[แพลนเที่ยวคิวชู 3 วัน] พาลุยที่เที่ยวลับในนางาซากิ ซากะ และฟูกุโอกะ เที่ยวง่ายด้วยบัสและรถไฟ
หลายคนอาจมีภาพว่าถ้าเที่ยวภูมิภาคคิวชูจะต้องขับรถเท่านั้น แต่แน่นอนว่าไม่ใช่เลย! ในบทความนี้เราจะพาคุณไปชมทิวทัศน์สวยๆ ใน 3 จังหวัดใหญ่ของคิวชู ทั้งชายฝั่งแสนสวยและอาหารทะเลแสนอร่อยของนางาซากิ เมืองเซรามิกดั้งเดิมของซากะ และศาลเจ้า Dazaifu แสนงามของฟูกุโอกะ โดยไม่ต้องใช้รถเช่าเลยแม้แต่วินาทีเดียว!
[วันที่ 3] ซากะและฟูกุโอกะ - เดินทางสำรวจวัฒนธรรม จากตลาดปลาสู่ศาลเจ้าโบราณ
ทริปวันสุดท้ายในคิวชูของเราเริ่มต้นด้วยวิวพระอาทิตย์ขึ้นสวยๆ ที่อ่าว Karatsu จุดหมายปลายทางในวันนี้มีทั้งตลาดปลายามเช้าและศาลเจ้าสุดยิ่งใหญ่อลังการรออยู่ แพ็คกระเป๋า เตรียมตัวให้เรียบร้อย แล้วออกไปสำรวจวัฒนธรรมของญี่ปุ่นตอนใต้กันเลย
Yobuko Asa Ichi - หนึ่งในตลาดปลาตอนเช้าที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น
เมื่อขึ้นรถบัสที่มุ่งสู่ Yobuko เราก็จะได้เห็นอีกด้านหนึ่งของซากะแล่นผ่านหน้าต่างไป ในแถบนี้เราจะพบกับหมู่บ้านที่สร้างด้วยไม้ อัดกันหนาแน่นอยู่บนโขดหินชันตามชายฝั่ง ทิวทัศน์ที่ต่างกับฝั่งทะเล Ariake โดยสิ้นเชิงเช่นนี้ก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่าทัศนียภาพในคิวชูนั้นเต็มไปด้วยสิ่งน่าประหลาดใจ
หลังก้าวลงจากรถบัสก็จะพบกับท่า Yobuko ซึ่งเป็นท่าเล็กๆ ประกอบด้วยจุดจอดเรืออยู่ตรงนู้นตรงนี้กระจัดกระจาย ให้ความรู้สึกคล้ายกับว่าการผจญภัยกำลังจะเริ่มขึ้น ตลาดเช้าของที่นี่เป็นตลาดเช้านับว่าโดดเด่นมากในญี่ปุ่นด้วยมีบรรยากาศเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากเดินเตร่ตามถนนไปเรื่อยก็จะพอเข้าใจเองว่าเป็นอย่างไร
ตัวตลาดและอาคารโดยรอบเป็นขุมสมบัติที่เก็บรักษาทั้งความดั้งเดิมและความเรียบง่ายเอาไว้ เรียกได้ว่ายึดถือรากเหง้าเดิมเอาไว้ได้อย่างดีทีเดียว หัวใจที่อยู่เบื้องหลังการสืบสานวัฒนธรรมนี้คือเหล่าหญิงสูงอายุในท้องถิ่นผู้เป็นเจ้าของเพิงร้านหน้าตาแสนธรรมดา คุณป้าคุณยายเหล่านี้ขายทั้งอาหารทะเลสดที่จับได้ในวันนั้น อาหารทะเลที่ทำเสร็จแล้ว ผักผลไม้ในท้องถิ่น และของขึ้นชื่อประจำ Yobuko อย่างปลาหมึกที่จะพลาดไปไม่ได้เลย
เราเลือกซื้อ Ika Shumai (เกี๊ยวปลาหมึก) เก็บไว้ทานระหว่างทาง และซื้อแพนเค้กปลาหมึกทานเล่นขณะเดินชมตรอกซอกซอยที่ดูแปลกตา เป็นตลาดเช้าบรรยากาศน่ารักๆ ที่เหมาะจะแวะมาเพลิดเพลินสักนิดก่อนจะได้เวลาขึ้นรถบัสต่อเพื่อข้ามไปยังฟูกุโอกะ
Tenzan Honten ณ เมือง Dazaifu - ชิมสตรอว์เบอร์รี่ยักษ์และของหวานประจำถิ่นฟูกุโอกะ
หลังจากแวะตลาด Yobuko ในช่วงเช้าตรู่ เราก็เข้าสู่จังหวัดฟูกุโอกะในตอนเที่ยง อย่าลืมว่าคอนเสปต์การเที่ยวครั้งนี้คือการสัมผัสกับ คิวชูในแบบดั้งเดิม เราจึงเดินทางผ่านตัวเมืองฟูกุโอกะแล้วลงใต้ไปยังเขตศาลเจ้า Dazaifu Tenmangu แทน
เขตศาลเจ้าจะเริ่มต้นที่ Omotesando ซึ่งเป็นถนนเก่าแก่ที่มุ่งหน้าสู่ Dazaifu Tenmangu เรียงรายด้วยร้านค้าสุดวินเทจที่วางขายอาหารท้องถิ่น เป็นฟู้ดสตรีทที่จะพลาดไม่ได้เลย หลังจากได้ทานของคาวกันไปแล้วในตอนเช้า ก็ต้องหาของหวานมาตัดสักหน่อย เราจึงหันไปหา Wagashi (ขนมญี่ปุ่นดั้งเดิม) ของร้าน Tenzan Honten กัน
Tenzan Honten ตั้งตระหง่านอยู่ใกล้กับจุดเริ่มต้นของ Omotesando ตัวร้านทำด้วยไม้ และในตู้โชว์ก็มีขนมหน้าสตรอว์เบอร์รี่แทบจะทุกรูปแบบ ที่สำคัญคือนี่ไม่ใช่สตรอว์เบอร์รี่ทั่วๆ ไป แต่เป็น Amaou Ichigo ที่ฟูกุโอกะภูมิใจนำเสนอ
สตรอว์เบอร์รี่พันธุ์นี้มีชื่อในแง่ของความหวานและขนาดสุดยักษ์ของมัน ไม่ว่าจะเป็น Ichigo Daifuku (โมจิใส่ไส้ถั่วแดงและสตรอว์เบอร์รี่) หรือ Ichigo Dango (สตรอว์เบอร์รี่และข้าวห่อเสียบไม้) ก็ดูได้เพลินตา แถมรสชาติยังอร่อยอีกด้วย
ที่ควรลองให้ได้สักครั้งก็คงไม่พ้นของขายดีประจำร้านอย่าง Onigawara Monaka ซึ่งเป็นขนมญี่ปุ่นที่เป็นเวเฟอร์ข้าวประกบกันในลักษณะแซนด์วิช ตัวไส้ด้านในเป็นถั่วแดงมีหลากหลายรสชาติ (ในภาพของเราคือรสชาเขียว), โมจิ และสตรอว์เบอร์รี่ขนาดยักษ์
จุดเด่นของขนมชนิดนี้อยู่ที่เวเฟอร์ข้าวซึ่งทำเป็นลักษณะคล้ายกับสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่สื่อถึงปีศาจ Oni หรือที่เรียกว่า Onigawara แทนที่จะเป็นเวเฟอร์เรียบๆ เหมือน Monaka ทั่วไป เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้ที่ชื่นชอบนิทานพื้นบ้านของญี่ปุ่นจะต้องชอบแน่นอน
พนักงานของร้านจะทำ Monaka ต่อหน้าเราเลย เลือกสตรอว์เบอร์รี่ลูกใหญ่ๆ วาวๆ แบบที่ใครเห็นก็เป็นต้องน้ำลายสอ เมื่อได้ลองก็บอกได้เลยว่าอร่อยจนแทบจะร้องไห้ออกมาเลยทีเดียว เพราะโดยปกติแล้วผลไม้ดีๆ ในญี่ปุ่นนั้นราคาแพงมากนั่นเอง
แม้ว่าตัว Amaou Ichigo จะมีในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมเท่านั้น ทางร้านก็มีขนมหลากหลายรูปแบบให้ได้เลือกทานกันได้ตลอดปี อย่าง Warabi Mochi (ขนมลักษณะคล้ายเยลลี่ ทำจากแป้งมันสำปะหลัง โรยด้วย kinako หรือผงถั่วเหลืองรสหวาน) ก็ทั้งใหม่และเหนียวหนึบ แค่ทานก็สัมผัสได้ถึงความใส่ใจที่พนักงานของ Tenzan Honten มีให้กับการเลือกวัตถุดิบและการทำขนมได้ไม่ยาก
Starbucks Coffee สาขา Dazaifu Tenmangu Omotesando - พักจิบกาแฟที่สตาร์บัคส์ที่ออกแบบโดยสถาปนิกชาวญี่ปุ่นชื่อดัง
หลังจากเอร็ดอร่อยกับขนมญี่ปุ่นกันไปแล้ว จะนั่งพักจิบกาแฟสักหน่อยก็เป็นไอเดียที่ดี เมื่อเดินลึกเข้าไปยังกึ่งกลางของถนน Omotesando เราจะพบกับร้านกาแฟสตาร์บัคส์หน้าตาสวยโดดเด่น สตาร์บัคส์สาขา Dazaifu Tenmangu Omotesando เป็นหนึ่งในสาขาของสตาร์บัคส์ที่เป็น Landmark Store ของญี่ปุ่น โดยร้านแลนด์มาร์คเหล่านี้จะสร้างตามจุดต่างๆ ที่เป็นตัวแทนของแต่ละพื้นที่ เราเองก็กำลังค่อยๆ ตามเก็บข้อมูลของแต่ละร้านอยู่ และสาขาที่ Dazaifu ก็เป็นอีกที่ที่ไม่ควรพลาด
สตาร์บัคส์สาขานี้ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดังของญี่ปุ่น เคนโงะ คุมะ (Kengo Kuma) ภายใต้แนวคิดของการผสมผสานความทันสมัยและวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้าด้วยกัน แท่งไม้กว่า 2,000 ท่อนสานกันไปมาด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิม เกิดเป็นโครงที่ห่อหุ้มทั้งภายในและภายนอกของร้าน เป็นหนึ่งในที่นั่งจิบกาแฟที่แปลกใหม่ที่สุดแน่นอน
Dazaifu Tenmangu - ศาลเจ้าประจำฟูกุโอกะ รวมบทเรียน วัฒนธรรม และศิลปะยาวนานกว่า 1,100 ปี
ศาลเจ้า Dazaifu Tenmangu จะรอเราอยู่ที่สุดปลายถนน Omotesando โดยมีประตูโทริอิขนาดใหญ่ยักษ์เป็นผู้ต้อนรับ ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นเหมือนกับสรวงสวรรค์สีเขียวชอุ่มที่จะให้เราได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันล้ำลึกขณะเดินชม มีทั้งสะพานโค้งสีแดง บ่อน้ำที่สะท้อนผืนป่าสีเขียวด้านบน อาคารที่วาดลวดลายอย่างละเอียดลออด้วยสีทองอร่าม และบรรยากาศแสนสดชื่น
ตัว Dazaifu Tenmangu เป็นหนึ่งในศาลเจ้าในศาสนาชินโตที่สำคัญที่สุดในประเทศญี่ปุ่น มีอายุมากกว่า 1000 ปี และดึงดูดนักท่องเที่ยวนับล้านคนให้มาเยี่ยมชมในทุกๆ ปี โดยเฉพาะนักเรียนที่มาเพื่ออธิษฐานขอให้ประสบความสำเร็จในการเรียนและการสอบ
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะตัวศาลเจ้าตั้งอยู่บนเขตสุสานของสึกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ (Sugawara no Michizane) ขุนนางในศตวรรษที่ 9 ผู้เป็นทั้งนักการเมืองและบัณฑิต และสถิตอยู่ ณ ที่นี้ในฐานะ Tenjin หรือเทพแห่งการเรียนรู้ วัฒนธรรม และศิลปะนั่นเอง
เรื่องราวเกี่ยวกับเทพองค์นี้ก็มีให้เห็นทั่วไปตามที่ต่างๆ ในเขตศาลเจ้าและอาคารหลัก อย่างรูปปั้นสัมฤทธิ์รูปวัวซึ่งถือเป็นผู้สงสารของ Tenjin ก็มีเรื่องเล่าว่าหากใครลูบศีรษะของผู้ส่งสารสักตัวหนึ่งก็จะได้รับพรแห่งปัญญา ถ้าใครสนใจก็อย่าปล่อยให้คลาดสายตาเลยเชียว
สึกาวาระ โนะ มิจิซาเนะชื่นชอบดอกบ๊วยมาก ศาลเจ้า Tenjin จึงมีความเกี่ยวข้องกับดอกบ๊วยอย่างใกล้ชิด โชคร้ายที่เราไปในช่วงที่ต้นไม้ส่วนใหญ่ผลัดใบจึงหายากสักหน่อย แต่อันที่จริงแล้วใน Dazaifu Tenmangu มีต้นบ๊วยปลูกอยู่กว่า 6,000 ต้น และแม้จะไม่ใช่ฤดูที่ดอกบ๊วยจะบานเต็มที่ เราก็ยังมีโอกาสเห็นสัญลักษณ์ดอกบ๊วยสลักอยู่ตามอาคารหลัก ป้ายขอพร หรือ Omikuji (เซียมซีญี่ปุ่น) ได้
หากอยากจะลองสัมผัสกับพิธีการหรือวัฒนธรรมของศาสนาชินโต ก็สามารถลองไปที่บริเวณขายเครื่องรางเพื่อเอา omikuji ได้ (คำทำนายมีแปลอังกฤษให้ด้วย) โดย omikuji ของที่นี่จะมีเอกลักษณ์คือสีที่เปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงของปี สะท้อนเฉดของแต่ละฤดูกาล
ช่วงที่เราไปเยือนเป็นช่วงฤดูใบไม้ร่วง ในกล่อง omikuji จึงเต็มไปด้วยกระดาษคำทำนายสีเหลือง สีส้ม และสีแดง เมื่อผู้มาเยือนนำกระดาษเหล่านี้ไปผูกกับกิ่งไม้ในบริเวณที่จัดไว้ก็เหมือนได้เห็นใบไม้เปลี่ยนสีล่องลอยตัดกับเฉดของอาคารศาลเจ้าอย่างสวยงาม
Fukuoka Tower - กล่าวลาคิวชูที่ตึกสวยสะดุดตา
เราไปถึงตัวเมืองฟูกุโอกะในเวลาอาทิตย์ตกดินของวันศุกร์ เป็นช่วงที่ทั้งเมืองและผู้คนต่างก็เตรียมตัวเข้าสู่วันหยุดและงานสังสรรค์ในยามค่ำคืน ก่อนจะไปขึ้นเครื่องบินกลับโตเกียวก็แวะ Fukuoka Tower กันสักหน่อย
ตึกนี้มีความสูง 234 เมตร แบ่งทิวทัศน์ของเมืองออกเป็นสองฝั่ง และสะท้อนภาพของฟ้าด้วยกระจกหน้าต่างกว่า 8,000 บานรอบตัวตึก หากมองจากจุดชมวิวที่ชั้นบนสุดก็จะเห็นภาพเมืองและอ่าวกันได้แบบ 360 องศาเลยทีเดียว
วิวพาโนรามายามค่ำคืนของที่นี่ค่อนข้างจะได้รับความนิยม และเป็น 1 ใน 100 จุดชมวิวกลางคืนที่ดีที่สุดในญี่ปุ่นเลยทีเดียว ที่ชั้นชมวิวจะมีหินฟอสฟอเรสเซนท์ (Phosphorescent Stones) ประดับอยู่ตามพื้น มองไปแล้วก็ดูเหมือนกับท้องฟ้าที่มีดาวพร่างพราย และถ้ามองออกไปก็จะเห็นแสงไฟจาก Fukuoka Skyline ทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกรายล้อมด้วยประกายแสงจำนวนมาก น่าเสียดายที่เราไม่มีเวลาพอจะรอชมทัศนียภาพในยามเย็น จึงตัดสินใจปิดท้ายทริป 3 วัน ที่คิวชูนี้ด้วยการซื้อของฝากรอบสุดท้ายและทาน Hakate Ramen ชื่อดังของฟูกุโอกะแทน
สำรวจคิวชูด้วยรถสาธารณะ - การเดินทางตามหาเสน่ห์ที่แอบซ่อนของคิวชู
หลังจบทริป 3 วันในคิวชูแล้ว ก็ขอพูดอย่างเต็มปากเลยว่าเราสามารถเที่ยวคิวชูได้โดยไม่ต้องพึ่งรถเช่าเลยแม้แต่น้อย! เราได้ทั้งไปชื่นชมที่เที่ยวลับต่างๆ ที่คิวชูเก็บซ่อนไว้ ชิมอาหารรสเลิศ สัมผัสความอ่อนโยนของคนท้องถิ่น รู้ซึ้งถึงความลึกล้ำของวัฒนธรรม ไปจนถึงได้เก็บเกี่ยวบรรยากาศอันมีเสน่ห์ของภูมิภาคแห่งนี้ รับรองว่าถ้าลองไปเองแล้วจะกลับบ้านด้วยความรู้สึกว่าอยากมาอีกอย่างแน่นอน!
ถ้าใครกำลังมองหาทริปที่คล้ายๆ กัน หรือต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคิวชู สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของการท่องเที่ยวของคิวชู Visit Kyushu
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่