แพลนเที่ยวเกียวโตครึ่งวัน : บุก "ย่านฟุชิมิ" เมืองเล็กที่รอให้คุณไปสำรวจ
หากอยากมาเดินเล่นสัมผัสวิถีชีวิตชาวเมือง ขอแนะนำ "ฟุชิมิ" ย่านผลิตสาเกในเกียวโตที่คนทั่วโลกรู้จักดี มีทั้งโรงกลั่นสาเกและที่นั่งจิบสาเกเพลินๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนสายหลักที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของอดีตหรือคลองที่มีเรือเล็กล่องผ่าน เหมาะสำหรับหนีความวุ่นวายในเมืองไปสัมผัสกับไลฟ์สไตล์สบายๆ ของคนฟุชิมิ ในบทความนี้ เราขอเสนอแพลนเที่ยวครึ่งวัน พาคุณไปพบกับอีกด้านหนึ่งของเกียวโตที่คุณอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน!
ร้านอาบุระโจ (Abura - cho)
ที่นี่เป็นร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีสาเกญี่ปุ่นให้คุณเลือกซื้อกว่า 80 ชนิด หลายๆ แบรนด์เองก็เป็นผลิตภัณฑ์จากโรงกลั่นในย่านฟุชิมิ แต่สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่าขวดสาเกมากมายที่เรียงรายอยู่บนชั้น คือ เคาน์เตอร์ที่อยู่ตรงหลังร้านซึ่งเป็นบริเวณที่ลูกค้าสามารถไปลองดื่มคิคิซาเกะ (Kikizake) หรือ ชุดชิมสาเก 3 ชนิดได้ เพียงบอกผู้จัดการร้านว่าคุณชอบสาเกแบบไหน เขาก็จะนำอันที่คิดว่าเหมาะกับคุณมาให้ และหากคุณถูกใจก็สามารถซื้อที่ร้านได้เลย นอกจากจะได้ลิ้มลองสาเกชั้นดีแล้วยังเพลิดเพลินไปกับการพบปะสนทนา จึงได้รับความนิยมอย่างมากทั้งจากคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินั่นเอง
โรงเตี๊ยมเทราดายะ (Terada - ya Inn)
โรงเตี๊ยมเทราดายะตั้งอยู่ไม่ไกลจากถนนสายหลักของย่านฟุชิมิ นับเป็นสถานที่ห้ามพลาดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์ เมื่อก่อนที่นี่เคยเป็นที่พักของบรรดาลูกเรือและยังเป็นที่ที่ "ซาคาโมโตะ เรียวมะ" (Sakamoto Ryoma) วีรบุรุษแห่งยุคปฏิวัติเกือบจะถูกลอบสังหารในปี 1866 ขณะที่มาเข้าพักระหว่างเดินทางหาเสียงสนับสนุนในการต่อต้านรัฐบาลโชกุนโทคุกาว่า
อย่างไรก็ตาม มีทฤษฎีขัดแย้งกันอยู่มากพอสมควรเกี่ยวกับความน่าเชื่อของอาคารหลังนี้ เพราะโรงเตี๊ยมเทราดายะของจริงน่าจะถูกเผาทำลายไปในเหตุการณ์การต่อสู้ Toba-Fushimi ปี 1868 ว่ากันว่าอาคารหลังนี้ถูกสร้างขึ้นใหม่โดยมีการทำร่องรอยของดาบและลูกกระสุนไว้บนขอบประตูไม้ เพื่อให้ผู้ที่แวะมาชมสามารถจินตนาการได้ถึงสถานการณ์เฉียดตายของเรียวมะในครั้งนั้น
พิพิธภัณฑ์สาเก เก็คเคคังโอคุระ (Gekkeikan Okura Sake Museum)
พิพิธภัณฑ์สาเก เก็คเคคังโอคุระ พิพิธภัณฑ์ที่ดูขลังและเปี่ยมไปด้วยมนต์เสน่ห์ ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1673 ภายใต้ความดูแลของโรงกลั่นสาเกเจ้าหนึ่งซึ่งเป็นแบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในย่านฟุชิมิ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างโดยการรีโนเวทโรงเก็บสาเกที่มีมาตั้งแต่ปี 1909 และเปรียบได้กับจารึกประวัติศาสตร์ของเมืองนี้เลยทีเดียว คุณจะได้ชมบ่อน้ำที่มีน้ำคุณภาพดีสำหรับใช้ในการผลิตสาเกที่มีชื่อเสียง รวมถึงเครื่องมือและอุปกรณ์มากมายที่ใช้ในกระบวนการกลั่น นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีสาเกเก็คเคคังสูตรพิเศษที่เหมาะสำหรับซื้อไปเป็นของฝากด้วย
วิวคูคลองจากสะพานเบ็นเท็น (ฺBenten Bridge) แม่น้ำโฮริกาวะ
ด้วยระบบการขนส่งทางคลองอันยอดเยี่ยมจากแม่น้ำอุจิกาวะ (Ujikawa) ฟุชิมิในอดีตจึงเคยเป็นย่านที่รุ่งเรืองในฐานะเมืองท่าและจุดแวะพักที่อยู่ใกล้กับเมืองหลวงราวกับเป็นประตูทางเข้าบ้านเลยทีเดียว ทุกวันนี้คุณก็ยังสามารถไปชมวิวทิวทัศน์ที่มีกลิ่นอายของประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาดังกล่าวได้จากบนสะพานเบ็นเท็น ทั้งคูคลองที่คับคั่งไปด้วยเรือในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงกับบ้านเมืองที่มีบรรยากาศคึกคักไม่ต่างจากเมืองท่าในสมัยโบราณ
* หมายเหตุ : ทัวร์ล่องคูคลองโดยเรือจิคโคคุบุเนะ (Jikkokubune) และ ซันจิคโคคุบุเนะ (Sanjikkokubune) ไม่เปิดให้บริการในช่วงฤดูหนาว
ร้านโอโคบุคิตาเสะ (Okobu Kitase)
คุณอาจแปลกใจหากได้รู้ว่าฟุชิมิเคยเป็นเมืองท่ามาก่อน ในช่วงเวลากว่า 1,000 ปี ที่เกียวโตเป็นได้รับการสถาปนาเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่น ได้มีการส่งสินค้าและเสบียงอาหารจากทั่วประเทศมายังเกียวโตทางเรือ อาหารอย่างหนึ่งที่ถูกส่งมาด้วย คือ ปลาแห้งจากฮอกไกโดที่นำเข้าโดยร้านค้าชื่อ "คิตาเสะ คนบุ" (Kitase Konbu) ร้านนี้เปิดกิจการมาแล้วหลายศตวรรษและในปี 2017 ผู้จัดการร้านก็ได้ลงทุนเปิดคาเฟ่และบาร์ขึ้นข้างๆ ร้านแล้วตั้งชื่อว่า "โอโคบุคิตาเสะ" นั่นเอง
คาเฟ่นี้มีเมนูหลักเป็นอาหาร "โอบันไซ" (Obanzai กับข้าวสไตล์เกียวโต) แบบบ้านๆ ที่ทำขึ้นจากน้ำซุปปลาแห้งและสาเกฟุชิมิ นอกจากนี้ ร้านนี้ยังมีการจัดมินิคอนเสิร์ตและงานอีเวนต์ต่างๆ ขึ้นเป็นครั้งคราวด้วย เป็นที่ชื่นชอบของเหล่าลูกค้าวัยรุ่นเลยล่ะ
และทั้งหมดนี้ก็คือ สถานที่น่าเที่ยวสำหรับทริปครึ่งวันในย่านฟุชิมิที่เราตั้งใจคัดสรรมาให้คุณ นี่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นเพราะที่จริงแล้วเมืองนี้ยังมีอะไรให้เที่ยวอีกเยอะ ฟุชิมิเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสถานที่น่าสนใจและหากคุณมีเวลาว่างสักหนึ่งวันเต็มๆ แล้วล่ะก็ เราขอแนะนำให้ลองใช้เวลาทั้งวันไปกับการท่องเที่ยวในฟุชิมิให้ครบทุกซอกทุกมุม คุณจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของเกียวโตอย่างลึกซึ้งไปพร้อมๆ กับเรียนรู้วิถึชีวิตของผู้คนที่นี่ด้วย
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่