เปิดประสบการณ์เพ้นท์ลาย "เครื่องเขินไอสุนูริ" และ "วัวอาคาเบโกะ" พร้อมดื่มวิสกี้ และสัมผัสรสเสน่ห์ของงานฝีมือดั้งเดิมกับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นจังหวัดฟุคุชิมะกันเถอะ!
"ฟุคุชิมะ" เป็นจังหวัดที่อยู่ทางตอนใต้ของภูมิภาคโทโฮคุประเทศญี่ปุ่น มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และเป็นที่รู้จักกันในฐานะแหล่งชมวัฒนธรรมซามูไรที่สืบทอดมาแต่โบราณ นอกจากนี้ก็ยังมีของขึ้นชื่อประจำถิ่นอยู่มากมาย เช่น เครื่องเขินไอสุนูริ, วัวอาคาเบโกะ, วิสกี้ ฯลฯ ดังนั้น หากคุณมีโอกาสมาเที่ยวที่ฟุคุชิมะแล้วล่ะก็ ไม่ควรพลาดประสบการณ์การทำงานฝีมือดั้งเดิมของตัวเองเพื่อเก็บกลับไปเป็นที่ระลึกเลย และในบทความนี้ กองบรรณาธิการของ tsunagu Japan ก็ได้ไปเข้าร่วมทัวร์ของไกด์ชาวท้องถิ่นมา และก็ได้ลองทำงานฝีมือญี่ปุ่นและท่องเที่ยวในสถานที่ชื่อดังของฟุคุชิมะกันอย่างสนุกสนาน ดังนั้น หากคุณมีแพลนจะเที่ยวจังหวัดนี้ล่ะก็ ลองใช้บทความนี้เป็นไกด์ไลน์ แล้วตามไปร่วมทัวร์ที่เต็มไปด้วยประสบการณ์อันมีค่านี้กันดูสิ!
※บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Fukushima Prefecture Tourism & Local Products Association
ทำความรู้จัก "จังหวัดฟุคุชิมะ"
เมื่อพูดถึง "จังหวัดฟุคุชิมะ" (福島) หลายๆ คนก็อาจจะนึกถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 2011 ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ก็ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว และจังหวัดฟุคุชิมะก็ได้รับการฟื้นฟูจนนักท่องเที่ยวสามารถไปเพลิดเพลินกับเสน่ห์และวัฒนธรรมต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ทิวทัศน์ที่สวยงาม อาหารอร่อย และประเพณีดั้งเดิมที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร
จังหวัดฟุคุชิมะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของภูมิภาคโทโฮคุ (東北) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ห่างจากโตเกียวไปทางเหนือประมาณ 200 กิโลเมตร และนับเป็นจังหวัดที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น รองมาจากฮอกไกโดและจังหวัดอิวาเตะ มีเทือกเขาทอดตัวยาวตั้งแต่เหนือจรดใต้ซึ่งแบ่งพื้นที่ในจังหวัดนี้ออกเป็น 3 ส่วน เรียกว่า นากาโดริ, ไอสุ, ฮามาโดริ
พื้นที่ทั้ง 3 แห่งนี้มีลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกัน จึงมีสภาพอากาศ เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ภาษาถิ่น และธรรมชาติที่ต่างกันด้วย ตัวอย่างเช่น "นากาโดริ" (中通り) จะมีอากาศที่อบอุ่นและเต็มไปด้วยผลผลิตจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นลูกท้อ องุ่น แอปเปิ้ล หรือผลไม้แสนอร่อยชนิดต่างๆ "ไอสุ" (会津) ที่อัดแน่นไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอย่างทะเลสาบอินาวาชิโระ (猪苗代湖) บันไดโคเก็น (磐梯高原) หมู่บ้านโออุจิ-จูคุ (大内宿) และ ปราสาทสึรุกะ (鶴ヶ城) ในขณะที่ "ฮามาโดริ" (浜通り) ที่อยู่ติดทะเลจะมีชื่อเสียงด้านอาหารทะเลที่สดใหม่
ทัวร์ที่เราไปในครั้งนี้ ครอบคลุมใน 3 เมือง ได้แก่ "นิฮงมัตสึ" (二本松) และ "โคริยามะ" (郡山) ในนากาโดริ และ "ไอสุวากามัตสึ" (会津若松) ในไอสุ แต่ละภูมิภาคจะมีประวัติศาสตร์และประเพณีที่มีเอกลักษณ์ซึ่งส่งผลให้งานฝีมือพื้นบ้านที่อยู่ในพื้นที่เหล่านี้โดดเด่นไม่ซ้ำใครตามไปด้วย เพียงเข้าร่วมกิจกรรมเปิดประสบการณ์ทำงานฝีมือที่นี่ ก็ทำให้เรารู้สึกสนใจประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของเมืองต่างๆ ในฟุคุชิมะขึ้นมากทีเดียว
วิธีเดินทางไปจังหวัดฟุคุชิมะ
เดินทางจากต่างประเทศ : ในปัจจุบันยังไม่มีสนามบินในฟุคุชิมะ ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้ลงที่ "สนามบินเซนได" (Sendai International Airport) หรือ "สนามบินนาริตะ" (Narita International Airport) แล้วนั่งรถไฟชินคันเซ็น หรือเช่ารถส่วนตัวเพื่อเดินทางต่อไปยังฟุคุชิมะ
เดินทางจากโตเกียว : คุณสามารถนั่งรถไฟชินคันเซ็นจากโตเกียวไปลงที่สถานี Fukushima ได้ในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที จากนั้นจึงค่อยเดินทางต่อไปยังพื้นที่บริเวณต่างๆ หรือจะนั่งรถไฟขบวน Limited Express Liberty ของ Tobu Railway จากสถานี Asakusa ไปลงที่สถานี Aizu-Tajima ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 10 นาที แล้วเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟ Aizu Railway เพื่อเดินทางต่อไปยังจุดหมายก็ได้เช่นกัน
● FUKUSHIMA TRAVEL (เว็บไซต์ทางการ):
https://welovefukushima.com/(ภาษาไทย)
● ทัวร์อื่นๆ ในจังหวัดฟุคุชิมะ:
https://fukushima.travel/tours/(ภาษาอังกฤษ)
กิจกรรมทำโคมไฟญี่ปุ่นที่ "พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมประเพณีนิฮงมัตสึ"
"วาชิ" (和紙) เป็นงานศิลปะดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การ UNESCO ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของประเทศญี่ปุ่นไปใน ค.ศ. 2014 การผลิตกระดาษในญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากจีน แต่ต่างจากจีนตรงที่ใช้ต้นโคโซะ (こうぞ) เป็นวัตถุดิบหลักแทนที่จะใช้ต้นป่านตามต้นฉบับ
"เมืองนิฮงมัตสึ" (二本松) ในจังหวัดฟุคุชิมะนี้เป็นแหล่งผลิตกระดาษวาชิที่เจริญรุ่งเรืองของญี่ปุ่นในสมัยกลางยุคเฮอัน (ประมาณ 1,000 ปีที่แล้ว) และกระดาษ "คามิคาวาซากิวาชิ" (上川崎和紙) ก็กลายเป็นงานฝีมือพื้นบ้านของภูมิภาคนี้ไป
ในเวลานั้น กระดาษนี้เป็นที่นิยมในหมู่ชนชั้นสูง และว่ากันว่าเหล่านักเขียนก็นิยมใช้ในการเขียนนิยายเช่นกัน ในครั้งนี้ เราได้ไปเยี่ยมชมการผลิตกระดาษวาชิกันที่ "พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมประเพณีนิฮงมัตสึ" (二本松市和紙伝承館) ที่มีการผลิตและจำหน่ายกระดาษคามิคาวาซากิวาชิ นอกจากนั้น ภายในพิพิธภัณฑ์ก็ยังมีการจัดแสดงโคมไฟญี่ปุ่นด้วย พื้นที่ภายในจะแบ่งออกเป็นทั้งหมด 2 ส่วน ได้แก่ โซนนิทรรศการ และ โซนจำหน่ายสินค้า
จุดเด่นของกระดาษคามิคาวาซากิวาชิ คือ เป็นกระดาษทำมือที่ผลิตจากต้นโคโซะแบบ 100% ซึ่งที่นี่ทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่มีอยู่มากมาย ทั้งการเก็บรวบรวมไม้โคโซะ การนึ่งและลอกเปลือกไม้ การขูดส่วนที่เป็นเปลือกสีดำออกก่อนที่จะนำไปแช่น้ำและต้ม เพื่อให้ได้วัตถุดิบที่เรียกว่า "ริเรียว" (紙料 คำเรียกวัสดุทำกระดาษ) ทั้งหมดนี้ทำเพื่อสกัดเอาสิ่งปนเปื้อนออกจากตัววัสดุให้หมดนั่นเอง
จากนั้น ผู้ผลิตก็จะนำริเรียวไปเทลงในอ่าน ผสมกับน้ำและ "เนริ" (ネリ เมือกที่ได้จากพืชที่ชื่อ 'โทโรโระ อาโออิ' สามารถช่วยให้ส่วนผสมไม่แข็งตัวได้) จากนั้นจึงค่อยนำเข้าสู่กระบวนการขึ้นรูปกระดาษวาชิ
หลังจากชมกระบวนการผลิตกันไปเรียบร้อยแล้ว เราก็ได้ลองทำกิจกรรมตกแต่งโป๊ะโคมไฟญี่ปุ่นกัน โดยโป๊ะที่เขาเตรียมไว้ให้เราจะเป็นทรงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 11 เซนติเมตร วัสดุด้านนอกทำจากกระดาษวาชิที่มีความสากเล็กน้อย ทำให้บรรยากาศโดยรอบดูทันสมัยและมีเอกลักษณ์ขึ้นมาทันตา
เนื่องจากการตกแต่งโป๊ะไฟนั้นค่อนข้างใช้เวลานาน เราจึงดูชิ้นที่ทำเสร็จแล้วที่เขาวางไว้เป็นตัวอย่าง จากนั้นก็ตกแต่งตามแบบที่ชอบ
ก่อนตกแต่งโป๊ะโคมไฟ คุณสามารถเดินดูดีไซน์ต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ไว้เป็นไอเดียได้ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นลวดลายที่ทำจากกระดาษสี เช่น ลายใบเมเปิ้ล, ดอกซากุระ, ดอกคิคุ ฯลฯ โป๊ะโคมของฉันทำด้วยวิธีการตัดกระดาษให้เป็นลวดลาย แล้วนำไปแปะซึ่งก็ไม่ได้ยากเท่าไหร่ หากเทียบกันแล้ว ฉันว่าการวางรูปแบบให้ออกมาสวยงามนั้นดูเป็นเรื่องที่ยากและสำคัญกว่าซะอีก
เมื่อทำเสร็จแล้ว เราก็ต้องเอาไปใส่ในกล่องที่มีไฟ พอแสงส่องผ่านด้านในออกมาก็จะดูสวยงามวิ้งๆ แบบนี้เลย! คุณสามารถนำงานฝีมือของตัวเองกลับไปตั้งในห้องของตัวเองได้ หรือจะมอบให้เพื่อนหรือญาติๆ เป็นของที่ระลึกที่เต็มไปด้วยความตั้งใจทำก็ได้เช่นกัน
กิจกรรมวาดภาพหน้ากากจิ้งจอกในเวิร์คช็อปร้านตุ๊กตาอายุกว่า 300 ปี
ร้าน "Deco Yashiki" (デコ屋敷) ตั้งอยู่ในย่านนิชิดะ เมืองโคริยามะ จังหวัดฟุคุชิมะ เป็นร้านทำตุ๊กตาที่เชี่ยวชาญในการทำตุ๊กตาไม้แกะสลักแบบแฮนด์เมด อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของงานฝีมือพื้นบ้านในแคว้นมิฮารุสมัยโบราณอย่าง "มิฮารุโคมะ" (三春駒 ม้าไม้ของเล่น) และ "มิฮารุ-ฮาริโกะ" (三春張子 ตุ๊กตาเปเปอร์มาเช่) ที่สืบทอดมานานกว่า 300 ปีด้วย พื้นที่นี้เป็นที่รู้จักในฐานะหมู่บ้านของช่างฝีมือ "ฮาริโกะ นิงเกียว" (張子人形) ตุ๊กตาที่ทำจากไม้หรือไม้ไผ่กลวงซึ่งมีการใส่ของประดับอยู่ด้านใน
ในครั้งนี้ เราได้รับโอกาสพิเศษให้ไปเยี่ยมชมกิจกรรมเวิร์กช็อปตุ๊กตาที่มีการจัดแสดงผลงานมากมาย ทั้งตุ๊กตามิฮารุ-ฮาริโกะ, "หน้ากากโอเม็ง" (お面), ตุ๊กตาฮารุมะ, สัตว์ประจำปีนักษัตร และอื่นๆ อีกมากมาย
ก่อนเริ่มกิจกรรมวาดหน้ากากจิ้งจอกก็มีไกด์นำเที่ยวกับช่างฝีมือมาอธิบายถึงที่มาและความสำคัญของหน้ากากจิ้งจอกในวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นให้เราฟัง ของพวกนี้มักจะถูกใช้ในศิลปะการแสดงต่างๆ อย่าง "ละครโน" (能楽) หรือ "รำคางุระ" (神楽) นอกจากนี้ สุนัขจิ้งจอกก็ยังถือเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญมาก เนื่องจากมันช่วยกำจัดหนูและปกป้องพืชผลได้ ชาวญี่ปุ่นจึงมีการประดิษฐานจิ้งจอกไว้ใน "ศาลเจ้าอินาริ" (稲荷神社) ในฐานะเทพเจ้าของการทำการเกษตรมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยจะมี "พื้นที่โคริยามะ" (郡山) ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการปลูกหม่อนและผลิตภัณฑ์ผ้าไหมที่เชื่อว่าสุนัขจิ้งจอกมีความสำคัญต่อการเกษตรและอุตสาหกรรมมากเป็นพิเศษ
บนชั้น 2 ของบ้านโบราณอายุกว่า 114 ปีนี้ มีพื้นที่ให้คุณได้เปิดประสบการณ์การทำงานฝีมือแบบเปเปอร์มาเช่ได้ โดยจะมีหน้ากากสุนัขจิ้งจอกสีขาว, สีน้ำ, พู่กัน และอุปกรณ์ที่จำเป็นเตรียมไว้ให้ เราก็สามารถไปเพ้นท์ลายหน้ากากกันได้ตามใจชอบเลย!
ก่อนจะเริ่มเพ้นท์ คุณฮาชิโมโตะได้เอาหน้ากากมาให้เราดู 2 อัน คือ หน้ากากจิ้งจอกตัวผู้ และ หน้ากากจิ้งจอกตัวเมีย แต่ละอันมีลวดลายที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ดังนั้น คุณจึงสามารถลองทั้ง 2 แบบได้ (หน้ากากตัวผู้จะวาดยากกว่าเล็กน้อย) แต่หากคุณไม่ถนัดการวาดตามตัวอย่างล่ะก็ จะออกแบบลายเองเลยก็ได้นะ
การวาดหน้ากากจิ้งจอกนั้นอาจจะยากกว่าที่คิดอยู่สักหน่อย เพราะต้องใช้ความชำนาญทั้งในการวาดรายละเอียด และวาดทั้ง 2 ฝั่งของใบหน้าให้เท่ากัน แต่หากจะวาดผิดวาดเบี้ยวไปบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะคุณสามารถทาสีขาวทับแล้ววาดใหม่ได้เลย
พอทำหน้ากากเสร็จ พวกเราก็พากันไปถ่ายรูปในศาลเจ้าที่อยู่ใกล้ๆ บรรยากาศที่นี่ทั้งเขียวชอุ่มและเงียบสงบมาก แถมยังดูลึกลับหน่อยๆ จนทำให้รู้สึกถึงพลังอันน่าพิศวงของหน้ากากจิ้งจอกขึ้นมาเลย
กิจกรรมวาดลายเครื่องเขินไอสุนูริที่ "พิพิธภัณฑ์ไอสุนูริ เด็นโชคัง สุซุเซ็น"
ภูมิภาคไอสุของจังหวัดฟุคุชิมะนี้ เป็น 1 ใน 4 แหล่งผลิตเครื่องเขินลงรักที่สำคัญของญี่ปุ่น รองลงมาจากคานาซาว่า (จังหวัดอิชิคาว่า) เอจิเซ็น (จังหวัดฟุคุอิ) และ คิชู (จังหวัดวากายาม่า)
อุตสาหกรรมเครื่องเขินของที่นี่ได้พัฒนาขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 16 ภายใต้ความพยายามของ "อุจิซาโตะ กาโมะ" (蒲生氏郷) ผู้ครองแคว้นไอสุ และถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องเขินของไอสุจะเคยได้รับผลกระทบจากสงครามอยู่ช่วงหนึ่ง แต่ก็กลับฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว จนเมื่อถึงสมัยยุคเมจิ ไอสุก็กลายเป็นแหล่งผลิตเครื่องเขินอันดับ 1 ของญีุ่่ปุ่นไป มีการส่งออกไปขายในพื้นที่อื่นๆ ของญี่ปุ่นและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง กลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไอสุเป็นอย่างมาก
ทัวร์นี้ได้พาเราไปเยือน "พิพิธภัณฑ์ไอสุนูริ เด็นโชคัง สุซุเซ็น" (会津塗伝承館 鈴善) ที่ตั้งอยู่ในเมืองไอสุวากามัตสึ ที่นี่ เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเครื่องเขินไอสุและสัมผัสกับประสบการณ์การวาดลายเครื่องเขินด้วยตัวเอง โดยมีช่างฝีมือผู้มากประสบการณ์คอยให้คำแนะนำอยู่ใกล้ๆ
"สุซุเซ็น" (鈴善) เป็นสถานที่ที่เปรียบเสมือนแหล่งรวมตัวของ "คลังประเพณี" ที่เก็บประวัติศาสตร์ของเครื่องเขินไอสุนูริไว้ให้ทุกคนได้ศึกษา "คลังศิลปะ" ที่มีผลงานจัดแสดงอยู่มากมาย และ "คลังประสบการณ์" ที่คุณสามารถวาดภาพแบบ "มากิเอะ" ลงบนเครื่องเขินไอสุได้ด้วย
หลังจากที่ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเทคนิคในการทำเครื่องเขินไอสุกันไปแล้ว เราก็จะได้ชมช่างฝีมือวาดภาพลงบนเครื่องเขินด้วยเทคนิคที่เรียกว่า "มากิเอะ" (蒔絵 หนึ่งในเทคนิคอันโดดเด่นที่ใช้ในการทำเครื่องเขิน) และคอยสังเกตวิธีการวาด จากนั้นจึงค่อยลงมือทำด้วยตัวเอง
เครื่องเขินที่เราได้วาดลายในครั้งนี้ คือ จาน เราทุกคนต่างก็เพิ่งจะเคยวาดเป็นครั้งแรก ดังนั้นจึงไม่ได้คิดลายกันใหม่ แต่ใช้ลายจากใบเมเปิ้ลจริงๆ แทนซึ่งช่วยให้ทุกอย่างง่ายขึ้นมาก
อันดับแรก เราก็แค่เลือกลายใบเมเปิ้ลที่ชอบมา ทาแลคเกอร์ลงไปแล้วเกลี่ยให้ทั่ว จากนั้นก็นำไปวางลงบนจาน แล้วเอามือข้างหนึ่งจับก้านของใบไว้ และอีกมือกดลงไปเพื่อให้แลคเกอร์กระจายตัวอย่างทั่วถึง ถึงตรงนี้ หากคุณอยากได้ลายอื่นเพิ่ม ก็สามารถเอาใบเมเปิ้ลขนาดต่างๆ หรือก้านเมเปิ้ลมากดลายต่อได้เลย แต่ก็มีข้อควรระวังอยู่นิดหน่อย คือ แลคเกอร์ที่เคลือบอยู่จะบางลง และคุณก็ต้องเพิ่มน้ำหนักมือในการกดให้มากขึ้นด้วย และเมื่อทำลายกันเสร็จเรียบร้อย ก็ถึงเวลาลงสีภาพด้วยผงมากิเอะ! ที่นี่มีผงให้เลือกหลายสีมาก คุณก็เลือกแบบที่ชอบที่สุดได้เลย
หลังจากที่เราทำทุกขั้นตอนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ช่างฝีมือก็มาช่วยเช็ดผงมากิเอะส่วนเกินออก และเราก็ได้จานเคลือบลายใบเมเปิ้ลสวยๆ ที่เปล่งประกายวิบวับแล้ว
นอกจากนี้ ช่างฝีมือก็ยังสอนฉันวาดลายอื่นๆ อย่างดอกซากุระและแมลงปอด้วย ทุกคนต่างพากันทึ่งที่เห็นเขาว่าใช้พู่กันได้เฉียบคมขนาดไหน และหลังจากลงสีเสร็จแล้ว ดอกซากุระก็ดูเหมือนจะมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันทีเลย การทำเครื่องเขินนั้นค่อนข้างยาก เพราะหากทาแลคเกอร์พลาดขึ้นมาก็จะแก้ไขลำบาก ดังนั้นจึงเป็นงานที่ต้องอาศัยความละเอียดและความประณีตมากทีเดียว
ถึงแม้ว่ากิจกรรมนี้จะเป็นความท้าทายที่ไม่ง่ายเลยสำหรับเรา แต่ด้วยคำชี้แนะอย่างเอาใจใส่ของช่างฝีมือก็ทำให้เราทำสำเร็จอย่างปลอดภัย ลายบนจานมีสีสันโดดเด่นตัดกับพื้นหลังสีดำวาววับของจาน ทำให้ดูระยิบระยับเป็นพิเศษเวลาเจอแสงไฟ นับเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าของพวกเรามากๆ และเราก็ได้เก็บชิ้นงานของตัวเองกลับบ้านไปเป็นที่ระลึกด้วย
ทัวร์ปราสาทสึรุกะ และ กิจกรรมวาดลายวัวอาคาเบโกะ
"ปราสาทสึรุกะ" (鶴ヶ城) สีขาวที่เห็นอยู่นี้ เป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดฟุคุชิมะซึ่งบอกเลยว่าไม่ควรพลาด! ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1384 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของแคว้นไอสุในสมัยปลายยุคเอโดะ ซึ่งในทัวร์นี้ คุณก็จะได้ฟังเรื่องราวประวัติศาสตร์ของปราสาทพร้อมชมภาพของมันในแต่ละยุคสมัย
ปราสาทสึรุกะมีจุดเด่นอยู่ที่หลังคากระเบื้องสีแดง ในสมัยก่อน ปราสาทหลังนี้เคยใช้กระเบื้องหลังคาสีดำมาก่อน และเพิ่งจะเปลี่ยนเป็นกระเบื้องแดงใน ค.ศ. 2011 เพื่อรับมือกับสภาพอากาศที่หนาวเหน็บและหิมะตกหนักในไอสุ พื้นที่ที่มีสภาพอากาศเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้หลังคาแข็งตัวและแตกง่าย ดังนั้น กระเบื้องที่ใช้จึงต้องเป็นกระเบื้องที่เคลือบด้วยสารที่มีส่วนผสมของเหล็กเพื่อป้องกันการดูดซับน้ำ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กระเบื้องหลังคาปราสาทกลายเป็นสีแดงไป และในปัจจุบัน ปราสาทสึรุกะก็เป็นสถานที่แห่งเดียวในญี่ปุ่นที่มีการใช้กระเบื้องหลังคาสีแดงอย่างนี้
เราไปเยือนปราสาทแห่งนี้กันในช่วงเช้าของฤดูใบไม้ร่วง ท้องฟ้าสดใสและอากาศดี ภาพของปราสาทที่ตั้งตระหง่านตัดกับสีครามของท้องฟ้าเป็นทิวทัศน์ที่สวยมากๆ ระหว่างที่เราเดินชมปราสาท ก็มีไกด์ชาวท้องถิ่นมาคอยถามคำถามเกี่ยวกับปราสาทและนักรบซามูไรด้วย
ถึงแม้ว่าคำถามเหล่านี้จะตอบยาก แต่ก็น่าสนใจมากทีเดียว แถมยังทำให้พวกเราได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นด้วย เรียกได้ว่า เป็นคำถามที่ทำให้ทัวร์ปราสาทสึรุกะของเราในครั้งนี้มีความหมายและน่าจดจำขึ้นเยอะเลย
หลังจากที่เที่ยวชมปราสาทสึรุกะกันไปแล้ว เราก็แวะไปที่ "ศูนย์การค้าสึรุกะโจ-ไคคัง" (鶴ヶ城会館) ที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อทำกิจกรรมวาดลวดลายบนตุ๊กตาวัวอาคาเบโกะ
"อาคาเบโกะ" (あかべこ) คือ วัวสีแดงที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดฟุคุชิมะที่คุณสามารถพบเห็นได้บ่อยๆ ตามสถานที่ต่างๆ โดยคำว่า "เบโกะ" (べこ) ในชื่อนั้นมาจากภาษาท้องถิ่นของไอสุที่แปลว่า "วัว" ส่วน "อากะ" นั้น แปลว่าสีแดงในภาษาญี่ปุ่นแบบมาตรฐาน
มีเรื่องราวเล่าว่าเมื่อประมาณ 1,200 ปีที่แล้ว วัวเป็นสัตว์ที่ใช้ในการขนส่งไม้สำหรับก่อสร้างวัด และก็มีวัวหลายตัวล้มตายไปในระหว่างนั้น ยกเว้นวัวสีแดงที่รอดชีวิตมาได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ผู้คนต่างก็เชื่อว่าวัวสีแดงเหล่านี้เป็นวัวนำโชค และในปัจจุบัน ครอบครัวที่มีเด็กๆ ก็มักจะใช้มันเป็นของเล่นสีแดงในการฉลองวันเกิดด้วย เรียกได้ว่า เป็นเครื่องรางสุดโปรดของผู้คนในแถบไอสุเลยทีเดียว
ในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เราได้รับอุปกรณ์มาเป็นตุ๊กตาวัวอาคาเบโกะตัวเกลี้ยงๆ , พู่กัน, สี, ทิชชู่เปียก และบนโต๊ะก็มีวัวอาคาเบโกะที่วาดเสร็จแล้วตั้งอยู่เป็นตัวอย่างด้วย ตุ๊กตาวัวนี้มีผิวสัมผัสเรียบลื่นทำให้วาดง่ายกว่าเครื่องเขินมาก และถึงแม้ว่าเราจะทำพลาดไป ก็สามารถใช้ทิชชู่เช็ดออกได้ทันทีด้วย
การได้สร้างสรรค์ผลงานที่มีลวดลายสวยงามไม่ซ้ำใครก็ถือเป็นกิจกรรมที่ไม่เลวเลยใช่ไหมล่ะ!
และนี่ก็คือวัวอาคาเบโกะที่เป็นผลงานของพวกเรา น่ารักมากเลยใช่ไหม? เป็นของฝากที่จะทำให้เรานึกถึงประสบการณ์ที่มีความหมายของการได้มาเที่ยวจังหวัดฟุคุชิมะในครั้งนี้ทุกครั้งที่มองเลย
เที่ยวชมการทำวิสกี้ของชาวญี่ปุ่นในทัวร์ "โรงกลั่นสาเกซาซาโนะคาวะ-ชุโซ"
คุณทราบหรือไม่ว่าญี่ปุ่นเป็น 1 ใน 5 แหล่งผลิตวิสกี้ชั้นนำระดับโลก เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา สก๊อตแลนด์ ไอร์แลนด์ และแคนาดาเชียวนะ! ดังนั้น หากได้มาเที่ยวประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ได้แวะชมโรงหมักวิสกี้ล่ะก็ คงจะน่าเสียดายอยู่ไม่น้อย แต่โชคดีที่ทัวร์นี้เปิดโอกาสให้เราได้เยี่ยมชมโรงหมักสาเกในจังหวัดฟุคุชิมะอย่าง "ซาซาโนะคาวะ-ชุโซ" (笹の川酒造) ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะโรงหมักวิสกี้ที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคโทโฮคุด้วย โรงกลั่นนี้ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1765 เมื่อก่อนเคยผลิตแต่สาเกญี่ปุ่น และเพิ่งจะเริ่มขยายมาผลิตวิสกี้ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นี้เอง
โรงกลั่นที่เราไปเยี่ยมชมในครั้งนี้ คือ "โรงกลั่นอาซากะ" (安積蒸溜所) ที่เพิ่งเปิดตัวไปใน ค.ศ. 2016 และสืบทอดทั้งประวัติศาสตร์และประเพณีของโรงกลั่นซาซาโนะคาวะ-ชุโซเอาไว้
ทัวร์เริ่มที่การพาเราชมโรงกลั่นที่มีเครื่องบดธัญพืชและเครื่องกลั่นขนาดใหญ่ 2 เครื่องที่ทำจากทองแดง รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการกลั่นอื่นๆ อีกมากมาย เราได้เห็นการทำงานของพวกมันระหว่างที่เดินชมโรงงานและฟังไกด์อธิบายเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ซึ่งสรุปได้ง่ายๆ ว่า ต้องมีทั้งการล้างวัตถุดิบ, การเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาล, การหมัก, การกลั่น และการเก็บรักษา
จุดต่อไปที่เราได้ชมกันก็คือ พื้นที่เก็บรักษาวิสกี้ซึ่งเต็มไปด้วยถังใส่วิสกี้นับร้อย โรงกลั่นอาซากะแห่งนี้ใช้ถังที่ทำจากไม้หลายชนิดเพื่อให้วิสกี้ที่ผลิตมีความหลากหลาย รวมถึงไม้โอ๊คที่เป็นแบบที่ใช้กันมากที่สุดด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีถังเก็บไวน์, คอนยัค, พอร์ตไวน์ หรือแม้แต่ถังไม้โอ๊คมิซูนาระของญี่ปุ่นซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ในประเทศนี้เท่านั้น ถังเหล่านี้เป็นตัวกำหนดราคาของวิสกี้เลยทีเดียว
ส่วนที่ดีที่สุดของการทัวร์โรงกลั่นในครั้งนี้ คือ การชิมสาเกของโรงกลั่นซาซาโนะคาวะ-ชุโซ และ โรงกลั่นอาซากะ! เราเริ่มกันด้วยสาเกญี่ปุ่น ก่อนจะค่อยๆ ขยับไปยังวิสกี้ชนิดต่างๆ ซึ่งชนิดแรกที่เราได้ดื่ม คือ "Yamazakura Single Malt Whisky" ที่มีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณ 50% และเป็นแบรนด์ระดับพรีเมียมที่ดังที่สุดของซาซาโนะคาวะฯ จากนั้นก็ชิม "Yamazakura Long Aged Plum Wine Bourbon Barrel" ซึ่งเป็นไวน์ที่มีกลิ่นหอมของบ๊วยและรสเปรี้ยวเล็กน้อยเป็นเอกลักษณ์ ช่วยบรรเทาความเผ็ดร้อนจากวิสกี้ตัวแรกได้เป็นอย่างดี เราขอแนะนำสำหรับผู้ที่อยากดื่มวิสกี้ที่มีแอลกอฮอล์ไม่แรงมาก
นอกจากนี้ ที่นี่ก็ยังมี "Yamazakura Black Label" วิสกี้ผสมที่ทำจากข้าวหลายชนิดผสมกัน เป็นอีกตัวหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการทำเมนู "วิสกี้ ไฮบอล" (Whisky High Ball) ในบาร์อิซากายะของญี่ปุ่นเลยทีเดียว
แม้ว่าฉันจะไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากนัก แต่ทัวร์นี้ก็ทำให้รู้สึกสนใจและอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับชนิดของสาเกและวิธีทำขึ้นมาเหมือนกัน และพวกเราก็ได้ซื้อวิสกี้กลับมาเป็นของที่ระลึกจากการทัวร์ในครั้งนี้ด้วย นับเป็นประสบการณ์ที่มีค่าและหายากทีเดียว ดังนั้นหากคุณมีโอกาสก็อย่าลืมแวะมาเที่ยวโรงกลั่นสาเกซาซาโนะคาวะ-ชุโซกันดูนะ!
ส่งท้าย
ประสบการณ์อันน่าสนใจจากการทัวร์จังหวัดฟุคุชิมะในครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และผู้คนในภูมิภาคนี้ได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ก็ยังได้เรียนรู้และลองทำงานฝีมือดั้งเดิมที่เป็นของเราเอง ทำให้การท่องเที่ยวในครั้งนี้มีความหมายและน่าจดจำมากยิ่งขึ้นด้วย ประสบการณ์และผลงานของพวกเราในครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราระลึกถึงความทรงจำอันสวยงามที่ได้จากการเที่ยวจังหวัดฟุคุชิมะและการมีปฏิสัมพันธ์กับไกด์และผู้คนต่างๆ รอบตัว หากคุณอยากสัมผัสกับเสน่ห์ของฟุคุชิมะหลังจากอ่านบทความนี้จบแล้วล่ะก็ ลองวางแผนมาเที่ยวกันดูสักครั้งสิ!
● ลิงก์เพจสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับทัวร์จังหวัดฟุคุชิมะ:
https://fukushima.travel/blogs/ (ภาษาอังกฤษ)
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่