สัมผัสเสน่ห์แห่ง "ไอสึ" (ฟุคุชิมะ) ลิ้มรสราเมง สนุกกับงานไม้ และเพลิดเพลินไปกับธรรมชาติสุดยิ่งใหญ่!
"ฟุคุชิมะ" เป็นจังหวัดที่อยู่ทางตอนใต้ของภูมิภาคโทโฮคุ มีพื้นที่ที่เรียกว่า "ไอสึ" (会津) ตั้งอยู่ทางตะวันตกของจังหวัด ที่นี่มักจะถูกใช้เป็นสถานที่สำหรับถ่ายทำซีรีส์ย้อนยุคของญี่ปุ่น และในปัจจุบันก็ยังคงมีอาหารท้องถิ่นและวัฒนธรรมเก่าแก่ให้เห็นได้จากทุกมุมเมือง ในครั้งนี้ ทีมงาน tsunagu Japan จะขอทำหน้าที่เป็นไกด์พาคุณไปสัมผัสกับพื้นที่ต่างๆ ในไอสึที่ไม่สามารถหาชมได้จากที่ไหน ไม่ว่าจะเป็นทัวร์อาหารท้องถิ่นยามค่ำคืน กิจกรรมทำราเมงคิตะคาตะ (喜多方ラーメン) ที่ถือเป็น 1 ใน 3 ราเมงหลักของญี่ปุ่น หรือพาเที่ยวในสถานที่ที่อาจจะเดินทางยากสักหน่อยแต่ก็สามารถนั่งแท็กซี่ท่องเที่ยวไปวนรอบๆ ได้อย่างง่ายดาย แถมยังมีการแนะนำอาหาร วัฒนธรรม และกิจกรรมที่สามารถทำได้ในแถบนี้ให้คุณด้วย หากใครสนใจจะไปเที่ยวไอสึ ก็ตามมาอ่านและนำไปใช้กันได้เลย!
* บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก องค์กรสาธารณประโยชน์ สมาคมการท่องเที่ยวและการค้าจังหวัดฟุคุชิมะ
ฟุคุชิมะเป็นสถานที่แบบไหน?
จุดเด่นของฟุคุชิมะ
ฟุคุชิมะตั้งอยู่ทางใต้สุดของภูมิภาคโทโฮคุ เป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่นและมีเทือกเขาตัดผ่านจากทางทิศเหนือไปยังทิศใต้ แบ่งจังหวัดนี้ออกเป็น 3 เขต ได้แก่ ไอสึ นากาโดริ และฮามาโดริ ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ยังมีสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และภาษาที่แตกต่างกันด้วย สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงในแถบนี้ก็มีทั้งทะเลสาบอินาวาชิโระ (猪苗代湖), ที่ราบสูงบันได (磐梯高原),โออุจิจูคุ (大内宿), ปราสาทสึรุกะ (鶴ヶ城) ฯลฯ
อุณหภูมิของฟุคุชิมะใน 1 ปีจะเปลี่ยนโดยไล่ตั้งแต่ -4 ไปจนถึง 29 องศาเซลเซียส แต่ด้วยลักษณะภูมิประเทศจึงทำให้พื้นที่ของนากาโดริมีฤดูร้อนที่ร้อนกว่าและมีหิมะน้อยกว่าที่อื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว ขณะที่ไอสึจะมีหิมะตกเยอะและมีทัศนียภาพของหิมะอันงดงาม ส่วนฮามาโดริจะมีสภาพอากาศที่อยู่ง่ายกว่าอีกสองเขต
จังหวัดฟุคุชิมะมีอาหารอร่อยๆ อยู่มากมาย และในปีหนึ่งๆ ก็มักจะมีผลผลิตจำพวกผลไม้อย่างลูกพีช ลูกแพร์ เชอร์รี่ และแอปเปิ้ลสลับกันไปอย่างไม่ขาดสาย อีกทั้งยังโดดเด่นในเรื่องข้าวและสาเกญี่ปุ่นเนื่องจากเป็นจังหวัดที่ได้รับประโยชน์จากภูเขาและแหล่งน้ำด้วย "คิตะคาตะราเมง" ของไอสึเป็นเมนูที่ได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 3 ราเมงหลักแสนสำคัญของญี่ปุ่นเช่นเดียวกับซัปโปโรราเมงและฮากาตะราเมง มีการใช้โชยุเป็นเบสน้ำซุปทำให้ทานแล้วสดชื่น เป็นเมนูที่ได้รับความนิยมมากทีเดียว
การเดินทางไปไอสึ
ฟุคุชิมะได้ชื่อว่าเป็น "ภูมิภาคโทโฮคุที่อยู่ใกล้โตเกียวที่สุด" เพียงใช้ระบบขนส่งสาธารณะก็สามารถเดินทางจากโตเกียวไปถึงไอสึได้อย่างไม่ยากเย็น คุณสามารถเดินทางไปยัง "สถานีไอสุวากามัตสึ" (会津若松駅) ที่อยู่บริเวณใจกลางของไอสึได้ด้วยวิธีต่อไปนี้:
รถไฟชินคันเซ็น
สถานี Tokyo (โทโฮคุชินคันเซ็น ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง 22 นาที) → สถานี Koriyama (รถไฟด่วนสาย Ban-Etsusai ราว 1 ชั่วโมง 5 นาที) → สถานีไอสุวากามัตสึ
รถไฟธรรมดา
สถานี Asakusa (รถไฟ Yagan สาย Aizu Kinugawa ราว 3 ชั่วโมง 11 นาที) → สถานี Aizu Kogen-Ozo-Guchi (รถไฟด่วนไอสึ ราว 1 ชั่วโมง 12 นาที) → สถานีไอสุวากามัตสึ
รถบัสด่วน
สถานี Shinjuku (Shinjuku Expressway Bus Terminal ราว 35 นาที) → สถานี Oji (3 ชั่วโมง 45 นาที) → สถานีไอสุวากามัตสึ
ใช้บริการ Minamiaizu Shuttle Taxi เพื่อการเดินทางที่สะดวกยิ่งขึ้น!
Minamiaizu Shuttle Taxi เป็นแท็กซี่ท่องเที่ยวที่ให้บริการโดยมุ่งเน้นการนำเสนอเสน่ห์ของมินามิไอซึ (南会津) ให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น แท็กซี่จะเริ่มออกเดินทางจาก "สถานีไอสุทาจิมะ" (会津田島) หรือจุดอื่นๆ ในเมืองมินามิไอซึ แล้ววนไปตามสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังต่างๆ ในเวลา 3 - 4 ชั่วโมง หากคุณต้องการแวะที่ไหนในบริเวณมินามิไอซึก็สามารถบอกคนขับได้เลย แต่ครั้งนี้ทางทีมงานของเราเลือกที่จะไปตามเส้นทางที่ไกด์ท้องถิ่นเป็นคนแนะนำ มาดูกันว่าเราจะได้ไปที่ไหนบ้าง!
สวนแอปเปิ้ลแดง Ringo Noen
และแล้ว ป้ายแรกของเราก็มาหยุดที่ สวน Ringo Noen (赤井りんご園) แห่งนี้ตามคำแนะนำของคนขับแท็กซี่ผู้ใจดี โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงแหล่งผลิตแอปเปิ้ล หลายๆ คนอาจจะนึกถึงจังหวัดอาโอโมริ แต่อันที่จริง ฟุคุชิมะเองก็สามารถผลิตแอปเปิ้ลได้มากเป็นอันดับ 4 ของญี่ปุ่นเช่นกัน
ข้อดีของการเที่ยวเป็นกลุ่มเล็กๆ แบบนี้ คือ เราสามารถสนุกกับการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กับสานสัมพันธ์กับไกด์ได้ หากมีคำถามอะไรก็ลองถามดู และในบางครั้งก็สามารถขอให้เขาช่วยถ่ายรูปให้ได้เหมือนกัน
ครั้งนี้ไกด์ของเราได้อธิบายเรื่องราวต่างๆ ให้ฟัง เช่น สภาพอากาศที่ทำให้ฟุคุชิมะมีช่วงที่อุณหภูมิแตกต่างกันมาก แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้ชาวสวนสามารถปลูกแอปเปิ้ลแสนอร่อยได้ อีกทั้งยังสอนวิธีการเลือกเก็บแอปเปิ้ลแสนอร่อยให้พวกเราด้วย น่าเสียดายที่เราไม่สามารถเก็บแอปเปิ้ลกลับไปด้วยได้ แต่ที่นี่ก็พอจะมีแอปเปิ้ลสดราคาย่อมเยาให้ซื้อติดมือกันไปก่อนจะเดินทางสู่จุดหมายถัดไปด้วย
ต้นแปะก๊วย 800 ปี (ต้นอิโจยักษ์)
สภาพอากาศของฟุคุชิมะตอนใต้ในช่วงเดือนตุลาคมนั้นจะค่อนข้างหนาว และบริเวณยอดเขาก็พอจะมีหิมะให้เห็นอยู่บ้าง เวลานี้เป็นช่วงที่ใบไม้กำลังเปลี่ยนสีอย่างสวยงาม และระหว่างที่กำลังชมทิวทัศน์ผ่านหน้าต่างของแท็กซี่อยู่นั้น เราก็ได้มาถึงต้นแปะก๊วย หรือ ต้นอิโจยักษ์ (大イチョウ) ที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางเมืองฟุรุมาจิ (古町) พอดี
ที่กลางสนามของอดีตโรงเรียนประถมอินะ (伊南小学校旧敷地) แห่งนี้มีต้นอิโจอายุกว่า 800 ปีแผ่กิ่งก้านอยู่อย่างงดงาม
ต้นอิโจยักษ์นี้ได้รับการกำหนดให้เป็นอนุสาวรีย์ทางธรรมชาติของจังหวัดฟุคุชิมะ อีกทั้งยังได้รับความนิยมในฐานะ Power Spot ของคนในท้องถิ่นด้วย แม้จะมีอายุเก่าแก่ถึง 800 ปีแล้วแต่มันก็ยังดูแข็งแรงดี ทำให้พวกเรารู้สึกได้ถึงความไม่จีรังของชีวิตมนุษย์ขึ้นมาเสียอย่างนั้น
หลังจากที่ย้อนเวลาไปกับสนามโรงเรียนเก่าได้สักพักแล้ว เราก็ออกเดินทางไปยังจุดหมายถัดไป
หินเบียวบุ
เมื่อนั่งแท็กซี่จากต้นอิโจยักษ์ออกมาราว 20 นาที ก็จะได้พบกับ หินเบียวบุ (屏風岩) ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของมินามิไอซึ หินผาเหล่านี้ก่อตัวขึ้นตามช่วงเวลาอันยาวนาน ด้วยกระแสน้ำบริสุทธิ์จากหุบเขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำอินะ (伊南川) คุณสามารถชมการก่อตัวของหินผาและภูมิประเทศแบบไดนามิกได้ที่นี่
พวกเราเดินชมวิวทิวทัศน์ไประหว่างที่ทานแอปเปิ้ลที่ซื้อมาจากสวน ความงดงามของใบไม้แดง ท้องฟ้าสีคราม หินสีขาวรูปร่างประหลาด และธารน้ำใสแจ๋วที่รวมกันเป็นหนึ่งนี้ช่างเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม เราถ่ายรูปเพลินจนลืมเวลากันไปเลย
สัมผัสประสบการณ์การทำงานไม้ที่ Kiji no Sato Club
สำหรับเรา สิ่งที่น่าสนใจที่สุดในการทัวร์แท็กซี่ที่มินามิไอซึครั้งนี้ คือ การทำภาชนะหรือถ้วยจากไม้ไปพร้อมๆ กับช่างไม้ตัวจริงเสียงจริงที่ Kiji no Sato Club (木地の里クラブ) !
คุณจะได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิดแบบตัวต่อตัว และสามารถทำชิ้นงานไม้เป็นของตัวเองได้ นับเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าเอามากๆ
การเกลาไม้ด้วยเครื่องจักรที่หมุนแรงๆ และการใช้มีดในการสร้างสรรค์ผลงานอาจฟังดูอันตราย แต่ด้วยคำแนะนำของช่างที่แม้จะดูไม่ค่อยเป็นมิตรนักแต่ก็อ่อนโยน เราจึงสามารถทำชิ้นงานจนเสร็จได้อย่างปลอดภัย
พอทำเป็นรูปร่างที่ต้องการได้แล้วก็ต่อด้วยการขัดหน้าไม้จนมีผิวสัมผัสที่เรียบลื่น จากนั้นก็นำไปเคลือบน้ำยาให้เรียบร้อย! ผลงานที่ได้ออกมานั้นดูดีจนแทบไม่น่าเชื่อเลยว่าเราเป็นคนทำขึ้นมาเองจริงๆ และแน่นอนว่าเราสามารถเอากลับบ้านไปเป็นของที่ระลึกอันมีค่าจากทริปนี้ได้ด้วย
การทำงานไม้เช่นนี้จัดเป็นประสบการณ์ที่หายากมาก ดังนั้น หากมีโอกาสเราก็ขอแนะนำให้คุณมาลองให้ได้สักครั้ง
หมู่บ้าน Maezawa L-Shaped Farmhouse
ต่อมา เราก็ได้เดินทางไปยัง หมู่บ้าน Maezawa L-Shaped Farmhouse (前沢曲家集落) ถึงแม้ว่าในปัจจุบันโออุจิจูคุในฟุคุชิมะจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมาจากทิวทัศน์แบบเมืองโบราณ แต่ที่นี่ก็เป็นเขตอนุรักษ์อาคารแบบดั้งเดิมอันแสนสำคัญและมีชาวบ้านอาศัยอยู่จริงๆ ด้วย
กังหันน้ำที่ส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าดขณะที่หมุนไปตามแรงขับเคลื่อนของธรรมชาติ, ทุ่งโซบะที่ผ่านการเก็บเกี่ยวไปในฤดูใบไม้ร่วง, ศาลเจ้าลับที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งหญ้าบนภูเขา และบ้านที่อบอุ่นด้วย "อิโรริ" (いろり เครื่องทำความร้อนแบบดั้งเดิม) ไม่ว่าจะเป็นสิ่งไหนก็ล้วนทำให้เราหวนนึกถึงพื้นที่ชนบทอันแสนสงบ และทำให้รู้สึกถึงความแปลกใหม่ได้อย่างบอกไม่ถูก
การได้เฝ้ามองวิถีชีวิตของชาวบ้านที่กำลังทำงานอยู่ในทุ่งนา หรือตากเห็ดให้แห้งในขณะที่พูดคุยกันอย่างสนุกสนานนั้นถือเป็นประสบการณ์สุดล้ำค่าอีกอย่างหนึ่งเลยทีเดียว
เมื่อเดินชมรอบหมู่บ้านเสร็จแล้ว ก็อย่าลืมแวะไปทานโซบะที่ทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่นของ "มาการิยะ" (曲家) ร้านโซบะเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านกันด้วยนะ
เข้าร่วมทัวร์กิน Aizuwakamatsu Historical Night Foodie Tour สนุกได้เพราะมีไกด์ท้องถิ่นอยู่ด้วย!
เมืองไอสุวากามัตสึที่เคยเจริญรุ่งเรืองในฐานะเมืองรอบปราสาทสึรุกะในสมัยเอโดะนั้น ปัจจุบันก็ยังคงดูงดงามด้วยสถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิมที่หลงเหลืออยู่ (เช่น โกดัง) นอกจากนี้ ในตัวเมืองยังมีร้านอาหารท้องถิ่นที่ให้บริการคนในพื้นที่มาอย่างยาวนานอีกมากมายด้วย
สำหรับ Aizuwakamatsu Historical Night Food Tour ที่พวกเราเข้าร่วมในครั้งนี้จะเป็นการตระเวณชิมอาหารท้องถิ่นของไอสึในบริเวณ "นาโนกะมาจิ" (七日町) อย่างคุ้มค่าร่วมกับไกด์ที่เป็นคนท้องถิ่น มาดูกันเลยว่าเราไปทานอาหารร้านไหนกันมาบ้าง!
ชิบุคาวะดงยะ (渋川問屋)
ทุกคนรู้จักคำว่า "ไทโชโรแมนซ์" (大正ロマン) กันไหม? ยุคนี้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่อยู่ระหว่าง ค.ศ. 1912 - 1926 ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างยุคเมจิและยุคโชวะพอดี ไทโชเป็นยุคที่สังคมญี่ปุ่นค่อนข้างมั่นคงและมีการเผยแพร่วัฒนธรรมจากโลกตะวันตกไปสู่สามัญชนกันบ้างแล้ว เมืองไอสุวากามัตสึก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ยังคงมีอาคารแบบตะวันตกอยู่มากมายให้เราได้ไปสัมผัสกับบรรยากาศแบบไทโชโรแมนซ์ รวมถึง ร้านชิบุคาวะดงยะ ที่เป็นร้านแรกของพวกเราด้วย
ตามคำอธิบายของไกด์ เห็นว่า "ปลา" เคยเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมากสำหรับชาวไอสึเนื่องจากที่นี่อยู่ห่างจากทะเล การปรุงอาหารเมนูต้มโดยใช้ปลาเฮอร์ริ่งแห้งจึงได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น ซึ่งแน่นอนว่าร้านชิบุคาวะดงยะก็มีเมนูดังกล่าวด้วยเช่นกัน ร้านนี้เป็นร้านอาหารเก่าแก่ที่เคยมีทั้งซามูไรและชาวบ้านมาทานอาหารและดื่มสาเกกัน
เมนูนี้อร่อยมาก เราจึงขอให้คุณระวังอย่าทานเยอะจนเกินไปเนื่องจากเรายังต้องไปกันต่ออีก 2 ร้านด้วย
ราคุเทนกะ (楽天家)
ไอสึเป็นบริเวณที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาและธรรมชาติ ต่างจากโตเกียวซึ่งเป็นที่ราบและไม่มีภูเขาสูงให้เห็นเลย ด้วยเหตุนี้ สาเกที่กลั่นด้วยน้ำบริสุทธิ์จากภูเขาต่างๆ จึงกลายเป็นเครื่องดื่มที่ครองใจชาวญี่ปุ่นได้ทั่วประเทศ
ราคุเทนกะ เป็นร้านอิซากายะ (บาร์ญี่ปุ่น) ที่เสิร์ฟเมนูอาหารพื้นบ้านอย่างสาเกในท้องถิ่น และซาชิมิเนื้อม้าอันเลื่องชื่อของไอสึ ที่นี่ถือเป็นแหล่งที่ผลิตและบริโภคซาชิมิเนื้อม้ามากเป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่นเลยทีเดียว ถือเป็นเมนูที่หาทานที่อื่นได้ยากพอสมควร
บรรยากาศบนชั้น 2 ของร้านนั้นไม่ได้เหมือนกับอิซากายะทั่วไป แต่มันจะทำให้คุณรู้สึกเหมือนได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงที่บ้านของใครสักคนมากกว่า ห้องอาหารที่ตกแต่งแบบดั้งเดิมนี้ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่ได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจขณะที่รับประทานอาหาร
เมนูที่เราขอแนะนำให้ลองให้ได้เลยก็คือ "ซาชิมิเนื้อม้าดิบ" (馬刺し) ที่ทานคู่กับ "สาเกฮิโรกิ" (ひろき) ของไอสึ ว่ากันว่าเป็นเมนูที่แทบจะหาซื้อตามร้านค้าหรือซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปไม่ได้เลย เนื้อม้านุ่มๆ กรุบๆ นั้นเข้ากับสาเกได้อย่างไร้ที่ติ นอกจากนี้ ทางร้านก็ยังมีการใช้ภาชนะที่เรียกว่า "ไอสึนุริ" (会津塗) ซึ่งเป็นเครื่องเขินเก่าแก่ของไอสึด้วย บอกเลยว่าหรูหราสุดๆ !
ร้านกาแฟที่ชื่อ คุระ (珈琲館 蔵)
โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเป็นคนทานน้อยจึงไม่ค่อยชอบทานบุฟเฟ่ต์หรือไปต่อหลังรับประทานอาหาร แต่ครั้งนี้อาจเป็นเพราะบรรยากาศพาไปจึงได้กินดื่มไปเรื่อยๆ อย่างเพลิดเพลิน
ร้านสุดท้ายสำหรับปิดทัวร์ยามค่ำคืนของเราในวันนี้ก็คือ คาเฟ่ดังประจำท้องถิ่นที่ชื่อ "คุระ" นั่นเอง
ภายในร้านเต็มไปด้วยของประดับต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หรือของตกแต่งขนาดเล็ก มองไปแล้วก็ดูราวกับพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อส่วนเลยทีเดียว แบบนี้ยิ่งทำให้รู้สึกถึงบรรยากาศอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นได้มากขึ้นไปอีก
เราได้ยินมาว่าร้านนี้สร้างขึ้นบนพื้นที่ของอาคารที่เคยเป็นโกดังสินค้าในสมัยเมจิช่วงก่อนจะถึงยุคไทโช (ค.ศ. 1868 - 1912) จึงมีบรรยากาศที่ดูย้อนยุคสุดๆ แถมเค้กก็อร่อยด้วย! เป็นคาเฟ่ที่เหมาะทั้งสำหรับคนที่เที่ยวคนเดียวและคู่รักออกเดทเลย
เปิดโลกการทำคิตะคาตะราเมงที่คิตะคาตะ (ไอสึ) หนึ่งในสามราเมงแสนสำคัญของญี่ปุ่น!
ญี่ปุ่นเป็นสวรรค์ของอาหารเมนูเส้น และราเมงก็เป็นเมนูหนึ่งที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่จะว่าไปแล้ว ทุกคนรู้จักราเมงหลัก 3 ชนิดของญี่ปุ่นกันหรือเปล่า? มันประกอบไปด้วยฮากาตะราเมง ซัปโปโรราเมง และ "คิตะคาตะราเมง" (喜多方ラーメン) ซึ่งต้นกำเนิดของคิตะคาตะราเมงที่ว่านี้ก็มาจาก "เมืองคิตะคาตะ" ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของไอสึในจังหวัดฟุคุชิมะนั่นเอง ราเมงชนิดนี้จะใช้เส้นชิจิเระที่มีความหนาปานกลางและใช้ซุปโชยุที่มีกระดูกหมูกับอาหารทะเลเป็นเบส จึงมีรสชาติที่เบาและทานง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ
กิจกรรมทำ คิตะคาตะราเมงเบื้องต้น (喜多方ラーメン入門体験) ที่เราเข้าร่วมในครั้งนี้ เป็นกิจกรรมที่ไม่ว่าใครก็สามารถทำและลิ้มรสคิตะคาตะราเมงด้วยตัวเองได้ โดยสถานที่ที่เปิดสอนก็คือ โอกุนิ เมืองแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (おぐに交流の郷) ซึ่งเคยเป็นโรงเรียนประถมมาก่อน
เราจะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่วิธีการทำซุป วิธีทำท็อปปิ้ง ไปจนถึงวิธีการทำเส้น อีกทั้งยังจะได้มีส่วนร่วมในขั้นตอนการทำราเมงทั้งหมดด้วย เดิมทีเมืองคิตะคาตะถือเป็นเมืองที่มีร้านราเมงเยอะมากอยู่แล้ว หากนับอัตราส่วนประชากรก็จะถือว่าสูงที่สุดในญี่ปุ่นเลยทีเดียว ว่ากันว่าที่นี่มีร้านราเมงเยอะกว่าร้านสะดวกซื้อเสียอีก ดังนั้น การได้ลงมือทำราเมงเองเช่นนี้จึงนับเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามากจริงๆ
โดยทั่วไปแล้ว ซุปของคิตะคาตะราเมงจะใช้เวลาทำราว 4 - 5 ชั่วโมง แต่กิจกรรมนี้สามารถทำทุกอย่างให้จบได้ภายใน 2 ชั่วโมงเท่านั้น ระหว่างรอตุ๋นกระดูกหมูและส่วนผสมต่างๆ เราก็สามารถไปเดินเล่นรอบหมู่บ้าน ผ่าน "เนินเขาคู่รัก" (恋人坂) ที่อยู่ใกล้ๆ และเพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์ชนบทของญี่ปุ่นได้
หลังจากลงมือทำราเมงจนเสร็จแล้ว เราก็จะได้เลือกท็อปปิ้งต่างๆ ไปใส่ตามใจชอบ อย่างหมูชาชู หน่อไม้เมนมะ ต้นหอม และลูกชิ้นนารูโตะ หมูชาชูที่ผู้เข้าร่วมใช้มีดทำขึ้นมาอย่างตะกุกตะกักนั้นอร่อยมาก และซุปโชยุรสชาติหวานปนเค็มที่ได้จากกระดูกหมูก็มีรสชาติที่แตกต่างจากฮากาตะราเมงเอามากๆ เป็นรสชาติของราเมงญี่ปุ่นขนานแท้เลยทีเดียว
ประสบการณ์ที่หาจากที่อื่นไม่ได้แบบนี้ บอกเลยว่าต้องมาลองให้ได้สักครั้ง!
ส่งท้าย
เป็นอย่างไรบ้าง? จังหวัดฟุคุชิมะนี้ถือเป็น "ภูมิภาคโทโฮคุ" ที่อยู่ใกล้โตเกียวมากที่สุดและเป็นที่คุ้นเคยของบรรดานักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติ แต่ถึงกระนั้น พื้นที่ในบริเวณไอสึก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ การนั่งทัวร์แท็กซี่ท่องเที่ยวหรือฟังคำอธิบายจากไกด์ในท้องถิ่นจึงถือเป็นตัวเลือกที่ดีและมีประโยชน์มาก เราขอแนะนำให้ใช้บทความนี้เป็นแหล่งอ้างอิง แล้ววางแผนเที่ยวในจังหวัดฟุคุชิมะอย่างลึกซึ้งกันได้เลย!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่