เมษายน 2020 เป็นต้นไปญี่ปุ่นจะห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหารทุกแห่ง! ฝ่าฝืนมีโทษปรับกว่า 100,000 บาท
"มีความทรงจำแย่ๆ กับภัตตาคารญี่ปุ่นเพราะกลิ่นบุหรี่"…คงมีหลายคนที่เจอกับประสบการณ์แบบนี้กันมาก่อนนะครับ กฎระเบียบการสูบบุหรี่อันล้าหลังของญี่ปุ่นดังกล่าวในที่สุดก็จะได้รับการปรับปรุงในเดือนเมษายน 2020 นี้ สาเหตุเนื่องมาจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้บังคับใช้ "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" รวมไปถึงโตเกียวเองที่ได้บังคับใช้ "มาตราป้องกันการรับบุหรี่ควันมือสองประจำกรุงโตเกียว" นั่นเอง เพื่อไม่ให้สับสนกับตัวข้อกำหนดทั้งสองฉบับเราจึงได้นำจุดเด่นของแต่ละข้อกำหนดมาอธิบายให้คุณเข้าใจกัน รวมไปถึงวิธีการสังเกตุ "พื้นที่ห้ามสูบบุหรี่" และ "พื้นที่อนุญาตให้สูบบุหรี่" ที่มีอยู่ในญี่ปุ่น
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
ประเทศที่ห้ามสูบบุหรี่ในอาคารมีถึง 55 ประเทศทั่วโลก! ในการประเมินขององค์การอนามัยโลก ระบบจัดการการสูบบุหรี่ของญี่ปุ่นนั้นอยู่ในอันดับต่ำสุด !?
สำหรับประวัติศาสตร์ของข้อกำหนดที่เกี่ยวกับบุหรี่นั้น หากพูดว่าเป็นประวัติศาสตร์เดียวกันกับกิจกรรมการเคลื่อนไหวขององค์การอนามัยโลกก็ไม่ผิดนัก ในปี 1970 ได้มีการลงมติร่วมในการระบุปัญหาถึงการเสียสุขภาพจากบุหรี่มือสองเป็นครั้งแรก นับแต่นั้นมาองค์การอนามัยโลกได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศวางมาตรการเรื่องข้อกำหนดในการสูบบุหรี่ขึ้น จึงเริ่มมีการใส่ใจกับปัญหาผลกระทบจากบุหรี่มือสองโดยเป็นโจทย์ร่วมระดับสากลขึ้นเรื่อยๆ
จนกระทั่งปี 1988 องค์การอนามัยโลกจึงได้จัดตั้งให้วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันงดสูบบุหรี่โลก" เพื่อให้กลายเป็นวัฒนธรรมทางสังคมร่วมกันทั้งโลก วันแล้ววันเล่าจนกระทั่งปี 2003 ก็ได้มีการประกาศ "อนุสัญญาองค์การอนามัยโลกว่าด้วยการจำกัดการสูบบุหรี่" เพื่อจำกัดการโฆษณาและการวางขายบุหรี่ขึ้นในการประชุมองค์การการค้าโลก โดยอาศัยศูนย์กลางการดำเนินกิจกรรมเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ออกกฏหมายในการป้องกันการสูบบุหรี่มือสอง
จากผลลัพธ์การดำเนินกิจกรรมขององค์การอนามัยโลก ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ อุรุกวัย อังกฤษ ฮ่องกง ตุรกี อเมริกา (ในรัฐส่วนใหญ่ของประเทศ) ได้มีการออกกฏหมายควบคุมไม่ให้สูบบุหรี่ในอาคารเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ประเทศที่มีการห้ามสูบบุหรี่ในอาคารสาธารณะนั้นยังมีอีก 55 ประเทศทั่วโลก (สถิติในปี 2016)
ทางด้านฝั่งญี่ปุ่นนั้นมีความล่าช้าในการวางมาตรการการสูบบุหรี่ หากดูผลการประเมินขององค์การอนามัยโลกที่แบ่งมาตรการการป้องกันการรับบุหรี่มือสองทั่วโลกออกเป็น 4 ระดับแล้วล่ะก็ จนกระทั่งถึงปี 2018 ญี่ปุ่นอยู่ในระดับ 1 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุด (ปัจจุบันอยู่ในระดับ 2) เนื่องมาจากภูมิหลังที่ญี่ปุ่นไม่ได้มีการบังคับให้วางกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการสูบบุหรี่นั่นเอง
ความหละหลวมของมาตรการจำกัดการสูบบุหรี่มาจากทั้งราคาและปริมาณการบริโภค หากดูตัวอย่างในการวางมาตรการของประเทศอื่นๆ ที่มีการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้แล้ว ตัวอย่างเช่นออสเตรียจะเป็นประเทศที่มีราคาบุหรี่สูงที่สุดในโลกโดยกำหนดราคาต่อหนึ่งซองไว้ที่ราว 4,000 เยน โดยอังกฤษวางราคาที่ราว 1,400 เยน อเมริกาที่ประมาณ 750 เยน ฝรั่งเศสที่ 900 เยน แต่ญี่ปุ่นนั้นบุหรี่หนึ่งซองมีราคาเพียง 400-500 เยนเท่านั้น เป็นราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ
นอกจากนี้หากจะเปรียบเทียบสถิติจำนวนบุหรี่ที่แต่ละคนสูบต่อปีแล้ว อังกฤษมีสถิติที่ 828 มวน อเมริกา 1,017 มวน ฝรั่งเศส 1,090 มวน ส่วนญี่ปุ่นอยู่ที่ 1,583 มวน ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด หากนำไปเปรียบเทียบกับเกาหลี จีน ฟิลิปปินส์แล้ว แม้ว่าทั้งราคาและปริมาณการบริโภคบุหรี่นั้นแทบไม่ได้ต่างกับประเทศเหล่านี้ แต่ความล้าหลังของญี่ปุ่นเรื่องมาตรการการสูบบุหรี่ก็ทำให้เหล่านักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ทั่วทั้งเอเชียต่างก็พากันตกใจเรื่อยมา
การจัดงานโตเกียวโอลิมปิก พาราลิมปิก ช่วยเร่งให้ญี่ปุ่นพัฒนามาตรการการสูบบุหรี่
อย่างที่ได้อธิบายไปก่อนหน้านี้ว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศล้าหลังในด้านการวางมาตรการการสูบบุหรี่ได้เร่งการวางมาตรการการสูบบุหรี่อย่างรวดเร็ว นั่นเป็นเพราะญี่ปุ่นกำลังจะเป็นเจ้าภาพในการจัดโตเกียวโอลิมปิก พาราลิมปิก ในปี 2020 นี้นั่นเอง (ตอนนี้โอลิมปิกเลื่อนไปเป็นปี 2021 เรียบร้อยแล้ว) ตั้งแต่ปี 1988 เป็นต้นมาเมืองที่จัดโอลิมปิกนั้นจะถูกกำหนดให้เป็นเมืองงดสูบบุหรี่มาโดยตลอด เมื่อยิ่งเข้าใกล้โตเกียวโอลิมปิกมากขึ้นเท่าไหร่ คณะกรรมการโอลิมปิค (IOC) ยิ่งเพ่งเล็งญี่ปุ่นมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อเกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2018 เป็นต้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ร่างกฏหมาย "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" ในเดือนมิถุนายนของปีเดียวกันนี้ กรุงโตเกียวซึ่งเป็นสถานที่จัดงานโอลิมปิกก็ได้ร่างมาตรการป้องกันบุหรี่มือสองที่เป็นอิสระชื่อว่า "มาตราป้องกันการรับบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว" ขึ้นด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันทั้งพระราชบัญญัติและมาตราเหล่านี้จะถูกประกาศบังคับใช้ในเดือนเมษายนปี 2020 อย่างเป็นทางการ
ไม่ว่าจะเป็นข้อกฎหมายฉบับใด ก็ว่าด้วยการงดสูบบุหรี่ภายในอาคารที่มีบุคคลจำนวนมากอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น โดยผู้ฝ่าฝืนนั้นจะมีบทลงโทษเกิดขึ้น แต่ในเรื่องของร้านและอาคารต่างๆ ที่เข้าข่าย รวมไปถึงข้อยกเว้นต่างๆ นั้น ข้อกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ก็มีความแตกต่างกันบ้างในบางประเด็น ดังนั้น เราจึงได้รวบรวมเพื่อสรุปประเด็นของ "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" และ "มาตราป้องกันการรับบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว" ที่มีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายนปี 2020 มาชี้แจงกันที่นี่
ร้านอาหารทั่วประเทศญี่ปุ่นมีร้านที่ห้ามสูบบุหรี่ด้านในอาคารเพียง 45%!?
เดือนกรกฎาคมปี 2018 ได้มีการปรับเปลี่ยนกฎหมาย "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพ" บางส่วนและประกาศเป็น "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" สำหรับพระราชบัญญัติฉบับเดิมนั้นกำหนดไว้ว่าการป้องกันบุหรี่มือสองสำหรับร้านอาหารและโรงแรมต่างๆ นั้นถูกกำหนดไว้ว่าเป็น "ภาระผูกพันในการสนับสนุนนโยบาย" เท่านั้น หรือถ้าพูดตรงๆ ก็คือเป็นกฏหมายที่ไม่มีผลทางพฤตินัย ดังนั้นในร้านและอาคารต่างๆ ก็ยังมีความแตกต่างในการดำเนินการป้องกันบุหรี่มือสองของแต่ละที่ ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดสถานการณ์ที่บ่งบอกได้ว่าไม่เกิดการปรับปรุงเท่าที่ควร รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยอมรับถึงความเป็นจริงว่าแค่ให้เป็นการส่งเสริมผู้ดูแลแต่ละสถานที่ดำเนินการด้วยตนเองนั้นไม่เพียงพอต่อการจัดการ จึงได้เพิ่มบทลงโทษลงไปในฉบับปรับปรุงใหม่
เมื่อ "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับปรับปรุง" ถูกนำมาใช้จริง ในอาคารสาธารณะของที่ใช้ร่วมกันระหว่างหลายๆ คนนั้นจะกลายเป็นถูกห้ามสูบบุหรี่ภายในทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มันก็มีข้อกำหนดบางอย่างที่ทำให้อาคารบางประเภทนั้นไม่เข้าข่ายด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น "โรงเรียนประถม มัธยมต้นและมัธยมปลาย" "สถานอนุบาลและโรงเรียนอนุบาล" "มหาวิทยาลัย" "สถานพยาบาล" "อาคารสวัสดิการเด็กปฐมวัย" "สถานที่ทางการเมือง" "รถบัส รถแท็กซี่ เครื่องบิน" ต่างๆ ที่เป็นอาคารที่กำหนดไว้นั้นถูกกำกับให้เป็นที่ห้ามสูบทั้งสิ้น ขณะที่ภายนอกอาคารเหล่านี้อนุญาตให้มีการตั้งสถานที่สำหรับสูบบุหรี่ได้
นอกจากอาคารหรือร้านอาหารที่กล่าวถึงด้านบนแล้ว โรงแรม สถานที่ออกกำลังกาย รถไฟต่างๆ นั้นถูกกำหนดให้เป็นสถานที่ห้ามสูบโดยพื้นฐานก็จริง แต่หากมีการกำหนดสถานที่สูบบุหรี่ที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้วก็สามารถที่จะตั้งที่สูบบุหรี่ในอาคารได้
นอกจากนั้น ในกรณีของร้านอาหาร ถึงแม้จะถูกกำหนดให้ภายในเป็นสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ทั้งหมด แต่หากเป็นร้านที่มีเงินทุนไม่เกิน 50 ล้านเยนและมีพื้นที่ต้อนรับลูกค้าไม่เกิน 100 ตารางเมตร ก็สามารถที่จะสูบบุหรี่ภายในร้านได้หากมีการติดป้ายอนุญาตให้สูบบุหรี่ไว้อย่างชัดเจน จากสถานการณ์นี้ทำให้มีอาคารห้างร้านที่ไม่เข้าข่ายเป็นจำนวนมาก จนในทางปฏิบัติแล้วร้านอาหารที่มีการบังคับใช้กฏห้ามสูบบุหรี่จริงนั้นมีเพียง 45% จากทั้งหมดเท่านั้น ร้านอาหารที่เหลืออีก 55% ถูกจำกัดว่าไม่เข้าข่ายและยังสามารถสูบบุหรี่ภายในได้อีกด้วย
ทางด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นบาร์หรือสแน็คที่เป็นร้านขายแอลกฮอล์ ร้านขายบุหรี่ที่มีการเสิร์ฟอาหารภายในร้านแต่ไม่ได้ขายอาหารเป็นหลัก รวมไปถึงสถานที่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะตามมุมเมืองต่างๆ ก็จะจัดว่าเป็นสถานที่ที่สามารถสูบบุหรี่ได้ทั้งหมด เมื่อผนวกกับข้อกำหนดของอาคารที่ไม่เข้าข่าย ที่สูบบุหรี่เหล่านี้จำเป็นต้องมีการแสดงป้ายเพื่อบ่งบอกไว้อย่างชัดเจน ในส่วนของประเภทป้ายแบบต่างๆ นั้นจะมีคำอธิบายในบทความนี้ภายหลังครับ
ในส่วนของโตเกียว ผู้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 นั้น ได้วางกฎการสูบบุหรี่ที่เข้มงวดขึ้นในแบบของตนเอง
เพื่อเป็นการต้อนรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิก พาราลิมปิก ที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำกับกฏหมาย "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" แต่อย่างที่ได้บอกไปเมื่อก่อนหน้านี้ว่าสถานที่ซึ่งไม่เข้าข่ายนั้นก็มีอยู่ไม่น้อย จึงอาจจะทำให้อาจส่งผลกระทบด้านภาพลักษณ์เมื่อจัดโอลิมปิกว่ามีมาตรการจัดการที่ไม่เพียงพอ
เมื่อพิจารณาถึงประเด็นนี้แล้ว โตเกียวซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดโอลิมปิกจึงได้ออกข้อกำหนดอื่นนอกเหนือจาก "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" ที่จะถูกนำมาใช้กับอาคารที่อยู่ในโตเกียวเท่านั้น ซึ่งข้อกำหนดฉบับนั้นใช้ชื่อว่า "มาตราป้องกันบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว"
เนื่องจาก "มาตราป้องกันบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว" มีเนื้อหาที่เข้มงวดยิ่งกว่า "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" จึงทำให้อาคารที่ถูกตีกรอบไว้ว่าไม่เข้าข่ายนั้นมีจำนวนที่ถูกจำกัดวงแคบลง ตัวอย่างเช่น แม้ใน "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" จะระบุว่าไม่ให้สูบบุหรี่ในพื้นที่แต่สามารถตั้งจุดสูบบุหรี่ที่นอกตัวอาคารได้ จึงทำให้สามารถมีสถานที่สูบบุหรี่ใน "โรงเรียนประถม มัธยมต้น มัธยมปลาย" และ "สถานอนุบาลและโรงเรียนอนุบาล" ได้ ขณะที่ "มาตราป้องกันการรับบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว" นั้นไม่มีข้อยกเว้นเรื่องสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันการก่อความเสียหายแก่สุขภาพของเหล่าบุคคลผู้ไม่บรรลุนิติภาวะที่อายุไม่ถึง 20 ปีจากการรับบุหรี่มือสองนั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้นใน "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพ" ยังระบุไว้ว่าหากร้านอาหารมีเงินลงทุนไม่เกิน 50 ล้านเยน พื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางเมตร แค่ระบุป้ายอนุญาตให้สูบบุหรี่ก็สามารถที่จะสูบบุหรี่ภายในร้านได้ แต่ใน "มาตราป้องกันการรับควันบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว" นั้นไม่อนุญาตให้ร้านอาหารที่มีการจ้างพนักงานนั้นมีการอนุญาตให้สูบบุหรี่เลย โดยให้สิทธิกับร้านที่ไม่มีการจ้างพนักงานเท่านั้นที่สามารถเลือกได้ว่าจะเปิดให้สูบบุหรี่หรือไม่ ทำให้ร้านที่เข้าข่ายห้ามสูบบุหรี่ตามมาตรานี้มีจำนวนมากขึ้นจนทำให้ร้านอาหารในโตเกียวราว 84% นั้นถูกกำหนดเป็นสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ไปโดยปริยาย
จากเหตุการณ์นี้อาคารต่างๆ ที่เข้าข่ายนั้นจะมีจำนวนมากขึ้นตามนโยบายที่ได้วางไว้ จึงทำให้สามารถบอกได้ว่า "มาตรการป้องกันการรับบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว" นั้นมีความเข้มงวดยิ่งกว่า "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" ก็เป็นได้
หลังจากที่ได้อธิบายมาจนถึงตรงนี้แล้ว จึงได้ขอรวบรวมข้อแตกต่างของทั้งสองตัวบทนี้เอาไว้ดังด้านล่างนี้
■ ข้อแตกต่างระหว่าง "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" และ "มาตราป้องกันการรับควันบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว"
ในส่วนของประเด็นที่คล้ายคลึงกันระหว่าง "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" กับ "มาตราป้องกันการรับบุหรี่มือสอง" ที่กำหนดขึ้นเพื่อรับการจัดโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวก็คือ การเพิ่มบทลงโทษให้มีค่าปรับที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบปรับผู้ฝ่าฝืนนั้นมีบทลงโทษที่รุนแรงต่างกันระหว่างกฏหมายที่บังคับใช้ทั่วประเทศกับมาตราที่บังคับใช้เฉพาะในโตเกียว ตัวอย่างเช่น "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" นั้นหากฝ่าฝืนไม่ทำตามกฎการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่นั้นๆ ผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่จะต้องเสียค่าปรับสูงสุด 5 แสนเยน ในส่วนของผู้ฝ่าฝืนกฏการห้ามสูบบุหรี่จะต้องเสียค่าปรับสูงสุด 3 แสนเยน อีกด้านหนึ่งในส่วนของ "มาตราการป้องกันการรับควันบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว" จะทำการเปรียบเทียบปรับทั้งผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่และผู้สูบบุหรี่ที่อัตราเดียวกันคือปรับสูงสุด 5 หมื่นเยน บทลงโทษนั้นเกิดขึ้นกับทั้งผู้รับผิดชอบสถานที่และผู้กระทำผิด จึงจำเป็นจะต้องระมัดระวังให้ดีในการเลือกสถานที่สูบบุหรี่ให้ถูกต้องตามกฎ
■ บทลงโทษของ "พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" และ "มาตราป้องกันการรับควันบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว"
พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่:
ผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่: ปรับไม่เกิน 5 แสนเยน, ผู้กระทำผิดรายบุคคล: ปรับไม่เกิน 3 แสนเยน
มาตราป้องกันการรับควันบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว:
ผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่: ปรับไม่เกิน 5 หมื่นเยน, ผู้กระทำผิดรายบุคคล: ปรับไม่เกิน 5 หมื่นเยน
วิธีการสังเกตสถานที่ห้ามสูบบุหรี่และและสถานที่อนุญาตให้สูบบุหรี่ คือ ?
"พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่" และ "มาตราป้องกันการรับบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว" นั้นกำหนดให้มีการระบุประเภทของสถานที่ที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้มีการสูบบุหรี่โดยแสดงป้ายสัญลักษณ์อย่างชัดเจนทั้งสองชนิด โดยป้ายมาตรฐานนั้นจะต้องถูกติดตั้งในทุกๆ สถานที่ตั้งแต่เมษายน 2020 เป็นต้นไป ซึ่งในบทความนี้จะมีการนำป้ายเหล่านั้นมาแนะนำให้คุณทราบ ขอให้สังเกตลักษณะของป้ายอนุญาตและป้ายไม่อนุญาตให้สูบบุหรี่ดังภาพที่นำมาแสดงในบทความนี้
■ ป้ายบ่งชี้อาคารหรือสถานที่ที่ห้ามสูบบุหรี่
■ ป้ายบ่งชี้อาคารทีมีพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่
■ ป้ายบ่งชี้อาคารที่มีพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ไฟฟ้า
■ ป้ายบ่งชี้สำหรับสถานประกอบการบาร์และสแน็คที่อนุญาตให้สูบบุหรี่
■ ป้ายบ่งชี้สถานที่สูบบุหรี่สาธารณะ
สรุป
ญี่ปุ่นกำลังจัดเตรียมสภาพแวดล้อมและลงแรงในการพัฒนาเข้าสู่มาตรฐานระดับสากลเพื่อต้อนรับการจัดโตเกียวโอลิมปิก 2021 ในที่สุดปัญหาเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ที่เรื้อรังมาอย่างยาวนานก็ได้รับการโฟกัสและทำการแก้ไขโดยการเริ่มต้นก้าวเดินที่ยิ่งใหญ่นี้
"การเข้าแถวรอคิวร้านอาหาร" "การเข้าแถวรอคิวขึ้นรถไฟ" "การจัดการขยะโดยนำกลับไปทิ้งที่บ้าน" ซึ่งเป็นมาตรการต่างๆ เหล่านี้นั้น ก็คือการใส่ใจต่อผู้อื่นในฐานะของ "มารยาท" ที่ถูกทำให้เป็น "กฏเกณฑ์" โดยชาวญี่ปุ่นเอง เช่นเดียวกันกับการสูบบุหรี่ที่กำลังถูกพัฒนาจากการปฏิบัติตาม "มารยาท" เป็นการ "วางกฏเกณฑ์" เช่นกัน เพื่อป้องกันการรับบุหรี่มือสอง เพื่อให้สังคมของทุกคนนั้นน่าอยู่ขึ้น ญี่ปุ่นจึงได้ปรับเปลี่ยนเพื่อให้ระบบการควบคุมการสูบบุหรี่นั้นมีแบบแผนดีขึ้นในอนาคต
แหล่งอ้างอิง:
The Tabacco Atlas: Cigarette Consumption
ว่าด้วยมาตราป้องกันการรับบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว (วันที่ 8 มิถุนายน 2018)
คู่มือผู้ดูแลอาคารสถานประกอบการ ~พระราชบัญญัติสนับสนุนการดูแลสุขภาพฉบับใหม่ และมาตราป้องกันการรับบุหรี่มือสองประจำกรุงโตเกียว~
ภาพป้ายบ่งชี้ในบทความนำมาจากสื่อ "มาป้องกันบุหรี่มือสองกันเถอะ!" ของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่