รู้หรือไม่! ความลับของสีป้ายในเกียวโตทั้งร้านอาหารดังและร้านสะดวกซื้อ ทำไมถึงแตกต่างจากที่อื่นๆ??

เกียวโตเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศญี่ปุ่นอยู่นานนับพันปี ทั้งสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์และสภาพบ้านเมืองซึ่งเป็นอารยธรรมของช่วงเวลานั้นก็ล้วนยังคงส่งกลิ่นอายความงามในแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมให้เราได้สัมผัสกันมาจนถึงวันนี้ และสิ่งหนึ่งในเกียวโตที่แตกต่างจากเมืองใหญ่อื่นๆ อย่างโตเกียวหรือโอซาก้าก็คือสีของป้าย / โลโก้ร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อต่างๆ ที่ถูกเปลี่ยนให้มีสีอ่อนๆ ดูสงบสบายตากว่าแบบที่เราคุ้นเคย แต่เพราะอะไรล่ะ? ในบทความนี้เราจะมานำเสนอป้ายแปลกๆ รวมถึงเหตุผลที่ซ่อนอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นกัน!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

ทิวทัศน์เมืองแสนงามในเกียวโตที่ถูกคุ้มครองด้วยกฎแสนเข้มงวด

เมืองเกียวโตถูกล้อมด้วยภูเขาทั้งสามด้าน มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมถึงมีมรดกโลกและมรดกทางวัฒนธรรมจากความรุ่งเรืองในสมัยที่ยังเป็นเมืองหลวงกระจายอยู่ทั่ว ทว่าด้วยอารยธรรมและยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทิวทัศน์ของเมืองในเกียวโตก็เริ่มแปรเปลี่ยนไปเช่นเดียวกับเมืองท่องเที่ยวมากมายทั่วโลก ศูนย์การค้าและร้านอาหารเริ่มเพิ่มจำนวนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น ทำให้ตัวเมืองเริ่มมีทั้งอาคารบ้านเรือนทั้งแบบเก่าและแบบใหม่คงอยู่ร่วมกัน

จุดเด่นอย่างหนึ่งของเกียวโตคือการวางผังเมืองที่ถูกปรับเปลี่ยนเพื่ออนุรักษ์ทัศนียภาพจากสิ่งปลูกสร้างทางประวัติศาสตร์ ซึ่งในปี 2007 ก็ได้มีการบัญญัติข้อบังคับ "ไกด์ไลน์ทางทัศนียภาพแห่งเมืองราชธานี (京の景観ガイドライン)" ขึ้นมาเพื่อปกปักรักษารูปแบบบ้านเมืองที่สวยงามเอาไว้ด้วย

โดยข้อบังคับนี้จะระบุข้อจำกัดในเรื่องของความสูง สี ดีไซน์ของตัวอาคาร รวมถึงสื่อโฆษณาภายนอกอาคารไว้อย่างเข้มงวด เช่นสำหรับหลังคา "กระเบื้องหลังคาโดยทั่วไปต้องเป็นสีเงินรมดำ" "แผ่นโลหะอื่นที่ไม่ใช่แผ่นทองแดงรวมถึงวัสดุมุงหลังคา โดยทั่วไปจะต้องมีสีเทาเข้มที่ไม่มีความมันวาวหรือมีสีดำ" หรือสำหรับผนังด้านนอก "ห้ามใช้โทนสีแดง (R) ที่มีความสดเกินระดับ 6" เป็นต้น

ด้วยมีข้อบังคับยิบย่อยเช่นนี้ บริษัทชื่อดังมากมายไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารรายใหญ่หรือร้านเสื้อผ้าชื่อดังก็ล้วนจำต้องเปลี่ยนโลโก้และรูปลักษณ์ให้เข้ากับบรรยากาศตามไปด้วย ทำให้เกิดรูปแบบเฉพาะที่พบได้เพียงในเกียวโตเท่านั้น

มาดูกันจริงๆ เลยว่าดีไซน์ป้าย/โลโก้ในเกียวโตมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง!

ป้ายที่ผ่านมาตรฐานสุดเข้มนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร? เรามาดูข้อแตกต่างของตัวอย่างดีไซน์ที่เห็นได้ตามทั่วไปกับในเกียวโตกัน! มีตั้งแต่บริษัทยอดนิยมที่กระจายตัวอยู่ทั่วญี่ปุ่นไปจนถึงร้านแฟรนไชส์ชื่อดังที่รู้จักไปทั่วโลกเลยทีเดียวเชียว

ร้านอาหาร

● แมคโดนัลด์

เมื่อพูดถึงแมคโดนัลด์ คนทั่วโลกคงคุ้นเคยกับสัญลักษณ์โลโก้สีเหลืองบนพื้นสีแดงสดใส หากในเกียวโต แม้ว่าตัวโลโก้จะยังเป็นสีเหลืองเช่นเดิม แต่กลับกลมกลืนไปกับทิวทัศน์เมืองจนมองผ่านๆ แล้วแทบดูไม่ออกว่าเป็นแมคโดนัลด์เลยทีเดียว แม้จะเป็นร้านสาขาที่ตั้งป้ายแบบเดียวกับร้านทั่วไปก็จะใช้สีน้ำตาลอ่อนที่ดูจืดชืดเป็นพื้นหลังแทนเพื่อไม่ให้ทำลายทัศนียภาพ

●สตาร์บัคส์

สีประจำสตาร์บัคส์จะเป็นสีขาวและสีเขียว แต่เมื่อดูจากรูปภาพด้านบนจะเห็นว่าตัวป้ายเป็นโทนสีเนื้อไม้ เกิดเป็นดีไซน์แบบเรียบๆ ซึ่งหาดูที่อื่นไม่ได้นอกจากเกียวโต เส้นทางนมัสการของวัดคิโยมิสึ (Kiyomizu) ที่มีร้าน Starbucks Kyoto Nineizaka Yasaka Chaya ตั้งอยู่นั้นเป็นหนึ่งในที่ที่ยังคงกลิ่นอายของสมัยก่อนไว้อย่างเต็มเปี่ยมและมีบ้านไม้สไตล์เกียวโตตั้งเรียงราย ร้านสาขานี้เองถ้ามองเผินๆ ก็จะดูกลมกลืนไปกับทิวทัศน์เมืองจนแทบมองไม่ออกเช่นกันว่าเป็นร้านสตาร์บัคส์

● สุคิยะ (Sukiya)

"สุคิยะ" ร้านข้าวหน้าเนื้อแฟรนไชส์รายใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีอยู่กว่า 2,000 สาขาทั่วประเทศ (ข้อมูลปี 2019) เมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ขยายสาขาไปถึงประเทศจีน ไทย บราซิล ฯลฯ ดีไซน์ปกติจะเป็นตัวหนังสือสีขาวและสีเหลืองเขียนบนพื้นหลังสีแดง แต่ในเกียวโตส่วนที่เป็นสีแดงและสีเหลืองจะลดความสดใสลงเป็นโทนสีน้ำตาล - น้ำตาลอมเหลืองซึ่งดูสงบสบายตากว่า

ร้านสะดวกซื้อ

●เซเว่น อีเลฟเว่น

เซเว่น อีเลฟเว่นเป็นร้านสะดวกซื้อแฟรนไชส์รายใหญ่ที่สุดที่มีสาขาอยู่กว่า 20,000 แห่งทั่วญี่ปุ่น และอีกกว่า 60,000 สาขาทั่วโลก โดยทั่วไปเราจะคุ้นเคยกับโลโก้และเส้นสีเขียว ส้ม แดง แต่ในเกียวโต บางสาขาจะเปลี่ยนโทนสีที่ฉูดฉาดนั้นเป็นดีไซน์แบบเรียบง่ายที่ใช้เพียงสีน้ำตาลและขาว ในขณะที่บางสาขาจะยังคงใช้สีแบบเดิม แต่เปลี่ยนพื้นหลังสีขาวให้โปร่งใสแทนเพื่อลดความโดดเด่นและเข้ากับผนังด้านนอกอาคารที่เป็นไม้ระแนง

●FamilyMart

FamilyMart ก็เป็นอีกหนึ่งร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ที่ขยายสาขาไปกว่า 17,000 สาขาในญี่ปุ่นและกว่า 8,000 สาขาในต่างประเทศโดยเฉพาะในเอเชีย โดยทั่วไปตัวป้ายจะใช้สีเขียวอมเหลืองคู่กับสีขาวและวาดโลโก้ด้วยสีฟ้า ส่วนในเกียวโตจะปรับสัดส่วนให้ป้ายเป็นสีขาวประมาณ 70-90% เพื่อลดความสะดุดตาลงไม่ให้ไปรบกวนทัศนียภาพโดยรอบ

●LAWSON

อีกหนึ่งร้านสะดวกซื้อเครือใหญ่ที่มีร้านอยู่กว่า 15,000 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น แล้วเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้ขยายสาขาไปถึงประเทศฟิลิปปินส์ ไทย และอินโดนีเซียด้วย ตัวป้ายปกติจะใช้สีฟ้าและสีชมพูคู่กับตัวอักษรสีขาว แต่ LAWSON ในเกียวโตจะลดสัดส่วนของสีฟ้า ใช้สีขาวเป็นหลัก แล้วเขียนตัวอักษรด้วยสีฟ้าแทน หรือบางทีก็เปลี่ยนสีดำให้โทนโดยรวมดูราบเรียบแล้วใช้สีน้ำเงินเสริม ในพื้นที่ที่มีหลังคามุงกระเบื้องเรียงรายอยู่ก็อาจมีการพลิกแพลงต่างๆ เสริมด้วยเช่นการเพิ่มความเป็นญี่ปุ่นเข้าไป

อื่นๆ

●ยูนิโคล่

แบรนด์เครื่องแต่งกายที่มีสาขาอยู่กว่า 2,000 แห่งทั่วโลกอย่างยูนิโคล่ก็มีโลโก้สีสันสดใสเป็นพื้นสีแดงกับตัวอักษรสีขาว แต่สำหรับบางสาขาในเกียวโตจะดีไซน์ให้โดดเด่นลดลงเล็กน้อยโดยการตีกรอบสีขาวให้โลโก้สีแดงดังเช่นรูปภาพด้านบน ยิ่งไปกว่านั้นยังเลือกใช้สีตัวอาคารให้ดูชิคๆ เรียบๆ เพื่อให้กลมกลืนกับบริเวณโดยรอบด้วย

●มัทสึโมโตะ คิโยชิ (マツモトキヨシ)

มัทสึโมโตะ คิโยชิ เป็นเครือร้านขายยาที่มีลูกค้าทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติเข้าๆ ออกๆ ไม่ขาดสาย ป้ายโดยทั่วไปจะใช้สีน้ำเงินเป็นพื้นหลังแล้วเขียนอักษรด้วยสีเหลืองและสีแดงให้ดูโดดเด่นสะดุดตา แต่ถ้าเป็นในเกียวโต แม้จะเป็นสาขาที่ตั้งอยู่กลางย่านการค้าก็จะใช้เป็นป้ายสีเทาเรียบๆ แทน

●au

ปกติแล้วป้ายของผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่อย่าง au จะโดดเด่นมากแม้จะมองจากที่ไกลๆ โดยใช้ตัวอักษรสีขาวบนพื้นหลังสีส้มฉูดฉาด แต่ในเกียวโตตัวป้ายจะสลับสีกัน คือใช้เป็นตัวอักษรสีส้มบนพื้นขาวแทน กลายเป็นจืดชืดไปเลยทีเดียว

●Times

Times เป็นผู้ให้บริการเช่ารถและลานจอดรถรายชั่วโมงรายใหญ่ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยทั่วไปจะมีป้ายจะเป็นสีเหลืองเด่นสะดุดตา แต่ในเกียวโตจะกลายเป็นแบบเรียบง่ายมากๆ ใช้เพียงสีขาวและสีดำเท่านั้น

จะเตือนอะไรก็ต้องเตือนอย่างเกียวโต! ป้ายตามแหล่งท่องเที่ยวสุดเก๋

ป้ายเตือนเรื่องมารยาทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น "ห้ามเดินกลางถนน" "ห้ามสูบบุหรี่บนท้องถนน" "ห้ามแตะเนื้อต้องตัวไมโกะ" ฯลฯ ต่างก็ทำออกมาได้เกียวโต๊เกียวโตสุดๆ ด้วยสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่มักจะสร้างจากไม้ ป้ายเตือนเหล่านี้จึงปรับมาใช้ไม้ด้วยเช่นกันเพื่อให้เกิดความกลมกลืนกับทิวทัศน์ภายในเมือง

เมืองเกียวโตถูกสร้างขึ้นภายใต้กฎข้อบังคับมากมาย ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อรักษาอารยธรรมและสภาพตึกรามบ้านช่องสวยๆ ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณ เรื่องเหล่านี้อาจไม่ใช่สิ่งที่เราจะสังเกตเห็นด้วยตัวเองได้ง่ายๆ แต่หากรู้ติดตัวไว้สักนิดก็คงทำให้การท่องเที่ยวเกียวโตสนุกขึ้นมาได้อีกไม่น้อยเลย

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

มนต์เสน่ห์คันไซ

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Chisa
Chisa Nishimura
เป็นคนเกียวโต ชอบดูหนัง อ่านหนังสือ ไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะ และการวิ่ง
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร