สำหรับสายกิน ! 100 หน้า 'ซูชิ' ในญี่ปุ่นพร้อมฤดูกาลวัตถุดิบ ครบในบทความเดียว !!
คุณเคยไปร้านซูชิที่ญี่ปุ่นแต่ไม่รู้ว่าจะสั่งอะไรไหม ? เราจะช่วยคุณเอง ! มาญี่ปุ่นแล้วก็ต้องลองซูชิ วันนี้เรารวบรวมข้อมูลมากมายให้คุณได้ผจญภัยไปกับโลกของซูชิได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าคุณจะพอรู้จักซูชิอยู่แล้วหรือยังเต็มไปด้วยความสงสัย ลิสนี้มีข้อมูลให้สำหรับทุกคน ! เนื้อปลาที่นำมาทำหน้าซูชิจะแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ หากคุณอยากทราบส่วนไหนก็คลิกที่ประเภทนั้นได้เลย !
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
สารบัญ
โปรดคลิกหัวข้อที่คุณสนใจเพื่อข้ามไปยังหัวข้อนั้นๆ
-
ปลาเนื้อแดง
-
ปลาเนื้อขาว
-
เนื้อปลาที่มีหนังมันวาว
-
กุ้งและปู
-
หมึกและหมึกยักษ์
-
หอยต่างๆ
-
ไข่ปลา
-
อื่นๆ
-
ซูชิโรล
ปลาเนื้อแดง
1. โอโทโร่ (Otoro : Hon-Maguro)
เนื้อปลาทูน่าครีบน้ำเงินที่มีไขมันเยอะที่สุด
โอโทโร่ (大トロ) เป็นเนื้อปลาทูน่าส่วนที่มีไขมันเยอะที่สุดและแพงที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนอื่น ช่วงที่เหมาะแก่การรับประทานคือเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ต้องขอบคุณไขมันเหล่านี้ที่ทำให้เราได้ลิ้มรองรสชาติอันเยี่ยมยอด !
2. ชูโทโร่ (Chutoro : Hon-maguro)
เนื้อปลาทูน่าครีบน้ำเงินที่มีไขมันปานกลาง
ชูโทโร่ (中トロ) เป็นเนื้อส่วนที่มีไขมันน้อยกว่าโอโทโร่ เนื้อทุกชิ้นที่หั่นจะมีสีแดงของเนื้อผสมกับสีขาวของไขมันครึ่งต่อครึ่ง คุณจะได้ลิ้มรสความอร่อยของทูน่าของแท้ด้วยการผสมผสานระหว่างความอร่อยของเนื้อแดงและความหวานของไขมัน
3. อาคามิ (Akami : Hon-maguro)
เนื้อแดงจากปลาทูน่าครีบน้ำเงิน
ราคาอาจไม่หรูหราเท่าโอโทโร่หรือชูโทโร่ เนื้ออาคามิ (赤身) จะมีความเปรี้ยวเล็กน้อยแฝงอยู่ และเนื้ออาคามิชั้นเยี่ยมจากปลาทูน่านั้นอร่อยอย่าบอกใคร ! (หากคุณมีโอกาสได้ลอง) นี่อาจจะเป็นหนึ่งในซูชิที่รับประทานได้ง่ายที่สุดหากคุณยังไม่เคยรับประทานซูชิมาก่อน
4. โอโทโร่ (Otoro : Minami Maguro)
เนื้อปลาทูน่าครีบน้ำเงินจากทางใต้ที่มีไขมันเยอะที่สุด
ฤดูกาลที่เหมาะกับการรับประทานปลาทูน่าครีบน้ำเงินจากทางใต้หรือ Minami Maguro (みなみまぐろ) จะไม่เหมือบกับปลาทูน่าครีบน้ำเงิน โดยจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายนถึงสิงหาคม เนื้อโอโทโร่นั้นมีไขมันที่หวานหอมและละลายในปากได้เลยทีเดียว
5. ชูโทโร่ (Chutoro : Minami Maguro)
เนื้อปลาทูน่าครีบน้ำเงินจากทางใต้ที่มีไขมันปานกลาง
ปลาทูน่าครีบน้ำเงินจากทางใต้นั้นมีไขมันมากกว่าปลาทูน่าพันธุ์อื่นๆ ชูโทโร่จากปลาทูน่าสายพันธุ์นี้จึงได้รสชาติไขมันมากกว่าเช่นกัน
6. อาคามิ (Akami : Minami Maguro)
เนื้อแดงจากปลาทูน่าครีบน้ำเงินทางใต้
ด้วยลักษณะของเนื้อที่อ่อนนุ่ม อาคามิจากทูน่าครีบน้ำเงินทางใต้จึงให้รสชาติและสัมผัสที่นุ่มละมุน การจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินทางใต้นั้นมีการควบคุมอย่างเข้มงวดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นเนื้อปลาสายพันธุ์นี้ที่เห็นในญี่ปุ่นส่วนมากจะนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย นี่เป็นอีกหนึ่งในตัวเลือกที่ดีสำหรับใครที่อยากเริ่มรับประทานซูชิ !
7. อาคามิ (Akami : Mebachi Maguro)
เนื้อแดงจากปลาทูน่าตาโต (Mebachi Maguro・めばちまぐろ)
เนื้อทูน่าตาโตที่แล่สดๆ นั้นอาจมีราคาที่สูงมาก ในขณะที่เนื้อแช่แข็งจะมีราคาที่ถูกกว่า อาคามิจากทูน่าตาโตจะมีความหวานเป็นหลักจากไขมัน ผสมความเปรี้ยวเล็กน้อย ซึ่งเข้ากันได้อย่างลงตัว ช่วงที่เหมาะจะรับประทานที่สุดคือตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงกุมภาพันธ์
8. เนกิโทโร่ (Negitoro)
เนื้อทูน่าส่วนที่มีไขมันโรยด้วยต้นหอม
เนกิโทโร่ (ネギトロ) เป็นเนื้อจากบริเวณรอบกระดูกสันหลังที่ขูดออกมาและสับจนละเอียด จากนั้นนำมาวางบนข้าว โรยด้วยต้นหอมและห่อไว้ด้วยโนริ (สาหร่าย) มีให้รับประทานตลอดทั้งปี คุณสามารถรับประทานในราคาย่อมเยาได้ตามร้านซูชิหมุน นอกจากนี้ยังรับประทานง่ายแม้คุณจะยังไม่คุ้นกับซูชิมากนักเพราะเป็นเนื้อปลาที่สับจนละเอียดแล้ว
9. บินโจ มากุโร่ (Bincho Maguro)
ปลาทูน่าครีบยาว (びんちょうまぐろ)
ปลาทูน่าขนาดเล็กที่นำมาทำทูน่ากระป๋อง มีรสชาติและรสสัมผัสของไขมันที่ให้ความอร่อยต่างไปจากเนื้อทูน่าสายพันธุ์อื่นๆ ซึ่งกลายมาเป็นหน้าซูชิยอดนิยมเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และมักพบได้ตามร้านซูชิหมุน มีให้รับประทานได้ตลอดทั้งปี
10. คัทสึโอะ (Katsuo)
ปลาทูน่าท้องแถบ (ปลาโอ・かつお)
ช่วงที่นิยมรับประทานที่สุดคือฤดูใบไม้ผลิ ปลาทูน่าท้องแถบมีให้รับประทานเกือบตลอดทั้งปีตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงธันวาคม เนื้อรสชาติหวานฉ่ำและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ อาจรับประทานคู่กับต้นหอมหรือขิงเพื่อเพิ่มรสชาติให้ดียิ่งขึ้น !
11. เมกะจิกิ (Mekajiki)
เมกะจิกิ (ปลากระโทงดาบ・めかじき)
ปลากระโทงดาบเป็นปลาที่มีไขมันมาก มีให้รับประทานตลอดทั้งปี แต่ปลากระโทงดาบในญี่ปุ่นจะมีฤดูกาลตั้งแต่ฤดูร้อนจนถึงฤดูใบไม้ร่วง เนื้อมีไขมันสูงและสัมผัสที่อ่อนนุ่มที่ละลายในปากได้ง่าย
ปลาเนื้อขาว
12. มะได (Madai)
มะได (Red Seabream・まだい)
ปลามะไดเป็นปลาที่มีไขมันน้อยแต่มีรสชาตินุ่มละมุนและกลิ่นหอม ปลามะไดที่จับได้จากทะเลนั้นมีราคาแพงมาก แต่ปลาที่เลี้ยงเองในฟาร์มอาจมีราคาที่ถูกกว่า ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม
13. คาสุโกะ (Kasugo)
คาสุโกะ (Young Seabream・かすご)
เป็นปลาที่มักจะแล่เนื้อให้ติดหนังและเฉือนเข้าไปด้านในแบบรูปด้านบน ก่อนนำไปทำหน้าซูชิจะนำไปหมักกับน้ำส้มสายชู เป็นหน้าซูชิที่หายากและมีให้รับประทานแค่ช่วงเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม
14. คุโรได (Kurodai)
คุโรได (Black Seabream・くろだい)
ปลาคุโรไดเป็นปลาที่มีเนื้อนุ่มและไขมันน้อย ให้รสชาติที่สดชื่นและมีกลิ่นหอมจากทะเล อาจไม่ค่อยเห็นมากเท่าปลามะได สามารถรับประทานได้ในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน
15. ฮิราเมะ (Hirame)
เนื้อปลาฮิราเมะ (ปลาตาเดียว・ひらめ)
อยู่ในประเภทปลาเนื้อขาวชั้นยอดที่เหมาะจะรับประทานในช่วงเดือนกันยนจนถึงกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นช่วงที่ปลาเริ่มมีไขมันและเริ่มมีสีเหลืองอำพัน รสชาติดีอย่าบอกใคร
16. เอ็นกาวะ (Engawa)
ครีบปลาฮิราเมะ (ครีบปลาตาเดียว・えんがわ)
เป็นเนื้อส่วนที่หายาก มีความกรุบกรอบแต่ก็มีความนิ่มและหวานของไขมัน เพราะเป็นเนื้อที่หายากจึงมีราคาสูง แต่คุณสามารถรับประทานเอ็นกาวะได้ตามร้านซูชิหมุน ซึ่งจะใช้เนื้อครีบปลาสายพันธุ์อื่นแทน
17. มาโคกะเร (Makogarei)
มาโคกะเร (Marbled Flounder・まこがれい)
เป็นปลาวงศ์ปลาลิ้นเสือที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ในญี่ปุ่น เนื้อปลามาโคกะเรเป็นหนึ่งในหน้าซูชิยอดฮิตที่สื่อถึงฤดูร้อน เนื้อมีสีขาวโปร่ง มีรสสัมผัสดีและหวานอ่อนๆ
18. คินเมะได (Kinmedai)
คินเมะได (きんめだい)
เป็นปลาทะเลน้ำลึก เนื้อมีไขมันมากแต่ให้รสชาติเบาและรสสัมผัสที่นุ่มจนน่าตกใจที่แทบจะละลายทันทีเมื่อรับประทานเข้าไป เหมาะจะรับประทานในช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์
19. ซูซูกิ (Suzuki)
ซูซูกิ (ปลากระพงญี่ปุ่น・すずき)
เป็นปลาฤดูร้อนที่รับประทานกันมานานในญี่ปุ่น เนื้อมีความนุ่มและมีความหวานอ่อนๆ เป็นเนื้อปลาที่ไม่มีกลิ่นจึงรับประทานง่าย
20. บุริ (Buri)
บุริ (ปลาหางเหลือง・ぶり)
มีมากในช่วงฤดูหนาว เป็นหนึ่งในปลาเนื้อขาวแม้ว่าเดิมเนื้อจะเป็นสีแดง โดยจะเริ่มมีสีขาวเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวเพราะเนื้อเริ่มมีไขมันมากขึ้น แน่นอนว่ารสชาตินั้นเต็มไปด้วยความหอมและหวานของไขมัน
21. ฮามาจิ (Hamachi)
ฮามาจิ (ปลาหางเหลือง・はまち)
ฮามาจิคือปลาบุริ หรือปลาหางเหลืองที่ยังไม่โตเต็มที่ ปลาฮามาจิที่เลี้ยงในฟาร์มมีให้รับประทานตลอดทั้งปี เนื้อเต็มไปด้วยไขมันจนมีคนกล่าวว่ารสชาติดีกว่าทูน่าเสียอีก !
22. คัมปาจิ (Kanpachi)
คัมปาจิ (Greater Amberjack・かんぱち)
อยู่ในตระกูลเดียวกับปลาบุริหรือปลาหางเหลือง ปลาคัมปาจิได้ชื่อว่าเป็นปลาฤดูร้อน มักนิยมรับประทานในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม มีรสชาติของไขมันที่ไม่มากจนเกินไป ให้ความอร่อยแบบกลมกล่อม และมีความหวานในปากหลังจากที่รับประทาน ทำให้ติดใจอยากรับประทานเพิ่ม
23. โนโดกุโร่ (Nodoguro)
โนโดกุโร่ (Blackthroat Seaperch・のどぐろ)
เริ่มเป็นที่รู้จักว่าเป็นเนื้อปลาเกรดสูงในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บางครั้งจะนำมาเผาให้แห้งก่อนนำไปทำซูชิซึ่งจะทำให้ไขมันที่อยู่ในเนื้อละลาย ได้รสชาติและสัมผัสนุ่มลึก ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์
24. อิชิได (Ishidai)
อิชิได (ปลานกแก้ว・いしだい)
เป็นเนื้อปลาเกรดสูงสำหรับนำมาทำซูชิ ปลาอิชิไดที่จับได้ตามธรรมชาติจะมีราคาแพงมาก เนื้อมีกลิ่นเล็กน้อยแต่หวานมาก มีให้รับประทานในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงสิงหาคม
25. โคโชได (Koshodai)
โคโชได (Grunt・こしょうだい)
เนื้อมีความนุ่ม รสสัมผัสที่ดีเยี่ยมและมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว บางครั้งมักนำมาเผาเพื่อเพิ่มความอร่อย แม้เมื่อก่อนจะเป็นเนื้อปลาที่หายากมาก แต่ในปัจจุบันเริ่มแพร่หลายมากขึ้น สามารถรับประทานได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน
26. คาวาฮากิ (Kawahagi)
คาวาฮากิ (ปลาหน้าวัว・かわはぎ)
ปลาคาวาฮากินั้นมีอยู่ทั่วญี่ปุ่นและเป็นหนึ่งในปลาที่นำมาทำหน้าซูชิไม่กี่ชนิดที่สามารถจับได้ในอ่าวโตเกียว ด้วยปริมาณไขมันปานกลางในเนื้อปลาทำให้ได้รสสัมผัสที่แน่นและหนึบ ความอร่อยที่ค่อยๆ ซึมลึกขึ้นทุกครั้งที่คุณเคี้ยว เหมาะจะรับประทานในช่วงเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม
27. อุมาสึระฮากิ (Umazurahagi)
อุมาสึระฮากิ (Black Scraper・うまづらはぎ)
มีรสสัมผัสคล้ายกับเนื้อปลาคาวาฮากิแต่เบากว่า นอกจากนี้ส่วนตับยังค่อนข้างมีราคา บางร้านจึงนำไปวางไว้บนหน้าซูชิแบบในรูปด้านบน เนื้อปลาอุมาสึระฮากิจะอร่อยในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงกุมภาพันธ์
28. เมจินะ (Mejina)
เมจินะ (Largescale Blackfish・めじな)
ปลาฤดูหนาวที่มีเนื้อสีชมพูอ่อน บางครั้งมักนำไปเผาเพื่อเพิ่มรสชาตความอร่อย ในฤดูหนาวเนื้อจะมีไขมันมาก ทำให้ได้ความหวานเต็มที่และรสสัมผัสที่น่าลิ้มลอง
29. คามาสึ (Kamasu)
คามาสึ (ปลาสาก・かます)
ปลาคามาสึ เป็นปลาที่ชอบอยู่ในน้ำอุ่นซึ่งอยู่ทางใต้และมีฟันอันแหลมคม มีรสชาติเบาๆ แต่เต็มไปด้วยความอร่อย ฤดูของปลาคามาสึอยู่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงธันวาคม
30. คาซาโกะ (Kasago)
คาซาโกะ (Marbled Rockfish・かさご)
ปลาขนาดเล็กที่เคยมีจำนวนมากในอดีต แต่ปัจจุบันกลายเป็นปลาหายาก มักรับประทานโดยจิ้มซอสโชยุเพียงเล็กน้อยเพื่อให้คุณได้สัมผัสความอร่อยของเนื้อปลาอย่างเต็มที่ หาจังหวะเหมาะๆ ช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมแล้วไปลองให้ได้นะ
31. ไอนาเมะ (Ainame)
ไอนาเมะ (Fat Greenling・あいなめ)
เนื้อปลาที่อุดมไปด้วยไขมันและพบได้ทั่วไปในทะเลญี่ปุ่น มีรสชาติโดดเด่นที่ยังคงความอร่อยไว้หลังรับประทาน เหมาะที่จะรับประทานในช่วงฤดูใบไม้ผลิแต่อาจแตกต่างกันโดยขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้นๆ
32. มุทสึ (Mutsu)
มุทสึ (Gnomefish・むつ)
ในอดีตถือเป็นวัตถุดิบธรรมดาๆ แต่ปัจจุบันมุทสึเป็นปลาเนื้อขาวเกรดสูงบนหน้าซูชิ เป็นปลาเนื้อสีชมพูอ่อนซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณไขมันในเนื้อที่พอเหมาะ ไม่มากหรือน้อยเกินไป เหมาะที่จะรับประทานในฤดูหนาวเพื่อให้ได้รสชาติที่ดีเยี่ยม แต่อาจหายากสักหน่อยเพราะบางที่ก็ไม่มีเนื้อปลาชนิดนี้
33. ฮาตะ (Hata)
ฮาตะ (Grouper・はた)
เป็นปลาหายากและทุกคนรู้จักกันดี และมีในร้านซูชิไม่กี่แห่ง เป็นเนื้อปลาที่ไม่มีกลิ่น เนื้อนุ่มและหวาน เหมาะที่จะรับประทานช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม
34. อิซากิ (Isaki)
อิซากิ (Chicken Grunt・いさき)
เป็นเนื้อปลาที่ไขมันแทรกอยู่ตลอด มีรสชาติที่โดดเด่นและจะเพิ่มความอร่อยยิ่งขึ้นเมื่อรับประทานกับข้าวซูชิซึ่งหมักด้วยน้ำส้มสายชู มีความนุ่มละมุนลิ้น ฤดูกาลของปลาอิซากิคือฤดูร้อน
35. เมบารุ (Mebaru)
เมบารุ (Japanese Rockfish・めばる)
ปลาเมบารุเป็นปลาที่ให้รสชาติของปลาเนื้อขาวได้ตรงกับที่คุณคาดหวังว่าจะได้ลิ้มลองจากปลาประเภทนี้ รสชาติอ่อนนุ่มนี้จะเริ่มมีไขมันมากขึ้นในฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิซึ่งจะเพิ่มความหวานให้กับเนื้อปลา
36. คิงคิ (Kinki)
คิงคิ (Broadbanded Thornyhead・きんき)
หนึ่งในปลาที่นำไปทำคามะโบโกะ (ลูกชิ้นปลา) แต่ในช่วงหลังๆ มานี้ปลาคิงคิมักพบได้ในภัตตาคารหรูเท่านั้น เนื้อสีขาวเป็นชั้นคล้ายกับวุ้นที่ดูแล้วเหมือนจะละลายได้ ให้ความหวานหอม เหมาะจะรับประทานในช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม
37. บุได (Budai)
บุได (ปลานกแก้ว・ぶだい)
ปลานกแก้วเป็นปลาที่มีรูปร่างแปลกสักหน่อยแต่อร่อยใช่ย่อย มันกินสาหร่ายเป็นอาหารหลักจึงทำให้เนื้อไม่ค่อยมีกลิ่นเหมือนปลาอื่นๆ ให้รสชาติอ่อนๆ และมีความนุ่มหยุ่น เหมาะที่จะรับประทานในฤดูหนาว
38. ปลาปักเป้า (Fugu)
ฟุกุ (ปลาปักเป้า・ふぐ)
เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นปลาที่มีพิษร้ายแรง เป็นเนื้อปลาเกรดสูงที่มีรสสัมผัสและรสชาติที่แตกต่างจากปลาชนิดอื่น ในญี่ปุ่นรับประทานปลาปักเป้ามากมายหลายชนิด แต่มักไม่ค่อยพบเห็นเนื้อปลาโทระฟุกุมากนัก อาจเป็นเพราะเนื้อ หนังและน้ำคัดหลั่งของปลาปักเป้าชนิดนี้ไม่มีพิษเหมือนปลาปักเป้าชนิดอื่น เหมาะที่จะรับประทานในฤดูหนาว
39. ฮัคคาคุ (Hakkaku)
ฮัคคาคุ (ปลามังกรญี่ปุ่น・はっかく)
ฮัคคาคุมีรสชาติที่โดดเด่นตรงข้ามกับหน้าตาของปลาชนิดนี้ที่ค่อนข้างแปลก ฮัคคาคุนั้นไม่ได้หารับประทานได้ทุกที่ นอกจากนี้ยังเป็นที่นิยมเพราะมีรสชาติที่ตัดกันได้อย่างลงตัวกับความหวานจากไขมันของเนื้อปลา
เนื้อปลาที่มีหนังมันวาว
40. โคฮาดะ (Kohada)
โคฮาดะ (ปลาหลังเขียว・こはだ)
ปลาโคฮาดะเป็นปลาขนาดเล็ก มีเนื้อนุ่มและนำมาทำหน้าซูชิตั้งแต่ยุคเอโดะ (ปี 1603 - 1868) เป็นเนื้อปลาที่เสียง่ายจึงต้องนำมาหมักกับน้ำส้มสายชูและเกลือขณะที่เนื้อยังสดอยู่ ซึ่งจะทำให้รสชาติของเนื้อปลาแตกต่างกันไปตามแต่และร้าน มีให้รับประทานตลอดทั้งปี
41. ชินโกะ (Shinko)
ชินโกะ (ปลาหลังเขียว・しんこ)
ปลาหลังเขียวจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันตามอายุของปลา โดยเมื่อโตจนมีขนาดประมาณ 4 - 10 เซนติเมตรจะเรียกว่า "ชินโกะ" เนื่องจากเป็นปลาที่ยังโตไม่เต็มที่เนื้อจึงนุ่มและละเอียดจนแทบละลายในปาก เมื่อโตเต็มวัยจะเรียกว่า "โคฮาดะ" ซึ่งปลาชนิดนี้โตเร็วมาก "ชินโกะ" จึงหารับประทานได้ในช่วงสั้นๆ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม
42. คิสุ (Kisu)
คิสุ (ปลาเห็ดโคน・きす)
เป็นปลาน้ำตื้นที่มักปรากฎอยู่ในเมนูของภัตตาคารหรู มีราคาสูงมากตามตลาดที่รับมาขายอีกที ยิ่งเนื้อใสมากเท่าไรแสดงว่ายิ่งมีความสดมากเท่านั้น นอกจากนี้รสชาติของเนื้อปลายังไม่ถูกข้าวซูชิที่หมักด้วยน้ำส้มสายชูกลบจนหมดอีกด้วย
43. ชิมะอาจิ (Shima-aji)
ปลาชิมะอาจิ (ปลาสีขน・しまあじ)
พบได้ในทะเลที่มีกระแสน้ำอุ่น และอาจมีขนาดใหญ่ถึง 10 กิโลกรัม เนื้อที่รสชาติดีคือเนื้อปลาชิมะอาจิขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ซึ่งรับประทานได้ในฤดูร้อน หนังปลาสีเงินและเนื้อสีขาวนั้นให้รสชาติที่นุ่มละมุนเป็นอย่างยิ่ง
44. อาจิ (Aji)
ปลาอาจิ (Japanese Horse Mackerel・あじ)
เป็นปลาทั่วไปที่หาได้ทั่วญี่ปุ่น มีรสชาตินุ่มละมุน และช่วงที่เหมาะแก่การรับประทานคือช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีสำหรับใครที่ยังไม่คุ้นกับซูชิ เพราะมักรับประทานคู่กับขิงหรือเครื่องเคียงอื่นๆ
45. อิวาชิ (Iwashi)
อิวาชิ (ปลาซาร์ดีน・いわし)
มักใช้เป็นอาหารสำหรับปลาใหญ่อย่างปลาทูน่าหรือปลากระโทงดาบ ปลาซาร์ดีนสดสำหรับรับประทานนั้นในอดีตจะมีเฉพาะแหล่งที่จับปลาได้เท่านั้น แต่ปัจจุบันเพิ่มแพร่หลายมากขึ้น หากอยากรับประทานอิวาชิที่อร่อยต้องรับประทานช่วงเริ่มฤดูฝน เพราะปลาจะเริ่มสะสมไขมันไว้ที่ใต้ท้อง เนื้อปลาชนิดนี้มีรสชาติโดดเด่นจึงไม่ถูกข้าวหรือเครื่องเคียงกลบจนหมด
46. ชิเมะซาบะ (Shimesaba)
ชิเมะซาบะ (ปลาแมคเคอเรล・しめさば)
เป็นปลาที่รู้กันดีว่ารักษาความสดไว้ได้ยาก ในอดีตจึงมักนำไปปรุงหรือหมักกับน้ำส้มสายชู ปัจจุบันนี้คุณสามารถหาแมคเคอเรลสดมารับประทานได้แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะหมักกับน้ำส้มสายชูไว้แล้วเพื่อเพิ่มความหวานและความอร่อยและเพิ่มรสสัมผัสให้ดีขึ้น เหมาะที่จะรับประทานในช่วงเดือนกันยายนถึงมกราคม
48. นามะซาบะ (Namasaba)
นามะซาบะ (ปลาแมคเคอเรลดิบ・生さば)
ต้องขอบคุณความก้าวหน้าของฟาร์มปลาและการประมงทุกวันนี้ที่ทำให้คุณสามารถรับประทานปลาแมคเคอเรลได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น ปลาจากฟาร์มจะมีรสชาติที่ชัดเจนและโดดเด่น ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว
48. ซัมมะ (Sanma)
ซัมมะ (Pacific Saury・さんま)
ปลาที่เป็นสัญลักษณ์ของฤดูใบไม้ร่วงในญี่ปุ่นซึ่งจะเริ่มมีไขมันมากในฤดูใบไม้ร่วง ไขมันเหล่านี้จะทำให้ได้รสสัมผัสที่นุ่มละมุนและลายในปาก เป็นเนื้อปลาที่มีกลิ่นเล็กน้อยแต่มักรับประทานกับขิงหรือเครื่องเคียงอื่นๆ ทำให้ดึงเอารสชาติที่เป็นจุดเด่นออกมาได้อย่างดีเยี่ยม หากคุณชอบปลานี่คือหน้าซูชิที่ทำมาเพื่อคุณ !
49. นิชิน (Nishin)
นิชิน (Pacific Herring・にしん)
เป็นปลาที่เลี้ยงในฮอกไกโดและไม่ค่อยพบเห็นมากนักหากไม่ใช่ร้านซูชิในเขตที่เลี้ยงปลาชนิดนี้ มีรสชาติโดดเด่นกว่าปลาที่มีหนังมันวาวชนิดอื่นๆ มักนำไปหมักกับน้ำส้มสายชู ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน
50. ซาวาระ (Sawara)
ซาวาระ (Japanese Spanish Mackerel・さわら)
Japanese Spanish mackerel จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามขนาด ซึ่งซาวาระหมายถึงปลา Japanese Spanish mackerel ที่มีขนาดเกิน 70 เซนติเมตร เนื้อมีรสชาติและสัมผัสที่นุ่มละมุนจึงเป็นที่นิยมในบางพื้นที่พอๆ กับปลาทูน่าและมีราคาค่อนข้างสูง ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือเดือนธันวาคมถึงเมษายน
51. ซาโยริ (Sayori)
ซาโยริ (ปลาเข็ม・さより)
เป็นปลารูปร่างหน้าตาแปลกประหลาด มีขากรรไกรล่างยาวกว่าขากรรไกรบน (ถ้าปลามีขากรรไกรนะ!) มีความอร่อยแบบกลมกล่อมอย่างลงตัวกับความขมของเนื้อปลา แนะนำให้รับประทานโดยไม่ต้องจิ้มซอสโชยุเพราะจะได้ลิ้มรสของเนื้อปลาได้แบบเต็มที่ ฤดูที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูใบไม้ผลิ
52. ทาจิอุโอะ (Tachi-uo)
ทาจิอุโอะ (ปลาดาบเงินใหญ่・たちうお)
เป็นปลาที่ยิ่งตัวใหญ่เท่าไร ไขมันก็มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งไขมันนี้จะให้ความหวานที่เข้ากันได้เป็นอย่างดีกับข้าวซูชิที่หมักด้วยน้ำส้มสายชู เป็นเนื้อปลาที่ยังคงความหอมกรุ่นไว้ในปากหลังรับประทาน และมีให้รับประทานตลอดทั้งปี
53. ฮาตะฮาตะ (Hata-hata)
ฮาตะฮาตะ (Sailfin Sandfish・はたはた)
ปลาฮาตะฮาตะเป็นปลาที่นำมาทำหน้าซูชิมาตั้งแต่ในอดีต มักนำไปหมักกับน้ำส้มสายชูก่อน มีรสอ่อนๆ และคงความหวานไว้ในปากหลังรับประทาน ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูหนาวถึงฤดูใบไม้ผลิ
54. ฮิรามาสะ (Hiramasa)
ฮิรามาสะ (Yellowtail Amberjack・ひらまさ)
พบได้ในทะเลน้ำอุ่น เป็นปลาในฤดูร้อนที่ถือเป็นวัตถุดิบเกรดสูง กลิ่นหอมและรสชาติของเนื้อปลาชนิดนี้ทำให้หลายๆ คนต้องติดใจ
55. โทบิอุโอะ (Tobi-uo)
โทบิอุโอะ (ปลาบินหรือปลานกกระจอก・とびうお)
เป็นปลาที่ราคาไม่แพงมากและหาได้ทั่วไป สามารถรับประทานได้สดๆ หรือนำไปหมักน้ำส้มสายชู เนื้อมีรสชาติหลากหลายทั้งแต่อ่อนไปจนถึงแรง ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูร้อน
กุ้งและปู
56. โบะตันเอบิ (Botan-ebi)
โบะตันเอบิ (Corn-stripe Shrimp・ぼたんえび)
เป็นกุ้งที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เนื้อหวานและนุ่มมาก บางครั้งอาจนำมาเสิร์ฟทั้งหัว ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูหนาว
57. คุรุมะเอบิ (Kuruma-ebi)
คุรุมะเอบิ (กุ้งลายเสือ・くるまえび)
เป็นกุ้งที่พบได้ในทะเลทั่วญี่ปุ่น มีราคาไม่แพงมากนักเพราะมีฟาร์มเพาะเลี้ยงอยู่ทั่วประเทศ มักนำไปต้มก่อนนำมาทำหน้าซูชิเพื่อเพิ่มความหวานและกลิ่นหอม เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับใครที่อยากลองซูชิหน้ากุ้งเป็นครั้งแรก ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน
58. อามะเอบิ (Ama-ebi)
อามะเอบิ (กุ้งโอคัก・あまえび)
เป็นกุ้งในทะเลลึกที่มักนำมาทำหน้าซูชิ เนื้อมีความหวานและอร่อยที่สุดหากรับประทานในฤดูหนาว หากคุณรับประทานกุ้งดิบได้ อามะเอบิถือเป็นอีกตัวเลือกที่แนะนำ
59. ซากุระเอบิ (Sakura-ebi)
ซากุระเอบิ (กุ้งซากุระ・さくらえび)
กุ้งซากุระมักรับประทานสดหรือนำไปทอด หากเป็นนิกิริหรือข้าวปั้นมักห่อด้วยสาหร่ายแล้ววางกุ้งไว้ด้านบน มักเสิร์ฟพร้อมกับขิงและวาซาบิเพื่อเพิ่มรสชาติ มีความหวานและรสสัมผัสอ่อนนุ่ม ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือเมษายนถึงมิถุนายน และ ตุลาคมถึงธันวาคม
60. ทาราบะกานิ (Taraba-gani)
ทาราบะกานิ (ปูทาราบะ・たらばがに)
เป็นปูขนาดใหญ่ เมื่อวัดรวมก้ามที่กางออกมาแล้วอาจมีขนาดถึง 1 เมตร มีรสชาติที่โดดเด่น เนื้อแน่นและหวานกว่าปูชนิดอื่นๆ เนื้อปูทาราบะสดถือเป็นหน้าซูชิเกรดสูง ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม
61. ซูไวกานิ (Zuwai-gani)
ซูไวกานิ (ปูซูไว・ずわいがに)
เป็นปูที่อาศัยอยู่ในน้ำเย็น ปูซูไวที่คุณเห็นในญี่ปุ่นส่วนมากมักนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาไม่แพงมาก เนื้อมีความนุ่มและหวานเข้ากับข้าวซูชิที่หมักน้ำส้มสายชูได้เป็นอย่างดี ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูหนาว
62. ชาโกะ (Shako)
ชาโกะ (กั้ง・しゃこ)
มีหลายคนที่ขอถอยเพราะเห็นหน้าตาของกั้ง แต่อันที่จริงแล้วกั้งเป็นหน้าซูชิที่ยอดเยี่ยมหน้าหนึ่ง โดยปกติจะนำไปต้มก่อนนำมาทำซูชิ เนื้อหนาและมีรสชาติโดดเด่น ช่วงที่เหมาะที่จะลองที่สุดคือเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน
หมึกและหมึกยักษ์
63. เคนซากิอิกะ (Kensaki-ika)
เคนซากิอิกะ (หมึกกล้วย・けんさきいか)
มีให้รับประทานตลอดทั้งปี เนื้อนุ่มและหวานเข้ากันได้ดีเป็นอย่างยิ่งกับข้าวซูชิที่หมักน้ำส้มสายชู
64. มงโกะอิกะ (Mongo-ika)
มงโกะอิกะ (Ocellated Cuttlefish・もんごいか)
เป็นหมึกกระดองที่ถือเป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมในแถบคันไซ แต่ในคันโตไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก รสชาติเต็มไปด้วยความหวานและเป็นหน้าซูชิที่ค่อนข้างได้รับความนิยม เหมาะที่จะรับประทานในช่วงตุลาคมถึงเมษายน
65. อาโอริอิกะ (Aori-ika)
อาโอริอิกะ (หมึกหอม・あおりいか)
หมึกขนาดใหญ่ที่ว่ากันว่าเป็นหมึกเกรดสูงที่สุดที่นำมาทำหน้าซูชิ เนื้อมีความโปร่ง ดูน่ารับประทาน เนื้อแน่นและมีความหวานเฉพาะตัว สามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปี
66. สึรุเมะอิกะ (Surume-ika)
สึรุเมะอิกะ (หมึกบินญี่ปุ่น・するめいか)
รับประทานได้ตลอดทั้งปี เป็นหมึกที่คุณเห็นแล้วอาจบอกว่ารูปร่างหน้าตาเหมือนหมึกที่สุดในบรรดาหมึกประเภทอื่นๆ มักหั่นให้หนาและบั้งเป็นแนวให้รับประทานง่าย เนื้อมีความหนึบทำให้เคี้ยวเพลิน
67. โฮตารุอิกะ (Hotaru-ika)
โฮตารุอิกะ (หมึกหิ่งห้อย・ほたるいか)
หมึกหิ่งห้อยจะเปล่งแสงเมื่อถูกคุกคาม เมื่อนำมาทำหน้าซูชิจะนำไปลวกก่อน วางบนข้าวแล้วพันด้วยสาหร่าย เนื้อนุ่มและมีกลิ่นเล็กน้อยซึ่งจะถูกกลบด้วยขิงที่เสิร์ฟมาด้วยกัน ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน
68. ทาโกะ (Tako)
ทาโกะ (หมึกยักษ์・たこ)
โดยปกติมักจะต้มก่อนแล้วค่อยนำไปทำเป็นอาหารคุณจึงไม่ค่อยเห็นหมึกยักษ์สดๆ ตามร้านซูชิ หมึกยักษ์ในญี่ปุ่นจะมีกลิ่นแรงที่เฉพาะตัว เนื้อมีความหนึบและหวานอ่อนๆ สามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปี
69. มิสุดาโกะ (Mizu-dako)
มิสุดาโกะ (North Pacific Giant Octopus・みずだこ)
เป็นหมึกยักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยอาจมีความยาวถึง 3 เมตร มิสุดาโกะจะต่างกับทาโกะตรงที่มักจะเสิร์ฟแบบสดๆ เนื้อมีความนุ่มและหวานที่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกคำที่กัด ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือเดือนพฤศจิกายนถึงเมษายน
หอย
70. อาวาบิ (Awabi)
อาวาบิ (หอยเป๋าฮื้อ・あわび)
เป็นหอยที่เริ่มจับได้น้อยลงทุกปี ทำให้เป็นวัตถุดิบที่ราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื้อเต็มไปด้วยความหวาน มีรสสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์และกลิ่นของทะเล ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูร้อน
71. อากะไก (Aka-gai)
อากะไก (หอยแครง・あかがい)
เป็นหอยที่นำมาทำหน้าซูชิมากที่สุดและได้รับความนิยมมานานตั้งแต่อดีต แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เริ่มกลายเป็นวัตถุดิบเกรดสูง มีกลิ่นหอมของทะเลที่เฉพาะตัวและมีรสขมๆ เหมือนโลหะนิดหน่อย ซึ่งจะช่วยเพิ่มฮีโมโกลบินในเลือด ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูหนาว
72. อาโอยากิ (Aoyagi)
อาโอยากิ (Surf Clam・あおやぎ)
พบได้ทั่วญี่ปุ่น เมื่อกัดเข้าไปคำแรกคุณจะสัมผัสได้ถึงความหวานแล้วตามมาด้วยความขม เหมาะที่จะรับประทานในช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม
73. ฮามากุริ (Hamaguri)
ฮามากุริ (Common Shield-clam・はまぐり)
มักนำไปต้มแล้วราดซอสให้ชุ่มก่อนเสิร์ฟ เนื้อมีหวามหนาและนุ่ม ส่วนซอสที่ราดนั้นจะแตกต่างกันไปตามแต่ละร้าน ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
74. โทริไก (Tori-gai)
โทริไก (Japanese Cockle・とりがい)
หอยที่รสดีไม่ว่าจะรับประทานแบบดิบหรือสุก หอยโทริไกในญี่ปุ่นส่วนมากมักนำเข้าจากประเทศจีนและเกาหลี เนื้อจะยิ่งหวานขึ้นเมื่อนำไปทำให้สุก เหมาะที่จะรับประทานช่วงเมษายนถึงมิถุนายน
75. ฮกคิไก (Hokki-gai)
ฮกคิไก (หอยปีกนก・ほっきがい)
รสชาติจะยอดเยี่ยมเมื่อรับประทานในฤดูหนาว เนื้อมีความนุ่มและหวาน มีกลิ่นหอมของทะเล สามารถรับประทานได้ทั้งดิบและสุก
76. โฮตาเตะ (Hotate)
โฮตาเตะ (หอยเชลล์・ほたて)
เป็นหอยที่รับประทานได้ตลอดทั้งปีในราคาย่อมเยาเพราะปัจจุบันมีฟาร์มเพาะเลี้ยงมากมาย นิยมรับประทานแบบดิบ เนื้อนุ่มและหวานอ่อนๆ จึงเป็นอีกตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่อยากลองซูชิหน้าหอยเป็นครั้งแรก
77. ไทระไก (Taira-gai)
ไทระไก (หอยจอบ・たいらがい)
หอยขนาดใหญ่ซึ่งเมื่อโตเต็มที่อาจมีขนาดใหญ่ถึง 30 เซนติเมตร แม้ว่าหน้าตาจะดูคล้ายหอยเชลล์แต่มีความหวานมากกว่า นอกจากนี้ยังมีกลิ่นของทะเลและความขม ส่วนรสสัมผัสนั้นต้องบอกว่าดีกว่าหอยเชลล์ เป็นหน้าซูชิหายากที่ควรรับประทานในฤดูหนาว
78. ทสึบุไก (Tsubu-gai)
ทสึบุไก (Whelk・つぶがい)
นิยมรับประทานมากในฮอกไกโดและแถบโทโฮคุ เนื้อมีความกรุบกรอบและมีรสหวานอ่อนๆ เหมาะที่จะรับประทานในช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม
79. คาคิ (Kaki)
คาคิ (หอยนางรม・かき)
หอยนางรมที่เราเห็นกันตามร้านอาหารส่วนมากมักมากจากฟาร์มเพาะเลี้ยง ในร้านซูชิมักรับประทานแบบดิบๆ คู่กับเครื่องเคียงที่จะช่วยดึงเอารสชาติอันโดดเด่นของหอยนางรมออกมา เหมาะที่จะรับประทานในเดือนที่มีอากาศหนาว
80. ไบไก (Bai-gai)
ไบไก (Finely Striate Buccinum・ばいがい)
เป็นหอยที่อยู่ในทะเลลึก มีเนื้อนุ่ม หวาน และมีกลิ่นหอมของทะเลที่เข้ากันได้ดีกับข้าวซูชิซึ่งหมักด้วยน้ำส้มสายชู เหมาะที่จะรับประทานในฤดูหนาว
81. ฮงมิรุไก (Honmiru-gai)
ฮงมิรุไก (Trough Shell・ほんみるがい)
เป็นหอยขนาดใหญ่และเป็นหน้าซูชิที่พบเห็นได้ทั่วไปในอดีต บางคนอาจรู้สึกว่ามีกลิ่นและรสชาติที่แรงมากแต่บางคนก็ชอบรับประทาน มีเนื้อแน่นไม่เหมือนใคร เหมาะที่จะรับประทานในช่วงธันวาคมถึงพฤษภาคม
ไข่ปลาและสัตว์ทะเลต่าง ๆ
82. อิคุระ (Ikura)
อิคุระ (ไข่ปลาแซลมอน・いくら)
ให้รสสัมผัสแบบหนึบๆ บางคนอาจไม่ชอบรูปร่างหน้าตาของไข่ปลาแซลมอนนี้แต่ขอบอกเลยว่ามันทั้งอร่อยและหวาน มักนำไปหมักเกลือหรือซอสถั่วเหลืองก่อนนำไปทำหน้าซูชิ นอกจากนี้ยังมักเสิร์ฟโดยวางไว้บนข้าวและพันด้วยสาหร่าย ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูใบไม้ร่วง
83. บะฟุงอุนิ (Bafun Uni)
บะฟุงอุนิ (Japanese Green Sea Urchin・ばふんうに)
เป็นไข่หอยเม่นทะเลชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ในน้ำเย็นและกินสาหร่ายเป็นอาหาร ไข่หอยเม่นคุณภาพดีจะต้องดูแน่นและมีรสสัมผัสที่ละลายในปากเมื่อรับประทานเข้าไป มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของทะเล อาจไม่ใช่ทุกคนที่ชอบไข่หอยเม่นแต่ก็เป็นอาหารที่อยากให้คุณลองสักครั้ง ช่วงที่เหมาจะรับประทานคือเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม
84. คิตะ มุราซากิอุนิ (Kita Murasaki Uni)
คิตะ มุราซากิอุนิ (Northern Sea Urchin・きたむらさきうに)
หอยเม่นชนิดนี้จะมีขนาดใหญ่และหนามที่แหลมกว่าชนิดอื่น มีรสสัมผัสที่อ่อนนุ่ม ละลายในปากได้มากกว่าและราคาค่อนข้างแพง ว่ากันว่ารับประทานง่ายกว่าไข่หอยเม่นชนิดอื่นจึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เพิ่งลองรับประทานไข่หอยเม่นเป็นครั้งแรก ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูร้อน
85. ทาราโกะ (Tarako)
ทาราโกะ (ไข่ปลาคอด・たらこ)
ด้วยรสชาติที่เข้ากับข้าวได้อย่างดีเยี่ยม ทาราโกะจึงเป็นหน้าซูชิที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีมานี้ โดยทั่วไปจะนำไปหมักเกลือและเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกสำหรับผู้ที่รับประทานไข่ปลาเป็นครั้งแรก มีรสสัมผัสที่นุ่มและมีให้รับประทานตลอดทั้งปี
86. คาสุโนะโกะ (Kazu no Ko)
คาสุโนะโกะ (ไข่ปลาเฮอร์ริ่ง・数の子)
เป็นไข่ปลาที่มีความกรุบกรอบและกลมกล่อมมากกับข้าวซูชิที่หมักด้วยน้ำส้มสายชู เหมาะที่จะรับประทานในฤดูใบไม้ผลิ
87. โทบิโกะ (Tobiko)
โทบิโกะ (ไข่ปลาบิน・とびこ)
ไข่เล็กๆ ที่จะแตกตัวและปล่อยรสเค็มทันทีในคำแรกที่คุณกัดเข้าไป หากคุณชอบรับประทานไข่ปลาจะต้องชอบกับรสชาติและสัมผัสของโทบิโกะแน่นอน มีให้รับประทานตลอดทั้งปี
88. โคโมจิคอมบุ (Komochi Kombu)
โคโมจิคอมบุ (ไข่ปลาเฮอร์ริ่งพันสาหร่าย・子持ち昆布)
ปลาเฮอร์ริ่งมักจะวางไข่บนสาหร่าย ซึ่งสาหร่ายที่เก็บได้พร้อมไข่จะนำมาพันและเสิร์ฟเป็นซูชิ โคโมจิคอมบุจึงมีรสของสาหร่ายและความกรอบของไข่ปลาเฮอร์ริ่งผสมผสานกัน ช่วงที่แนะนำให้รับประทานคือฤดูใบไม้ผลิ
89. ชิชามกโกะ (Shishamokko)
ชิชามกโกะ (ไข่ปลาเคปลิน・ししゃもっこ)
มีรสสัมผัสคล้ายกับไข่ปลาบิน มักนำไปหมักทั้งกับเกลือและซอสถั่วเหลือง ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือเดือนตุลาคมถึงธันวาคม
90. ชิราโกะ (Shirako)
ชิราโกะ (ถุงน้ำเชื้อปลา・白子)
เมนูสำหรับใครที่ชอบลองอะไรแปลกใหม่ โดยส่วนมากร้านซูชิมักใช้ถุงน้ำเชื้อหรือน้ำอสุจิของปลาคอดมาทำเมนูนี้ มีผู้ชื่นชอบมากมายเพราะรสสัสผัสที่นุ่ม ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูหนาว
อื่น ๆ
91. อานาโกะ (Anago)
อานาโกะ (ปลาไหลญี่ปุ่น・穴子)
อานาโกะเป็นหน้าซูชิระดับสูงมาตั้งแต่สมัยเอโดะ มักนำไปปรุงด้วยการเคี่ยวหรือย่างก่อนนำมาเสิร์ฟจึงมีรสชาติแตกต่างกันไปตามแต่ละร้าน มีรสสัมผัสที่นุ่มละมุน ด้านบนจะราดซอสหรือโรยเกลือ เหมาะสำหรับคนที่ลองรับประทานซูชิครั้งแรก ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือฤดูร้อน
92. ฮาโมะ (Hamo)
ฮาโมะ (Dagger-tooth Pike Conger・はも)
เป็นญาติกับปลาไหลขนาดเล็ก มีก้างเล็กๆ จำนวนมากซึ่งเชฟซูชิจะนำออกอย่างระมัดระวัง มักนำไปลวกแล้วเสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงต่างๆ มีรสนุ่มละมุนและมีให้รับประทานแค่ช่วงสั้นๆ ตั้งแต่กรกฎาคมถึงสิงหาคม
93. ชิราอุโอะ (Shira-uo)
ชิราอุโอะ (ปลาน้ำแข็ง・しらうお)
ไม่ใช่หน้าซูชิที่หาได้ทั่วไป ปลาน้ำแข็งเป็นปลาขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีรสขมเล็กน้อยจึงมักเสิร์ฟคู่กับขิงหรือเครื่องเคียงอื่นๆ มีรสสัมผัสที่นุ่มละมุน ช่วงที่เหมาะจะรับประทานคือเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม
94. นามะชิราสุ (Nama Shirasu)
นามะชิราสุ (ปลา Whitebait ดิบ・生しらす)
ชิราสุ เป็นชื่อเรียกรวมๆ ของลูกปลาสีขาว เป็นปลาที่คงความสดไว้ได้ยากจึงแนะนำให้รับประทานตามร้านที่ใกล้กับแหล่งจับปลา มีรสสัมผัสที่โดดเด่น มักเสิร์ฟคู่กับขิงเพื่อตัดความขมของเนื้อปลา สามารถรับประทานได้เกือบตลอดทั้งปียกเว้นเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์
95. ทามาโกะยากิ (Tamagoyaki)
ทามาโกะยากิ (ไข่หวาน・玉子焼き)
ต่อให้คุณยังไม่คุ้นกับรสชาติของซูชิที่มักจะใช้เนื้อปลาดิบๆ ก็ขอรับรองว่าต้องชอบซูชิหน้านี้แน่นอน ซูชิหน้าไข่หวานเป็นหน้าที่มีในทุกร้านซูชิ และว่ากันว่าเราสามารถบอกทักษะของเชฟคนนั้นได้โดยดูจากไข่หวานที่เขาทำ ไข่หวานรสค่อนข้างหวานและนุ่ม
96. แซลมอน (Salmon)
แซลมอน (Salmon・サーモン)
หนึ่งในหน้าซูชิที่ทุกร้านต้องมี ในญี่ปุ่นแซลมอนเป็นหน้าซูชิที่อยู่ตามร้านซูชิหมุนแต่จะไม่มีตามร้านซูชิดั้งเดิม แซลมอนเป็นที่นิยมของผู้คนมากมายเพราะรสชาติและราคาที่ไม่แพง นอกจากนี้ยังมีให้รับประทานได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย
ซูชิโรล
97. คัมเปียวมากิ (Kanpyo-maki)
คัมเปียวมากิ (น้ำเต้าตากแห้ง・かんぴょう巻き)
เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับคนที่ไม่เคยรับประทานซูชิมาก่อนเพราะไม่มีเนื้อปลาแต่เป็นน้ำเต้าตากแห้งม้วนด้วยข้าวห่อสาหร่าย มีรสสัมผัสกรุบกรอบและความหวานของน้ำเต้า
98. คับปะมากิ (Kappa-maki)
คับปะมากิ (Kappa-maki・かっぱ巻き)
ซูชิโรลไส้แตงกวาที่หาได้ทั่วไปตามร้านซูชิ เหมาะสำหรับใครที่ยังไม่คุ้นกับซูชิเช่นกัน
99. แคลิฟอร์เนียมากิ (California-maki)
แคลิฟอร์เนียมากิ (California Roll・カリフォルニア巻き)
มีต้นกำเนิดจากอเมริกาและเป็นซูชิที่ไม่มีปลาดิบ วัตถุดิบหลักจะเป็นปูอัด อะโวคาโด มายองเนสและส่วนผสมอื่นๆ ห่อในข้าว และอีกสิ่งหนึ่งที่ต่างจากซูชิญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิงคือมีสาหร่ายอยู่ข้างใน คุณอาจพบได้ตามร้านซูชิหมุนบางร้าน อย่างไรก็ตามแคลิฟอร์เนียมากิไม่ใช่ซูชิทั่วไปที่หาได้ทุกร้านในญี่ปุ่น
100. โทโร่ทาคุ (Toro Taku)
โทโร่ทาคุ (เนื้อทูน่าส่วนที่มีไขมันและไชโป้ว・トロタク)
เป็นเนื้อทูน่าส่วนที่มีไขมันเยอะซึ่งขูดออกจากก้างแล้วนำมาผสมกับไชโป้ว (หัวไชเท้าดอง) จากนั้นนำมาม้วนกับข้าวห่อสาหร่าย ให้รสสัมผัสกรุบกรอบและความสดชื่นจากไชโป้วซึ่งเข้ากันได้เป็นอย่างดีกับรสของโทโร่
ยังไม่หลงใหลซูชิถึงขนาดนั้นใช่มั้ย? ไม่ต้องกังวล นอกจากซูชิยังมีอีกหลายเมนูในญี่ปุ่นที่น่าสนใจรอคุณอยู่ !
จากลิสหน้าซูชิเหล่านี้ คุณจะเห็นได้เลยว่าการรับประทานซูชิในญี่ปุ่นนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นเพราะมีเนื้อปลาและวัตถุดิบที่หลากหลายกว่าให้คุณเลือก เก็บลิสนี้ไว้ดูแล้วไปลิ้มลองซูชิหน้าต่างๆ ให้เต็มที่ไปเลย !
หากคุณต้องการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความของเรา มีเรื่องที่อยากทราบหรือมีคำถามเกี่ยวกับญี่ปุ่น ก็สามารถบอกเราได้ทางI Facebook, Twitter, หรือบอกเราโดยตรงได้เลยผ่าน Google Form!
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่