แนะนำ! 11 งานเทศกาลประจำฤดูสุดอลังการใน "คิวชู" สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ถ้าได้มาต้องห้ามพลาด!

ภูมิภาคคิวชูเป็นภูมิภาคที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น มีจุดเด่นคืออาหารรสชาติถูกปากคนไทย ธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ และประวัติศาสตร์เก่าแก่ที่ย้อนไปได้ถึงตั้งแต่ก่อนคริสตศตวรรษที่ 3 หนึ่งในไฮไลท์ที่จะพลาดไม่ได้เลยหากคุณได้มีโอกาสเดินทางมายังภูมิภาคนี้คืองานเทศกาลประจำท้องถิ่นที่คุณจะได้สัมผัสบรรยากาศแบบพื้นเมืองคิวชูแท้ๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่น ในบทความนี้เราได้รวบรวมงานเทศกาลในภูมิภาคคิวชูแยกตามแต่ละฤดู ทั้งงานเทศกาลฤดูร้อนหรือฤดูใบไม้ร่วงมาให้คุณในที่เดียวแล้ว หากคุณมาได้จังหวะพอดีกับเทศกาลใดเทศกาลหนึ่งนี้ บอกเลยว่าห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง!

* บทความนี้เขียนโดยได้รับความร่วมมือจาก Kyushu Tourism Promotion Organization

ทำความรู้จักกับภูมิภาคคิวชู

"คิวชู" (九州) เป็นหนึ่งในภูมิภาคของญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ความพิเศษของภูมิภาคนี้ที่ต่างจากที่อื่นๆ อย่างภูมิภาคคันโต (อยู่ทางตะวันออกของญี่ปุ่นเป็นที่ตั้งกรุงโตเกียว) หรือภูมิภาคคันไซ (อยู่ฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น มีเมืองสำคัญ เช่น โอซาก้า หรือเกียวโต) คือการที่คิวชูมีประวัติศาสตร์การเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศมาเป็นเวลาช้านานกว่าภูมิภาคอื่นๆ ตัวอย่างเช่นเกาะเดจิมะ (出島) ในจังหวัดนากาซากิ ซึ่งเป็นที่เดียวในญี่ปุ่นที่มีหลักฐานยืนยันการค้าขายกับเนเธอร์แลนด์ในยุคเอโดะ (ค.ศ. 1603 - 1868) จึงทำให้คิวชูมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประเพณีดีแบบฉบับของตัวเองที่จะให้ความรู้สึกที่แตกต่างจากเกาะหลักของญี่ปุ่นอย่างฮอนชูอย่างแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ ภูมิภาคคิวชูจึงมีเสน่ห์ตรงที่นอกจากคุณจะได้สัมผัสกับบรรยากาศความเจริญและทันสมัยของเมืองหลักอย่างฟุกุโอกะ หรือคุมาโมโตะแล้ว คุณยังจะพบว่าภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยสถานที่ที่คุณจะได้ชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์และประเพณีวัฒนธรรมของทั้งท้องถิ่นคิวชูและของประเทศญี่ปุ่นด้วย เรียกได้ว่าหากคุณเคยไปเที่ยวโตเกียว นาโกย่า โอซาก้า หรือเกียวโตมาแล้ว ก็ยังสามารถมาเที่ยวคิวชูได้อย่างไม่รู้สึกซ้ำซากจำเจอย่างแน่นอน

ภูมิภาคคิวชูประกอบไปด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ฟุกุโอกะ (福岡) คุมาโมโตะ (熊本) คาโกชิม่า (鹿児島) โออิตะ (大分) นากาซากิ (長崎) ซากะ (佐賀) และมิยาซากิ (宮崎) และด้วยภูมิประเทศที่อยู่ทางตอนใต้ ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีค่อนข้างอบอุ่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ

ไฮไลท์ของภูมิภาคนี้คงหนีไม่พ้นอาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทเส้นอย่างราเมงหรืออุด้งที่คนในท้องถิ่นภูมิใจเป็นอย่างมาก มีออนเซ็นธรรมชาติที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุที่ดีต่อผิวพรรณและสุขภาพ และธรรมชาติสุดตระกาลตาซึ่งรวมถึงภูเขาไฟที่ยังไม่ดับที่ปล่อยควันพวยพุ่งออกมาเป็นระยะ สร้างทัศนียภาพที่ดูยิ่งใหญ่แปลกตา และด้วยความที่มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวคิวชูได้ทุกฤดูและตลอดทั้งปีนั่นเอง

นอกจากนี้ การเดินทางในภูมิภาคคิวชูก็สะดวกสบาย เพราะมีเส้นทางรถไฟที่ครอบคลุมเกือบทุกพื้นที่ และหากคุณเดินทางมาจากภูมิภาคอื่นของประเทศญี่ปุ่น ก็สามารถเดินทางโดยรถไฟชินคันเซ็นหรือเที่ยวบินภายในประเทศได้อีกด้วย แต่หากคุณต้องการออกนอกเส้นทางรถไฟเพื่อไปเที่ยวชมธรรมชาติให้หนำใจแล้วล่ะก็ บริการเช่ารถก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการเดินทางที่ดีเช่นกัน

แต่นอกจากจุดเด่นเหล่านี้แล้ว ภูมิภาคคิวชูก็ยังเต็มไปด้วยวัฒนธรรมประเพณีในแบบฉบับของตัวเอง แต่ละจังหวัด หรือแม้แต่แต่ละเมืองต่างมีงานเทศกาลที่สื่อถึงค่านิยมและความเชื่อของคนในชุมชนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่จะสัมผัสและเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวคิวชูก็คือการเข้าร่วมงานเทศกาลเหล่านี้ด้วยตนเอง

แน่นอนว่างานเทศกาลแต่ละงานก็จะมีช่วงเวลาการจัดของตัวเองซึ่งอาจเป็นช่วงเวลาเดิมในทุกๆ ปีหรือไม่ก็เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน ดังนั้น เราขอแนะนำให้เช็กข้อมูลเรื่องสถานที่และเวลาของแต่ละเทศกาลตั้งแต่ก่อนเริ่มแพลนทริป จะได้ไม่พลาดไฮไลท์สำคัญในทริปตะลุยคิวชูของคุณนั่นเอง

แนะนำงานเทศกาลในภูมิภาคคิวชู

※รูปภาพและวิดีโอในบทความนี้ถ่ายจากงาน “Kyushu Festival Island 2019”

งานเทศกาลช่วงฤดูร้อน (เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม)

ที่ประเทศญี่ปุ่น ช่วงที่ร้อนสุดของปีคือช่วงตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม โดยเสน่ห์ของงานเทศกาลฤดูร้อนก็คือการที่คุณจะสามารถใส่เสื้อผ้าลำลองสบายๆ หรือเครื่องแต่งกายแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นอย่างยูกาตะ ออกมาชมขบวนแห่สุดตระการตา เกี้ยวขนาดใหญ่หลากหลายรูปแบบ หรือร่วมเต้นไปกับขบวนเต้นรำของคนในท้องถิ่นได้นั่นเอง

เดือนกรกฎาคม: หน้าร้อนในฮากาตะต้องเทศกาลนี้! ชมขบวนประชันเกี้ยวสุดอลังการที่งานเทศกาลฮากาตะกิองยามะกาสะ (Hakata Gion Yamagasa, จังหวัดฟุกุโอกะ)

ช่วงเวลาที่จัด: วันที่ 1 และวันที่ 9-15 กรกฎาคมของทุกปี

เทศกาลแรกที่อยากแนะนำให้คุณได้รู้จักคือเทศกาล “ฮากาตะกิองยามะกาสะ (博多祇園山笠)” ที่ในปี 2016 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) ในฐานะหนึ่งในงานจัดแสดงเกี้ยวและขบวนแห่ทรงคุณค่าโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) พร้อมกับงานเทศกาลอื่นๆ อีก 32 เทศกาลทั่วประเทศญี่ปุ่น

ฮากาตะกิองยามะกาสะเป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าที่ปกปักษ์รักษาศาลเจ้าประจำพื้นที่อย่างศาลเจ้าคุชิดะ (櫛田神社) จุดเริ่มต้นของงานเทศกาลนี้แม้ว่าจะมีหลากหลายความเห็น แต่กล่าวกันว่าเริ่มปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 1241 โดยแรกเริ่มเป็นงานเทศกาลที่มีขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้าสึซาโนะโอโนะมิโคโตะ (素戔嗚尊, เทพเจ้าในเทวตำนานญี่ปุ่น) ต่อมาขบวนแห่เกี้ยวได้ถูกเพิ่มเติมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลเพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อของชาวฮากาตะว่าสามารถช่วยขจัดปัดเป่าภัยพิบัติและภยันตรายได้

เทศกาลนี้กลายเป็นความภาคภูมิใจของคนท้องถิ่นและได้ถูกพัฒนาและปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 770 ปี ปัจจุบันฮากาตะกิองยามะกาสะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งฤดูร้อนของฮากาตะ และถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่ออธิษฐานให้ตัวเมืองปลอดภัยและรอดพ้นจากภัยพิบัติธรรมชาติทั้งปวง

ขบวนเกี้ยวที่จะถูกหามเข้ามาแสดงในงานเทศกาลทั้ง 7 ขบวนจะมีความแตกต่างกันทั้งหมด โดยแต่ละขบวนจะถูกประดับไปด้วยตุ๊กตาจาก "ภูมิปัญญา" ที่สืบทอดกันมาหลายช่วงอายุคนของช่างฝีมือในท้องถิ่นฮากาตะ ทั้งตุ๊กตารูปนายพลญี่ปุ่นโบราณที่ให้ความรู้สึกคักคักมีชีวิตชีวา หรือตุ๊กตารูปนางฟ้าที่ให้ความรู้สึกอ่อนช้อยสวยงาม รวมไปถึงตุ๊กตารูปแบบอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวหลักในการประดับตกแต่งขบวนเกี้ยว นอกจากนี้ บนเกี้ยวแแต่ละตัวยังมี "ชินกะคุ (神額, ป้ายชื่อของแต่ละศาลเจ้าที่เขียนด้วยอักษรญี่ปุ่น)" และเครื่องประดับเลอค่าอีกมากมายที่ทำให้ขบวนแห่เกี้ยวในงานเทศกาลฮากาตะกิองยามะกาสะนี้มีความหรูหราและควรค่าแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง ขบวนเกี้ยวทั้ง 7 ขบวนจะถูกแห่แสดงไปทั่วเมืองในเขตฮากาตะอย่างเทนจิน (天神) นาคาสึ (中洲) กิอง (祇園) หรือฮะโช (呉服町) เป็นต้น

หนึ่งในไฮไลท์คือการประชันความเร็วการหามเกี้ยวของทั้ง 7 พื้นที่ในฮากาตะ ที่แต่ละพื้นที่จะส่งทีมขบวนแห่เรียกว่า "ริว (流)"ลงมาแข่งขันกัน แม้ว่าจะไม่ได้มีการมอบรางวัลอย่างธงหรือโล่ชนะเลิศแก่ทีมที่ทำความเร็วได้ดีที่สุด แต่ผู้ชนะในทั้งการแข่ง “โออิยามะนาราชิ (追い山ならし)” และ“โออิยามะกาสะ (追い山笠)” สองการแข่งขันแห่เกี้ยวหลักในงานเทศกาลจะได้รับเกียรติในการร้องเพลงเฉลิมฉลองประจำท้องถิ่น "ฮากาตะอิไวอุตะ (博多祝い唄)" ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของพื้นที่ที่ชนะ คุณจึงจะได้เห็นภาพการแข่งขันอย่างแข็งขันและเอาจริงเอาจังที่สร้างบรรยากาศสุดคึกคักให้กับงานเทศกาลอย่างแน่นอน

ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม ภายในตัวเมืองฮากาตะจะมีภาพขบวนแห่เกี้ยวออกมาแห่แสดงให้ผู้มาเยือนได้รับชมกัน ส่วนการแข่งขันจับเวลาระหว่างเกี้ยวของแต่ละพื้นที่นั้นจะจัดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกคือ “โออิยามะนาราชิ” ในวันที่ 12 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 15:59 น. ส่วนครั้งที่สองที่ถือเป็นเหมือนไคลแม็กซ์ของงานเทศกาลคือ “โออิยามะกาสะ” ที่จัดขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคมตั้งแต่เวลา 16:59 น.

การแข่งขันครั้งแรกหรือ "โออิยามะนาราชิ" เรียกได้ว่าเป็นการซ้อมใหญ่ก่อนการแข่งขันใหญ่ "โออิยามะกาสะ" ประกอบด้วยการแข่งแห่ทั้งระยะสั้นและระยะไกล โดยการแข่งขันระยะสั้นเรียกว่า "คุชิดะอิริ (櫛田入り)" จะเป็นการแข่งแห่จากบริเวณภายในศาลเจ้าคุชิดะไปยังจุดเริ่มต้นของเส้นทางแข่งแห่ระยะไกลเป็นระยะทาง 112 เมตร ซึ่งการแข่งนี้จะมีในวันแข่งใหญ่เช่นกันจึงถือเป็นการฝึกซ้อมไปในตัว หลังจากทุกขบวนแห่มาถึงจุดเริ่มต้นเส้นทางการแข่งแห่แล้ว ก็จะเริ่มการแข่งแห่ระยะไกลจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงเส้นชัยที่หัวมุมที่นารามาชิคะคุโดะ (奈良町屋町角) รวมระยะทาง 4 กิโลเมตร

วันที่ 13 กรกฎาคมตั้งแต่เวลา 15:30 น. จะมีการจัดแสดงแห่เกี้ยวจากแต่ละกลุ่มผู้เข้าแข่งขันในเส้นทางระหว่างสี่แยกโกะฟุกุมาชิ ถึงย่านเทนจิน ในบริเวณที่ว่าการเมืองฟุกุโอกะ ส่วนในวันที่ 14 กรกฎาคม เกี้ยวของแต่ละพื้นที่จะถูกแห่ไปตามแต่ละตรอกซอกซอยในพื้นที่ของตนให้ผู้คนในท้องถิ่นได้รับชม ถือเป็นโอกาสที่คุณจะได้ค่อยๆ ชื่นชมงานเทศกาล นอกจากนี้ในวันนี้ยังจะมีการซ้อมแห่เกี้ยวสำหรับการแข่งขันใหญ่ “โออิยามะกาสะ” ในวันรุ่งขึ้นอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าเข้าชมไม่แพ้กัน

และสุดท้ายคือไคลแม็กซ์ของงาน การแข่งขันใหญ่ “โออิยามะกาสะ” ในวันที่ 15 กรกฎาคมตั้งแต่เวลา 16:59 น. ที่คุณจะได้ชมการแห่เกี้ยวตามจังหวะกลองเป็นลำดับทั้งระยะสั้น "คุชิดะอิริ" เป็นระยะทาง 112 เมตร และระยะไกล "โออิยามะกาสะ" เป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร จากปากทางศาลเจ้าคุชิดะจนถึงปลายทางที่เมืองสึซาคิมาชิ (須崎町)  และเนื่องจากเป็นการแข่งขันแบบจับเวลาระหว่างแต่ละขบวน ผู้คนของแต่ละพื้นที่จึงทุ่มแรงและกำลังในการหามอย่างเต็มที่ เกิดเป็นบรรยากาศสุดมีเสน่ห์ที่คุณจะไม่รู้สึกเสียใจที่ได้มาชมอย่างแน่นอน

ไม่ว่าจะประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ความอลังการของขบวนแห่เกี้ยวจากแต่ละท้องที่ และภาพความแข็งขันของบรรดาผู้หามเกี้ยว หากคุณได้มาชมเทศกาลนี้จริงๆ สักครั้ง คุณเข้าใจได้ทันทีว่าทำไมงานเทศกาลนี้ถึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก

เดือนกรกฎาคม: ชมขบวนแห่เกี้ยวยักษ์กลางเมืองในงานเทศกาลฮิตะกิอง (Hitagion Matsuri, จังหวัดโออิตะ)

ช่วงเวลาที่จัด:  วันเสาร์-อาทิตย์ หลังวันที่ 20 กรกฎาคมของทุกปี

เทศกาลฮิตะกิอง (日田祇園祭) เป็นงานเทศกาลประจำปีของเขตฮิตะ (日田市) จังหวัดโออิตะ (大分) โดยสิ่งที่คุณจะสะดุดตาเป็นอย่างแรกในงานเทศกาลนี้ คือ เกี้ยวขนาดยักษ์ความสูงกว่า 10 เมตร ที่ถูกหามเข้ามาสู่สายตาผู้ชมโดยเหล่าชายฉกรรจ์หลายสิบชีวิต บนเกี้ยวขนาดใหญ่นี้จะประดับประดาไปด้วยของประดับตกแต่งตามเรื่องราวในละครคาบุกิ (การแสดงดั้งเดิมของญี่ปุ่น) จำนวนมาก ทั้งตุ๊กตารูปคน ปราสาทจำลอง ดอกไม้ประดิษฐ์ รวมไปถึงผ้าม่านถักสีแดงขนาดใหญ่ที่ใช้ประดับด้านหลังของเกี้ยว ซึ่งทอเป็นรูปมนุษย์หรือสัตว์ในตำนานของแต่ละท้องที่ด้วย



 

อีกหนึ่งสิ่งที่สร้างสีสันและความเป็นเอกลักษณ์ให้กับเทศกาลฮิตะกิอง คือ เสียงร้องตะโกนอย่างฮึกเหิมของเหล่าชายฉกรรจ์ที่แบกเกี้ยวเข้ามาสู่สายตาผู้ชม ที่ประสานไปกับเสียงเครื่องดนตรีท้องถิ่นที่เล่นคลอกันไป สร้างบรรยากาศแบบงานเทศกาลที่จะตราตรึงในความทรงจำของผู้มาเยือนไปอีกนาน ยิ่งหากคุณมาชมงานเทศกาลในช่วงเวลากลางคืน แสงไฟจากโคมไฟโบราณที่ประดับประดาอยู่บนเกี้ยวที่ถูกแห่ไปรอบๆ ตัวเมืองจะทำให้บรรยากาศของทั้งงานและเทศกาลและตัวเมืองที่สวยงามอลังการไปอีกแบบ

งานเทศกาลฮิตะกิองนี้เริ่มต้นจัดเป็นครั้งแรกเมื่อประมาณกว่า 300 ปีก่อน ด้วยความเชื่อว่าเป็นการบวงสรวงเทพเจ้าให้ช่วยปกปักรักษาสันติภาพและความสงบสุขของคนในชุมชน ตลอดจนป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดและภัยพิบัติทางน้ำและทางลมต่างๆ เทศกาลนี้ได้รับการถ่ายทอดและถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยอยู่ตลอด ในปัจจุบัน เทศกาลฮิตะกิองจึงเป็นอีกเทศกาลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยองค์กรยูเนสโก

ในทุกๆ ปี งานเทศกาลจะถูกจัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ หลังวันที่ 20 กรกฎาคม ที่เมืองมาเมดะ (豆田地区) และเมืองคุมะ (隈地区) ในเขตฮิตะ จังหวัดโออิตะ นอกจากนี้ ในวันพฤหัสบดีที่เป็น 2 วันก่อนงานจริง เกี้ยวยักษ์ทั้ง 9 ต้นจะถูกนำมาตั้งรวมกัน อวดโฉมให้ผู้ที่ผ่านมาแถวสถานี JR ฮิตะ (JR日田駅) ได้รับชมกันถ้วนหน้า หากคุณมีโอกาสเดินทางมาที่คิวชูช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ฮิตะถือเป็นหนึ่งไฮไลท์ที่คุณไม่ควรพลาดเลยล่ะ

เดือนกรกฎาคม: ชมพีระมิดโคมไฟสูง 7 เมตรที่งานเทศกาลโทบะตะกิอง (Tobatagion Ōyamakasa Gyōji, จังหวัดฟุกุโอกะ)

ช่วงเวลาที่จัด: จัดวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ที่ตรงกับวันเสาร์ที่ 4 ของเดือนกรกฎาคมของทุกปี

เทศกาลโทบะตะกิอง (戸畑祇園大山笠行事) เป็นงานเทศกาลประจำเขตโทบะตะ (戸畑区) จังหวัดฟุกุโอกะที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ความพิเศษของงานเทศกาลนี้ คือ คุณจะได้ชมงานเทศกาลในรูปแบบที่ต่างกันของช่วงกลางวันและกลางคืน โดยในช่วงกลางวัน คุณจะได้พบกับ "โนโบริยามากาสะ (幟山笠)" หรือขบวนแห่ธงโบราณสีขาวและสีแดงรูปแบบต่างๆ จากแต่ละท้องถิ่น ส่วนในช่วงเวลากลางคืนธงบนขบวนจะถูกปลดออก แล้วแทนที่ด้วยโคมทรงสี่เหลี่ยมจำนวน 309 โคมเรียงกัน 12 ชั้นเป็นรูปทรงพีระมิดความสูงกว่า 7 เมตร เรียกว่า “โชชินกาสะ (提灯笠)” แสงจากโคมไฟที่อยู่บนพีระมิดในช่วงเวลากลางคืนจะช่วยให้ตัวขบวนส่องสว่าง ดูโดดเด่นสะกดทุกสายตาของผู้มาเยือน

 

ระหว่างที่ขบวนแห่เข้ามาสู่สายตาผู้ชม คุณจะได้ยินเสียงบรรดาชายฉกรรจ์ที่หามขบวนร้องตะโกนว่า "โยอิโตสะ โยอิโตสะ" ผสานไปกับดนตรีของงานที่เทศกาลที่บรรเลงอยู่เบื้องหลังเพื่อเป็นการกำหนดจังหวะการก้าวเดินของทุกคนให้เท่ากัน

งานเทศกาลนี้เริ่มขึ้นครั้งแรกที่เขตโทบะตะเมื่อประมาณ 210 ปีก่อน ในปี ค.ศ.1802 ได้เกิดโรคระบาดขึ้นในเขตนี้และได้กระจายไปเป็นวงกว้าง ผู้คนในพื้นที่จึงเริ่มสวดขอพรจากเทพเจ้าเพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคร้าย หลังจากนั้น โรคระบาดก็ได้ทุเลาลงและหายไปในที่สุด ในปีต่อมา ผู้คนในพื้นที่จึงได้สร้างขบวนแห่เหล่านี้ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองและแสดงความสำนึกบุญคุณต่อเทพเจ้าที่ช่วยปกปักรักษาชุมชนของพวกเขา

ปัจจุบัน งานเทศกาลโทบะตะกิองได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยยูเนสโก งานจะจัดในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ที่ตรงกับวันเสาร์ที่ 4 ของเดือนกรกฎาคม ในทุกๆ ปี โดยในวันศุกร์จะเป็นงานเทศกาลที่ศาลเจ้าโทบะตะฮาจิมังกู (飛幡八幡宮) ศาลเจ้าสุกาวาระ (菅原神社) และศาลเจ้านากาฮาระฮาจิมังกู (中原八幡宮) ในวันเสาร์ ทุกขบวนเทศกาลจะมารวมตัวกันที่ศาลเจ้าโทบะตะฮาจิมังกูเพื่อทำพิธีและรับพรในช่วงบ่ายตั้งแต่เวลา 13 นาฬิกา ส่วนในช่วงเย็นตั้งแต่ 18 นาฬิกาจะมีไฮไลท์เป็นการแข่งขันระหว่างขบวนเทศกาลจากแต่ละพื้นที่ตรงบริเวณถนนรอบสวนอะโซ (浅生公園) และในวันอาทิตย์ก็จะมีการแห่ขบวนธงในช่วงกลางวันและขบวนโคมในช่วงกลางคืนให้ทุกคนได้รับชมกัน

เดือนกรกฎาคม - เดือนสิงหาคม: ชมขบวนแห่เทพเจ้ามังกรสุดอลังการที่เทศกาลโอมุตะไดจะยามะ (Ōmuta Daijayama Matsuri, จังหวัดฟุกุโอกะ)

ช่วงเวลาที่จัด: จัดเป็นเวลาสองวันระหว่างช่วงตั้งแต่วันทะเลญี่ปุ่น (วันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม) ไปจนถึงเดือนสิงหาคม กำหนดเวลาขึ้นอยู่กับแต่ละปี

ไฮไลท์สำคัญของเทศกาลประจำเขตโอมุตะ (大牟田市) จังหวัดฟุกุโอกะนี้ประกอบไปด้วยสองอย่าง อย่างแรกคือขบวนแห่เทพเจ้ามังกร "ไดจะยามะ (大蛇山)" สุดอลังการจากแต่ละพื้นที่ภายในเขตโอมุตะ ขบวนแห่ความยาวกว่า 10 เมตร แต่ละขบวนจะมาเดินอวดโฉมไปทั่วเมืองพร้อมพ่นไฟออกจากปาก แสดงถึงความทรงพลังของเทพเจ้ามังกรให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวได้รับชม  ตัวโครงของขบวนรถเป็นโครงไม้ที่ประดับด้วยวัสดุท้องถิ่นธรรมชาติอย่าง วะชิ (和紙, กระดาษสาแบบญี่ปุ่นโบราณ) ไม้ไผ่ หรือฟาง ประกอบกันขึ้นเป็นส่วนหัว ลำตัว และหางมังกร 
 

ไฮไลท์อีกอย่างหนึ่งของงานเทศกาลนี้ คือ ขบวนเต้นรำประกอบเพลงประจำงานเทศกาลอย่างเพลง "ทังโคบุชิ (炭坑節)" และเพลง "ไดจะยามะบายาชิ (大蛇山ばやし)" ที่ผู้คนจำนวนมากทั้งจากในขบวนและผู้ชมจะร่วมกันต่อแถวและเต้นรำเรียงกันไปเป็นระยะทางถึง 2 กิโลเมตร เรียกได้ว่าเป็นสีสันแห่งหน้าร้อนในเมืองโอมุตะเลยก็ว่าได้

งานเทศกาลโอมุตะไดจะยามะ (おおむた「大蛇山」祭り) ถือเป็นอีเวนท์ประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเขตโอมุตะ โดยถือเป็นงานเทศกาลที่มีประวัติความเป็นมายาวนานและสามารถถ่ายทอดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมของชาวเมืองได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันงานเทศกาลโอมุตะไดจะยามะจะจัดขึ้นเป็นเวลาสองวัน ในช่วงก่อนหรือหลังวันทะเลญี่ปุ่น (วันจันทร์ที่ 3 ของเดือนกรกฎาคม) ไปจนถึงต้นเดือนสิงหาคม โดยวันที่จัดจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี เราจึงแนะนำให้คุณเช็กวันที่บนเว็บไซต์ของงานเทศกาลก่อนเริ่มวางแพลนทริปของคุณ!

เดือนสิงหาคม: ชม ร้อง เต้น และหัวเราะไปกับพาเหรดสุดกวนในงานเทศกาลฤดูร้อนฮิวกะฮย็อตโตะโกะ (Hyūga Hyottoko Natsu Matsuri, จังหวัดมิยาซากิ)

ช่วงเวลาที่จัด: งานเทศกาลหลักจัดในวันเสาร์ที่ 1 ของเดือนสิงหาคมทุกปี โดยงานเทศกาลจะเริ่มตั้งแต่คืนก่อนหน้างานเทศกาลหลัก

เทศกาลฤดูร้อนฮิวกะฮย็อตโตะโกะ (日向ひょっとこ夏祭り) เป็นงานเทศกาลประจำเขตฮิวกะ (日向市) จังหวัดมิยาซากิซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของภูมิภาคคิวชู เทศกาลนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจไม่ว่าจะมาเป็นกลุ่มหรือมาคนเดียวได้มาร่วมร้อง เล่น เต้นรำด้วยท่าทางตลกๆ บนทางหรือเวทีการแสดงที่กำหนดไว้ ตามเพลงประจำเทศกาลจังหวะคึกคัก ที่มักเรียกเสียงหัวเราะจากผู้คนในบริเวณได้อยู่เสมอ

ผู้ที่เข้าร่วมส่วนมากจะสวมหน้ากากเป็นคิสึเนะ (หมาจิ้งจอก) โอคาเมะ (หน้ากากผู้หญิง) หรือฮย็อตโตะโกะ (หน้ากากผู้ชาย) ตัวละครจากนิทานพื้นบ้านที่เล่าถึงโอคาเมะและฮย็อตโตะโกะ สองสามีภรรยาที่อยู่กินกันที่หมู่บ้านนากาตะ (永田) ทั้งคู่อยู่กินกันมาระยะหนึ่งแต่ยังไม่มีลูก ทุกเช้าจึงทำอาหารไปถวายที่ศาลเจ้าพร้อมขอพรให้ตนมีลูก วันหนึ่ง มีนักบวชหิวโซที่เดินทางมาไกลมาพบเข้าจึงกินอาหารที่ทั้งสองนำมาถวายเข้าไป ด้วยความโมโห เทพผู้ดูแลศาลเจ้าจึงได้แปลงกายเป็นสุนัขจิ้งจอกเพื่อออกตามหานักบวช ระหว่างทางสุนัขจิ้งจอกได้พบกับโอคาเมะและเกิดตกหลุมรัก จึงได้ลักพาตัว แต่ฮย็อตโตะโกะทราบเรื่องจึงได้นำคนในหมู่บ้านออกตามหา


 

ฉากและท่าเต้นในงานเทศกาลฮิวกะฮย็อตโตะโกะก็ได้จำลองมาจากฉากการออกตามหาสุนัขจิ้งจอกและโอคาเมะของฮย็อตโตะโกะและคนในหมู่บ้านนั่นเอง โดยในคืนวันศุกร์ก่อนหน้างานหลักก็จะมีการแข่งประลองความสามารถและท่าเต้นรับ-ส่งของแต่ละตัวละคร ส่วนในวันเสาร์ก็จะมีการแข่งประลองการเต้นเป็นทีมเวิร์คแบบรวมทุกตัวละครระหว่างแต่ละทีมที่เข้าร่วมอีกด้วย เรียกได้ว่าเทศกาลฮิวกะฮย็อตโตะโกะนี้เป็นเทศกาลที่รวมคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกันได้จริงๆ

ปัจจุบันงานเทศกาลฤดูร้อนฮิวกะฮย็อตโตะโกะจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 ของเดือนสิงหาคมของทุกปี โดยการเต้นและการแข่งขันจะเริ่มตั้งแต่คืนวันศุกร์ก่อนหน้างาน หากคุณได้มีโอกาสมาคิวชูในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ขอแนะนำว่าห้ามพลาดเทศกาลนี้เด็ดขาด เพราะคุณจะต้องเผลอหลุดหัวเราะไปกับท่าเต้นสุดแปลกและจังหวะเพลงที่เสริมบรรยากาศของผู้แสดงในงานเทศกาลฤดูร้อนนี้แน่นอน!

เดือนสิงหาคม: ร่วมเต้นระบำไปกับชาวคุมาโมโตะในเทศกาลฮิโนะคุนิ (Hinokuni Matsuri, จังหวัดคุมาโมโตะ)

ช่วงเวลาที่จัด: จัดวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ที่ตรงกับวันเสาร์ที่ 1 ของเดือนสิงหาคมของทุกปี
 

หากถามชาวคุมาโมโตะว่าถ้าพูดถึงหน้าร้อนจะนึกถึงอะไร เชื่อได้เลยว่า "เทศกาลฮิโนะคุนิ (火の国まつり)" จะเป็นคำตอบแรกๆ ที่คุณจะได้รับ เทศกาลนี้ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลใหญ่ประจำเมืองคุมาโมโตะที่จัดมากว่า 40 ปี งานเทศกาลจัดขึ้นทั้งหมด 3 วัน โดยกำหนดการจะเป็นวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ที่ตรงกับวันเสาร์ที่ 1 ของเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตามไฮไลท์ของงานเทศกาลนี้ที่ทุกคนรอคอยคือวันที่ 2 ซึ่งจะเป็นวันเสาร์ที่มีการเต้นระบำหมู่ขนาดใหญ่บนถนนสายหลักใจกลางเมืองคุมาโมโตะนั่นเอง


 

"โอโมเตะยันโซโอโดริ (おてもやん総おどり)" หรือ การเต้นระบำหมู่ขนาดใหญ่ประกอบเพลงพื้นบ้านจังหวะสนุกสนานอย่าง "โอโมเตะยัน (おてもやん)" ถือเป็นไฮไลท์หลักของงานเทศกาลนี้ที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาวพื้นเมืองหรือนักท่องเที่ยว ชาวญี่ปุ่นหรือชาวต่างชาติ ก็สามารถเข้าร่วมสนุกสนานได้ โดยทุกปีจะมีกลุ่มและองค์กรต่างๆ เข้าร่วมกว่า 60 กลุ่ม และจำนวนคนที่เข้าร่วมขบวนเต้นก็มีมากกว่า 5,000 คน! ลองจินตนาการภาพคนมากขนาดนี้เต้นอย่างพร้อมเพรียงกันไปตามจังหวะอันครึกครื้นบนถนนสายหลักกลางเมืองดูสิ แค่คิดก็สนุกแล้วใช่ไหมล่ะ?

งานเทศกาลช่วงฤดูใบไม้ร่วง (เดือนกันยายน - พฤศจิกายน)

ฤดูใบไม้ร่วงในญี่ปุ่นเป็นฤดูถัดจากจากฤดูร้อน โดยจะเริ่มในช่วงเดือนกันยายนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ถือเป็นช่วงที่อากาศไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป ถือเป็นไฮไลท์ของฤดูนี้ที่ผู้คนจะออกมาชมงานเทศกาลในช่วงที่อากาศดีที่สุดของปี ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ เทศกาลในคิวชูก็มีทั้งขบวนพาเหรดเต้นรำ ขบวนยาตราทัพของเหล่าทหารโบราณ หรือขบวนแห่แปลกตาหลากหลายรูปแบบมาอวดโฉมให้ได้รับชมกัน

เดือนตุลาคม: ชมขบวนเต้นสุดเหวี่ยงแบบลืมเหนื่อยในงานเทศกาล YOSAKOI ซาเซะโบะ (YOSAKOI Sasebo Matsuri, จังหวัดนากาซากิ)

ช่วงเวลาที่จัด: จัดวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ในช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคม กำหนดวันขึ้นอยู่กับแต่ละปี

"เทศกาล YOSAKOI ซาเซะโบะ (YOSAKOIさせぼ祭り)" เป็นเทศกาลประจำเขตซาเซะโบะ (佐世保市) จังหวัดนางาซากิที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ไฮไลท์ของงานเทศกาลนี้ คือ ขบวนเต้นประกอบจังหวะที่เต้นแบบสุดเหวี่ยงอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยตลอดเวลาหลายนาที ที่สามารถสร้างความประทับใจให้ผู้มาเยือนได้อยู่เสมอ ผู้เข้าร่วมเต้นนี้ไม่ใช่เพียงแค่หนุ่มสาว แต่ยังมีคนจากหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ ไปจนถึงผู้สูงอายุเลยทีเดียว เรียกได้ว่าแค่ใจอยากร่วมก็เข้าร่วมได้แล้ว


 

ในช่วงเทศกาล ภายในเขตซะเซะโบะจะกลายสภาพเป็นเหมือนลานแสดงขนาดใหญ่ที่ประกอบไปด้วยจุดแสดงกว่า 13 จุดย่อยและ 1 จุดหลักที่กระจายอยู่ทั่วเมือง ทุกปีรวมทุกจุดแสดงจะมีผู้เข้าร่วมงานเทศกาลกว่า 170 ทีม ทำให้คุณสามารถเพลิดเพลินท่าเต้นแบบต่างๆ ของแต่ละกลุ่มได้ตลอด 3 วัน งานจะจัดในวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ในช่วงครึ่งหลังของเดือนตุลาคมทุกปี โดยกำหนดการและวันที่จะขึ้นอยู่กับแต่ละปี จึงขอแนะนำให้คุณตรวจสอบช่วงเวลาการจัดงานที่เว็บไซต์ของงานเทศกาลก่อนเริ่มทำการแพลนทริปของคุณ

เดือนตุลาคม: ชมขบวนเต้นรำพร้อมเครื่องกระเบื้องพื้นเมืองเข้าจังหวะในเทศกาลอะริตะซาระยามะมัตสึริ  (Arita Sarayama Matsuri, จังหวัดซากะ)

ช่วงเวลาที่จัด: วันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนตุลาคมของทุกปี

เมืองอะริตะ (有田町) จังหวัดซากะ มีชื่อเสียงโดดเด่นในเรื่องการผลิตเครื่องกระเบื้อง ถึงขนาดมีคำศัพท์ที่ใช้เรียกเครื่องกระเบื้องที่ผลิตด้วยกรรมวิธีของตนว่า "อะริตะยากิ (有田焼)" แน่นอนว่างานเทศกาลท้องถิ่นก็ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่จะถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นเมืองไปสู่คนรุ่นใหม่ รวมถึงนักเที่ยวจากต่างแดน นั่นเป็นเหตุผลให้ที่เทศกาลประจำถิ่นอย่างเทศกาลอะริตะซาระยามะมัตสึริ (有田皿山まつり) คุณจะได้พบกับขบวนเต้นรำที่ไม่ใช่ขบวนเต้นรำเหมือนงานเทศกาลทั่วไป เพราะขบวนต้นรำของที่นี่ ผู้เข้าร่วมทุกคนจะถือ "จานกระเบื้องอะริตะยากิ" ขนาดเท่าฝ่ามืออยู่ที่มือทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 2 แผ่น พร้อมเคาะเป็นจังหวะประกอบการเต้นอย่างอ่อนช้อย


 

ผู้เข้าร่วมขบวนเต้นรำของที่นี่ประกอบไปด้วยผู้คนจากทุกเพศทุกวัย และมักจะมาร่วมเต้นรำไปทั่วเมืองในนามกลุ่มต่างๆ นอกจากขบวนเต้นรำที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์ของงานเทศกาลอะริตะซาระยามะมัตสึริที่หากมาถึงนี่แล้วจะพลาดไม่ได้เลย คือ การแสดงตี "กลองเครื่องกระเบื้อง" ที่สามารถหาดูได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น!


งานเทศกาลอะริตะซาระยามะมัตสึริจัดขึ้นที่เมืองอะริตะ จังหวัดซากะ โดยลานเทศกาลจะอยู่ที่หน้าสถานีอะริตะ (有田駅) จึงสะดวกสบายต่อการเดินทางมา งานจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนตุลาคมของทุกปี โดยคุณสามารถตรวจสอบวันที่และกำหนดการของงานเทศกาลได้ที่หน้าเว็บไซต์ของเมืองอะริตะ บอกเลยว่าคุณจะไม่เสียใจที่ได้มาชมเทศกาลนี้สักครั้ง!

 เดือนตุลาคม: ชมขบวนทหารยาตราทัพพร้อมเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองคาโกะชิมะในงานเทศกาลเมียวเอนจิไมริ  (Myōenji Mairi, จังหวัดคาโกชิมะ)

ช่วงเวลาที่จัด: จัดวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 4 ของเดือนตุลาคมของทุกปี

งานเทศกาลเมียวเอนจิไมริ (妙円寺詣り) เป็นงานเทศกาลที่เกิดจากธรรมเนียมการยาตราทัพไปยังวัดเมียวเอนจิ (妙円寺) รวมระยะไป-กลับกว่า 40 กิโลเมตรของเหล่าทหารในเมืองคาโกชิมะ เพื่อไปสักการะและรำลึกถึงคุณความดีของแม่ทัพชิมัตซึ โยชิฮิโระ (島津 義弘) ทหารคนสำคัญในประวัติศาสตร์ ผู้ตีฝ่าวงล้อมข้าศึกกลับมายังเมืองคาโกชิมะในสมรภูมิเซกิกะฮาระในช่วงคริสตศักราช 1600 


 

ในงานเทศกาลนี้ คุณจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับขบวนทหารในชุดเกราะเต็มยศแบบดั้งเดิมจากแต่ละพื้นที่ในจังหวัด นอกจากนี้ยังมีการแสดงโชว์ยิงปืนในกระบวนทัพต่างๆ จากทหารปืนจากเขตฮิโอกิ (日置市) จังหวัดคาโกชิมะที่จะทำให้คุณรู้สึกราวกับว่าได้ย้อนกลับไปเห็นบรรยากาศยุคโบราณของญี่ปุ่นจริงๆ ตลอด 2 วันของเทศกาลนี้

นอกจากขบวนยาตราทัพของเหล่าทหารกล้าแล้ว ภายในเทศกาลคุณยังจะได้พบกับการแสดงศิลปะท้องถิ่น สินค้าที่ระลึกนานาชนิด และคุณยังสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานเทศกาลนี้ได้ด้วย เช่น เข้าร่วมการแข่งขันเดินระยะไกลจากตัวเมืองคาโกชิมะเป็นระยะทาง 10 หรือ 20 กิโลเมตรได้อีกด้วย งานเทศกาลเมียวเอนจิไมริจะจัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 4 ของเดือนตุลาคมของทุกปี ถือเป็นช่วงที่อากาศกำลังดีสำหรับออกมาชมงานเทศกาลเชียวล่ะ!

เดือนตุลาคม: ชมขบวนเต้นรำประกอบเพลงพื้นบ้านโอกินาว่า พร้อมสัมผัสบรรยากาศสมัยราชวงศ์ริวคิวที่งานเทศกาลโยมิตัน (Yomitan Matsuri, จังหวัดโอกินาว่า)

ช่วงเวลาที่จัด: วันเสาร์ - อาทิตย์ที่ 4 ของเดือนตุลาคมของทุกปี

ในอดีต เกาะโอกินาว่าไม่ได้เป็นของญี่ปุ่น แต่เป็นส่วนหนึ่งของ "ราชอาณาจักรริวคิว" งานเทศกาลโยมิตัน (読谷まつり)” นี้ถือเป็นงานเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของหมู่บ้านโยมิตันในเกาะโอกินาว่า โดยไฮไลท์ของงานเทศกาลนี้ คือ ขบวนเต้นรำและการแสดงประกอบเพลงท้องถิ่นริวคิวโบราณ มีนักเต้นที่สืบเชื้อสายชนเผ่าริวคิวเข้าร่วมกว่า 300 คน ขบวนเต้นรำและการแสดงนี้มีขึ้นเพื่อสรรเสริญ "อาคาอินโกะ (赤犬子)" บุคคลในตำนานท้องถิ่นโอกินาว่าผู้ถูกกล่าวขานว่าเป็นบิดาแห่งดนตรีและบทเพลงที่บรรเลงด้วย "ซันชิน (三線)" เครื่องดนตรีสามสายประจำท้องถิ่นของโอกินาว่า ที่ขบวนเต้นรำนี้ คุณจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวโอกินาว่าผ่านบทเพลงจากเครื่องดนตรีโบราณที่ดังกังวาลไปทั่วหมู่บ้านตลอดช่วงงานเทศกาล


 

นอกจากขบวนเต้นรำของเหล่าผู้คนในท้องถิ่นแล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์ของงานเทศกาลนี้ที่ห้ามพลาดก็คือ "ชินโคเซ็น (進貢船)" การแสดงละครพื้นเมืองที่เล่าถึงเรื่องราวการเดินทางของไทคิ (泰期) ผู้ซึ่งชาวโอกินาว่านับถือเป็นเทพเจ้าแห่งการพาณิชย์ ที่ได้ล่องเรือไปเชื่อมสัมพันธ์ทางการค้าในรูปแบบบรรณาการกับจีนเป็นครั้งแรก ที่นี่ คุณจะได้ชมเรือจำลองขนาดใหญ่และการแสดงแสงสีเสียงในแบบที่คุณจะไม่รู้สึกเสียดายที่ได้มางานเทศกาลโยมิตันนี้แน่นอน

งานเทศกาลโยมิตันจะจัดขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 4 ของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นสองวันดีๆ ที่คุณจะได้มาสัมผัสบรรยากาศของชาวโอกินาว่าในสมัยราชวงศ์ริวคิวราวกับว่าคุณได้ย้อนกลับไปในยุคนั้นจริงๆ หากคุณมาโอกาสได้เดินทางมายังโอกินาว่าในช่วงที่ตรงกับงานเทศกาลนี้ บอกได้เลยว่า งานเทศกาลนี้เป็นไฮไลท์ที่คุณจะพลาดไม่ได้จริงๆ


 

เดือนพฤศจิกายน: ชมขบวนแห่เทพข้ามศาลเจ้าและเหล่าสรรพสัตว์ในตำนานญี่ปุ่นที่งานเทศกาลยัตสึชิโระเมียวเคน (Yatsushiromyōken Matsuri, จังหวัดคุมาโมโตะ)

ช่วงเวลาที่จัด: วันที่ 23 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี

เทศกาลยัตสึชิโระเมียวเคน (八代妙見祭) เป็นงานเทศกาลประจำพื้นที่ยัตสึชิโระ (八代) และพื้นที่มินาคิตะ (水俣) ของจังหวัดคุมาโมโตะ ในช่วงเช้า อีเวนท์หลักภายในงานเทศกาล คือ ขบวนแห่เทพข้ามศาลเจ้าที่จะออกจากศาลเจ้าชิโอะยะฮาจิมันกู (塩屋八幡宮) ในเวลา 7:30 น. แล้วเคลื่อนขบวนไปยังศาลเจ้ายัตสึชิโระ (八代神社) รวมระยะทางทั้งสิ้น 6 กิโลเมตร ภายในขบวนประกอบด้วยผู้เข้าร่วมขบวนกว่า 1,700 คน และการแสดงจากขบวนแห่หรือกลุ่มต่างๆ กว่า 40 ชุด

ในช่วงบ่าย ขบวนทั้งหมดจะถูกนำมาจัดแสดงที่ริมแม่น้ำโทซากิคาวาระ (砥崎河原) และจะมีการแสดงต่างๆ ที่ถูกจัดเตรียมไว้ให้ชม โดยไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้เลย คือ การแสดงวิ่งไล่ม้าไปตามลำน้ำ และการแสดงเชิด "ชิชิ (獅子)" สิงโตประจำศาลเจ้า และ "คิดะ (亀蛇)" สัตว์ในตำนานที่มีส่วนลำตัวเป็นเต่า แต่ส่วนหัวและหางเหมือนงู การแสดงทั้งหมดนี้จะมีการจัดเตรียมที่นั่งชมไว้ทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำสำหรับเหล่าผู้มาชมงานเทศกาล ทำให้บรรยากาศคึกคักเป็นพิเศษ

งานเทศกาลยัตสึชิโระเมียวเคนจะจัดขึ้นในวันที่ 23 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี ถือเป็นอีกหนึ่งงานเทศกาลใหญ่ของจังหวัดคุมาโมโตะที่เกิดขึ้นจากความร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง เป็นเทศกาลที่เราอยากแนะนำให้คุณได้ไปสัมผัสดูสักครั้ง!

เดือนพฤศจิกายน: ชมการแข่งกลิ้งกองฟางขนาดยักษ์ในงานเทศกาลทามะนะโอดะวะระ (Tamana Odawara Matsuri, จังหวัดคุมาโมโตะ)

ช่วงเวลาที่จัด: วันที่ 23 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี

งานเทศกาลทามะนะโอดะวะระ (玉名大俵まつり) เป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นเพื่อแสดงความขอบคุณต่อผลผลิตพืชพรรณธัญญาหารและความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เขตทามะนะ (玉名市) จังหวัดคุมาโมโตะ และเพื่อขอพรให้การเพาะปลูกในฤดูการถัดไปประสบความสำเร็จ

เทศกาลนี้ถือเป็นเทศกาลประจำฤดูใบไม้ร่วงของเขต มีไฮไลท์เป็นการแข่งกลิ้งกองฟางขนาดยักษ์เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.5 เมตร มีความยาว 4 เมตร และน้ำหนักกว่า 1 ตัน นอกจากผู้ชมจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับขนาดของกองฟางแต่ละกองแล้ว การแข่งขันยังชวนให้ตกตะลึงไปกับความแข็งแรงของเหล่าผู้เข้าแข่งขันและความเร็วของกองฟางแต่ละกองที่ถูกกลิ้งอีกด้วย

นอกจากการแข่งกลิ้งฟางแล้ว ที่งานเทศกาลยังมีอาหารท้องถิ่นนานาชนิด ทำให้ทานกันแบบสดๆ มาวางจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นได้ลิ้มลอง หากคุณได้มีโอกาสมาคิวชูในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน เทศกาลทามะนะโอดะวะระถือเป็นอีกหนึ่งเทศกาลท้องถิ่นที่คุณไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

งานเทศกาลนอกเหนือจากเทศกาลฤดูร้อนและเทศกาลฤดูใบไม้ร่วง/งานเทศกาลที่จัดหลายช่วงในหนึ่งปี

นอกจากเทศกาลในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงแล้ว ในคิวชูยังมีอีกหลายงานเทศกาลที่จัดในช่วงอื่นๆ ของปี หรือจัดหลายช่วงตลอดหนึ่งปี ทำให้คุณสามารถเลือกแพลนทริปให้ตรงกับวันงานเทศกาลได้ง่ายขึ้นอีก จะบอกว่าเทศกาลเหล่านี้ก็มีเอกลักษณ์และน่าชมไม่แพ้เทศกาลฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงเลยล่ะ!

ชมละครสุดตระการตาจากเทวตำนานญี่ปุ่นที่งานเทศกาลนากาเอะอิวาโตะคะกุระ (Nakae Iwato Kagura, จังหวัดคุมาโมโตะ)

ช่วงเวลาที่จัด: วันอาทิตย์แรกของทุกเดือน ระหว่างเดือนเมษายน - เดือนพฤศจิกายน ยกเว้นเดือนตุลาคม

เทศกาลนากาเอะอิวาโตะคะกุระ (中江岩戸神楽) เป็นงานเทศกาลประจำเขตอะโซะ (阿蘇市) จังหวัดคุมาโมโตะ มีความแตกต่างจากงานเทศกาลอื่นๆ ที่มักจัดเพียงหนึ่งถึงสองครั้งต่อปีตรงที่งานเทศกาลนี้มีจัดถึง 7 ครั้งต่อปีตลอด 7 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน ยกเว้นเดือนตุลาคม โดยมีข้อแม้ว่าคุณต้องเดินทางมาในช่วงต้นเดือนให้ตรงกับวันอาทิตย์แรกของแต่ละเดือนเท่านั้น

จุดเด่นของงานเทศกาลนี้คือการแสดงละครประกอบ "คะกุระ (神楽)" บทเพลงของศาสนาชินโตที่บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมืองของญี่ปุ่นเป็นเรื่องราวจากเทวตำนาน "อะมาโนะอิวาโตะ (天の岩戸)" ที่เล่าถึงเรื่องราวในยุคที่ครั้งหนึ่งโลกมนุษย์ยังเต็มไปด้วยเหล่าทวยเทพ เทพีแห่งดวงอาทิตย์ อะมาเทราสึ (天照) กริ้วที่เทพสุซาโนะ (須佐之) ผู้เป็นอนุชาได้สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้านด้วยการทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของผู้คนไปทั่วแคว้น นางจึงได้หลบหนีไปอยู่ในถ้ำ ทำให้ทั้งโลกปกคลุมไปด้วยความมืดมิด เป็นเหตุให้เหล่าทวยเทพองค์อื่นๆ ต้องรวมตัวกันและหาวิธีเพื่อโน้มน้าวให้เทพีแห่งดวงอาทิตย์ยอมออกมาจากถ้ำด้วยการจัดงานเทศกาลหน้าถ้ำและร่ายรำเพื่อล่อให้เทพีแห่งดวงอาทิตย์ยอมออกมาดู เกิดเป็นฉากละครที่ทั้งสวยงามและเร้าใจ

งานเทศกาลนากาเอะอิวาโตะคะกุระที่มีประวัติยาวนานถึงกว่า 270 ปีนี้ ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นหนึ่งในภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 1975 ในปัจจุบัน การแสดงจะถูกจัดขึ้นที่หอจัดแสดงนากาเอะคากุระเด็น (中江神楽殿) ที่ว่ากันว่า ที่นั่งกว่า 50 ที่ภายในหอจัดแสดงนี้เป็นสถานที่ที่อยู่ใกล้กับเหล่าทวยเทพมากที่สุด (ต้องจองล่วงหน้า) ส่วนที่นั่งกลางแจ้งที่อยู่ด้านนอกก็สามารถจุคนได้มากกว่า 1,000 คน ที่สำคัญคือไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่นหรือชาวต่างชาติ ก็สามารถมาชมภูมิปัญญาอันล้ำค่าของเมืองอะโซะนี้ได้ฟรี ถือเป็นอีกหนึ่งงานเทศกาลที่ควรค่าแก่การชมเป็นอย่างยิ่ง

เดือนมกราคม เดือนมีนาคม-เมษายน เดือนพฤษภาคม และเดือนตุลาคม: ชมขบวนหญิงงามและการแสดงศิลปะท้องถิ่นคุมาโมโตะประจำฤดูที่งานเทศกาลปราสาทคุมาโมโตะและแม่น้ำสึโบอิ (Kumamoto Tsuboi Enyūkai, จังหวัดคุมาโมโตะ)

ช่วงเวลาที่จัด: จัดปีละ 4 ครั้ง ได้แก่
งานเทศกาล "งานเลี้ยงชมซากุระ (Kanou no Utage, 観桜の宴)" ในฤดูใบไม้ผลิ
งานเทศกาล "งานเลี้ยงในสวน (Daienyūkai, 大園遊会)" ในช่วงโกลเด้นวีค (วันหยุดยาวประจำปีของญี่ปุ่น ช่วงปลายเม.ย.-ต้นพ.ค.)
งานเทศกาล "งานเลี้ยงฤดูใบไม้ร่วง (Aki no Utage, 秋の宴)" ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
และงานเทศกาล "งานเลี้ยงต้อนรับปีใหม่ (Shinshun no Utage, 新春の宴)"

 

ที่ปราสาทคุมาโมโตะ (熊本城) สวนโจไซเอน (城彩苑) และแม่น้ำสึโบอิ (坪井川) ภายในตัวเมืองคุมาโมโตะจะมีงานเทศกาลที่ให้ผู้มาเยือนได้ชมและเพลิดเพลินไปกับศิลปะพื้นเมืองและวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้ถึง 4 ครั้งในหลากหลายฤดูกาลในหนึ่งปี โดยสิ่งที่ถูกนำมาแสดงในแต่ละครั้งจะแตกต่างกันไปเพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละฤดู ทำให้เป็นงานเทศกาลที่สามารถมาเข้าร่วมได้หลายรอบโดยที่ไม่รู้สึกถึงความจำเจ

ตัวอย่างเช่น เทศกาล "งานเลี้ยงฤดูใบไม้ร่วง (秋の宴)" ซึ่งมีไฮไลท์เป็นขบวนของเหล่าโออิรัน (นางโลมระดับสูง) ที่จะเดินไปรับแขกจากบ้านมาถึงยังร้านน้ำชาหรือโรงเตี๊ยม เป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับลูกค้าระดับสูงในสมัยเอโดะที่ทางงานเทศกาลจะนำมาจำลองให้ดูกันจริงๆ ในยุคปัจจุบัน หรือในงานเทศกาล "งานเลี้ยงในสวน (大園遊会)" ในช่วงหยุดยาวโกลเดนวีคก็มีสิ่งที่จะพลาดชมไม่ได้ คือ "ฮิโกะเอะมากิ (肥後絵巻)" ซึ่งถือเป็นศิลปะดั้งเดิมของท้องถิ่นนี้

นอกจากนี้ ในช่วงงานเทศกาล ก็มีการจัดเรือล่องแม่น้ำสึโบะอิ (坪井川) ซึ่งถือเป็นแม่น้ำสายหลักของเมืองคุมาโมโตะให้เหล่านักท่องเที่ยวได้มาลองนั่งกันอีกด้วย หากคุณเป็นคนที่สนใจศิลปะวัฒนธรรมญี่ปุ่น หรือเพียงแค่รู้สึกอยากลองชมวัฒนธรรมอันสวยงามที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีตเหล่านี้ เทศกาลปราสาทคุมาโมโตะและแม่น้ำสึโบอิจะไม่ทำให้คุณผิดหวังอย่างแน่นอน

เดือนมกราคม: ชมการแสดงตีกลองส่งคำปฏิญาณสู่สรวงสวรรค์ในงานเทศกาลคิริชิมะคุเมนไทโกะ (Kirishima Kumentaiko, จังหวัดคาโกชิม่า)

ช่วงเวลาที่จัด: วันที่ 1 มกราคมของทุกปี

งานเทศกาลคิริชิมะคุเมนไทโกะ (霧島九面太鼓) เป็นงานเทศกาลประจำศาลเจ้าคิริชิมะจิงกู (霧島神宮) จังหวัดคาโกชิม่าที่จัดขึ้นในวันขึ้นปีใหม่เป็นประจำทุกปี โดยไฮไลท์ คือ การแสดงตีกลองคิริชิมะในช่วงเที่ยงคืนและตีสองของคืนวันขึ้นปีใหม่ เหตุผลที่ต้องทำการตีกลองในช่วงกลางดึกขนาดนี้ก็เพราะชาวเมืองถือว่าเป็นการกล่าวคำปฏิญาณประจำศักราชใหม่และใช้เสียงกลองพาให้คำปฏิญาณเหล่านี้ไปถึงยังสรวงสวรรค์นั่นเอง เหล่ามือกลองที่ทำหน้าที่ในการแสดงจะสวมชุดสีขาวหรือม่วงอ่อน แล้วสวมด้วยหน้ากากทั้ง 9 แบบที่จำลองเป็นเหล่าเทพเจ้า ให้บรรยากาศราวกับว่าเรากำลังดูเหล่าทวยเทพที่ลงมาจากสรวงสวรรค์เพื่อลงมารับคำปฏิญาณจริงๆ!

นอกจากการแสดงตีกลองที่ทั้งคึกคักและสวยงามแล้ว ในงานเทศกาลนี้ยังมีการแสดงจากเทวตำนานญี่ปุ่น 「เทนซองโคริน (天孫降臨)」ที่นักแสดงจะนำหน้ากากที่เป็นเหมือนสมบัติประจำศาลเจ้านี้มาใส่เพื่อทำการแสดงให้ได้รับชม และเนื่องจากงานเทศกาลนี้เปิดให้สามารถเข้ามาชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จึงถือเป็นโอกาสและกิจกรรมดีๆ ที่คุณจะได้มาชมและสัมผัสกับมรดกทางภูมิปัญญาประจำเขตคิริชิมะแห่งนี้

มาสัมผัสเทศกาลเด็ดๆ ในคิวชูกันเถอะ!

ทั้งหมดนี้คืองานเทศกาลในคิวชูที่เราอยากให้ทุกคนได้มาลองสัมผัสกัน แล้วจะรู้ว่าภูมิภาคทางตอนใต้ของญี่ปุ่นนี้เต็มไปด้วยวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านประเพณีและงานเทศกาลซึ่งเป็นเหมือนสิ่งที่รวบรวมผู้คนในแต่ละท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าคุณจะอยากมาสัมผัสบรรยากาศขบวนแห่สุดอลังการ ร่วมเต้นรำไปกับดนตรีพื้นถิ่นร่วมกับชาวพื้นเมือง หรือเพียงอยากมาชมการแสดงในหลากหลายรูปแบบที่แต่ละท้องถิ่นทุ่มเทแรงกายแรงใจนำเสนอออกมา คิวชูก็มีทุกอย่างที่ตอบโจทย์คุณได้!

หากคุณได้มีโอกาสเดินทางมายังคิวชู อย่าลืมเช็กดูว่ามีงานเทศกาลไหนที่ตรงกับทริปคุณบ้างหรือเปล่า เพราะงานเทศกาลเหล่านี้จะทำให้ทริปคิวชูของคุณน่าจดจำขึ้นอีกมากทีเดียว!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

มนต์เสน่ห์คิวชู
เช่ารถได้ในราคาที่คุณต้องการ รถเช่า หากคุณต้องการเช่ารถในญี่ปุ่น ต้องที่นี่เลย! ดูข้อมูลเพิ่มเติม

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

supawichable
supawichable
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร