"สัญลักษณ์ชินโต" ที่พบตามศาลเจ้าญี่ปุ่นมีความหมายอย่างไร?
"ศาสนาชินโต" ของญี่ปุ่นอาจจะดูลึกลับสำหรับคนไทยเรา ที่จริงแล้วแม้แต่ชาวญี่ปุ่นเองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจในหลายแง่มุม โดยเฉพาะความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสัญลักษณ์ต่างๆ แค่ลองศึกษาศาสนาชินโตเพียงเล็กน้อยก็อาจเกิดคำถามได้มากมาย เช่น ทำไมซุ้มประตูถึงเป็นสีแดง? กระดาษประดับรูปสายฟ้ามีไว้ทำไม? ทำไมถึงมีเชือกพันอยู่รอบต้นไม้? วันนี้เราจะพาคุณไปท่องโลกแห่งชินโต ดูภูมิหลังและความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสัญลักษณ์เด่นๆ ของศาสนานี้กัน
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
ชินโตคืออะไร?
ก่อนที่เราจะลงลึกไปถึงความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสัญลักษณ์ชินโต เรามาพูดถึงแนวคิดพื้นฐานบางประการเพื่อให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้นกันก่อนดีกว่า
ชินโตก็เป็นเหมือนศาสนาอื่นๆ คือ ยากที่จะให้คำนิยามสั้นๆ และไม่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ด้วยคำเพียงไม่กี่คำ แต่อย่างไรก็ตาม ศาสนานี้เป็นที่รู้จักกันในเรื่องการบูชา "คามิ" หลายองค์ ซึ่งหมายถึง "เทพหรือวิญญาณที่มีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง" นั่นเอง
เพราะความเชื่อที่ว่าธรรมชาติทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ภูเขา ต้นไม้ น้ำตก ฯลฯ นั้นมีคามิสถิตอยู่ ชินโตจึงถูกจัดว่าเป็นศาสนาแนววิญญาณนิยม หรือก็คือศาสนาที่บูชาธรรมชาติหรือจิตวิญญาณธรรมชาติ นอกจากนี้ก็ยังมีคำนิยามอีกอย่างหนึ่งว่า "คามิโนะมิจิ" หรือ "วิถีแห่งทวยเทพ" ด้วย
ชินโตไม่มีหน่วยงานกลางที่คอยควบคุมกฎและข้อบังคับ (ต่างจากบางศาสนา) ซึ่งส่งผลให้ธรรมเนียมปฏิบัติในแต่ละภูมิภาคสามารถแตกต่างกันได้อย่างสุดขั้ว แม้กระทั่งศาลเจ้าที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กันก็อาจมีธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่เหมือนกันก็ได้
สัญลักษณ์ชินโต
หลังจากที่เราปูพื้นกันไปแล้วว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้ชินโตมีเอกลักษณ์แตกต่างจากศาสนาอื่น ก็ได้เวลาพูดถึงสัญลักษณ์ชินโตที่สะดุดตา ลักษณะเด่น และความหมายที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังกันแล้ว สัญลักษณ์ชินโตที่เราจะพูดถึงในวันนี้มีอยู่ด้วยกัน 6 อย่าง ได้แก่ "โทริอิ", "ชิเมะนาวะ", "ชิเดะ", "ซาคากิ", "โทโมเอะ", และ "ชินเคียว"
โทริอิ (Torii) ทางเข้าสู่ศาลเจ้าชินโต
สัญลักษณ์ที่เด่นสะดุดตาที่สุดของศาสนาชินโตเห็นจะเป็นซุ้มประตูสุดอลังการที่ใช้กำหนดทางเข้าศาลเจ้า ซุ้ม 2 เสาที่ทำด้วยไม้หรือหินนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม "โทริอิ" (Torii) มีไว้เพื่อแสดงเขตแดนที่คามิอาศัยอยู่ ชาวญี่ปุ่นมองว่าการเดินผ่านโทริอิเป็นการชำระล้างรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากสำหรับการเข้ามาเยือนศาลเจ้า เนื่องจากพิธีชำระล้างถือเป็นหน้าที่หลักในศาสนาชินโต
เมื่อรู้จักโทริอิกันแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่เราจะเริ่มสงสัยว่าทำไมโทริอิทั้งหลายถึงต้องเป็นสีแดงสด (หรือส้ม) ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะคนญี่ปุ่นถือว่าสีแดงเป็นตัวแทนของพระอาทิตย์และชีวิต นอกจากนี้ ยังว่ากันว่าสามารถช่วยปัดเป่าภัยพิบัติและเรื่องร้ายต่างๆ ออกไปได้ด้วย
การเดินผ่านซุ้มสีแดงจึงหมายความว่าผู้เข้ามาเยือนศาลเจ้าจะได้รับการชำระพลังงานด้านลบต่างๆ ออกไป เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีแต่พลังงานดีๆ เข้าไปสู่คามิที่สถิตอยู่ด้านใน
แต่หากจะมองกันในแง่ของความเป็นจริงมากกว่าด้านจิตวิญญาณ สีแดงก็เป็นสีของแลกเกอร์ที่ใช้ทาเคลือบเสาไม้ของโทริอิเพื่อปกป้องจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าโทริอิจะเป็นสีแดงเหมือนกันหมด เพราะที่นี่ก็ยังมีโทริอิอีกหลายแบบที่ทำจากไม้ไม่ได้เคลือบแลกเกอร์ หิน (ปกติแล้วจะเป็นสีขาวหรือเทา) หรือแม้กระทั่งโลหะ นอกจากสีที่ต่างกันมากมาย (รวมถึงสีดำ) แล้ว รูปทรงของมันยังเยอะยิ่งกว่า เพราะมีเกือบ 60 แบบเลยทีเดียว!
รูปแบบที่พบเห็นได้มากที่สุดจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ "เมียวจิน" (Myojin) และ "ชินเม" (Shinmei) โดยสำหรับโทริอิแบบเมียวจิน ปลายด้านบนจะโค้งขึ้นและมีคานพาดทะลุเสาหลัก (ดังภาพด้านบน) ในขณะที่โทริอิแบบชินเมจะมีด้านบนเป็นเส้นตรงและไม่มีคานทะลุเสาหลักออกมา (ดังภาพด้านล่าง)
・ตัวอย่างโทริอิชื่อดังของญี่ปุ่น
เมื่อพูดถึงโทริอิ สถานที่ที่ดังที่สุดก็อาจจะเป็นศาลเจ้าฟูชิมิอินาริ (Fushimi Inari Shrine) ของเกียวโต ซึ่งเป็นศาลเจ้าที่โดดเด่น มีซุ้มประตูโทริอิสีส้มนับพันต้นตั้งเรียงรายกันขึ้นไปบนภูเขา
โทริอิอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากตั้งอยู่ที่ศาลเจ้าอิสึคุชิมะ (Itsukushima Shrine) บนเกาะมิยาจิม่า อยู่ห่างจากเมืองฮิโรชิม่าเพียง 40 นาที โทริอิอันแสนยิ่งใหญ่นี้ตั้งอยู่เหนือน้ำทะเล ดูสวยอลังการมากๆ
ศาลเจ้าโออาไรอิโซซากิ (Oarai-Isosaki Shrine) ในจังหวัดอิบารากิเป็นบ้านของโทริอิชื่อดังอีกแห่งหนึ่ง มีดีไซน์เรียบง่ายทว่าสวยงาม ตั้งอยู่บนหินที่โผล่ขึ้นมาบริเวณชายฝั่ง และจะดูสวยงามเป็นพิเศษในช่วงพระอาทิตย์ตกดิน หรือตอนที่ลมทะเลพัดคลื่นเข้ามากระแทกกับโขดหิน
หนึ่งในโทริอิที่โดดเด่นที่สุดของโตเกียว คือ โทริอิยักษ์แห่งแรก ณ ศาลเจ้ายาซุคุนิ (Yasukuni Shrine) ซึ่งเป็นโทริอิโลหะขนาดมหึมาในดีไซน์อันเรียบง่าย ทว่ากลับดูน่าตื่นตาตื่นใจเนื่องจากมีขนาดใหญ่โตมโหฬารและความสูงถึง 25 เมตรเลยทีเดียว
อีกหนึ่งโทริอิที่ถ่ายรูปได้สวยเป็นอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่น คือ ศาลเจ้าฮาโกเน่ (Hakone Shrine) ที่ตั้งอยู่ในฮาโกเน่ จังหวัดคานางาวะ ซุ้มประตูนี้ตั้งอยู่ในทะเลสาบอาชิใกล้ๆ กับเชิงภูเขาไฟฟูจิ เป็นโทริอิที่ได้รับความนิยมมากถึงขนาดที่ต้องรอคิวถ่ายรูปนานกว่า 2 ชั่วโมง
ศาลเจ้ามิตสึมิเนะ (Mitsumine Shrine) ในจังหวัดไซตามะ ไม่เพียงแค่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์อันงดงามของภูเขารอบเมืองจิจิบุเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ตั้งของโทริอิประดับทองแสนสวยในรูปแบบ "มิวะ" (Miwa) ที่หาชมได้ยากอีกด้วย
ชิเมะนาวะ (Shimenawa) เชือกศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาชินโต
"ชิเมะนาวะ" คือเชือกที่มักจะใช้ตกแต่งด้วยเครื่องประดับสีขาวทรงฟันปลา อาจมีขนาดและเส้นผ่านศูนย์กลางที่แตกต่างกันไปได้มาก มีทั้งแบบที่พันกันเพียง 2 - 3 เส้น และแบบที่ใหญ่โตหนาปึก! โดยปกติแล้วชิเมะนาวะจะถูกใช้เพื่อระบุเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ และเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ช่วยขับไล่วิญญาณร้ายด้วย
คุณอาจจะเคยเห็นชิเมะนาวะแขวนอยู่ตามโทริอิ พันอยู่บนโคนต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์และหิน (ซึ่งคามิสถิตอยู่) หรือแม้แต่ผูกอยู่กับเอวของแชมป์ซูโม่! หินและต้นไม้พิเศษเหล่านี้ รวมถึงโยโกซึนะ (แชมป์ซูโม่) เป็นที่รู้จักกันในฐานะ "โยริชิโระ" (Yorishiro) ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ดึงดูดเทพหรือมีเทพสถิตอยู่ภายใน
ชิเดะ (Shide) กระดาษสีขาวทรงฟันปลา
ของอย่างหนึ่งที่คุณอาจสังเกตเห็นเป็นพิเศษเมื่อเดินอยู่ในเขตศาลเจ้า คือ กระดาษสีขาวทรงฟันปลาที่มักจะแขวนอยู่กับชิเมะนาวะที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น กระดาษเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วศาลเจ้า และมักจะถูกใช้เพื่อกำหนดเขตแดนศักดิ์สิทธิ์ภายในศาลเจ้าด้วย ของตกแต่งรูปสายฟ้านี้เรียกว่า "ชิเดะ" ซึ่งสามารถนำไปใช้ในพิธีกรรมชำระล้างต่างๆ ได้อีกด้วย นอกจากนี้ หากคุณไปถูกเวลาก็คุณอาจจะได้เห็นนักบวชชินโตทำพิธีกรรมดังกล่าวโดยใช้ไม้พิเศษที่ติดชิเดะไว้ก็ได้
เหตุผลที่ชิเดะทำเป็นรูปสายฟ้านั้นมีอยู่ 2 ทฤษฎี โดยทฤษฎีหนึ่งอ้างว่ารูปทรงนี้แสดงถึงพลังอันไร้ขีดจำกัดของเหล่าทวยเทพ ในขณะที่อีกทฤษฎีหนึ่งให้เหตุผลว่าเนื่องจากฝน เมฆ และสายฟ้าเป็นองค์ประกอบของการเก็บเกี่ยวพืชผลที่ดี ชิเดะรูปสายฟ้าจึงเป็นการขอพรต่อเหล่าเทพให้มีฤดูเก็บเกี่ยวที่อุดมสมบูรณ์
ไม้ประดับชิเดะที่ใช้ในศาสนาชินโตนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ ซึ่งหากจะว่ากันในเรื่องของสไตล์แล้วนั้นจะค่อนข้างเข้าใจได้ยาก ไม้นี้มีอยู่ 2 แบบ เรียกว่า "โกเฮ" (Gohei) และ "ฮาราเองุชิ" (Haraegushi) นักบวชหญิงที่เรียกว่า "มิโกะ" จะใช้ไม้โกเฮที่ติดชิเดะ 2 ชิ้นในพิธีกรรมเพื่อให้พรผู้คน แต่วัตถุประสงค์หลักที่แท้จริงของไม้นี้มีไว้เพื่อให้พรสิ่งของหรือชำระล้างพลังงานด้านลบออกจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
ในส่วนของไม้ฮาราเองุชินั้นจะมีชิเดะติดอยู่หลายชิ้น ใช้เพื่อชำระล้างเหมือนกันแต่ภายใต้สถานการณ์ที่แตกต่างกัน โดยนักบวชชินโตจะกวัดแกว่งฮาเรเองุจิเป็นจังหวะเหนือศีรษะของคนหรือสิ่งของที่เพิ่งได้รับมาใหม่ๆ เช่น บ้านใหม่หรือรถใหม่เพื่อทำพิธีชำระล้าง
ซาคากิ (Sakaki) ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของชินโต
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ว่าการบูชาธรรมชาติเป็นองค์ประกอบหลักของศาสนาชินโต ซึ่งต้นไม้เองก็มีบทบาทที่สำคัญมาก ต้นไม้บางสายพันธุ์ถือว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "ชินโบคุ" (Shinboku) ซึ่งจะไม่เหมือนกับโทริอิตรงที่ต้นไม้เหล่านี้จะอยู่รอบศาลเจ้าและประกอบกันเป็นรั้วศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะช่วยระบุว่าพื้นที่ภายในนั้นเป็นอาณาเขตที่บริสุทธิ์
ถึงจะมีต้นไม้อยู่ 2 - 3 ชนิดที่ถูกมองว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ไม่มีต้นไหนสำคัญไปกว่า "ต้นซาคากิ" ไม้ดอกญี่ปุ่นพันธุ์พื้นเมืองที่จะเขียวชอุ่มตลอดทั้งปี มักปลูกไว้ตามศาลเจ้าเพื่อทำหน้าที่เป็นรั้วศักดิ์สิทธิ์ บางครั้งกิ่งก้านของซาคากิก็จะถูกใช้เป็นของถวายแก่เหล่าเทพด้วย
หนึ่งในเหตุผลที่ซาคากิถูกมองว่าเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาชินโตก็เพราะมันเป็นไม้ที่ไม่ผลัดใบ จึงได้เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะนั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งเหตุผลที่สำคัญกว่าคือ มีตำนานที่กล่าวว่าต้นซาคากิจะถูกใช้เพื่อประดับล่อ "อามาเตราซุ" เทพีแห่งดวงอาทิตย์ให้ออกมาจากถ้ำที่ซ่อนตัวอยู่ ตำนานนี้ (ซึ่งจะอธิบายเพิ่มเติมในส่วนของชินเคียวด้านล่าง) ทำให้ต้นซาคากิเป็นสัญลักษณ์ที่มีความพิเศษ และถูกใช้ในการเฉลิมฉลองพิธีกรรมของชินโตมาจนถึงทุกวันนี้
โทโมเอะ (Tomoe) เครื่องหมายลูกน้ำหมุนวน
สัญลักษณ์ "โทโมเอะ" ที่หมุนวนนี้อาจทำให้ใครหลายคนนึกถึงสัญลักษณ์หยินหยางของจีน ทว่าความหมายและการใช้งานนั้นกลับค่อนข้างแตกต่างกันเลยทีเดียว โทโมเอะมักจะถูกแปลว่า "ลูกน้ำ" โดยปกติแล้วจะถูกใช้ในตราของผู้มีอำนาจญี่ปุ่นที่เรียกว่า "มง" อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับซามูไรด้วย
โทโมเอะสามารถประกอบไปด้วยลูกน้ำ 2 - 4 ตัว แต่ตามปกติแล้วชินโตมักจะใช้แบบ 3 ตัว ที่เรียกว่า "มิตสึ-โดโมเอะ" (Mitsu-domoe) โดยเชื่อกันว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 3 ภพ ได้แก่ สวรรค์ โลก และยมโลก
หากลองมองให้ดีคุณจะพบโทโมเอะประดับอยู่ตามสิ่งต่างๆ มากมาย ตั้งแต่กลองไทโกะ เครื่องราง ไปจนถึงโคมไฟและหลังคาแบบญี่ปุ่น!
ชินเคียว (Shinkyo) กระจกเทพชินโต
สัญลักษณ์ชินโตสุดท้ายที่เราจะพูดถึงกันในที่นี้คือ "ชินเคียว" หรือ "กระจกเทพ" วัตถุลึกลับที่ว่ากันว่าเป็นตัวเชื่อมโลกของเราเข้ากับโลกวิญญาณ ชินเคียวอาจถูกวางไว้บนแท่นบูชาชินโตในฐานะร่างอวตารของคามิ ภายใต้ความเชื่อว่าเทพจะเข้ามาในกระจกเพื่อมาสู่โลกของเรา
ความเชื่อนี้ย้อนกลับไปถึงตำนานที่เกี่ยวข้องกับอามาเตราซุ เทพีแห่งดวงอาทิตย์ของญี่ปุ่นซึ่งหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ ส่งผลให้ทั้งโลกตกอยู่ในความมืด เทพองค์อื่นๆ จึงได้พากันมารวมตัวอยู่ด้านนอกถ้ำเป็นจำนวนมากและจัดงานเลี้ยงขึ้นเพื่อเกลี้ยกล่อมให้นางออกมา เหล่าทวยเทพได้แขวนอัญมณีและกระจกไว้บนต้นซาคากิตรงหน้าถ้ำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของอามาเตราซุหากนางกล้าออกมาข้างนอก
เมื่ออามาเตราซุเกิดสงสัยในเสียงที่ได้ยินจึงได้แอบมองออกไปและถามถึงเหตุผลที่เหล่าเทพองค์อื่นๆ พากันเฉลิมฉลอง และได้รับคำตอบว่ามีเทพีองค์อื่นที่งดงามยิ่งกว่านางอยู่นอกถ้ำ ทว่าเมื่อออกมาจากถ้ำ นางก็ได้พบกับกระจกและภาพสะท้อนของนางเอง เทพองค์อื่นๆ จึงฉวยโอกาสนั้นใช้ชิเมะนาวะผนึกปากถ้ำเอาไว้
ต่อมา กระจกดังกล่าวได้รับการส่งมอบให้กับหลานชายของอามาเตราซุพร้อมกับคำแนะนำให้สักการะบูชาราวกับว่าเป็นตัวของอามาเตราซุเอง ด้วยเหตุนี้ การสักการะชินเคียวจึงไม่ได้เป็นการสักการะตัวกระจก แต่เป็นการสักการะเทพของศาลเจ้านั้นๆ โดยมีกระจกทำหน้าที่เป็นร่างอวตารที่สามารถจับต้องได้ ชินเคียวจึงถูกมองว่าเป็น "ชินไต" (Shintai) หรือสื่อกลางที่จับต้องได้ซึ่งทำให้คามิสามารถมาอาศัยอยู่ในโลกมนุษย์ได้นั่นเอง
นอกจากนี้ ถ้ำที่กล่าวถึงในตำนานด้านบนนี้ก็เป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง โดยในปัจจุบันมีชื่อว่า "ศาลเจ้าอามาโนะยาซึงาวาระ" (Amanoyasugawara Shine) ตั้งอยู่ในจังหวัดมิยาซากิ (ในภาพด้านบน) ถึงแม้ว่าศาลเจ้าแห่งนี้จะไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก แต่หากคุณรู้จักตำนานนี้แล้วล่ะก็ มันจะกลายเป็นสถานที่สุดเจ๋งที่น่าแวะไปเยี่ยมชมมากๆ เลยล่ะ
ส่งท้าย
นอกเหนือจากสิ่งที่เราได้พูดถึงในวันนี้แล้ว ก็ยังมีเรื่องราวอีกมากมายให้คุณได้เรียนรู้เกี่ยวกับชินโตหรือวิถีแห่งทวยเทพ หากคุณอยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นและศาลเจ้าต่างๆ เราขอแนะนำบทความ “ธรรมเนียมปฏิบัติในการสักการะศาลเจ้าญี่ปุ่นอย่างเหมาะสม” และ “10 ข้อควรเอาใจใส่เมื่อเข้าไหว้สักการะศาลเจ้าที่ญี่ปุ่น”
ถึงแม้ว่าในบทความนี้จะกล่าวถึงสัญลักษณ์ชินโตแค่เพียงผิวเผินเท่านั้น แต่เราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะช่วยให้คุณชื่นชมรายละเอียดเล็กๆ และเรื่องราวเบื้องหลังสัญลักษณ์เหล่านี้กันได้มากขึ้น เมื่อไรที่มีโอกาสได้แวะไปยังศาลเจ้าชินโตก็ขอให้มองหาสัญลักษณ์เหล่านี้กันดูด้วยนะ!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่