี่ก็ยังมีห้องอ่านหนังสืออยู่ทางขวามือของเคาน์เตอร์ด้วย คุณสามารถยืมหนังสือในพิพิธภัณฑ์มานั่งอ่านฆ่าเวลาได้ แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าห้องเหล่านี้มีการเก็บค่าเข้าชมกันด้วยนะ

ส่วนใครที่อยากชมนิทรรศการหรืองานจัดแสดงพิเศษบนชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ ก็จะต้องซื้อบัตรเข้าชมที่เคานท์เตอร์นี้ก่อนด้วยเช่นกัน

นิทรรศการของปีนี้มาในธีม "วรรณกรรมในตำราเรียนและวรรณกรรมนอกห้องเรียน ครั้งที่ 4 : หนังสือเรื่อง Kokoro ของนัตสึเมะ โซเซกิและยุคสมัยของเขา" สำหรับคนที่เที่ยวญี่ปุ่นบ่อยๆ ก็อาจจะคุ้นเคยกับหนังสือนิยายเรื่อง "Botchan" (坊っちゃん) ของนัตสึเมะ โซเซกิ ที่มีฉากประจำเรื่องอยู่ในเมืองมัตสึยามะ จังหวัดเอฮิเมะ แต่ความจริงแล้ว นวนิยายเรื่อง "Kokoro" (こころ) ของเขาก็โด่งดังไม่แพ้กัน แถมยังถูกใส่เข้าไปในตำราเรียนของญี่ปุ่นอยู่บ่อยๆ ด้วย ฉันเคยอ่านเรื่องนี้มาก่อนจึงอยากรู้ข้อมูลเพิ่มเติม และที่สำคัญคือ ฉันเคยไปแต่พิพิธภัณฑ์ศิลปะและงานนิทรรศการภาพถ่าย  ก็เลยอยากรู้ว่างานนิทรรศการวรรณกรรมจะหน้าตาเป็นแบบไหน

เมื่อก้าวเข้ามาในห้องนิทรรศการก็จะพบต้นฉบับของนิยายเรื่อง "Kokoro" ที่เขียนด้วยลายมือ ซึ่งคุณสามารถชมได้อย่างใกล้ชิด มันทำให้ฉันรู้สึกราวกับสัมผัสได้ถึงจังหวะการหายใจของนัตสึเมะ โซเซกิ ระหว่างที่เขากำลังเขียนและปรับแก้งานเขียนเลยทีเดียว นอกจากนี้ก็ยังมีหน้าจอที่แสดงเส้นทางที่ตัวละครในนิยายใช้เดินทาง ภาพถ่ายวิวทิวทัศน์ที่พวกเขาเดินผ่าน และแผนที่แบบ 3 มิติด้วย

"ภาพวงกลมที่บูดเบี้ยว" ที่นักเขียนวาดขึ้นมานั้น ใช้สะท้อนถึงสภาพจิตใจของตัวละครหลักในเรื่องได้ดี และในขณะเดียวกันก็บ่งบอกถึงสภาพภูมิศาสตร์ของเส้นทางที่ตัวละครเหล่านั้นใช้จริงๆ ด้วย และในอีกด้านหนึ่ง นิทรรศการนี้ก็มีส่วนจัดแสดงรีแอคชั่นของเหล่านักวรรคดีที่มีต่อ "มรณสักขี มาเระสุเกะ โนกิ" (The Martyrdom of Maresuke Nogi) ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ถูกกล่าวถึงในหนังสือเรื่อง Kokoro ด้วย

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของนิทรรศการนี้ คือ การจัดคอร์สเรียนและเลคเชอร์มากมาย รวมถึงงานอีเวนต์ "ห้องสมุดเสียง" ที่ให้เหล่านักวรรณคดีมาอ่านงานของตัวเองแล้วบันทึกเสียงเอาไว้ ทำให้ผู้เข้าชมสามารถเพลิดเพลินกับท่วงทำนองภาษาญี่ปุ่นแทนการอ่านหนังสือเงียบๆ ได้

หากคุณสนใจวรรณกรรมญี่ปุ่น ฉันขอแนะนำให้ลองแวะมาที่พิพิธภัณฑ์วรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่นี้ดูสักครั้ง เพราะคุณจะได้ทำความรู้จักกับหนังสือที่เคยอ่านไปแล้วในมุมมองใหม่ แล้วก็จะได้เข้าใจว่าทำไมเราถึงควรมีสถานที่แบบนี้เพิ่มขึ้นด้วย

"BUNDAN COFFEE&BEER" ส่วนผสมที่ลงตัวของกาแฟและหนังสือ

หลังจากที่เพลิดเพลินกับงานวรรณกรรมเรียบร้อยแล้ว เราก็มานั่งพักกันที่ร้าน Bundan Coffee & Beer ที่ตั้งอยู่ในมุมชั้น 1 ของพิพิธภัณฑ์ เป็นร้านกาแฟสไตล์ย้อนยุคที่ตกแต่งด้วยไฟโทนอุ่นและเฟอร์นิเจอร์ไม้โบราณ อีกทั้งยังมีชั้นหนังสือที่ดึงดูดความสนใจของคนส่วนใหญ่ได้ด้วยหนังสือกว่า 20,000 เล่ม คุณสามารถหยิบไปอ่านได้ตามใจชอบระหว่างที่เพลิดเพลินกับอาหารเช้าหรือน้ำชายามบ่าย

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดของร้าน Bundan แห่งนี้ คือ เมนูในธีมวรรณกรรมซึ่งทำขึ้นตามเรื่องราวในงานเขียนชื่อดังต่างๆ รวมถึงเครื่องดื่มที่ตั้งชื่อตามเหล่านักเขียนและผลงานของพวกเขา ทุกเมนูมาพร้อมกับข้อความยาวเหยียดที่อธิบายถึงที่มาของชื่อและเรื่องย่อของหนังสือเล่มนั้น

ตัวอย่างเช่น "แซนด์วิชแซลมอนย่างของอังโกะ ซาคางุจิ" (Ango Sakaguchi Grilled Salmon Sandwich) ซึ่งเป็นเมนูที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก อังโกะ ซาคางุจิ (坂口安吾) หนึ่งในนักเขียนแถวหน้าของกลุ่มการเคลื่อนไหวทางวรรณกรรมที่เรียกว่า "บุไรฮะ" (無頼派) อังโกะเกิดในจังหวัดนีงาตะ และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง "My Ingenious Rice Gruel" (わが工夫せるオジヤ) เมื่ออายุได้ 44 ปี

ในหนังสือมีตอนที่เล่าว่าเขาปรับปรุงเมนูอาหารบ้านเกิดของตัวเองอย่างไรบ้าง ซึ่งเมนูนั้นก็คือแซนด์วิชปลาแซลมอนย่างนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ร้าน Bundan จึงนำสูตรในหนังสือมาปรับใหม่ โดยใส่หอมหัวใหญ่และพริกหยวกเข้าไปในขนมปังปิ้งเพื่อเพิ่มรสชาติให้กับเนื้อปลาแซลมอนหมักซีอิ๊ว เป็นอาหารที่เติมพลังยามเช้าได้ดีเชียวล่ะ

นอกจากอาหารแล้ว เมนูขนมหวานของที่นี่ก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน อย่างพาร์เฟ่ต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายเรื่อง "Lemon" (檸檬) ผลงานชิ้นเอกของนักเขียนชื่อ คาจิอิ โมโตจิโร่ (梶井基次郎) ที่จะทำให้คุณได้เพลิดเพลินกับความหวานอันแสนสดชื่น นอกจากนี้ก็ยังมีสโคนที่ตั้งชื่อตามนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกวรรณกรรมอังกฤษอย่างวิลเลียม เชคสเปียร์ ราดหน้าด้วยซอสคาราเมลสูตรพิเศษหอมหวานชวนน้ำลายสอ ดังนั้น ถึงแม้คุณจะพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ ก็ยังสามารถมาดื่มด่ำกับโลกแห่งวรรณกรรมผ่านเมนูอาหารเหล่านี้ได้อย่างเพลิดเพลิน

"พิพิธภัณฑ์งานฝีมือพื้นบ้านญี่ปุ่น" ค้นพบความงดงามของงานฝีมือที่ยังมีชีวิต

เมื่อเดินออกมาจากสวนโคมาบะ เราก็จะมาถึงจุดท่องเที่ยวแห่งสุดท้ายของวันนี้ ซึ่งก็คือ "พิพิธภัณฑ์งานฝีมือพื้นบ้านญี่ปุ่น" (日本民藝館)

คนที่คุ้นเคยกับอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารแบบญี่ปุ่นและงานออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ น่าจะเคยได้ยินชื่อ Sori Yanagi กันอยู่บ้าง แบรนด์นี้มีชื่อเสียงเรื่องเครื่องใช้ในครัวเรือนเนื่องจากมีดีไซน์ที่ดูทันสมัย ส่วนโค้งเว้าที่เรียบเนียนสวยงาม และความใช้ง่ายตามคอนเซปต์ "พอดีมือ" ของผู้เป็นเจ้าของ ปรัชญาในการสร้างสรรค์นี้เป็นสิ่งที่ตกทอดมาจากคุณ ยานากิ โซเอ็ตสึ (柳宗悦) ผู้เป็นเจ้าของฉายา "บิดาแห่งขบวนการศิลปะมินเก" (民藝運動の父)

"มินเก" (民藝) เป็นคำที่ใช้เรียกงานหัตถกรรมที่สร้างสรรค์โดยชาวบ้านทั่วไป ในค.ศ. 1926 นักปรัชญาและนักวิจารณ์ศิลปะชาวญี่ปุ่นที่ชื่อ "ยานากิ โซเอ็ตสึ" ได้ตีพิมพ์ "หนังสือชี้ชวนเพื่อการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์งานฝีมือพื้นบ้านญี่ปุ่น" (日本民藝美術館設立趣意書) ขึ้นมา จากนั้นเขาก็จัดตั้งขบวนการศิลปะที่ไม่เหมือนใคร โดยมีจุดประสงค์เพื่อค้นพบความงดงามของบรรดาข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

ในที่สุด ด้วยแรงสนับสนุนจากคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน โซเอ็ตสึก็ประสบความสำเร็จในการก่อตั้ง "พิพิธภัณฑ์งานฝีมือพื้นบ้านญี่ปุ่น" ขึ้นในค.ศ. 1936 เพื่อเผยแพร่คอนเซปต์ "ความงดงามของงานฝีมือพื้นบ้าน" เขาได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการคนแรกของพิพิธภัณฑ์ และต่อมา บุตรชายของเขาก็ได้ขึ้นเป็นผู้อำนวยการคนที่ 3 ด้วยเช่นกัน

หลังจากที่ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แล้ว โซเอ็ตสึก็อุทิศตนให้กับการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วญี่ปุ่นเพื่อศึกษาค้นคว้าและเก็บรวบรวมงานฝีมือพื้นบ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยสนับสนุนวัฒนธรรมงานฝีมือของเกาหลี ไอนุ ไต้หวัน และชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ด้วย โซเอ็ตสึนับเป็นบุคคลหนึ่งที่คอยทำหน้าที่นำเสนองานเซรามิก ภาพวาด ผ้าย้อมและสิ่งทอ เครื่องเคลือบ งานไม้ และงานฝีมืออื่นๆ ที่ทำโดยศิลปินที่ไม่มีใครรู้จักและถูกมองข้าม เนื่องจากในสมัยนั้นยังมีการใช้เกณฑ์การตัดสินที่ตั้งอยู่บนมาตรฐานงานศิลปะสมัยใหม่จากโลกตะวันตกและงานศิลปะของญี่ปุ่นในอดีต

ในปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีงานศิลปะอยู่กว่า 17,000 ชิ้น ซึ่งเป็นทั้งของเก่าและของใหม่ จากในญี่ปุ่นและต่างประเทศ นอกจากจะมีการรวมรวม เก็บรักษา และศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับงานฝีมือพื้นบ้านแล้ว พิพิภัณฑ์แห่งนี้ยังมีนิทรรศการต่างๆ อีกมากมาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อโปรโมทหลักปรัชญาของยานากิ โซเอ็ตสึ

เมื่อก้าวเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ คุณก็จะพบกับห้องเพดานสูงที่มีบันไดเชื่อมขึ้นไปทั้งซ้ายและขวา เป็นบรรยากาศที่ดูประณีตสวยงาม ที่นี่ไม่มีเส้นทางเฉพาะในการเดินชมซึ่งแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่น และผู้มาเยือนก็สามารถเลือกลำดับสิ่งที่อยากชมได้ตามใจชอบโดยดูเส้นทางได้จากแผนที่ นอกจากนี้ งานฝีมือแต่ละชิ้นก็จะมีเพียงป้ายบอกชื่อ เทคนิคที่ใช้ และวันที่สร้างสรรค์ผลงานเท่านั้น ทำให้คุณสามารถเพลิดเพลินกับงานต่างๆ ด้วยสายตาและหัวใจ โดยไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ หรือประสบการณ์ใดๆ เลย

บนชั้น 2 ของบ้านหลังนี้เป็นโถงนิทรรศการขนาดใหญ่ที่จัดแสดงงานฝีมือชิ้นพิเศษอยู่ โถงนี้เป็นส่วนที่ได้รับการรีโนเวทใหม่ในค.ศ. 2021 เพื่อฉลองวันครบรอบ 80 ปีของพิพิธภัณฑ์ บริเวณทางเข้าจะสว่างไปด้วยแสงธรรมชาติที่ส่องผ่านเข้ามาทางเพดาน ตัดกับฉากหลังที่เป็นพื้นที่สีเขียวของสวนโคมาบะ เป็นบรรยากาศที่ชวนให้ผ่อนคลาย 

นอกจากนี้ ที่ชั้น 1 ก็ยังมีร้านขายของที่จำหน่ายหนังสือของทางพิพิธภัณฑ์ที่ตีพิมพ์เป็นพิเศษและไม่สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือทั่วไป รวมถึงหนังสือของยานากิ โซเอ็ตสึ กับหนังสือที่เกี่ยวข้องกับมินเกและงานฝีมือพื้นบ้านชั้นยอดอีกมากมายด้วย

ภาพถ่ายทั้งหมดนี้ เราถ่ายโดยได้รับอนุญาตจากทางพิพิธภัณฑ์แล้ว และจะต้องถ่ายเฉพาะตอนที่ไม่มีคนอยู่ในเฟรมด้วย ความจริงแล้ว วันที่เราไปนั้นมีคนอยู่ในพิพิธภัณฑ์พอสมควร และในร้านขายของก็ถึงกับต้องต่อคิวเพื่อจ่ายเงินกันเลย ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่าเป็นช่วงบ่ายของวันธรรมดา สิ่งนี้แสดงให้เห็นเลยว่าคนญี่ปุ่นมีความสนใจในงานฝีมือ และความงดงามของ "มินเก" ที่แฝงอยู่ในชีวิตประจำวันมากแค่ไหน เห็นอย่างนี้แล้วฉันก็ชักอยากจะไปเที่ยวพื้นที่ฝั่งปีกซ้าย (ที่พักของยานากิ โซเอ็ตสึในอดีต) ที่ตั้งอยู่บนถนนฝั่งตรงข้ามขึ้นมาเลย ครั้งหน้าฉันจะไม่พลาดอย่างแน่นอน!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ประสบการณ์ทางวรรณกรรมที่สัมผัสได้ไม่รู้เบื่อ

ทีแรก ฉันตั้งใจว่าจะไปเที่ยวแค่คาเฟ่ที่เคยปักหมุดไว้ในโทรศัพท์เฉยๆ แต่เมื่อไปจริงๆ แล้วกลับได้พบสถานที่น่าสนใจมากมาย และสุดท้าย มันก็กลายเป็นทริปวรรณกรรมที่ชวนให้อิ่มอกอิ่มใจ หลังจากนี้ ฉันตั้งใจว่าจะไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์วรรณกรรมญี่ปุ่นสมัยใหม่และพิพิธภัณฑ์งานฝีมือพื้นบ้านญี่ปุ่นทุกครั้งที่พวกเขามีนิทรรศการใหม่เลย และฉันก็อยากลองเที่ยวกำแพงน้ำพุและโถงทางเดินที่นำไปสู่บ้านสไตล์ญี่ปุ่นของคฤหาสน์ตระกูลมาเอดะที่ยังไม่ได้แวะไปในครั้งนี้ด้วย จากข้อมูลที่ฉันเช็คมา ดูเหมือนเส้นทางนี้จะเปิดให้คนทั่วไปเข้าชมได้ในโอกาสพิเศษเท่านั้น

จากประสบการณ์ทางวรรณกรรมในครั้งนี้ ฉันรู้สึกราวกับได้กุญแจสู่โลกใบใหม่ ตอนนี้ฉันรู้สึกอยากลองเที่ยวอาคารและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ในโตเกียวให้มากขึ้น อ่านวรรณกรรมญี่ปุ่นมากขึ้น และลองใช้ภาชนะที่แตกต่างกันในการจัดโต๊ะอาหาร ฉันแน่ใจว่าในโตเกียวยังมีจุดท่องเที่ยวทางวรรณกรรมอันยอดเยี่ยมรอให้ไปค้นพบอีกมากมายเลยล่ะ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

มนต์เสน่ห์คันโต

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Dawn
Dawn Cheng
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ความสนใจที่เกี่ยวข้อง

ค้นหาร้านอาหาร