"โอเฮนโระ" ประสบการณ์แสวงบุญครั้งหนึ่งในชีวิต ณ ภูมิภาคชิโกกุ!
เมื่อได้ยินคำว่า "จาริกแสวงบุญ" คนก็มักจะนึกถึงความศรัทธาเลื่อมใสในศาสนา มากกว่าการเดินชมธรรมชาติในประเทศญี่ปุ่นแน่ๆ แต่ครั้งนี้เราขอแนะนำ "ภูมิภาคชิโกกุ" ที่ตั้งของเส้นทางเดินจาริกแสวงบุญที่สวยงาม ชวนให้รู้สึกอบอุ่นในหัวใจและมีเอกลักษณ์ที่สุดในโลก นามว่า "โอเฮนโระ" (Ohenro) แม้แก่นของโอเฮนโระจะเป็นพุทธศาสนา แต่เส้นทางสายนี้ก็เปิดรับคนจากทุกภูมิหลัง เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณอันประกอบด้วยธรรมชาติ ถนนเปิดโล่ง และการต้อนรับแบบที่มีเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น ขอเชิญร่วมเดินทางสู่การผจญภัยครั้งหนึ่งในชีวิตไปกับเรา ที่เส้นทางจาริกแสวงบุญโอเฮนโระของชิโกกุ!
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
โอเฮนโระคืออะไร
"โอเฮนโระ" (Ohenro - お遍路) ไม่เพียงเป็นเส้นทางเดินจาริกแสวงบุญเท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงจากเส้นทางสักการะวัดที่มีเอกลักษณ์ทั้ง 88 แห่งที่อยู่รอบเกาะชิโกกุ (เกาะที่เล็กที่สุดในบรรดาเกาะหลักทั้งสี่ของญี่ปุ่น) อีกด้วย เส้นทางดังกล่าวจะมุ่งเน้นการตามรอยโคโบะ ไดชิ (Kobo Daishi) พระภิกษุที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่นในการเดินทางของเขาขณะแสวงหาการตรัสรู้รอบชิโกกุเมื่อราว 1,200 ปีก่อน
วัดทั้ง 88 แห่งล้วนแต่เป็นที่ที่โคโบะ ไดชิได้เดินทางไปเยือนเพื่อการฝึกปฏิบัติทางพุทธศาสนาหรือเพื่อการสวดภาวนาทั้งสิ้น และทุกแห่งก็ได้รับยกย่องให้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในปัจจุบัน การไปเยี่ยมเยือนวัดทั้ง 88 แห่งนี้เองที่เรียกว่า "โอเฮนโระ" เส้นทางจาริกแสวงบุญพิเศษของชิโกกุ
ผู้คนไปแสวงบุญบนเส้นทางโอเฮนโระด้วยหลายเหตุผล บางคนไปเพื่อแสวงหาการตรัสรู้ บางคนไปเพื่อหลบพักจากชีวิตประจำวันที่ซ้ำซากจำเจ บางคนไปเพื่อดื่มด่ำกับธรรมชาติที่สวยงามของชนบท ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คนส่วนใหญ่ต่างล้วนเห็นพ้องต้องกันว่ามันเป็นประสบการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปเลย
ไม่ว่าคุณกำลังมองหาอะไรเมื่อเริ่มต้นออกเดินทาง โอเฮนโระจะนำพาสิ่งที่คุณต้องการมาให้เมื่อสิ้นสุดการแสวงบุญอย่างแน่นอน
ต้นกำเนิดโอเฮนโระ "โคโบะ ไดชิ"
หากอยากเข้าใจจุดประสงค์และความนิยมของโอเฮนโระมากยิ่งขึ้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องรู้จักกับโคโบะ ไดชิซึ่งเป็นผู้ริเริ่มเส้นทางจาริกแสวงบุญนี้เป็นคนแรกเสียก่อน
โคโบะ ไดชิ รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่าคุไค (Kukai) เป็นหนึ่งในคนญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมากที่สุดที่เคยมีชีวิตอยู่ โคโบะ ไดชิเกิดในปีค.ศ. 774 เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในหลายแขนงตั้งแต่ด้านวิชาการ จิตวิญญาณ ไปจนถึงความสามารถทางกายภาพ
เขาเดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาและนำคำสอนกลับมายังประเทศญี่ปุ่น ให้กำเนิดศาสนาพุทธนิกายชินกน (Shingon) ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนรัฐบาลแห่งแรกสำหรับคนทั่วไป เป็นช่างเขียนพู่กันระดับตำนานที่กล่าวกันว่าเป็นคนประดิษฐ์ตัวอักษรคานะของญี่ปุ่นขึ้น (แม้คำกล่าวอ้างนี้จะยังเป็นที่ถกเถียงอยู่ก็ตาม) และได้เดินเท้าข้ามชิโกกุเพื่อไปเยือนและฝึกปฏิบัติที่วัดทั้ง 88 แห่งด้วย
โดยอย่างสุดท้ายนี่เองที่ทำให้ภาพของโคโบะ ไดชิได้ฝังรากอยู่ในใจของชาวญี่ปุ่นในฐานะของวีรบุรุษชาวบ้าน และการตามรอยการเดินทางของเขาก็เป็นที่รู้จักกันในนามโอเฮนโระในปัจจุบัน
การแต่งกายสำหรับโอเฮนโระ
หนึ่งสิ่งที่ทำให้โอเฮนโระแตกต่างจากการแสวงบุญอื่นๆ ก็คือเครื่องแต่งกายแบบพิเศษ ชุดสำหรับการจาริกแสวงบุญนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยปรับแนวคิดของคุณเท่านั้น แต่เพียงแค่เห็นก็รู้ได้ทันทีว่าคุณเป็นผู้แสวงบุญที่กำลังทำโอเฮนโระอยู่ ชุดจะประกอบไปด้วยเสื้อคลุมสีขาว ("hakui") ผ้าคล้องคอ ("wagesa") หมวกฟางทรงแหลม ("sugegasa") กระเป๋า ("zudabukuro") กระดิ่ง ("jirei") และลูกประคำ ("juzu")
นอกจากชุดนี้แล้ว นักเดินทางยังมีไม้เท้าพิเศษเรียกว่า "คงโงซุเอะ" (kongozue) ว่ากันว่าไม้เท้านี้จะช่วยให้จิตวิญญาณของโคโบะ ไดชิ สถิตอยู่กับผู้แสวงบุญ จึงนับเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญต่อผู้แสวงบุญโอเฮนโระมาก
การจาริกแสวงบุญที่โอเฮนโระเรียกอีกอย่างว่า "โดเงียวนินิง" (Dougyou Ninin) ซึ่งแปลว่า "สองคนบนเส้นทางเดียวกัน" เป็นการอนุมานว่าเมื่อทำโอเฮนโระ ผู้แสวงบุญที่ถือคงโงซุเอะเอาไว้จะมีโคโบะ ไดชิอยู่ด้วยเสมอนั่นเอง
นอกจากนี้ เสื้อคลุมสีขาวยังมีความสำคัญในเชิงศาสนาพุทธด้วย โดยเป็นชุดประเภทเดียวกับชุดสีขาวที่ผู้ตายสวมในงานศพของญี่ปุ่น แม้อาจจะฟังดูน่ากลัวในตอนแรก แต่แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการสวมใส่ชุดสีขาวนั้นคือการที่ผู้แสวงบุญกำลังเดินทางไปยัง "ดินแดนศักดิ์สิทธิ์" หลังความตายนั่นเอง
นอกจากนี้ มันยังเป็นเหมือนเครื่องยืนยันว่าหากผู้แสวงบุญเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง พวกเขาจะถูกเตรียมพร้อมสำหรับการบรรลุโพธิจิต แต่ในยุคปัจจุบันมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตระหว่างการโอเฮนโระค่อนข้างต่ำ ชุดของผู้แสวงบุญจึงกลายเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ไปโดยปริยาย
คุณไม่จำเป็นต้องสวมชุดนี้เพื่อการทำโอเฮนโระก็ได้ แต่ผู้แสวงบุญที่สวมจะได้รับการต้อนรับแบบพิเศษที่เรียกกว่า "โอเซตไต" (Osettai) ซึ่งจะไม่เหมือนกับการต้อนรับไหนๆ ในญี่ปุ่น (หรือในประเทศไหนในโลก) เราจะเจาะลึกรายละเอียดของโอเซตไตในภายหลัง
มุ่งสู่ภูมิภาคชิโกกุ จุดเริ่มต้นของโอเฮนโระ
โดยพื้นฐานแล้ว โอเฮนโระคือการเดินเป็นวงกลมรอบเกาะชิโกกุ แม้ชิโกกุจะตั้งอยู่บนทะเลใน แยกออกมาจากเกาะหลักของญี่ปุ่น แต่การเดินทางก็ไม่ได้ซับซ้อน
หากอยากเดินทางตามแบบดั้งเดิมโดยเริ่มจากวัดแห่งแรก (เรียวเซนจิ) ก็ควรออกเดินทางจากจังหวัดโทคุชิมะ โดยจากสนามบินนานาชาตินาริตะในโตเกียวไปยังสนามบินโทคุชิมะ อาวาโอโดริ จะใช้เวลาบินเพียง 1 ชั่วโมง 15 นาทีเท่านั้น
ถ้ามาจากโอซาก้า ก็สามารถเดินทางไปได้โดย
- ขึ้นรถไฟชินคันเซ็น (Tokaido Sanyo Shinkansen: Nozomi 17 ไปยังฮากาตะ) ที่สถานี Shin-osaka ไปยังสถานี Okayama (ใช้เวลาเดินทาง 45 นาที ราคา 6,400 เยน)
- ต่อรถไฟ JR สาย Seto Ohashi (Rapid Marine Liner 29 ไปยังทากามัตสึ) ไปยังสถานี Takamatsu (ใช้เวลาเดินทาง 55 นาที)
- สุดท้ายก็เปลี่ยนขบวนรถเป็นสาย Uzushio (Limited Express Uzushio 15 ไปยังโทคุชิมะ) ที่สถานี Takamatsu เพื่อไปยังสถานี Tokushima (ใช้เวลาเดินทางหนึ่งชั่วโมง 15 นาที)
นอกจากนี้ก็มีรถบัสด่วนทั้งจากสถานี Osaka และสถานี Namba เพื่อไปยังสถานี Tokushima ด้วยเช่นกัน ใช้เวลาเดินทางเกือบ 3 ชั่วโมงในราคา 7,000 เยนสำหรับตั๋วแบบไปกลับ
เส้นทางโอเฮนโระ - วิธีการเดินจาริกแสวงบุญของชิโกกุ
การทำโอเฮนโระใช้เวลานานแค่ไหน
อย่างที่ได้กล่าวไป ตลอดทั้งเส้นทางโอเฮนโระมีวัดทั้งหมด 88 แห่ง ใช้เวลาในการเดินทางประมาณสองเดือนจึงจะเสร็จสมบูรณ์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพและความเร็วในการเดินของคุณด้วย มีระยะทางทั้งหมดประมาณ 1,200 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้อาจเป็นเรื่องยากที่จะพักงานสองเดือนเพื่อเดินทางไปแสวงบุญ เส้นทางนี้จึงเป็นที่นิยมในหมู่คนที่เกษียณแล้วหรือนักศึกษาที่สามารถปลีกตัวมาได้มากกว่า
แต่ถึงอย่างนั้น การแบ่งแสวงบุญเป็นส่วนๆ ไปก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยอาจใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์กับตรงนั้นที ตรงนี้ทีเป็นประจำทุกสองสามปีเพื่อไปเยือนวัดให้ครบทุกแห่ง ตามธรรมเนียมแล้วจะเริ่มที่โทคุชิมะ และไปเยือนแต่ละวัดโดยเวียนไปตามเข็มนาฬิกา (เรียกว่าจุนอุจิ: jun-uchi) แต่ก็ไม่มีเส้นทางที่บังคับเป็นพิเศษ
บางคนเลือกที่จะเดินทางในเส้นทางที่เป็นการย้อนกลับจากหลังมาหน้า (เกียคุอุจิ: gyaku-uchi) ก็มี ทั้งยังมีตำนานว่าโคโบะ ไดชิยังคงมีชีวิตอยู่ และการเดินทางแบบย้อนกลับก็ทำให้คุณมีโอกาสได้พบกับเขาบนถนนมากขึ้นด้วย
จำเป็นต้องเดินไหม?
วิถีปฏิบัติแบบดั้งเดิมคือการเดินทางด้วยเท้า ทว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนก็หันไปขี่จักรยานหรือขับรถเพื่อให้การเดินทางระหว่างวัดรวดเร็วขึ้นขึ้น แต่เสน่ห์อย่างหนึ่งของโอเฮนโระคือการเข้าสู่จิตนักพรตของผู้แสวงบุญ ละทิ้งสิ่งอำนวยความสะดวกอันทันสมัยเพื่อเข้าถึงการตื่นรู้ของจิตวิญญาณขณะเดินอยู่บนท้องถนน
ผู้แสวงบุญหลายคนอาจถึงขั้นการนอนหลับข้างนอกหรือตามบ้านพักเล็กๆ ที่อยู่ตามเส้นทาง แม้จะเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างท้าทาย แต่การเดินด้วยเท้าก็จะเปิดโอกาสให้คุณได้สัมผัสกับการต้อนรับอย่างโอเซตไต (จะพูดถึงต่อไป) ซึ่งการขับรถไม่สามารถมอบให้คุณได้ หากมีโอกาสก็แนะนำให้ลองเดินเท้าดู
"โอเซตไต" การต้อนรับแบบพิเศษที่มีเพียงผู้แสวงบุญโอเฮนโระเท่านั้นที่จะได้สัมผัส
หากจะอธิบายง่ายๆ โอเซตไตก็คือการต้อนรับแบบญี่ปุ่นที่ยกระดับขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง บางคนแปลคำนี้ว่า "ของขวัญ" (gift) ในขณะที่บางคนแปลเป็นอะไรที่ใกล้เคียงกับว่า "ทาน" (alms) ขึ้นอยู่กับแต่ละสถานการณ์ แต่ไม่ว่าจะกรณีไหน โอเซตไตก็ได้กลายเป็นธรรมเนียมในชิโกกุและส่วนสำคัญของโอเฮนโระไปแล้ว
โอเซตไตมักจะปรากฏในรูปของของขวัญจากคนแปลกหน้า บ้างก็เป็นข้าวปั้น บ้างก็เป็นเครื่องดื่มให้ความสดชื่น แต่ก็สามารถสื่อออกมาในรูปแบบอื่นได้อีก เช่น การให้ผู้แสวงบุญได้เข้าพักอย่างเรียบง่ายในราคาต่ำ หรือไม่มีค่าใช้จ่ายเลย
จุดประสงค์ของโอเซตไตคือการสนับสนุนเหล่าผู้แสวงบุญตลอดการเดินทาง เนื่องจากเหล่าผู้ที่ทำโอเฮนโระถูกมองว่าเป็นตัวแทนของคนที่ไม่สามารถเดินทางด้วยตัวเองได้ จึงเชื่อกันว่าผู้แสวงบุญควรจะได้รับความรู้สึกขอบคุณและการสนับสนุน ซึ่งแสดงออกผ่านโอเซตไตนั่นเอง
บางครั้งคนที่มาเยือนญี่ปุ่นจะให้คำจำกัดความกับผู้คนในโตเกียวว่า "สุภาพทว่าห่างเหิน" ซึ่งกรณีแบบนี้จะไม่เกิดกับผู้แสวงบุญในชิโกกุอย่างแน่นอน ขณะที่ทำโอเฮนโระ รับรองได้เลยว่าคุณจะมีช่วงเวลาที่อบอุ่นหัวใจครั้งแล้วครั้งด้วยความอ่อนโยนจากคนแปลกหน้า และนี่แหละคือโอเซตไต
วัดเด่นๆ บนเส้นทางโอเฮนโระ
ไม่ว่าคุณจะเลือกไปโอเฮนระแบบดั้งเดิมที่ใช้เวลาในการผจญภัยรวดเดียวสองเดือน หรือแบ่งการเดินทางออกเป็นส่วนๆ ขณะเดินทางแบบย้อนกลับจากหลังมาหน้า ท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายย่อมเป็นการไปเยือนวัดทั้ง 88 แห่งจนครบได้ในสักวันหนึ่ง คุณไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับวัดด้วยซ้ำ!
ทว่าคนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเริ่มจากเรียวเซนจิในจังหวัดโทคุชิมะ และไปจบการจาริกแสวงบุญที่โอคุโบจิในจังหวัดคางาวะ ต่อไปนี้คือวัดเด่นๆ สองสามแห่งที่ตั้งอยู่ตามเส้นทางที่ไม่ควรพลาด
แผนที่ของวัดทั้ง 88 แห่ง สามารถดูได้จาก google map นี้:
วัด#1: เรียวเซนจิ (Ryozenji)
วัดเรียวเซนจิตั้งอยู่ในเมืองนารูโตะ (สถานที่โด่งดังเรื่องน้ำวนยักษ์!) เป็นจุดพักแรกและอาจเป็นจุดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเส้นทางโอเฮนโระ ที่นี่ คุณสามารถหาซื้ออุปกรณ์ทุกอย่างที่คุณต้องการสำหรับผู้แสวงบุญ สำรวจเจดีย์ไม้สองชั้น และตื่นตาไปกับความวุ่นวายของกลุ่มผู้แสวงบุญหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มออกเดินทาง รวมไปถึงหน้าเก่าที่เพิ่งกลับมาสู่จุดเริ่มต้นของการออกเดินทางด้วยเช่นกัน
วัด#21: ไทริวจิ (Tairyuji)
วัดไทริวจิ เป็นวัดลำดับที่ 21 บนเส้นทางโอเฮนโระ โดดเด่นเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นสถานที่ที่โคโบะ ไดชิเมื่อครั้งยังหนุ่มเข้าฌานอยู่นานถึง 50 วันเพื่อแสวงหาการตรัสรู้ ทว่าล้มเหลว จึงได้ออกเดินทางต่อ กรุยเส้นทางสำหรับจุดพักต่อไปบนเส้นทางโอเฮนโระ
วัดนี้ขึ้นชื่อเรื่องการเดินทางที่ยากลำบาก เนื่องจากต้องขึ้นไปสูง 610 เมตรเหนือน้ำทะเล แต่สำหรับใครที่ปีนขึ้นไปไม่ไหว ในปัจจุบันก็มีกระเช้าลอยฟ้าให้บริการแล้ว
วัด#84: ยาชิมาจิ (Yashimaji)
วัดยาชิมาจิคือวัดลำดับที่ 84 เป็นหนึ่งในจุดพักสุดท้ายของเส้นทางโอเฮนโระ ตำนานเล่าว่าโคโบะ ไดชิได้แกะสลักพระพุทธพันมือซึ่งเป็นหลักสำคัญของวัดนี้ อีกทั้งยังมีรูปปั้นทานุกิหิน (แรคคูนญี่ปุ่น) จำนวนมาก โดยเป็นตัวแทนของเทพประจำถิ่น มิโนยามะ ไดเมียวจิน (Minoyama Daimyojin) เจ้าสัตว์แสนรู้ตัวนี้ขึ้นชื่อเรื่องความตลกและการแปลงกาย แถมยังเป็นเทพแห่งการแต่งงาน ความสุขและความสัมพันธ์ที่ดีอีกด้วย
ส่งท้าย
อย่างที่ได้พูดถึงไปแล้วตอนต้นบทความ โอเฮนโระยินดีต้อนรับทุกคนไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มีพื้นเพมาจากไหน หรือมีความเชื่อทางศาสนาอย่างไร การเดินทางไปบนเส้นทางนี้เป็นทั้งประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ และเป็นโอกาสสัมผัสการต้อนรับอันอบอุ่นอย่างโอเซตไตจากผู้คนในชิโกกุ รับรองว่าจะตราตรึงอยู่ในหัวใจของคุณไปอีกนานแสนนานอย่างแน่นอน
นอกจากจะได้ชื่นชมความสวยงามของชนบทและขัดเกลาจิตใจให้สงบแล้ว ระหว่างโอเฮนโระคุณยังสามารถสนุกไปกับการสะสม "โกะชูอิน" (goshuin) หรือตราประทับของวัดแต่ละแห่งได้ด้วย หากใครอยากรู้จักกับเทรนด์การเที่ยววัดแบบนี้ ก็สามารถตามไปอ่านบทความของฝากจากวัดญี่ปุ่น!? คู่มือเกี่ยวกับการรับ "ตราประทับโกะชูอิน" จากวัดญี่ปุ่นฉบับสมบูรณ์ได้เลย
และถ้ายังไม่มั่นใจว่าการขอพรที่วัดอย่างเหมาะสมนั้นต้องทำอย่างไร ก็อย่าลืมลองอ่านบทความความแตกต่างระหว่างการไปขอพรที่ "ศาลเจ้า" และ "วัด" ในญี่ปุ่นดูสักหน่อย!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่