"ความรัก" แบบญี่ปุ่นเป็นอย่างไร? เจาะลึกเน้นๆ แบบเปิดอกโดยสาวญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่นมักเป็นที่รู้จักจากวัฒนธรรมอาหารการกินที่เป็นเอกลักษณ์ แต่จริงๆ แล้วในด้านวัฒนธรรมความรักเองก็แตกต่างจากวัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปเจาะลึกวัฒนธรรมความรักที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นในมุมมองของผู้หญิงญี่ปุ่นวัย 20 เนื่องจากเป็นเพียงความเห็นส่วนบุคคลจึงอาจไม่ถูกต้อง 100% เสมอไป แต่ก็เป็นข้อมูลที่ควรรู้ไว้อย่างยิ่งสำหรับใครที่สนใจจะคบกับชาวญี่ปุ่น!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

ก่อนจะคบกันต้องมีการบอกรักกันก่อน!

คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่แล้วมักจะเริ่มความสัมพันธ์ด้วยการบอกรัก หรือ "โคคุฮาคุ (告白)" โดยการพูด "มาคบกันเถอะ" กันก่อน อีกด้านหนึ่งในกรณีของคนตะวันตกนั้นมักจะไม่มีการบอกรักในลักษณะดังกล่าว แต่จะเป็นการออกเดทไปเรื่อยๆ จนทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่ากำลังคบกันอยู่

ที่เป็นเช่นนี้ก็อาจเป็นเพราะว่ามีความคิดในทำนอง "หากชวนไปดื่มชาแล้วไม่ปฏิเสธก็แสดงว่ามีใจให้" แต่ในกรณีของคนญี่ปุ่น การชวนไปดื่มชาหรือรับประทานมื้อกลางวันในแบบเพื่อนๆ กันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ด้วยเหตุนี้เองหากไม่มีการบอกรักอย่างชัดเจนเพื่อให้เข้าใจว่า "มีใจให้กันทั้งสองฝ่าย" แล้วล่ะก็ จะไม่สามารถรู้เลยว่าเป็นแฟนกันตั้งแต่เมื่อไร

ค่าใช้จ่ายในการเดทส่วนใหญ่แล้วจะ "หารครึ่ง" หรือไม่ก็ฝ่ายชายออกมากกว่าเล็กน้อย

แม้อาจจะต่างไปตามช่วงวัยและท้องที่ แต่ในกรณีของคู่รักวัยรุ่นยุคใหม่นั้น ยิ่งคบกันนานเท่าไรก็มีแนวโน้มที่จะใช้วิธีหารครึ่ง หรือ "วาริคัง (割り勘)" ในค่าใช้จ่ายตอนออกเดทมากขึ้นเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เพราะว่าคนญี่ปุ่นขี้เหนียว แต่ได้รับการเลี้ยงดูมาตั้งแต่เด็กว่าการแบ่งกันทำให้เกิดความเท่าเทียม และจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลราบรื่นยิ่งขึ้น ในทำนองเดียวกับการที่ได้แบ่งปันเวลาให้กันและกัน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของวันพิเศษต่างๆ อย่างวันครบรอบ วันเกิด หรือวันคริสต์มาสนั้น ฝ่ายชายจำนวนไม่น้อยก็ชอบที่จะออกให้เองทั้งหมด

เดทสุดสัปดาห์อาจกินเวลาครึ่งวันหรืออาจทั้งวันเลยก็ได้!?

สำหรับคนตะวันตกแล้วการเดทส่วนใหญ่อาจเป็นการรับประทานอาหาร เดินเล่น หรือใช้เวลาร่วมกันไม่กี่ชั่วโมง แน่นอนว่าที่ญี่ปุ่นเองก็มีการเดทในลักษณะนี้อยู่เช่นกัน แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จุดหมายหลักของการเดทจริงๆ ก็มีตัวอย่างเช่นไปสวนสนุก ช็อปปิ้ง หรือชมดอกไม้ไฟ

ด้วยเหตุนี้เองในกรณีที่สัญญาว่าจะพาไปออกเดทในช่วงสุดสัปดาห์ คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเลยจะคิดว่าต้องใช้เวลาเกินครึ่งวันหรืออาจจะทั้งวัน การพาไปรับประทานอาหารหรือดื่มชาเพียงอย่างเดียวในช่วงสุดสัปดาห์จึงอาจไม่เพียงพอสำหรับคนญี่ปุ่นบางคนก็เป็นได้

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ไม่หยอกล้อกันในพื้นที่สาธารณะ

ในประเทศแถบตะวันตกการแสดงความรักอย่างกอดและจูบกันนั้นเป็นสิ่งที่สามารถพบเห็นได้ง่ายมาก อีกด้านหนึ่งในกรณีของญี่ปุ่น แม้จะมีการจับมือกัน แต่การจูบกันในที่สาธารณะนั้นก็แทบจะไม่มีเลย

ในความคิดของผู้เขียนสาเหตุอาจมาจาก 2 เรื่อง เรื่องแรกคือคนญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะชื่นชอบ "ความลับ" และต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวของอีกฝ่าย อีกเรื่องคือไม่อยากถูกมองว่าเป็น "คนที่ไม่รู้จักมารยาทสาธารณะ" (คิดว่าอาจมีคนที่เห็นแล้วจะรู้สึกไม่สบายใจ) ด้วยเหตุนี้เองคนญี่ปุ่นจึงไม่ทำการหยอกล้อกันในที่สาธารณะ

Klook.com

ไม่คุ้นเคยกับการแสดงความรักด้วยคำพูด

คนญี่ปุ่นมักขี้อายและไม่คุ้นเคยกับการแสดงความรักด้วยคำพูดเหมือนอย่างคนตะวันตก ส่วนใหญ่แล้วจะมีความคิดว่า "ไม่ต้องพูดก็รู้ๆ กันอยู่" แน่นอนว่าลักษณะนี้ก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่คู่รักที่ทะเลาะกันเพราะขาดการแสดงความรักด้วยคำพูดก็มีอยู่ไม่น้อยเลย

อาจกล่าวได้ว่า "แม้ไม่พูดก็รู้สึกได้ถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย" เป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้

ชื่นชอบการเดทที่บ้าน

คนญี่ปุ่นจำนวนมากมีความคิดในทำนอง "วันหยุดทั้งทีก็อยากทำตัวสบายๆ" ในกรณีเช่นนี้ก็มักจะเลือกอยู่บ้านและใช้เวลาดูหนังหรือเล่นเกมไปด้วยกัน ในขณะที่ฝั่งยุโรปก็จะมีความคิดในทำนอง "วันหยุดทั้งทีก็อยากทำอะไรที่มันแอคทีฟ" และมักจะชวนเพื่อนของทั้งสองฝ่ายมาจัดปาร์ตี้กัน

เนื่องจากคู่รักชาวญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับเวลาส่วนตัวที่ได้อยู่ด้วยกันสองต่อสอง จึงค่อนข้างแตกต่างอย่างมากกับคนยุโรปที่ชอบใช้เวลาร่วมกันกับผู้คนหลายๆ คน

วาเลนไทน์เป็นวันที่ฝ่ายหญิงบอกความรู้สึกให้ฝ่ายชาย

วันวาเลนไทน์ในยุโรปฝ่ายหญิงมักจะถูกฝ่ายชายชวนไปออกเดท แต่ในกรณีของญี่ปุ่น วาเลนไทน์เป็นวันที่ฝ่ายหญิงจะจัดเตรียมและมอบช็อกโกแลตให้กับผู้ชายที่ตัวเองชอบ ถือเป็นวันที่น่าตื่นเต้นสำหรับผู้ชายมากเลยทีเดียว

ฝ่ายชายที่ได้รับช็อกโกแลตก็ต้องให้ของขวัญตอบแทนในวันที่ 14 มีนาคม ซึ่งเป็นวันไวท์เดย์ เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น ในพักหลังนี้ก็การมอบ "โทโมะช็อกโกะ (友チョコ)" หรือ "กิริช็อกโกะ (義理チョコ)" ให้กับเพื่อนหรือเจ้านายที่ทำงานตามมารยาทก็มีให้เห็นเช่นกัน

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

คู่รักญี่ปุ่นกว่าครึ่งไม่เคยมีประสบการณ์อยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน!?

ทางฝั่งยุโรปการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนั้นถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากก่อนจะแต่งงาน แต่ที่ญี่ปุ่นไม่จำเป็นต้องลองอยู่ด้วยกันก่อนจะแต่งงานเสมอไป อย่างไรก็ตาม พักหลังนี้ การ "กึ่งอยู่ด้วยกัน" ก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น โดยไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา แต่จะใช้เวลาอยู่ด้วยกันเพียงครึ่งสัปดาห์หรือในวันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้น นอกจากนี้คนญี่ปุ่นก็ไม่รู้สึกว่า "หากไม่ลองอยู่ด้วยกันแล้วจะทำให้ชีวิตหลังแต่งงานไม่ราบรื่น" อีกด้วย สำหรับคนญี่ปุ่นการตัดสินใจว่าจะคบหากันอย่างไรนั้นจะทำไปแล้วตั้งแต่ขั้นตอนการบอกรัก ขั้นตอนหลังจากนั้นไปจนถึงการแต่งงานจึงค่อนข้างสมูทกว่าเมื่อเทียบกับคนยุโรป

คนญี่ปุ่นมักนึกถึงเรื่องการแต่งงาน

คนยุโรปเมื่อออกเดทกันไปหลายๆ ครั้ง ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันยาวนานขึ้นเรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ นึกถึงเรื่องแต่งงานมากขึ้น ในขณะที่ในกรณีของคนญี่ปุ่น แม้ค่านิยมเกี่ยวกับการแต่งงานจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในวัย 20 ตอนกลางก็มักจะให้ความสำคัญกับเรื่องการแต่งงานมากเป็นพิเศษ

ในมุมมองของผู้เขียนที่เป็นผู้หญิงในวัย 20 ตอนกลางด้วยกัน ผู้คนในวัยมหาวิทยาลัยปี 4 ไปจนถึงเริ่มเข้าทำงานจำนวนไม่น้อยมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "อยากให้แฟนคนต่อไปเป็นคนที่วางแผนคบกันระยะยาวไปจนถึงเรื่องแต่งงาน" สาเหตุก็อาจเป็นเพราะว่า "การคบกับคนที่ไม่เหมาะจะแต่งงานด้วยเป็นเรื่องเสียเวลา" การพิจารณาอีกฝ่ายให้ถี่ถ้วนตั้งแต่ขั้นตอนการคบกันนั้นอาจเป็นความสามารถพิเศษของผู้หญิงญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้

พาไปพบครอบครัว = คบกันโดยวางแผนที่จะแต่งงาน

คนญี่ปุ่นเมื่อมีแฟนแล้วส่วนใหญ่มักจะเก็บเป็นความลับโดยไม่บอกครอบครัว นี่ไม่ได้แปลว่าไม่อยากแนะนำให้ครอบครัวรู้จัก แต่มักจะรู้สึกไปเองว่า "พาไปพบครอบครัว" = "คบกันอย่างจริงจังโดยวางแผนแต่งงาน" แน่นอนว่าอาจมีข้อยกเว้นในกรณีของคนที่ค่อนข้างใกล้ชิดกับพ่อแม่จนรู้สึกเหมือนว่าเป็นเพื่อนกัน ในกรณีของฝ่ายหญิง หากพ่อเป็นคนที่เข้มงวด หลายคนมักจะเก็บเป็นความลับไม่ให้พ่อรู้แต่จะบอกแม่เพียงคนเดียว

เรื่องน่ารู้อื่นๆ : วิธีการพบกัน

Klook.com

ปาร์ตี้หาคู่

ในระยะหลังนี้ "ปาร์ตี้หาคู่" ได้กลายมาเป็นสถานที่สำหรับการพบความสัมพันธ์ใหม่ๆ ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น ปาร์ตี้หาคู่โดยปกติแล้วจะเป็นสถานที่ที่ชายหญิงที่พร้อมแต่งงานมารวมตัวกัน เพลิดเพลินไปกับการรับประทานอาหารและพูดคุย พลางมองหาผู้ที่เหมาะจะเป็นแฟนของตัวเอง สาเหตุที่ทำให้ได้รับความนิยมก็เพราะว่ามีข้อดี 2 อย่างดังต่อไปนี้

อย่างแรกคือสามารถพบกับเพศตรงข้ามหลายๆ คนได้ในเวลาเดียวกัน ถัดมาคือมีความแตกต่างจากแอปพลิเคชั่นหาคู่ เพราะสามารถพูดคุยกับอีกฝ่ายได้โดยตรง ทั้งยังปลอดภัยเนื่องจากผ่านบริษัทตัวกลางอีกด้วย

ปาร์ตี้หาคู่มีอยู่หลายประเภท บ้างก็มีข้อกำหนด เช่น รายได้ต่อปี แบ่งตามประเภทงานที่ทำ หรือจำกัดอายุ อาจจะฟังดูค่อนข้างแปลก แต่สำหรับคนที่ทำงานยุ่งจนไม่มีโอกาสพบความสัมพันธ์ใหม่ๆ แล้ว ปาร์ตี้หาคู่นับว่าเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพมากเลยทีเดียว

ปาร์ตี้แลกเปลี่ยน

ปาร์ตี้แลกเปลี่ยน หรือ "โกคอน (合コン)" เป็น "งานเลี้ยงสำหรับชายหญิงที่ต้องการพบความสัมพันธ์ใหม่ๆ" กล่าวได้ว่าคล้ายๆ กับปาร์ตี้ของฝั่งยุโรป เป็นงานเลี้ยงที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะเรียกเพื่อนของแต่ละฝ่ายมานั่งดื่มกัน มีลักษณะที่ค่อนข้างเป็นกันเองกว่าปาร์ตี้หาคู่

เพราะได้มาพบกันโดยผ่านเพื่อนของตัวเอง จึงทำให้นอกจากจะไม่ต้องกังวลแล้วยังสะดวกอีกด้วย นอกจากนี้ยังเป็นไปได้สูงที่จะเจอคนประเภทเดียวกันกับตัวเอง จึงมีคู่รักหลายคู่ในญี่ปุ่นที่เริ่มต้นรู้จักกันด้วยวิธีนี้

เว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นหาคู่

"Tinder" คือ แอปหาคู่อันโด่งดังจากอเมริกา มีประวัติศาสตร์ค่อนข้างยาวนาน ทำให้คนยุโรปส่วนใหญ่ใช้บริการกันได้อย่างคุ้นชิน อีกด้านหนึ่งในกรณีของญี่ปุ่น แอปพลิเคชั่นหาคู่เพิ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางก็เมื่อเร็วๆ นี้ แต่เนื่องจากมีปัญหาบางอย่าง เช่น ผู้ใช้งานที่ประสงค์ร้าย และการรั่วไหลของข้อมูลส่วนตัว แอปเหล่านี้จึงมีภาพลักษณ์ที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร และดูเหมือนว่าจะมีผู้คนจำนวนมากลังเลที่จะใช้งานแอปประเภทนี้

 

[ตัวอย่างแอปพลิเคชั่นหาคู่]

・Tinder (มีผู้ใช้จากอเมริกา ยุโรป และบราซิลอยู่เป็นจำนวนมาก)

・Match.com (มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีผู้ใช้บริการจากทั่วโลก)

・Pairs (มีผู้ใช้จากญี่ปุ่นและไต้หวันอยู่เป็นจำนวนมาก)

・Omiai

・with

จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมความรักที่แตกต่างกับชาติอื่นๆ รวมถึงประเทศไทยอยู่หลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบอกรัก วิธีการจ่ายเงิน หรือการแสดงความรัก แต่ก็แน่นอนว่าคนแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกัน ทำให้สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะไม่จริงเสมอไป อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการสื่อสารกับอีกฝ่าย และทำความเข้าใจวัฒนธรรมและทัศนคติด้านความรักของกันและกันนั่นเอง

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Marina
Marina
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ความสนใจที่เกี่ยวข้อง

ค้นหาร้านอาหาร