วอนและริเอะ อัลลิสัน - สร้างมิตรภาพและชุมชนในโตเกียวผ่านกาแฟและศิลปะ
หากอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศต่างๆ ก็ต้องเริ่มจากการรู้จักกับผู้คนในท้องถิ่น! บทสัมภาษณ์ซีรี่ส์ "People of Japan" ของพวกเราจะพาคุณไปรู้จักกับญี่ปุ่นให้มากขึ้นผ่านผู้คนที่มีแพชชั่นอันเร่าร้อน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้สืบสานวัฒนธรรม หรือคนเจ๋งๆ ในหลากหลายสาขา สำหรับบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปพบกับคุณวอนและคุณริเอะ อัลลิสัน ผู้เป็นเจ้าของร้านกาแฟ MIA MIA และแกลเลอรี่ I AM ในแถบฮิกาชินางาซากิทางตะวันตกเฉียงเหนือของโตเกียว
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
วอนและริเอะ อัลลิสัน: คู่รักนักสร้างสรรค์
วอนเป็นชายหนุ่มที่มีบทบาทมากมาย เขามักจะยุ่งอยู่กับงานหลากหลายอย่าง ทั้งการเป็นนายแบบ นักประพันธ์เพลง และคนรักกาแฟ "ผมเรียนรู้อะไรมาจากหลายๆ วงการน่ะครับ" เขาบอกพวกเราเช่นนั้น แล้วเล่าว่า 20 ปีที่ผ่านมาเขาต้องเขียนงานให้กับนิตยสารไลฟ์สไตล์จึงจดจ่ออยู่กับปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนมาโดยตลอด และยังติดต่อกับร้านกาแฟท้องถิ่นมากว่า 15 ปีด้วย
เมื่อถามว่าเขาแบ่งเวลาให้กับแต่ละโปรเจคท์อย่างไร คุณวอนก็หัวเราะและบอกว่า "ผมไม่แบ่งน่ะ" วอนมาถึงญี่ปุ่นในช่วงที่กาแฟพิเศษ (specialty coffee) กำลังบูมในญี่ปุ่นเป็นรอบที่ 3 พอดี และทุ่มเทเวลาไปกับการทำความรู้จักร้านกาแฟอินดี้ทั่วญี่ปุ่น เห็นว่าน่าจะเคยไปมามากกว่า 1,000 ร้านเลยทีเดียว วอนบอกว่าเขามีรายชื่อของร้านกาแฟ คาเฟ่ และเบเกอรี่ที่วางแผนจะไปตั้งแต่ก่อนเปิด MIA MIA อยู่ด้วย แต่ก็ไม่เคยไปได้ครบสักที "เวลาไปร้านกาแฟก็ถามบาริสต้าตลอดเลยครับว่ามีแนะนำร้านไหนอีกไหม ลิสท์เลยไม่สั้นลงสักที"
ส่วนริเอะจะทำงานสายสถาปัตยกรรมเป็นหลัก โดยทำมานานกว่า 10 ปีแล้วและมีธุรกิจเป็นของตัวเองด้วย เธอหาแรงบันดาลใจจากชีวิตประจำวันรวมถึงการพบปะและพูดคุยกับผู้คน ริเอะอธิบายว่า "การเป็นสถาปนิกก็เหมือนกับการเป็นศูนย์กลางการสื่อสารนั่นแหละค่ะ เราต้องทำงานเป็นทีมและคุยกับคนอื่นๆ"
ถึงแม้วอนและริเอะจะไม่ได้มีบ้านเกิดอยู่ที่โตเกียวเลยทั้งคู่ (วอนมาจากออสเตรเลีย และริเอะมาจากจังหวัดมิยาซากิ) แต่ทั้งสองคนก็ตัดสินใจลงหลักปักฐานอยู่ที่ละแวกบ้านเงียบๆ ในโตเกียว "โตเกียวมีที่สุดของทุกอย่างเลยครับ" วอนบอก "ถ้าคุณมีเวลามองนะ"
ฮิกาชินางาซากิ - ตามหาเสน่ห์ของวอนกับริเอะในละแวกบ้านสุดอาร์ท
พวกเราไปตามหาวานกับริเอะที่ฮิกาชินางาซากิ ละแวกบ้านเรียบง่ายที่มีร้านอาหารแปลกๆ และร้านค้าเล็กๆ ให้เห็นประปราย แถบนี้ไม่มีร้านเครือใหญ่ๆ อยู่เลย จึงเป็นทำเลที่สมบูรณ์แบบสำหรับการเปิดร้านกาแฟ สมกับที่วอนกับริเอะตามหามาถึง 5 ปี วอนถูกใจบรรยากาศอาร์ทๆ ของที่นี่มาก เขาเล่าให้เราฟังว่าที่นี่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าศิลปินมาก่อนด้วย "แถบนี้มีอพาร์ทเมนท์ที่อนุญาตให้ใช้เครื่องดนตรีได้เยอะเลยครับ เลยรู้ว่าต้องมีศิลปินอยู่เยอะแน่ๆ"
ร้าน MIA MIA เป็นร้านอันน่าตื่นตาตื่นใจที่เสิร์ฟกาแฟอร่อยๆ และวางขายสินค้าดีไซน์สวยๆ ส่วนแกลเลอรี่ I AM ก็จัดแสดงและขายงานศิลปะจากศิลปินออสเตรเลีย โดยริเอะจะเป็นคนเลือกศิลปินที่อยากแนะนำด้วยตัวเองทุกๆ 3 เดือน นอกจากนี้เพื่อทำให้ละแวกนี้มีเสน่ห์มากขึ้นไปอีก วอนกับริเอะก็อาศัยพื้นเพในด้านงานสร้างสรรค์ริเริ่มโปรเจคท์ต่างๆ ร่วมกับชุมชนท้องถิ่นขึ้นมาด้วย
เราพบกับวอนและริเอะเป็นครั้งแรกที่ I AM ซึ่งทั้งสองเรียกว่าเป็น "ร้านบริการวัฒนธรรม" (cultural kiosk) วอนได้นำพวกเราไปชมโปรเจคท์ต่างๆ ที่เริ่มทำกับชุมชนท้องถิ่นที่แกลเลอรี่ ทางด้านหน้าจะเป็นสวนเล็กๆ ที่เด็กๆ ในละแวกสามารถมาช่วยกันดูแลได้ และเห็นว่ามักจะมีผู้สูงอายุมาช่วยให้เทคนิคการทำสวนอยู่บ่อยๆ ที่นี่ยังเป็นเหมือนศูนย์ปุ๋ยหมักของชุมชนด้วย โดยด้านหน้าจะมีตู้ทำปุ๋ยหมัก ส่วนทางด้านหลังก็มีถังหมักปุ๋ยขนาดใหญ่วางอยู่ "ถ้าใครมีอะไรอยากทิ้งก็เอามาทิ้งได้ แล้วตอนอยากได้ปุ๋ยไปใช้ก็กลับมาเอาไปได้ครับ"
นอกจากนี้ยังมีชั้นวางหนังสือเล็กๆ ที่เป็นเหมือนห้องสมุดน้อยๆ อยู่ด้วย ให้คนในชุมชนสามารถอ่านและแบ่งปันหนังสือเล่มเดียวกันได้ วอนกับริเอะต้องการใช้ถาปัตยกรรมแบบเปิดและดีไซน์ที่จับต้องได้เช่นนี้สร้างพื้นที่ที่ทุกคนได้รับการต้อนรับ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งสัตว์เลี้ยงก็ตาม
ตอบรับความต้องการในท้องถิ่น - แรงบันดาลใจในการเปิดร้านกาแฟ
วอนมีความสามารถที่โดดเด่นในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ซึ่งในโตเกียวอาจจะดูยากอยู่สักหน่อย "พวกเราอยู่ในยุคของโลกออนไลน์ครับ" วอนอธิบาย "การปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเลยสำคัญมาก เราก็อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้มันเกิดขึ้นด้วย" สำหรับวอนแล้ว การไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใครเลยจะสร้างบรรยากาศที่เศร้าหมอง ในขณะที่การมีปฏิสัมพันธ์จะนำไปสู่อะไรบางอย่างเสมอ และอาจจะมีประโยชน์ต่อผู้คนในอนาคตด้วย เช่นเวลาที่ต้องพึ่งพาใครสักคนหรือปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น "สิ่งที่ยิ่งใหญ่มันก็เริ่มต้นจากอะไรเล็กๆ นี่แหละครับ" เขาว่า
วอนกับริเอะเล่าให้เราฟังว่าร้านกาแฟในออสเตรเลียมักจะมีพนักงานเฟรนด์ลี่ๆ อยู่เสมอ และวัฒนธรรมร้านกาแฟอินดี้ก็แข็งแกร่งมากจนร้านกาแฟในเครือใหญ่อยู่รอดได้ยาก แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีร้านกาแฟท้องถิ่นเล็กๆ อยู่เยอะ แต่ร้านเครือใหญ่ก็รุกรานเข้ามามาก จึงไม่ค่อยเห็นบริการแบบตัวต่อตัวเท่าไรนัก "คนส่วนใหญ่จะซื้อกาแฟจากร้านแบรนด์ใหญ่ ตู้ขายของอัตโนมัติ หรือไม่ก็ร้านสะดวกซื้อ" วอนให้ความเห็น "ไม่มีเซนส์ของความเป็นชุมชนเลยครับ"
"เราอยากให้ญี่ปุ่นมีบรรยากาศเป็นมิตรแบบออสเตรเลียบ้างน่ะค่ะ" ริเอะเสริม
MIA MIA - ร่มไม้ชายคาออสเตรเลียในญี่ปุ่น
"Mia Mia" (อ่านว่า มา-ยา-มา-ยา) เป็นคำของออสเตรเลียอะบอริจินที่แปลว่าร่มไม้ชายคา (shelter) ในช่วงที่ท่องเที่ยวอยู่ในออสเตรเลีย วอนกับริเอะได้เจอกับ Mia Mia ซึ่งเป็นกระท่อมไม้ที่เพื่อนๆ และขาจรสามารถมานั่งเรื่อยเปื่อยด้วยกันได้ เมื่อรู้ว่าชื่อของกระท่อมนั้นมาจากอะไร วอนกับริเอะก็ตัดสินใจได้ทันทีว่านี่จะเป็นชื่อร้านใหม่ของพวกเขา
ความคิดของวอนที่ว่าการปฏิสัมพันธ์จะนำโอกาสมาสู่ผู้คนได้รับการพิสูจน์ด้วยร้านกาแฟของเขาเอง ร้าน Mia Mia ได้รับความร่วมมือจากเพื่อนของวอนกับริเอะและผู้มีความสามารถมากหน้าหลายตา อย่างโลโก้ก็ได้ Paik Design Office เป็นผู้ดีไซน์ให้ ส่วนถ้วยกาแฟก็เป็นงานออริจินัลของ yumiko iihoshi porcelain
แม้ว่าร้านของพวกเขาจะกลมกลืนไปกับทิวทัศน์ของฮิกาชินางาซากิ แต่ก็ยังดูมีชีวิตชีวาด้วยผู้คนท้องถิ่นและผู้มาเยือนมากมาย ดีไซน์ของร้านเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ผู้คนรู้สึกสบายใจที่จะมา อย่างเช่นหน้าต่างและประตูที่จะเปิดอยู่เสมอ "ฤดูหนาวก็เปิดนะครับ" วอนหัวเราะ
ทักษะด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมของริเอะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้าง MIA MIA และ I AM ริเอะสามารถปรับรูปแบบของร้านได้เสมอเวลาที่อยากรู้ว่ารูปแบบสถาปัตยกรรมต่างๆ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไรในชีวิตจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาปนิกหลายคนไม่ทำหรือไม่สามารถทำได้ ระหว่างที่รีโนเวทพื้นที่ใน MIA MIA ทั้งสองคนจะพยายามให้ร้านเปิดกว่างและถ่ายเทอากาศได้อย่างดีที่สุด อย่างเช่นเปลี่ยนหน้าต่างให้เปิดได้มากขึ้น หรือปรับการจัดวางภายในให้สามารถพูดคุยกับพนักงานและลูกค้าได้สะดวกขึ้น เป็นต้น
แม้กระทั่งการจัดวางเครื่องทำเอสเปรสโซก็ผ่านกระบวนการคิดมาแล้วอย่างดี โดยจะวางในตำแหน่งที่ทั้งพนักงานและลูกค้าจะปฏิสัมพันธ์กันได้ง่ายที่สุด หลักเลี่ยงไม่ให้ใครรู้สึกว่าถูกกีดกัน
เมื่อพูดถึงการออกแบบพื้นที่ ริเอะบอกว่า "ความสมดุลสำคัญมากค่ะ ถ้าเราทำให้มันดูล้ำเกินไปคนก็จะไม่กล้าเข้าร้าน ผู้คนจะรู้สึกผ่อนคลายได้ในพื้นที่ที่ดูคุ้นเคยน่ะค่ะ" และความละเอียดอ่อนของเธอก็ออกผลเป็นอย่างดี การออกแบบของ MIA MIA ดูมีเสน่ห์และแปลกใหม่ ในขณะที่ก็ยังดูเป็นมิตรพอให้ผู้คนเข้ามาใช้เวลาได้อย่างสบายๆ
ใส่ใจกับการต้อนรับแขกให้สบายใจอย่างที่สุด
ระหว่างอยู่ที่ MIA MIA เราก็ได้เห็นทั้งวอนและริเอะคอยต้อนรับและพูดคุยกับลูกค้าที่แวะเวียนมาอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าประจำหรือหน้าใหม่ก็ล้วนได้รับการต้อนรับด้วยรอยยิ้มกว้างๆ อย่างเต็มใจ วอนจะคอยทักคนในท้องที่ที่ผ่านไปมาและทักทายพวกเขาพร้อมยิงมุกใส่ ในขณะที่ริเอะก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาของลูกค้าในร้านได้อย่างแนบเนียน
ริเอะบอกว่าเธออยากให้พนักงานได้เป็นตัวของตัวเองเวลาทำงานที่ร้าน ไม่จำเป็นต้องถูกจำกัดด้วยขนบธรรมเนียมการต้อนรับลูกค้าแบบญี่ปุ่น ผลักดันให้พนักงานสร้างบรรยากาศสบายๆ ที่จะช่วยให้ลูกค้าเปิดใจง่ายขึ้นด้วย
"ความเป็นมนุษย์พวกนี้คือสิ่งที่ทำให้ลูกค้าประจำกลับมาครับ" วอนบอกในขณะที่กำลังโบกมือลาลูกค้าท้องถิ่นที่แวะมาเกือบทุกวัน "ร้านกาแฟต้องหลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนให้ได้ ถ้าคุณมีใจและทัศนคติที่ดี อย่างไรร้านเล็กๆ ก็จะชนะ"
รวมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน: สิ่งที่ร้านกาแฟขาดไม่ได้
วอนและริเอะต่างก็เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากท่าทีในการต้อนรับลูกค้าแและทัศนคติในการดำเนินธุรกิจของทั้งสอง "คุณต้องตอบสนองความต้องการของแขกให้ได้ก่อนที่เขาจะรู้ตัวว่าต้องการอะไรครับ" วอนบอกพวกเราเช่นนั้น
บ้านเกิดของวอนเป็นดินแดนแห่งกาแฟที่ยอดเยี่ยมและบริการที่เยี่ยมยอด บุพการีของเขาเป็นเจ้าของภัตตาคาร วอนจึงช่วยเป็นงานพาร์ทไทม์มาตั้งแต่เด็กๆ "ผมอยู่กับกาแฟมาเกือบทั้งชีวิตอ่ะครับ" เขาอธิบาย "เครื่องทำเอสเปรสโซนี่เหมือนของเล่นผมเลย"
ในอีกมุมหนึ่ง ริเอะเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่เปิดร้านอิซากายะ เธอเชื่อว่านั่นทำให้เธอเคยชินกับการท่ามกลางเสียงดังๆ มากกว่าความเงียบสงบ แม้กระทั่งในตอนนี้ที่กลายเป็นสถาปนิกอย่างเต็มตัวแล้ว เธอก็ยังชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอยู่เช่นเดิม "งานสถาปัตยกรรมมันน่าสนใจก็เพราะเราสามารถสร้างพื้นที่ให้ผู้คนเชื่อมต่อกันได้นี่แหละค่ะ" ริเอะกล่าว
ทั้งสองบอกว่าเงื่อนไขหนึ่งที่พวกเขาใช้วัดคุณสมบัติของบาริสต้าคือความรู้เกี่ยวกับพื้นที่โดยรอบ "เวลาที่ฉันไปเที่ยว ฉันจะแวะร้านกาแฟถามบาริสต้าตลอดเลยค่ะว่าไปไหนดี" ริเอะบอก และวอนยังเสริมด้วยว่าการสื่อสารกับพนักงานและลูกค้าจะทำให้เราเข้าใจบรรยากาศของร้านกาแฟได้มากขึ้น
พวกเขามุ่งมั่นจะเป็นสถานที่เช่นนั้นในฮิกาชินางาซากิ โดยลงทุนถึงขั้นจ้างศิลปินชาวญี่ปุ่นให้วาดแผนที่ของละแวกนั้นขึ้นมาอย่างงดงามด้วย ตัวแผนที่อยู่บนประตูของ MIA MIA และขายแบบสำเนาให้ผู้ที่ต้องการมันช่วยนำทางหรือกระทั่งอยากได้เป็นของที่ระลึกน่ารักๆ "ผมไม่ชอบเวลาคนมาซื้อกาแฟแล้วก็พุ่งกลับไปที่รถไฟเลยน่ะ ผมอยากให้พวกเขาลองสำรวจรอบๆ ฮิกาชินางาซากิดูด้วย" วอนกล่าว
วอนและริเอะ ผู้ที่จะทำให้ใบหน้าของคุณมีรอยยิ้มได้เสมอ
หลังจากพูดคุยกันอย่างออกรสไม่แพ้กาแฟก็ถึงเวลาที่จะต้องบอกลา วอนและริเอะส่งพวกเรากลับอย่างสดใส และพวกเราก็พูดถึงเรื่องราวแสนมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นที่ร้านกาแฟไปตลอดทาง หากใครกำลังมองหากาแฟอร่อยๆ และบทสนทนาดีๆ ก็สามารถแวะมาหาวานกับริเอะที่ MIA MIA กันได้เลย ในช่วงกลางคืนทางร้านจะเปิดเป็นบาร์ด้วย ถ้าใครชื่นชอบบรรยากาศยามค่ำคืนมากกว่าก็สามารถแวะมาได้เช่นกัน
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่