เทคนิคนั่ง “รถบัสประจำเมือง” เพื่อนคู่กายในการเที่ยวชมเมืองเกียวโต ! ตอนที่ 2 วิธีการดู "จอแสดงผลสถานที่ปลายทาง" และเส้นทางท่องเที่ยวแนะนำ

คราวนี้เรามาลองให้ความสนใจกับ "จอแสดงผลสถานที่ปลายทาง" ของรถประจำทางในเมืองกันเถอะ ไม่ว่าจะตัวเลขต่าง ๆ ที่ขยับไปมาหรือการแยกสี... พวกนี้มันมีความหมายอะไรด้วยเหรอเนี่ย? ใช่แล้ว ที่จริงมันมีความหมายในตัวของมันเอง ถ้าเรารู้เรื่องพวกนี้ไว้ การโดยสารรถประจำทางในเมืองก็จะกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาทันทีเลยล่ะ นอกจากนั้น เราก็อยากที่จะแนะนำข้อมูลรถประจำทางที่สะดวกต่อการท่องเที่ยวให้ได้ทราบกันอีกด้วย

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

ข้อมูลที่ทราบได้จาก "จอแสดงผลสถานที่ปลายทาง (ป้ายบอกทาง)" ที่ไม่เพียงแค่บอกสถานที่ปลายทางเท่านั้น!

จอแสดงผลสถานที่ปลายทาง (ป้ายบอกทาง) หมายถึง ส่วนนี้ตรงบริเวณด้านหน้ารถประจำทางนั่นเอง ซึ่งถ้าเราได้สังเกตที่จุดนี้ ก็จะสามารถอ่านข้อมูลต่าง ๆ นอกจากสถานที่ปลายทางได้อีกด้วย!

ยกตัวอย่างเช่น ส่วนหมายเลขสายรถทางที่อยู่ทางปลายด้านขวา เราจะทราบประเภทของรถประจำทางได้ด้วยสีของตัวหมายเลขและสีของพื้นหลัง

・ ประเภทวิ่งวนรอบในราคาเดียว

ถ้าเป็นพื้นสีส้ม+ตัวหนังสือสีขาวล่ะก็ จะหมายถึงประเภทวิ่งวนรอบในราคาเดียวที่วิ่งรอบพื้นที่ใจกลางเมือง

ถ้าด้านบนหมายเลขมีคำว่า "快速 (ด่วน) Rapid" อยู่ล่ะก็จะหมายถึงประเภทรถวิ่งวนแบบด่วน แม้จะเป็นรถสาย 205 เหมือนกันก็ตาม แต่สำหรับรถด่วนอาจจะมีสถานีรถประจำทางที่ไม่หยุดจอดอยู่ด้วย ขอให้ตรวจสอบให้ดีก่อนขึ้นโดยสารว่ารถจะจอดที่สถานีที่เราจะลงหรือไม่

・ ประเภทราคาเดียวอื่น ๆ

ถ้าเป็นพื้นน้ำเงิน+ตัวหนังสือสีขาวล่ะก็ จะหมายถึงประเภทที่วิ่งอยู่ในระยะโดยมีค่าโดยสารราคาเดียว ซึ่งรถประจำทางประเภทนี้โดยมากจะให้บริการวิ่งไปกลับตามป้ายรถประจำทางที่เป็นจุดต้นทางและปลายทาง

・ ประเภทวิ่งหลายระยะ

ถ้าเป็นพื้นขาว+ตัวหนังสือสีดำล่ะก็ จะหมายถึงประเภทวิ่งหลายระยะ ซึ่งเป็นรถประจำทางที่วิ่งจากในตัวเมืองออกไปยังชานเมือง โดยค่าโดยสารจะปรับเปลี่ยนไปตามระยะที่โดยสาร

《เกร็ดความรู้》 ถ้าจะโดยสารรถประเภทวิ่งหลายระยะต้องระวังตรงจุดนี้ด้วย!

ในกรณีที่จะขึ้นโดยสารรถประจำทางประเภทวิ่งหลายระยะ ท่านจำเป็นต้องหยิบตั๋วโดยสารด้วย ซึ่งจากตรงจุดนั้นเอง เราจะแนะนำเกร็ดความรู้ให้ท่านได้ทราบว่าตั๋วโดยสารนั้นอยู่ที่ตรงไหน และเราจะตรวจสอบค่าโดยสารได้อย่างไร

ในกรณีที่จะชำระค่าโดยสารด้วยเงินสด ให้หยิบตั๋วโดยสารจากส่วน "A" ของเครื่องออกตั๋ว (ด้านขวาในรูป) ที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับประตูขึ้นรถ (ขึ้นรถจากด้านหลังรถประจำทาง) ส่วนกรณีที่จะใช้บัตรแถบแม่เหล็กให้นำบัตรไปสอดเข้าเครื่องอ่านบัตร (ด้านซ้ายในรูป) ตรงจุด "B" ส่วนกรณีที่จะใช้บัตร IC เพียงนำบัตรไปแตะตรงส่วน "C" ก็ OK แล้ว

ในกรณีที่ลืมหยิบตั๋วโดยสารหรือลืมอ่านบัตร ในตอนที่ลงรถท่านจะต้องจ่ายโดยสารในราคาเดียวกับโดยสารมาจากสถานีต้นทาง ขอให้ระมัดระวังด้วย

ค่าโดยสารนั้นตรวจสอบได้จากการนำหมายเลขที่เขียนไว้บนตั๋วโดยสาร มาเทียบกับป้ายแสดงผลทางด้านหน้าภายในตัวรถ กรณีอย่างในรูปนี้ ถ้าหมายเลขบนตั๋วโดยสารเป็น "2" ก็แสดงว่าค่าโดยสารอยู่ที่ "260 เยน" นั่นเอง ขอแค่เพียงชำระเงินค่าโดยสารตามที่แสดงอยู่บนป้ายแสดงผลด้วยตัวหนังสือสีเหลืองที่อยู่ใต้ช่องหมายเลขซึ่งเป็นช่องค่าโดยสารสำหรับผู้ใหญ่ก็ OK แล้ว

ในกรณีที่ใช้ "บัตรโดยสารหนึ่งวัน (※)" ถ้าจะใช้บัตรโดยครอบคลุมไปถึงนอกระยะที่บัตรนั้นมีผล ก็จำเป็นต้องมีค่าโดยสารโดยนับจากป้ายรถประจำทางที่เป็นจุดแบ่งเขต โดยในตอนที่ลงรถก็ให้นำบัตรไปเข้าช่องเสียบบัตรของเครื่องอ่านบัตรที่ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับประตูทางออก เพื่อจ่ายค่าโดยสารแยกต่างหาก

(※) บัตรที่สามารถใช้โดยสารรถประจำทางเกียวโตหรือรถประจำทางในเมืองที่อยู่ในระยะที่บัตรนั้นมีผลได้ไม่จำกัด

ทราบสถานที่ปลายทางได้จากสี! "สีเส้นทาง" มีความหมายอย่างนี้ด้วย!

สำหรับรถประจำทางในเมืองของเกียวโตนั้น เพื่อให้ผู้โดยสารเข้าใจว่ารถประจำทางจะวิ่งไปตามเส้นทางใดได้ง่ายขึ้น จึงมีการนำสีเส้นทางทั้ง 6 สีมาประยุกต์ใช้ ซึ่งถ้าท่านเข้าใจถึงความสัมพันธ์ของตำแหน่งที่ตั้งของพื้นที่ท่องเที่ยวเป็นอย่างดีแล้วล่ะก็ มันจะเป็นคำบอกใบ้ที่บอกว่าควรขึ้นรถประจำทางคันใดดีได้เลย

ถนนสายหลักที่วิ่งในเมืองตั้งแต่เหนือจรดใต้จะมีสีที่แตกต่างกันกำหนดไว้อยู่ ซึ่งจะมีกำหนดสีของรถแต่ละประเภทให้เข้ากับถนนที่วิ่งเป็นหลักด้วย

สีตามเส้นแนวตลอดสองฟากฝั่งของถนนในแต่ละสีนั้น ชวนให้เรานึกถึงพวกชื่อสถานที่ ทัศนียภาพ และสถานที่ท่องเที่ยวหลัก จึงได้เลือกใช้สีดังต่อไปนี้

◎ ถนนนิชิโอจิ (西大路通): "สีเหลือง" ที่ชวนให้นึกถึงทองคำเปลวของวัดคินคาคุจิ (金閣寺) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นของเกียวโต (京都)

◎ ถนนเซ็มบง (千本通) และถนนโอมิยะ (大宮通): "สีม่วง" ที่ชวนให้นึกถึง "มุราซากิโนะ (紫野) (※)" ซึ่งเป็นชื่อสถานที่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทางเหนือของถนนเซ็มบง

(※) มีตัวคันจิ "紫" ที่มีความหมายว่าสีม่วงอยู่ในชื่อ

◎ ถนนโฮริคาวะ (堀川通): "สีเขียว" ที่ชวนให้นึกถึงต้นไม้ริมถนนในพื้นที่ทางเหนือตลอดสองฟากฝั่งของถนนและพื้นที่เขียวขจีของปราสาทนิโจ (二条城)

◎ ถนนคาวาระมาจิ (河原町通): "สีฟ้า" ที่ชวนให้นึกถึงน้ำในแม่น้ำคาโมงาวะ (鴨川) และแม่น้ำทาคาเซงาวะ (髙瀨川)

◎ ถนนฮิงาชิยามะ (東山通): "สีแดง" ที่ชวนให้นึกถึงประตูโทริอิของศาลเจ้าเฮอันจินงู (平安神宮) และประตูโรมง (ประตูใหญ่ที่สร้างเหมือนอาคาร 2 ชั้น) ของศาลเจ้ายาซากะ (八坂神社)

◎ ถนนชิราคาวะ (白川通): "สีขาว" ที่ชวนให้นึกถึงสีแบบโมโนโทนของวัดกินคาคุจิ (銀閣寺) และชื่อเรียกของ "ถนนชิราคาวะ (※)"

(※) มีตัวคันจิ "白" ที่มีความหมายว่าสีขาวอยู่ในชื่อ

สีเส้นทางในแต่ละประเภทนั้น เพียงแค่ดูจอแสดงผลสถานที่ปลายทางของรถประจำทางก็จะเข้าใจได้ในทันที ซึ่งจุดที่ต้องจับตามองก็คือ สีเส้นทางในแนวตั้งทางปลายด้านซ้าย ซึ่งด้วยความที่ประเภทของสาย 28 นี้เป็นสีเขียว จึงยืนยันได้ว่าเป็นรถประจำทางที่วิ่งไปตามถนนโฮริคาวะนั่นเอง

เนื่องจากประเภทของสาย 201 เป็นสีแดง จึงทราบได้ว่าเป็นรถประจำทางที่วิ่งไปตามถนนฮิงาชิยามะเป็นหลัก แต่ว่าเนื่องจากเป็นประเภทวิ่งวนในราคาเดียว ตามที่จริงก็เลยวิ่งตามถนนเซ็มบงด้วย สำหรับประเภทที่วิ่งไปตามถนนหลายสายเช่นนี้ จะกำหนดด้วยสีตามถนนที่มีระยะวิ่งยาวที่สุด

※ ในบรรดาประเภทที่มีอยู่มากมายนั้น อาจมีเส้นทางที่ไม่มีสีเส้นทางอยู่ด้วย ขอให้ระมัดระวังให้ดี

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหลักได้ง่าย ๆ ! "Raku Bus (洛バス)" ในกลุ่มรถประจำทางสาย 100 หมายถึงอะไร?

สำหรับผู้ที่ทราบว่าสามารถดูข้อมูลต่าง ๆ ได้จากจอแสดงผลสถานที่ปลายทาง แต่จะโดยสารให้ชำนาญก็เป็นเรื่องยาก... เราก็ขอแนะนำ "Raku Bus" ให้ได้รู้จัก

"Raku Bus" เป็นรถโดยสารประจำทางที่เน้นไปที่การท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวหลักรวมถึงมรดกโลกทางวัฒนธรรมด้วยความลื่นไหลและรวดเร็ว ซึ่งดีไซน์ของตัวรถจะสวยสดใสและมีสีที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละสถานที่ปลายทาง ซึ่งได้ออกแบบมาโดยคำนึงถึงจุดที่ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมองเพียงแวบเดียวก็รู้ในทันที

・ สาย 100 : พื้นที่ราคุโต (洛東エリア) (ทางด้าน ฮิงาชิยามะ-ศาลเจ้าเฮอันจินงู-วัดกินคาคุจิ)

รถสาย 100 ที่มีตัวรถสีชมพูเป็นจุดสังเกตนั้นจะวิ่งไปตาม "พื้นที่ราคุโต" ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมพื้นที่ [สถานีเกียวโต (京都駅)〜พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ (国立博物館)〜พระอุโบสถซันจูซันเก็นโด (三十三間堂)〜วัดคิโยมิสุเดระ (清水寺)〜กิอง (祇園)〜วัดกินคาคุจิ (銀閣寺)] โดยจะให้บริการวิ่งในทุก 10 นาที (ยกเว้นสำหรับบางโซนเวลา)

・ สาย 101 : พื้นที่ราคุจู (洛中エリア) (ทางด้าน ปราสาทนิโจ-ศาลเจ้าคิตาโนะเท็นมังงู-วัดคินคาคุจิ)

รถสาย 101 สีเขียวนั้นเข้ากับการท่องเที่ยวใน "พื้นที่ราคุจู" เป็นที่สุด ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมพื้นที่ "สถานีเกียวโต (京都駅)〜ปราสาทนิโจ (二条城)〜ศาลเจ้าคิตาโนะเท็นมังงู (北野天満宮)〜วัดคินคาคุจิ (金閣寺)〜วัดไดโตคุจิ (大徳寺)〜สถานีขนส่งคิตะโอจิ (สถานีรถไฟใต้ดินคิตะโอจิ) (北大路バスターミナル(地下鉄・北大路駅))" โดยจะให้บริการวิ่งในทุก 15 นาที

Klook.com

・ สาย 102 : พื้นที่ราคุโฮคุ (洛北エリア) (ทางด้าน วัดไดโตคุจิ-วัดคินคาคุจิ-วัดกินคาคุจิ)

รถสาย 102 สีเหลืองนั้นวิ่งวนอยู่ใน "พื้นที่ราคุโฮคุ" ซึ่งเป็นเส้นทางที่เชื่อมพื้นที่ "วัดกินคาคุจิ (銀閣寺)〜พระราชวังหลวงเกียวโต (京都御所)〜ศาลเจ้าคิตาโนะเท็นมังงู (北野天満宮)〜วัดคินคาคุจิ (金閣寺)〜วัดไดโตคุจิ (大徳寺)〜สถานีขนส่งคิตะโอจิ (สถานีรถไฟใต้ดินคิตะโอจิ) (北大路バスターミナル(地下鉄・北大路駅))" โดยจะให้บริการวิ่งในทุก 30 นาที

ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสายใดก็สามารถโดยสารได้ในค่าโดยสารราคาเดียว และแน่นอนว่าบัตรโดยสารหนึ่งวันก็สามารถนำมาใช้ได้

 

 

เป็นอย่างไรกันบ้าง? แม้ว่ารถประจำทางจะมีหลายเส้นทางและดูวุ่นวายไปบ้าง แต่ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนดัดแปลงกันอย่างเต็มที่เพื่อให้แม้แต่นักท่องเที่ยวก็สามารถโดยสารได้โดยไม่ลังเล อีกทั้งยังมีรถประจำทางที่สะดวกต่อการท่องเที่ยวและช้อปปิ้งให้บริการวิ่งอยู่ด้วย ขอให้ท่านได้ลองมาใช้บริการกันดูนะ

มนต์เสน่ห์คันไซ

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

K.G.G.project
K.G.G.project
เราคือกลุ่มนักศึกษาท้องถิ่นจากมหาวิทยาลัยในเกียวโต ที่มารวมตัวกันเพื่อเผยแพร่เสน่ห์ของเกียวโตให้โลกรู้! บทความของเราจะพาคุณไปรู้จักเกียวโตในแง่มุมที่มีแค่ในคนท้องถิ่นเท่านั้นที่รู้ หวังว่าทุกคนจะชื่นชอบบทความของพวกเรานะ!
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร