ความแตกต่างระหว่างการไปขอพรที่ "ศาลเจ้า" และ "วัด" ในญี่ปุ่น

สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกๆ เมื่อมาถึงญี่ปุ่นสำหรับนักท่องเที่ยวแทบทุกคนคือการไปวัดหรือศาลเจ้ามากมายหลายแห่งในประเทศนี้ที่ทั้งสวยงามและมีประวัติความเป็นมาอันเก่าแก่ การเลือกวัดและศาลเจ้าที่จะไปจากกว่า 155,000 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่นนั้นคงง่ายกว่ามากหากเทียบกับการหาข้อมูลว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ต้องทำอะไรบ้างเมื่อไปถึง ในบทความนี้จะอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างศาลเจ้ากับวัดและวิธีการขอพร

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

ศาลเจ้าคืออะไร?

ศาลเจ้าคือสถานที่สักการะเทพเจ้าในลัทธิชินโตซึ่งถือกำเนิดในญี่ปุ่น ปัจจุบันมีศาลเจ้ากว่า 80,000 แห่งทั่วประเทศมีมากกว่าวัดเล็กน้อย โดยวัดที่ญี่ปุ่นมีประมาณ 75,000 แห่ง

ในความเชื่อของชินโต บนโลกนี้มีเทพเจ้ามากมายสิงสถิตอยู่ในที่ต่างๆ ตามธรรมชาติ สำหรับเราอาจจะรู้สึกไม่คุ้นชินนักเมื่อมีการกล่าวถึงเทพเจ้าแห่งแม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ และอื่นๆ อีกมากมาย ศาลเจ้าจึงเป็นสถานที่สำหรับธรรมชาติ เราสามารถสังเกตสัญลักษณ์ของศาลเจ้าได้ง่ายๆ โดยดูจากเสาโทริอิที่จะตั้งอยู่ตรงทางเข้าซึ่งจะทาสีแดงหรือสีส้ม เสาโทริอินี้ถือเป็นตัวแบ่งระหว่างโลกทางกายภาพกับโลกแห่งจิตวิญญาณ

วัดคืออะไร?

วัดมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศจีนและอินเดียก่อนที่จะมายังญี่ปุ่นซึ่งต่างจากศาลเจ้า เป็นสถานที่ๆ พุทธศาสนิกชนจะเข้ามาสักการะหรือทำพิธีฝังศพ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าศาลเจ้ามีสัญลักษณ์คือเสาโทริอิที่เปรียบเสมือนประตูสู่ศาลเจ้า ส่วนประตูของวัดมักเป็นประตูไม้โดยมีหลังคาลาดลงมาและประดับด้วยกระเบื้อง ด้านข้างทั้งซ้ายและขวาจะมีเทพเจ้า 2 องค์ ซึ่งก็คือ นิโอ หรือผู้คุ้มครองวัดนั้นๆ โดยจะคอยป้องกันภัยอันตรายจากวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้กล้ำกรายเข้ามาในวัด และเนื่องจากวัดเป็นสถานที่สำหรับสักการะพระพุทธเจ้า ภายในวัดจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่อย่างน้อยที่สุดหนึ่งองค์

แล้วควรไปที่ไหนดี?

แม้ว่าชินโตจะเป็นศาสนาเฉพาะกลุ่มของญี่ปุ่น แต่คนญี่ปุ่นก็มักจะไปสักการะทั้งศาลเจ้าและวัด ทั้งสองที่ต่างก็มีข้อดีและสถาปัตยกรรมที่สวยงามในแบบของตนเอง หากคุณตั้งใจที่จะไปขอพรก็ควรไปให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ของทั้งสองที่นี้

ศาลเจ้านั้นได้รับอิทธิพลจากเรื่องธรรมชาติอย่างมาก แนวคิดโดยหลักของศาลเจ้าหรือลัทธิชินโตคือการอยู่ร่วมกับทุกชีวิตบนโลกและการรักษาตนให้มีชีวิตอย่างยืนยาว จึงไม่ค่อยพบว่ามีการจัดงานฉลอง เช่น งานแต่งงานหรือพิธีครบรอบตามอายุ หากคุณต้องการขอพรให้ชีวิตมีแต่ความสุข สุขภาพแข็งแรง มีโชคในการสัมภาษณ์งาน ฯลฯ ศาลเจ้าก็เป็นที่ๆ คุณควรจะไป

ในขณะเดียวกัน วัดจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องของวิญญาณและชีวิตหลังความตาย ผู้ที่มาที่นี่จึงมาขอพรหรือทำบุญให้กับคนในครอบครัวที่ล่วงลับไปแล้วและจัดพิธีทำบุญครบรอบวันตาย

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

วิธีขอพรที่ศาลเจ้า

ก่อนอื่น มีกฎเรื่องมารยาทเล็กๆ น้อยๆ ที่ควรทราบเสียก่อน

  • ก่อนเดินผ่านเสาโทริอิที่อยู่ด้านหน้าทางเข้า ควรหยุดและโค้งไปทางศาลเจ้าเพื่อแสดงความเคารพ
  • ด้านในศาลเจ้าและทางเดินเข้าสู่ทางเจ้า ควรเดินให้อยู่ริมทางเพราะในความเชื่อของลัทธิชินโต พื้นที่ตรงกลางทางเดินนั้นเป็นที่สำหรับเทพเจ้า แม้ว่าจะไม่มีใครว่าอะไรหากคุณเดินตรงกลางทางเดินแต่หากเดินอยู่ด้านข้างได้ก็จะดีกว่า
  • ตลอดทางเดินคุณจะพบกับจุดแรกที่จะต้องหยุด นั่นคือน้ำพุที่เรียกว่า “choyuza” ที่จุดนี้ผู้ที่เดินทางมาศาลเจ้าทุกคนควรชำระล้างตนเองให้สะอาดและบริสุทธิ์ก่อนจะเข้าสู่ศาลเจ้า
  • วิธีการชำระล้างตนเองอย่างถูกต้องที่ choyuza คือ ใช้มือขวาหยิบกระบวยขึ้นมาตักน้ำ แล้วใช้น้ำนั้นล้างมือซ้าย จากนั้นสลับกระบวยไปที่มือซ้ายเพื่อใช้น้ำล้างที่มือขวา และสุดท้าย เทน้ำที่มือซ้ายเล็กน้อยแล้วใช้น้ำนั้นบ้วนปาก ระวังอย่าบ้วนน้ำสูงกว่าอ่างใส่น้ำ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ถือกระบวยตั้งตรงด้วยมือขวา ให้น้ำที่ยังเหลืออยู่ไหลลงมาผ่านด้ามจับเพื่อเป็นการทำความสะอาด จากนั้นวางเก็บเข้าที่เดิม
  • โค้งหนึ่งครั้งก่อนเมื่อไปถึงที่ศาลเจ้า
  • ขณะที่ยืนอยู่หน้ากล่องไม้รับบริจาค ให้โยนเหรียญผ่านเข้าไปในช่องบนกล่อง ไม่ต้องกังวลว่าจำนวนเงินที่โยนเข้าไปจะส่งผลต่อคำอธิษฐาน ส่วนมากมักโยนเหรียญสิบเยนหรือห้าสิบเยน
  • บนกล่องบริจาคอาจจะมีเชือกผูกกระดิ่งห้อยลงมา ถ้ามีให้สั่นกระดิ่งหนึ่งหรือสองครั้งเพื่อให้เทพเจ้าได้ยิน
  • ก่อนอธิษฐาน ให้โค้งต่ำๆ สองครั้งและปรบมือสองครั้ง
  • พนมมือแล้วอธิษฐานต่อเทพเจ้า
  • เมื่ออธิษฐานจบแล้วให้โค้งอีกครั้ง
  • ระหว่างเดินออกจากศาลเจ้า ก่อนเดินผ่านเสาโทริอิ ให้หันไปทางศาลเจ้าแล้วโค้งอีกครั้ง
Klook.com

วิธีขอพรที่วัด

โดยทั่วๆ ไปวิธีปฏิบัติสำหรับการขอพรที่วัดอาจดูเหมือนกับที่ศาลเจ้า แต่ก็มีบางจุดที่ต่างกันซึ่งควรทราบเอาไว้

  • ก่อนเข้าวัดทำเช่นเดียวกับศาลเจ้าคือหยุดที่ประตูแล้วโค้งเพื่อแสดงความเคารพ และเมื่อผ่านประตูเข้าไปแล้วให้เดินด้านข้างทางเดิน
  • ล้างมือและบ้วนปากที่น้ำพุ choyuza เช่นเดียวกับที่ศาลเจ้า
  • ทุกวัดส่วนใหญ่จะมีกระถางธูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่หน้าอุโบสถ บางที่คุณสามารถซื้อธูปเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเองได้ แต่หากไม่มีให้พัดเอาควันธูปเข้าหาตนเองเพื่อทำให้ร่างกายและจิตใจสะอาดบริสุทธิ์
  • เมื่อยืนอยู่หน้ากล่องรับบริจาค โค้งเล็กน้อยและโยนเหรียญลงไป
  • โค้งอีกครั้งแล้วพนมมือ (ไม่ต้องปรบมือนะ!) จากนั้นอธิษฐานต่อพระพุทธเจ้า
  • เมื่ออธิษฐานจบให้โค้งต่ำๆ หนึ่งครั้ง
  • เมื่อเดินออกมาจากอุโบสถจนมาถึงตรงลานกว้าง ให้หันไปทางอุโบสถแล้วโค้งอีกครั้ง

สรุป

การไปศาลเจ้าและวัดถือเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าและสิ่งสำคัญที่ต้องทำระหว่างที่มาเที่ยวญี่ปุ่น ขั้นตอนการปฏิบัติตัวและมารยาทเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้กล่าวไปด้านบนอาจจะเยอะจนจำไม่หมด หากถึงเวลาจริงแล้วนึกไม่ออกหรือสงสัยตรงไหนให้หันมองคนรอบๆ แล้วก็ทำตามได้เลย ตราบใดที่คุณเข้ามาสักการะด้วยความเคารพ ไม่มีใครติดใจอะไรแน่นอนหากคุณจะลืมขั้นตอนไปบ้างเพียงข้อสองข้อ

 

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Matt
Matt Vachon
Matt Vachon <https://www.mattvachon.com/> เป็นช่างภาพจากโตเกียว และนักเขียน ชอบที่จะค้นพบร้านอาหารใหม่ๆ และชอบหลงทางอยู่ในเมืองขณะที่มีกล้องอยู่ในมือ
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร