พิพิธภัณฑ์เมจิมูระในจังหวัดไอจิ: ตามรอยการพัฒนาเข้าสู่ความทันสมัยในยุคเมจิ
พิพิธภัณฑ์เมจิมูระ หนึ่งในจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัดไอจิ ครอบครองสิ่งก่อสร้างที่ถูกระบุให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมของชาติไว้กว่า 11 หลัง ละครอิงประวัติศาสตร์และอนิเมชั่นหลายเรื่องได้ใช้สวนแห่งนี้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการถ่ายทำและผลิตฉากอนิเมชั่นต่างๆ มันจะรู้สึกเหนือจริงอย่างยิ่งหากคุณได้มาทัวร์สถานที่แห่งนี้หลังจากรับชมผลงานดังกล่าว มาดูกันเลยว่าสวนอันแสนวิเศษนี้มีอะไรที่น่าสนใจอยู่บ้าง
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
พิพิธภัณฑ์เมจิมูระ (博物館明治村) เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร ตั้งอยู่ในเมืองอินุยามะของจังหวัดไอจิ จัดแสดงสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างของรัฐที่กระจายตัวอยู่ทั่วญี่ปุ่นในยุคเมจิเอาไว้ถึง 67 แห่ง
พิพิธภัณฑ์เมจิมูระเปิดให้บริการขึ้นเมื่อปี 1965 ในช่วงที่ญี่ปุ่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูง นักสถาปัตยกรรมอย่างคุณ Taniguchi Yoshiro (谷口吉郎) และประธานบริษัท Nagoya Railway อย่างคุณ Tsuchikawa Motoo (土川元夫) รู้สึกเสียใจที่สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าของยุคเมจิมากมายได้สูญหายไปในกระแสของสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ พวกเขาจึงร่วมมือกันก่อสร้างสวนแห่งนี้ขึ้นเพื่ออนุรักษ์สมบัติทางวัฒนธรรมที่กำลังเผชิญหน้ากับภัยอันตรายจากโครงการพัฒนาต่างๆ ด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของพิพิธภัณฑ์เมจิมูระ
ที่เห็นอยู่นี้คือเคยเป็นโบสถ์เซนต์จอห์นจากเกียวโต เป็นหนึ่งในสิ่งก่อสร้างแรกๆ ที่ถูกย้ายมายังพิพิธภัณฑ์เมจิมูระตอนช่วงที่เริ่มเปิดให้บริการใหม่ๆ สไตล์สถาปัตยากรรมหลักเป็นแบบโรมาเนสก์ แต่ในส่วนของยอดโค้งแหลมของหน้าต่างและประตู รวมไปถึงหน้าต่างทรงโค้งที่มีโครงกั้นนั้น เป็นการออกแบบในแบบกอธิค ความสวยงามของมันทำให้แม้แต่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นเองก็ยังต้องตกตะลึง แม้แต่ในญี่ปุ่นเอง สิ่งก่อสร้างอันโออ่าแบบตะวันตกนี้ก็เริ่มมีจำนวนลดน้อยลงไปตามกาลเวลา คนญี่ปุ่นหลายๆ คนอาจคาดไม่ถึงว่าจะได้พบกับโบสถ์ยุโรปอันอลังการเช่นนี้ที่ประเทศบ้านเกิดของตัวเอง
ภาพด้านบนนี้คือบ้านของขุนนาง Saigo Tsugumichi (西郷従道) เป็นคฤหาสน์ที่สร้างแบบ "สไตล์โคโลเนียล" Saigo Tsugumichi เป็นน้องชายของ Saigo Takamori (西郷隆盛) ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในยุคบาคุมัตสึ (ช่วงท้ายของรัฐบาลเอโดะ) และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกองทัพและทหารเรือในยุคเมจิ ใน Segoden ละครโทรทัศน์เรื่องยาวของ NHK ที่ออกอากาศเมื่อปี 2018 คุณ Nishikido Ryo (錦戸亮) ได้สวมบทบาทแสดงเป็นวีรบุรุษในยุคฟื้นฟูเมจิท่านนี้
กลับมาที่ตัวของอาคารกันอีกครั้ง สิ่งที่ทำให้อาคารยุโรปแห่งนี้ถูกเรียกว่าเป็น "สไตล์โคโลเนียล" นั้นอยู่ที่ระเบียงของมัน โครงสร้างอาคารแบบตะวันตกแท้ๆ จะไม่มีระเบียง แต่เมื่อยุโรปเข้ามาขยายอาณานิคมในเอเชีย โครงสร้างระเบียงแบบเอเชียจึงถูกเพิ่มเข้ามาในตัวอาคารแบบตะวันตกเพื่อให้รับกับสภาพอากาศในท้องถิ่น และใช้เป็นพื้นที่สำหรับติดต่อสื่อสารกับประชาชน จนในที่สุดสิ่งก่อสร้างสไตล์นี้ก็ได้รับการยอมรับ และชาวญี่ปุ่นที่เห็นด้วยกับการปรับตัวเข้าสู่สังคมแบบตะวันตกก็ได้นำไปใช้ด้วย
ด้านล่างนี้คืออาคาร 2 แห่งของรัฐที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า Giyofu (擬洋風) หรือสไตล์กึ่งตะวันตก โดยถูกออกแบบขึ้นในช่วงยุคเมจิตอนต้น ได้แก่ สำนักงานประจำจังหวัดมิเอะและสำนักงานประจำเขตฮิกาชิยามานาชิ ตามลำดับ
สไตล์ Giyofu บ่งลอกถึงสไตล์ของสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นในช่วงเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะรับเทคนิคการก่อสร้างแบบตะวันตกแท้ๆ เข้ามาใช้ อาคารที่สร้างเลียนแบบสไตล์ตะวันตกทั้งสองหลังนี้ถูกสร้างขึ้นโดยช่างไม้ชาวญี่ปุ่น ในขณะเดียวกันก็มีเอกลักษณ์อันเฉพาะตัวเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากแนวคิด "การผสมผสานกันระหว่างตะวันตกกับตะวันออก" และ "จินตนาการที่มีต่อตะวันตก" ส่วนที่เป็นเรื่องบังเอิญก็คือทั้งสำนักงานประจำจังหวัดมิเอะและสำนักงานประจำเขตฮิกาชิยามานาชิ ได้ถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำละคร และได้ไปปรากฏอยู่ในละครญี่ปุ่นที่ชื่อ "Saka no Ue no Kumo" และ "Tenno no Ryoriban (สุดยอดเชฟวังหลวง)" ตามลำดับ
บริเวณตรงข้ามกับสำนักงานประจำจังหวัดมิเอะเป็นที่ตั้งของโรงงานสาขาชิมบาชิของสำนักรถไฟญี่ปุ่น ภายในมีการจัดแสดงตู้รถไฟหลวงของจักรพรรดิเมจิและจักรพรรดินีโชเก็ง เป็นจุดที่แฟนๆ รถไฟไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง!
ตู้รถไฟหลวงหมายถึงตู้รถไฟพิเศษที่ใช้โดยคนในราชวงศ์ ทั้งสองตู้นี้ได้รับการตกแต่งโดยตรารูปดอกเบญจมาศและตราเพาโลว์เนีย 5 - 7 ดอกอันเป็นสัญลักษณ์ของราชวงศ์หลวง นอกจากสัญลักษณ์ของราชวงศ์เหล่านี้แล้ว ตู้รถไฟของจักรพรรดินีโชเก็งยังได้รับการประดับด้วยตราของตระกูลอิจิโจ (一条家) อีกด้วย จักรพรรดินีโชเก็งเกิดในตระกูลอิจิโจที่เป็นสาขาของตระกูลฟูจิวาระ (藤原氏) ตระกูลขุนนางที่มีอำนาจที่สุดของญี่ปุ่น ตราของตระกูลอิจิโจจึงแสดงถึงตระกูลฟูจิวาระด้วยเช่นกัน
สิ่งก่อสร้างสไตล์เยอรมันที่เห็นอยู่นี้ เคยถูกใช้เป็นศูนย์ค้นคว้าทางการแพทย์ที่ก่อตั้งขึ้นโดย Kitasato Shibasaburo (北里柴三郎) ผู้ที่ได้ขึ้นมาปรากฏอยู่บนแบงค์ 1,000 เยนในปัจจุบัน Kitasato Shibasaburo เป็นนักแบคทีเรียวิทยารุ่นบุกเบิก โดยเขาได้ประสบความสำเร็จในการเพาะเชื้อบาดทะยักร่วมกับทีมของเขาในขณะที่ศึกษาอยู่ที่เยอรมันนี ทั้งยังเป็นผู้ที่พัฒนาเซรั่มรักษาโรคบาดทะยักดังกล่าวอีกด้วย งานจัดแสดงที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยของ Kitasato Shibasaburo สามารถพบได้ในอาคารหลังนี้ เขาได้เลือกให้สร้างศูนย์วิจัยแห่งนี้แบบเยอรมันเนื่องจากความคุ้นเคยในขณะที่ได้ศึกษาอยู่ที่เยอรมันนีนั่นเอง
อาคารไม้ไสตล์ญี่ปุ่นด้านล้างนี้คือโรงพยาบาลกลางของสภากาชาดญี่ปุ่น ออกแบบโดย Katayama Tokuma (片山東熊) หนึ่งในสถาปนิกที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุคเมจิ
Katayama มีชื่อเสียงจากสถาปัตยกรรมตะวันตกโบราณสไตล์ฝรั่งเศส โดยเฉพาะสิ่งก่อสร้างที่เขาออกแบบให้กับราชวงศ์หลวง เช่น พระตำหนักอากาซากะและเหล่าพิพิธภัณฑ์หลวง (ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในชื่อ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ) อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลกลางของสภากาชาดญี่ปุ่นที่เขาออกแบบในช่วงเริ่มต้นอาชีพนั้นแตกต่างกับสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ของเขาเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นอาคารไม้สร้างขึ้นโดยคงความเป็นญี่ปุ่นเอาไว้สูงมากๆที่ ส่วนของหอคอยเล็กๆ ที่อยู่บนหลังคานั้น สันนิษฐานกันว่ามีไว้เพื่อช่วยระบายอากาศ
โรงพยาบาลกลางของสภากาชาดญี่ปุ่นยังได้ไปปรากฏอยู่บนภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง ซึ่งรวมถึง “Saka no Ue no Kumo” และ “Haru no Yuki (ลิขิตรัก หิมะโปรย)” นอกจากนี้ อนิเมชั่นเรื่อง "Golden Kamuy" ก็ยังได้ใช้อาคารหลังนี้เป็นแหล่งอ้างอิงในการวาดอีกด้วย
สิ่งก่อสร้างที่มีโดมขนาดใหญ่อยู่ด้านบนนี้คือที่ทําการไปรษณีย์อุจิยามาดะ ซึ่งแต่เดิมตั้งอยู่ด้านหน้าศาลเจ้าอิเสะ อาคารทั้งหลังมีโครงสร้างวนรอบโถงวงกลมที่อยู่ตรงกลาง มีปีกแยกออกไป 2 ข้างซ้ายขวาเหมือนตัววีและมีหลังคาที่ทำจากทองแดง หลังคาทรงโดมของหอคอยทั้ง 2 ข้างนั้นสร้างแบบบาโรก ซึ่งเข้ากันได้อย่างน่าประหลาดกับตัวอาคารหลักอันแสนเรียบง่ายที่สร้างจากไม้ สิ่งก่อสร้างอันมีเอกลักษณ์เช่นนี้อาจไม่มีให้เห็นที่อื่นแล้วนอกเหนือจากญี่ปุ่น หากคุณเคยรับชมละครโทรทัศน์ช่วงเช้าเรื่อง "Gochisosan (เมโกะ สาวน้อยนักกิน)"ของ NHK แล้ว คุณจะต้องจดจำอาคารหลังนี้ได้อย่างแน่นอน!
โบสถ์แห่งนี้เคยเป็นมหาวิหารเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์แห่งเกียวโต ภายนอกดูเหมือนโบสถ์ยุคกลางสีขาวทั่วๆ ไปที่ไม่มีการตกแต่งอะไรเป็นพิเศษ และดูเทียบไม่ได้เลยกับโบสถ์เซนต์จอห์นข้างต้น แต่เมื่อเข้าไปภายในแล้ว คุณจะพบว่าแสงสีที่เกิดจากแสงที่ส่องผ่านงานกระจกสีลงมานั้นงดงามตระการตามาก! หากวางแผนที่จะแวะมาแล้วล่ะก็ ขอแนะนำให้เลือกเดินทางมาในวันที่มีแดดดีๆ
สถาปัตยกรรมที่มีซุ้มประตูสุดอลังการเหมือนปราสาทตะวันตกนี้คือประตูทางเข้าหลักของเรือนจำคานาซาว่า ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เรือนจำหลักของยุคเมจิ สร้างขึ้นโดย Yamashita Keijiro (山下啓次郎) สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวกับกฏหมาย นอกจากนี้ "เรือนจำใหญ่ทั้ง 5" ยังเป็นผลงานของเขาทั้งหมดอีกด้วย
หากมองในมุมมองด้านความงามของคนยุคปัจจุบัน หลายคนอาจไม่เข้าใจว่าทำไมเรือนจำถึงถูกสร้างแบบ "โอ่อ่า มีสไตล์ และเต็มไปด้วยการตกแต่ง" เช่นนี้
อันที่จริง สถาปัตยกรรมได้ถูกใช้เป็นตัวกลางในการแสดงอำนาจมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว ศัพท์ทางสถาปัตยกรรมหลายคำก็เป็นเครื่องมืออันดีในการถ่ายทอดแนวคิดความเชื่อต่างๆ แม้ว่าศิลปะทุกแขนงก็มีฟังก์ชั่นนี้เช่นกัน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ศิลปะเชิงสร้างสรรค์อย่างภาพเขียน ละคร และอื่นๆ เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง อีกทั้งผู้คนที่สามารถเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้นั้น ก็ต้องเป็นคนที่มีการศึกษาอยู่ระดับหนึ่งอีกด้วย แต่อีกด้านหนึ่ง ในกรณีของสถาปัตยกรรม ทุกคนสามารถเดินผ่านและมองเห็นสิ่งก่อสร้างอันใหญ่โตเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย
ในยุคเมจิ การที่อาคารของรัฐแบบตะวันตกหลายแห่งถูกสร้างขึ้นอย่างยิ่งใหญ่นั้น ไม่เพียงแต่แสดงออกถึงความต้องการถอดถอนตัวเองออกจากเอเชียและเข้าร่วมกับกลุ่มอำนาจตะวันตกของญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงอำนาจการปกครองที่มีอยู่เหนือผู้คนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเรือนจำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นเพื่อลงโทษและให้ความรู้
ด้านบนบนนี้คือตัวอย่างของห้องขังในเรือนจำคานาซาว่า แต่เดิมเรือนจำแห่งนี้มีห้องขังอยู่ห้าแถว เรียงอยู่รอบป้อมผู้คุมส่วนกลางทรงแปดเหลี่ยมที่มีหอสังเกตการณ์อยู่ด้านบน เป็นการออกที่ช่วยให้ผู้คุมสามารถเฝ้าดูและบริหารจัดการเรือนจำทั้งหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อถูกย้ายมาที่เมจิมูระ มีเพียงห้องขังในเขตที่ 5 เท่านั้นที่ยังหลงเหลืออยู่
อันดับต่อไปเราจะพาคุณไปพบกับสำนักงานใหญ่ของธนาคารคาวาซากิ สิ่งก่อสร้างอันประหลาดตาที่เห็นอยู่ด้านล่าง เดิมตั้งอยู่ในย่านนิฮงบาชิของโตเกียว ตัวอาคารดั้งเดิมเป็นอาคาร 3 ชั้นที่ตั้งอยู่บนที่สูง จึงเป็นจุดสูงสุดของหมู่บ้านที่สามารถมองเห็นได้จากไกลๆ หากขึ้นไปด้านบนแล้ว คุณจะได้รับชมวิวทิวทัศน์ของเมจิมูระอย่างทั่วถึงเลยทีเดียว
ธนาคารคาวาซากิสร้างขึ้นในสไตล์นีโอคลาสสิก ซึ่งเป็นสไตล์ยอดนิยมของธนาคารในสมัยนั้น อย่างไรก็ตาม ตัวธนาคารถูกรื้อถอนเพื่อสร้างใหม่ในปี 1986 มีเพียงส่วนมุมหนึ่งของตัวอาคารเท่านั้นที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ที่นี่ ส่วนทางเข้าของตัวอาคารเดิมถูกผนวกเข้ากับส่วนหน้าของตัวอาคารใหม่ในสถานที่เดิม น่าแปลกที่ส่วนที่ได้รับการอนุรักษ์นี้ดูมีสไตล์ "โพสต์โมเดิร์น" เอามากๆ!
สุดท้ายนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ โถงทางเข้าหลักของ Imperial Hotel ตั้งอยู่ในส่วนลึกสุดของเมจิมูระ ว่ากันว่าเป็นสมบัติอันดับ 1 ของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เลยทีเดียว!
Imperial Hotel นี้ แต่เดิมถูกสร้างขึ้นในช่วงครึ่งหลังของยุคไทโช ออกแบบโดย Frank Lloyd Wright สถาปนิกชาวอเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ สไตล์การก่อสร้างของ Imperial Hotel นี้จัดได้ว่าอยู่ในกลุ่มของโมเดิร์นนิสม์ อาคารอันใหญ่มหึมานี้ยังสร้างขึ้นโดยใช้เพียงเส้นแนวขวางและแนวตั้งเกือบทั้งหมดอีกด้วย ส่วนของการตกแต่งนั้นมีการใช้ลวดลายเรขาคณิตในเชิงนามธรรม หากไม่นับเสาที่อยู่ในสระน้ำและโครงสร้างรูปครึ่งวงกลมที่อยู่หน้าทางเข้าหลักแล้ว ส่วนหน้าของอาคาร แผ่นดินเผาบนเสา และบล็อกซีเมนต์ ก็ล้วนแต่ถูกสลักไปด้วยลวดลายเรขาคณิตที่ซับซ้อนต่อเนื่องกัน ซึ่งแสดงถึงอักษรมายาที่เกาะกลุ่มกันอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เอง สถาปัตกรรมในสไตล์นี้จึงเป็นที่รู้จักในชื่อ "สถาปัตยกรรมฟื้นฟูมายัน"
Imperial Hotel ไม่เพียงแต่มีการตกแต่งภายนอกแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนเท่านั้น แต่ยังถูกสร้างให้ทนทานต่อแผ่นดินไหวได้สูงเพื่อตอบรับกับประเทศญี่ปุ่นที่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งอีกด้วย หลังจากที่โรงแรมสร้างเสร็จได้ไม่นานก็เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่คันโตขึ้น ในขณะที่โตเกียวเกือบทั้งหมดได้กลายเป็นซากปรักหักพัง Imperial Hotel เป็นอาคารเพียงไม่กี่แห่งที่ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเนื่องจากที่นี่สามารถรอดจากแผ่นดินไหวและการโจมตีทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่สองมาได้ ภายหลังจบสงครามที่นี่จึงถูกเกณฑ์เข้าไปอยู่ในการควบคุมของกองทัพพันธมิตร จนถึงในปี 1967 ที่มีคำสั่งให้รื้อถอนโรงแรมแห่งนี้เนื่องจากปัจจัยต่างๆ อย่างความเก่า ดูล่าสมัย และฐานล่างที่ทรุดตัวลง โรงแรมนี้ไม่เพียงแต่เป็นจุดสำคัญของประวัติศาสตร์สถาปตยกรรมญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงที่โด่งดังที่สุดของ Wright อีกด้วย คุณสามารถเห็น Imperial Hotel ที่แสนอลังการแห่งนี้ได้ในละครญี่ปุ่นหลายเรื่อง ตัวอย่างเช่น “Manpuku” “Half Blue” “Hanako to Anne (ฮานาโกะ นักแปลสาวหัวใจแกร่ง)” และ “Onna no Kunsho” หรือแม้แต่ในมิวสิควีดีโอของนักร้องที่ชื่อ Nishino Kana (西野カナ) ก็เช่นกัน
หากการเดินเที่ยวรอบสวนอันกว้างใหญ่นี้ดูเหนื่อยเกินไปสำหรับคุณ ทางเมจิมูระก็ยังมีรถจักรไอน้ำและรถรางไว้ให้บริการด้วย
รถจักรไอน้ำเก่าแก่ทั้งสองที่วิ่งให้บริการอยู่นี้ เป็นรถจักรไอน้ำที่ครั้งหนึ่งเคยวิ่งให้บริการจากโยโกฮาม่าไปชิมบาชิ และระหว่างฟูจิในจังหวัดชิซูโอกะกับเมืองโอมิยะ ในส่วนของรถรางนั้น พวกมันเป็นส่วนหนึ่งของ Kyoto Shiden (รถไฟประจำเมืองเกียวโต) ซึ่งเป็นระบบรถไฟที่ใช้ไฟฟ้าในการขับเคลื่อนระบบแรกของญี่ปุ่น
นอกเหนือจากการจัดแสดงที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว เมจิมูระยังเป็นสถานที่จัดอีเวนต์ต่างๆ มากมาย ตัวอย่างเช่น งานคอสเพลย์ เกมไขปริศนา และเกมเศรษฐีขนาดเท่าตัวคนจริง ในครึ่งหลังของปีนี้ เมจิมูระจะร่วมมือจัดซีรีย์กิจกรรมหลายอย่างกับมังงะเรื่อง "Rurouni Kenshin (ซามูไรพเนจร)" ที่น่าจับตามองเป็นอันดับแรกก็คือ Sakabato (ดาบสลับคม) ดาบคู่ใจของ Himura Kenshin ตัวเอกของเรื่อง ที่ถูกสร้างขึ้นจริงๆ โดยช่างตีดาบ Ogawa Kanekuni (尾川兼圀) จะถูกจัดแสดงนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นไป เป็นอีเวนต์ที่แฟนๆ มังงะไม่ควรพลาดเป็นอย่างยิ่ง!
หากคุณมีโอกาสได้เดินทางไปจังหวัดไอจิแล้ว โปรดอย่าลืมที่จะแวะไปยังพิพิธภัณฑ์เมจิมูระ เพื่อสัมผัสเรื่องราวของการพัฒนาสู่ความทันสมัยที่แสนจะโรแมนติกของยุคเมจิดูสักครั้ง
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่