พูดถึง "ฤดูใบไม้ผลิ" คนญี่ปุ่นนึกถึงอะไร? อาหาร สิ่งของ และกิจกรรมยอดฮิตในฤดูใบไม้ผลิ

เมื่อพูดถึงฤดูใบไม้ผลิกับประเทศญี่ปุ่น หลายคนก็คงนึกถึงดอกซากุระ แต่ทราบไหมคะว่าทำไมดอกซากุระถึงมีความเกี่ยวข้องกับคนญี่ปุ่นขนาดนี้ แล้วนอกจากซากุระ ฤดูใบไม้ผลิยังมีอะไรอีกบ้าง? มีกิจกรรมแสนสนุกและอาหารอร่อยๆ เหมือนฤดูอื่นไหม? หากคุณอยากรู้ว่าคนญี่ปุ่นนึกถึงอะไรเมื่อพูดถึง “ฤดูใบไม้ผลิ” ก็ตามไปดูกันเลยค่ะ!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

สิ่งของในความทรงจำฤดูใบไม้ผลิของชาวญี่ปุ่น

1. ซากุระ (桜)

เมื่อพูดถึงฤดูใบไม้ผลิ สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่นึกถึงก็คงหนีไม่พ้นดอกซากุระที่เบ่งบาน ความสวยงามของดอกซากุระเป็นที่ชื่นชอบของชาวญี่ปุ่นและเป็นแรงบันดาลใจในผลงานของนักประพันธ์หลายๆ ท่าน เป็นดอกไม้ที่มีความสำคัญจนได้รับการยอมรับว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติ (ถึงแม้จะไม่ได้ระบุไว้ในกฎหมายก็ตาม) เคียงคู่กับดอกเบญจมาศที่เป็นตราสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์ญี่ปุ่นเลยทีเดียว

ดอกซากุระอยู่คู่กับวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ในสมัยที่ยังไม่มีการพยากรณ์อากาศ ดอกซากุระเปรียบเสมือนสัญญาณที่บ่งบอกว่าฤดูหนาวอันยาวนานได้สิ้นสุดลงและฤดูใบไม้ผลิที่รอคอยนั้นมาถึงแล้ว จากนั้นชาวไร่ชาวนาญี่ปุ่นก็จะเริ่มปลูกข้าว ด้วยเหตุนี้ ซากุระจึงกลายเป็นต้นไม้ที่มีความสำคัญต่อชาวญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่นยังมองว่าการเบ่งบานของดอกซากุระเป็นช่วงเวลาที่แสนสั้นและตัวดอกซากุระเองก็มีความบอบบาง หากโดนฝนหรือลมแรงก็จะร่วงหมด เปรียบเสมือนชีวิตมนุษย์ที่มีความเปราะบางไม่แน่นอน ถือเป็นเสน่ห์ของซากุระในสายตาชาวญี่ปุ่นเลยล่ะค่ะ

2. ดอกไม้หลากสายพันธุ์

ฤดูใบไม้ผลิเป็นช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยดอกไม้งามเพราะหมู่ไม้จะพากันออกดอกบานสะพรั่ง นอกจากซากุระ ญี่ปุ่นก็ยังมีดอกไม้ชนิดอื่นที่บานในช่วงฤดูใบไม้ผลิอีกมากมาย โดยแต่ละชนิดจะมีช่วงเวลาเบ่งบานที่แตกต่างกันไป ดังนั้น หากใครอยากชมดอกไม้ชนิดไหนก็อย่าลืมจดใส่ปฏิทินเอาไว้ดีๆ ไม่อย่างนั้น คุณก็อาจจะไปไม่ทันชมดอกไม้ก่อนร่วงก็ได้

ในช่วงเดือนมีนาคม นอกจากจะมีดอกซากุระที่เบ่งบานส่งสัญญาณการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิแล้ว ก็ยังมีดอกนาโนะฮานะสีเหลืองสดใส (菜の花) และดอกโมโมะที่ใช้ประดับในฮินะมัตสึริ (ひな祭り) หรือเทศกาลวันเด็กผู้หญิงของชาวญี่ปุ่นด้วย เหตุที่ใช้ดอกโมโมะประดับในงาน ก็เพราะเป็นดอกไม้ที่บานในช่วงเดียวกันพอดีและคนญี่ปุ่นก็เชื่อว่าดอกโมโมะจะช่วยปัดเป่าภัยอันตรายและปีศาจร้าย แถมยังมีพลังที่ช่วยให้อายุยืนด้วย

เดือนเมษายนเองก็ไม่น้อยหน้า มีทั้งดอกชิบะซากุระ (芝桜) ซึ่งเป็นดอกไม้ที่มีรูปร่างคล้ายดอกซากุระแต่จะบานแผ่กว้างไปบนพื้นดินกลายเป็นทุ่งดอกชิบะซากุระที่สวยงาม ดอกทิวลิปซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวแทนของฤดูใบไม้ผลิ และดอกเนโมฟีล่า (ネモフィラ) ซึ่งปลูกเป็นทุ่งกว้างอยู่ใน Hitachi Seaside Park จังหวัดอิบารากิ ความสวยงามของทุ่งดอกนีโมฟีล่าทำให้ดอกไม้ชนิดนี้กลายเป็นที่รู้จักและมีคนเดินทางไปชมกันเป็นจำนวนมาก

ส่วนเดือนพฤษภาคมก็จะมีดอกคาร์เนชันที่คนญี่ปุ่นนิยมมอบให้กันในวันแม่ ซึ่งตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม นอกจากนี้ ยังมีดอกกุหลาบ, ฟูจิ, ลาเวนเดอร์ และดอกไม้อื่นๆ ที่สวยงามน่าชมไม่แพ้กัน

 

3.ธงปลาคาร์ฟ โคอิโนโบริ (鯉のぼり)

เมื่อถึงวันที่ 5 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันเด็ก ชาวญี่ปุ่นก็จะแขวนธงปลาคาร์ฟไว้ในสวนหรือตามที่ต่างๆ เพื่อเป็นการขอพรให้เด็กผู้ชายเติบโตอย่างแข็งแรง ประเพณีนี้เริ่มขึ้นในสมัยเอโดะ ชนชั้นนักรบจะนิยมแขวนรูปตราสัญลักษณ์ประจำบ้านในวันที่ลูกชายเกิด ในขณะที่ชาวบ้านจะแขวนปลาคาร์ฟซึ่งเป็นปลาที่แข็งแรง สามารถว่ายทวนกระแสน้ำที่เชี่ยวกรากได้ และยังสามารถอาศัยอยู่ที่ไหนก็ได้ไม่ว่าในบึงหรือบ่อเล็ก คนสมัยเอโดะที่ต้องใช้แรงงานอย่างหนักจึงนิยมแขวนปลาคาร์ฟเพื่ออธิษฐานให้ลูกชายของตนมีความอดทนต่อสภาพแวดล้อมและเติบโตได้อย่างสง่างาม

เทศกาลและกิจกรรมในฤดูใบไม้ผลิ

1. เทศกาลชมดอกซากุระ (花見)

เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิและซากุระเริ่มบาน คนญี่ปุ่นก็จะออกไปชมดอกไม้ หรือที่เรียกว่า 'ฮานามิ' กัน กิจกรรมที่คนญี่ปุ่นนิยมทำในเทศกาลชมดอกซากุระนั้นมีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการนั่งล้อมวงกินเบนโตะใต้ต้นซากุระด้วยกัน การล่องเรือชมซากุระตามแม่น้ำต่างๆ หรือการชมซากุระที่ประดับประดาด้วยแสงไฟในยามค่ำคืน

แม้ในปัจจุบันการชมซากุระจะเป็นที่นิยมมากจนเมื่อพูดคำว่า ‘ฮานามิ’ คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงแต่ซากุระ แต่ที่จริงแล้ว คำว่าฮานามินั้นสามารถแปลตรงตัวได้ว่า 'การชมดอกไม้' โดยไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นดอกไม้ชนิดใด ยิ่งไปกว่านั้น จุดกำเนิดที่แท้จริงของเทศกาลชมดอกไม้นี้ก็ไม่ได้เริ่มจากซากุระ แต่มาจากการชมดอกบ๊วย (梅) ของเหล่าชนชั้นสูงในสมัยนาระ (ค.ศ. 710 - 794) ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นการชมดอกซากุระในสมัยเฮอัน (ค.ศ. 794 - 1185) และนิยมทำกันในหมู่คนทั่วไปในสมัยเอโดะ (ค.ศ. 1603 - 1868) นับเป็นประเพณีที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเป็นเอกลักษณ์ของชาวญี่ปุ่น

2. การจบการศึกษาและพิธีเปิดภาคการศึกษา

นอกจากจะเป็นฤดูของการชมดอกไม้แล้ว ฤดูใบไม้ผลิยังเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นและการจากลาสำหรับชาวญี่ปุ่นด้วย เพราะพิธีจบการศึกษามักจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม และพิธีเปิดภาคการศึกษาส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายนนั่นเอง

นอกเหนือจากพิธีเปิดภาคการศึกษา พิธีรับเข้าทำงานอย่างเป็นทางการของชาวญี่ปุ่นก็มักจะจัดขึ้นในเดือนเมษายนด้วยเช่นกัน หลายๆ คนอาจสงสัยว่าจะจัดพิธีรับเข้าทำงานได้อย่างไรในเมื่อการเข้าทำงานของแต่ละคนอาจไม่ได้เริ่มพร้อมกัน จริงอยู่ที่ในประเทศไทยจะเริ่มการทำงานช่วงไหนก็ได้ แต่ในญี่ปุ่นจะมีระบบการรับคนเข้าทำงานที่เป็นแบบแผนและรับจำนวนทีละมากๆ ส่วนใหญ่นักศึกษาจะเริ่มหางานกันตั้งแต่ตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 3 ถึงปี 4 เมื่อผ่านพิธีจบการศึกษาและจบอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมแล้ว ก็จะสามารถเริ่มทำงานในเดือนเมษายนได้ทันที ทำให้พิธีรับเข้าทำงานอย่างเป็นทางการถูกจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนนั่นเอง

 

Klook.com

3. ฮินะมัตสึริ (ひな祭り)

ฮินะมัตสึริ (ひな祭り) หรือเทศกาลวันเด็กผู้หญิงของชาวญี่ปุ่นจะตรงกับวันที่ 3 มีนาคมของทุกปี โดยจัดขึ้นเพื่อขอพรให้เด็กผู้หญิงได้เติบโตอย่างแข็งแรง เทศกาลนี้จะนิยมประดับตุ๊กตาหรือที่เรียกว่า "ฮินะนิงเกียว" (ひな人形) ไว้บนแท่นวางภายในบ้าน บางครั้งอาจเริ่มจัดหลังวันเทศกาลเซ็ตสึบุน หรือเทศกาลปาถั่วเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้าย และในบางครั้งก็จะเริ่มจัดในวันฝนตกส่งท้ายฤดูหนาวตามปฏิทินจีน (雨水) ซึ่งตรงกับช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งคนญี่ปุ่นเชื่อว่าจะทำให้โชคดี แต่อย่างช้าที่สุดควรจัดก่อนถึงวันเทศกาลอย่างน้อย 1 สัปดาห์

นอกจากการประดับตุ๊กตาฮินะนิงเกียวแล้ว คนญี่ปุ่นก็มักจะรับประทานอาหารพิเศษหลายๆ อย่างกันในวันเทศกาล เช่น

จิราชิซูชิ (ちらし寿司) หรือข้าวหน้าปลาดิบที่โรยหน้าด้วยกุ้ง (อวยพรให้มีชีวิตยืนยาวจนหลังงอเหมือนกุ้ง), ถั่ว (ให้ขยันทำงาน*), นาโนะฮานะ และรากบัวซึ่งสื่อถึงการมองเห็นการณ์ไกล

* คำว่าถั่วในภาษาญี่ปุ่นเป็นคำพ้องเสียงกับคำว่าขยัน

ฮินะอาราเระ ( ひな あられ) หรือขนมข้าวทอด โดยหากมี 3 สี สีชมพูจะหมายถึงชีวิต สีขาวจะหมายถึงหิมะ และสีเขียวหมายถึงยอดอ่อนของต้นไม้ แต่หากมี 4 สีจะหมายถึงฤดูกาลทั้งสี่

ฮิชิโมจิ (ひし餅) รับประทานเพื่อขอให้สุขภาพแข็งแรงและมีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์

ซุปหอยฮามากุริ (ハマグリスープ) รับประทานเพื่อขอให้มีชีวิตคู่ที่มีความสุข

4. โกลเด้นวีค (Golden Week)

ในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ประเทศญี่ปุ่นจะมีวันหยุดราชการนานถึง 4 วัน คือ 29 เมษายน และ 3 - 5 พฤษภาคม เมื่อรวมกับวันเสาร์ - อาทิตย์ที่เป็นวันหยุดปกติและลางานเพิ่มอีกเล็กน้อย ก็จะทำให้กลายเป็นช่วงวันหยุดที่ยาวเป็นอาทิตย์ได้เลย ซึ่งคนญี่ปุ่นจะเรียกช่วงวันหยุดยาวนี้ว่า "โกลเด้นวีค" และนิยมออกไปเที่ยวกัน ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ คับคั่งไปด้วยผู้คน ดังนั้น หากใครอยากมาเที่ยวญี่ปุ่นแบบสบายๆ เราขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงช่วงนี้ดีกว่า

 

อาหารประจำฤดูใบไม้ผลิ

1. ซากุระโมจิ (桜餅)

เป็นขนมญี่ปุ่นที่มีไส้เป็นถั่วแดงห่อด้วยแป้งโมจิสีชมพูรสหวานและพันด้วยใบซากุระหมักเกลือ นิยมรับประทานในฤดูใบไม้ผลิ โดยเฉพาะในวันเทศกาลฮินะมัตสึริและเทศกาลชมดอกซากุระ ตัวขนมสีชมพูดูคล้ายดอกซากุระแถมยังห่อด้วยใบซากุระอีก สมกับชื่อ 'ซากุระโมจิ' จริงๆ

2. หอยฮามากุริหรือหอยตลับลาย (ハマグリ)

หอยฮามากุริเป็นหอยที่จับได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลิและนิยมรับประทานกันในช่วงเทศกาลฮินะมัตสึริ โดยจะนำมาทำเป็นน้ำซุป รับประทานเพื่อขอให้มีชีวิตคู่ที่ดี

3. หน่อไม้ (タケノコ)

หลังหมดช่วงฤดูหนาวและอากาศเริ่มอบอุ่นขึ้น ก็จะถึงเวลาที่หน่อไม้พากันงอกออกมา คุณสามารถนำหน่อไม้ไปต้มกับโชยุหรือหุงกับข้าวก็ได้ แต่หน่อไม้มีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่สั้น เพราะหลังจากงอกมาไม่นานก็จะเริ่มแข็งขึ้นเพื่อเติบโตเป็นต้นไผ่ต่อไป ดังนั้น หากใครชอบทานก็ต้องรีบกันหน่อย

4. นาโนฮานะ (菜の花)

ในส่วนของนาโนะฮานะ นอกจากจะมีดอกสีเหลืองสดใสซึ่งเป็นสัญลักษณ์บอกการมาถึงของฤดูใบไม้ผลิแล้ว หน่อและก้านของมันยังสามารถนำมารับประทานได้อีกด้วย แต่ก็จะมีรสขมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอยู่เช่นกัน เป็นวัตถุดิบที่หากคนชอบทานก็จะชอบไปเลย ส่วนคนที่ไม่ชอบก็อาจจะไม่ทานเลยก็ได้

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ฤดูใบไม้ผลิ ความอบอุ่นที่มาเยือนหลังความหนาวอันยาวนาน

หลังจากฤดูหนาวได้ผ่านพ้นไปก็จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิที่มีอากาศแสนสบายไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป แถมยังมีดอกไม้นานาพันธุ์ที่เบ่งบานรอทุกคนไปเยี่ยมชม (รวมถึงวันหยุดยาวด้วย) จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่คนจะนิยมเดินทางท่องเที่ยวกันในฤดูนี้ เมื่อไรที่สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นแล้ว หากใครอยากมาสัมผัสกับอากาศดีๆ และดอกไม้สวยๆ แล้วล่ะก็ ลองมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในช่วงฤดูใบไม้ผลิกันดูนะ

หากใครสนใจเรื่องราววัฒนธรรมในแต่ละฤดูกาลของคนญี่ปุ่นอย่างในบทความนี้ เราขอแนะนำให้ไปลองอ่านบทความ พูดถึง “ฤดูหนาว” คนญี่ปุ่นนึกถึงอะไร? หน้าหนาวแล้วกินอะไร ทำอะไร ใช้ของแบบไหนกันนะ? เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ค่ะ!

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทาง เฟซบุ๊ก  ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

LadyP
LadyP
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร