สุดยอด 3 คัพราเมน/บะหมี่ถ้วยใน 7-11 ที่ต้องไปโดน!
เมื่อไม่นานมานี้ทาง 7-11 ได้มีการจัดอันดับความนิยมของสินค้าภายใต้แบรนด์ Seven Premium อันเป็นแบรนด์ออริจินัลของทางบริษัทเอาไว้ และในบทความนี้เราก็จะมาแนะนำสินค้า 3 อันดับแรกในหมวดบะหมี่ถ้วยให้ได้รู้จักกัน! ถึงจะบอกว่าเป็นบะหมี่ถ้วยแต่ก็อย่าดูถูกไป เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของญี่ปุ่นนั้นคุณภาพสูสีกับราเมงที่ทานในร้านเลยทีเดียว จึงเป็นเหตุให้ได้รับความนิยมมากทั้งในหมู่ชาวญี่ปุ่นเองและมีแฟนๆ จากทั่วโลกด้วย!
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
■ การเลือกตั้ง Seven Premium 〜สาขาบะหมี่ถ้วย〜
ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมของทุกปี ทาง 7-11 จะมีการจัดการเลือกตั้ง Seven Premium ซึ่งเป็นการสำรวจความนิยมของสินค้าในแบรนด์โดยอ้างอิงจากผลโหวตของผู้ใช้ มีการแบ่งหัวข้อโหวตออกเป็นประเภทต่างๆ ทั้งขนม ไอศกรีม อาหารแช่แข็งและอื่นๆ ส่วนที่เราจะนำมาพูดถึงในวันนี้ คือการเลือกตั้งในสาขาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วย หรือที่เรียกกันว่า "คัพราเมน" นั่นเอง ซึ่งบะหมี่ถ้วยเหล่านี้ได้ถูกพัฒนาโดยร้านราเมงชื่อดังต่างๆ ในญี่ปุ่นจึงได้รสชาติที่อร่อยลึกล้ำเกินกว่าจะเป็นเพียงบะหมี่ถ้วยธรรมดา พูดมาถึงขนาดนี้แล้วก็อย่ามัวแต่ลีลา มาดูกันเลยดีกว่าว่าบะหมี่ถ้วยท็อป 3 ของเรามีอะไรกันบ้าง!
■ อันดับ 1:ลิ้มรสชาติสุดเผ็ดดุดันควบคู่ไปกับผักหวานๆ /Moko Tanmen Nakamoto Futochoku Men Shiage
อันดับ 1 ของเรามาจากร้าน Moko Tanmen Nakamoto ซึ่งมีสาขาหลักอยู่ที่เขต Kamiitabashi ในโตเกียว บะหมี่ถ้วยรุ่นนี้ออกวางขายตั้งแต่ปี 2008 และก็นับว่าเป็นหนึ่งใน Best Seller ของ Seven Premium
โดยทั่วไปแล้วคำว่า Tanmen จะหมายถึงราเมงแบบซุปเกลือที่ใส่ผักลงไปเยอะๆ แต่เจ้า Moko Tanmen Nakamoto นี้มีจุดเด่นอยู่ที่การใช้ซุปมิโซะเป็นพื้นฐานแล้วเพิ่มความเผ็ดเข้าไป เข้ากับความหวานของผักนานาชนิดได้ดีทีเดียว
ซองเครื่องปรุงที่แถมมาจะเป็นน้ำมันสูตรเฉพาะของทางร้านที่จะช่วยเพิ่มรสชาติเผ็ดกันแบบสะใจ ใครชอบแบบเผ็ดๆ จะใส่หมดเลยก็ได้ แต่ถึงจะไม่ใส่เลยก็ทานได้อร่อยเหมือนกัน หรือจะลองปรับปริมาณให้เข้ากับตัวเองดูก็เป็นทางเลือกที่ดี
เครื่องเคียงที่มากับบะหมี่ก็จะมีทั้งกะหล่ำปลี แครอท เนื้อสับ และเต้าหู้แบบหั่นเต๋า ซุปก็อร่อยไม่มีที่ติ เมื่อทานเข้าไปในจังหวะแรกจะได้รสชาติของมิโซะเข้มๆ และผักหวานๆ หลังจากนั้นจะได้รับรสเผ็ดจากพริก แต่ก็เป็นความเผ็ดในระดับที่พอดีและผสมผสานกับรสผักได้อย่างลงตัว เมื่อได้ทานคำแรกแล้วก็อยากจะทานต่อไปเรื่อยๆ เหมือนเสพติด และด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้เจ้าบะหมี่ถ้วยตัวนี้เป็นที่ 1 ในใจของใครหลายๆ คน
ในหลายๆ ปีมานี้ชาวญี่ปุ่นเริ่มนิยมสิ่งที่เรียกว่า Choi Tashi (ちょい足し = เพิ่มสักนิดสักหน่อย) หรือการหาอะไรมาเติมลงไปในสินค้าอาหารที่มีอยู่แล้วเพื่อให้ทานได้อร่อยขึ้น ถ้าอยากจะลองทานอะไรที่แปลกออกไปก็ลองหาชีสแผ่นตามห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อมาใส่ลงไปในบะหมี่ถ้วยกันได้ ยิ่งเป็นชนิดที่ละลายง่ายเมื่อโดนความร้อนก็จะยิ่งดีเลย!
วิธีทำก็ง่ายๆ แค่วางชีสแผ่นไว้บนเส้น ใส่น้ำร้อนลงไปแล้วรอประมาณ 5 นาทีก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อย แต่เริ่มเดิมทีมิโซะกับชีสก็เป็นอาหารหมักด้วยกันทั้งคู่ รสชาติจึงเข้ากันได้เป็นอย่างดีแบบไม่ต้องสงสัย! ชีสจะช่วยกดความเผ็ดลงไปและทำให้ได้รสอร่อยมากขึ้น เป็นการเพิ่มวัตถุดิบง่ายๆ แต่สามารถเพิ่มความอร่อยได้เป็นเท่าตัว สำหรับใครที่ทานเผ็ดมากไม่ได้ก็ลองมาทานแบบนี้กันดู!
■ อันดับ 2:ราเมงมิโซะสุดเข้มข้นที่แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังต้องยกนิ้วให้ !/Sumire Sapporo Noko Miso
สำหรับอันดับ 2 ก็จะเป็นบะหมี่ถ้วยจากร้าน Sumire ซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ที่ซัปโปโรในจังหวัดฮอกไกโด เปิดตัวในฐานะสินค้าระดับสูงของ Seven Premium ที่เรียกว่า Seven Gold ในปี 2012 เป็นราเมงซุปมิโซะเช่นเดียวกับบะหมี่ถ้วยในอันดับ 1
ภายในถ้วยจะมีซองผงปรุงรส ซุปเหลวเข้มข้น และเครื่องอบแห้งซึ่งประกอบไปด้วยเนื้อสับ หอมเจียว ต้นหอมหั่นแว่น และหน่อไม้ ส่วนตัวเส้นก็จะเป็นเส้นแบบหนาซึ่งเข้ากับซุปเข้มๆ ได้เป็นอย่างดี
มองเผินๆ อาจจะดูเรียบง่าย แต่รสชาติโดยเฉพาะรสของซุปนั้นไม่ธรรมดาเลย ในซุปมิโซะสุดกลมกล่อมจะมีรสชาติของพริกไทยอยู่เล็กน้อย เมื่อลองซดดูแม้เพียงเล็กน้อยก็จะสัมผัสได้ถึงรสอร่อยที่แพร่กระจายอยู่ในปาก แต่อาจด้วยรสของพริกไทย ถึงซุปจะเข้มข้นมากก็ไม่ทำให้รู้สึกว่ามีรสติดอยู่ในปากเลยแม้แต่น้อย
ตัวเส้นเป็นแบบที่ไม่ได้ทอด ให้ความรู้สึกนุ่มเหนียวเหมือนเส้นบะหมี่ที่ลวกสดๆ ตัวซุปเหลวที่มาด้วยกันก็ช่วยเพิ่มรสชาติมากขึ้น เรียกได้ว่าแทบจะลืมไปเลยว่านี่เป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เจ้าบะหมี่ถ้วย Sumire นี้จึงได้รับความนิยมมากด้วยคอนเซ็ปต์สร้างรสชาติของร้านราเมงขึ้นได้ในครัวบ้านคุณเอง บะหมี่ถ้วยคุณภาพสูงขนาดนี้จะบอกว่าไม่มีที่ไหนอีกแล้วก็คงไม่ผิดนัก ยิ่งใครที่ชอบซุปมิโซะด้วยแล้วก็นับว่าเป็นถ้วยหนึ่งที่ห้ามพลาดกันเลยทีเดียว
■ อันดับ 3:สัมผัสกับซุปกระดูกหมูหอมมันที่อร่อยจนต้องกรี๊ด! /Ippudo Akamaru Shinkan Hakata Tonkotsu
ในช่วงหลายปีมานี้เริ่มมีร้านทงคตสึราเมง (ราเมงซุปกระดูกหมู) เปิดทำการนอกญี่ปุ่นมากขึ้น ตอนนี้ภาพลักษณ์ของราเมงญี่ปุ่นจึงแทบจะจับไปใส่สมการเท่ากับทงคตสึราเมงได้แล้ว ผู้ท้าชิงในอันดับที่ 3 ของเรานี้ก็เป็นทงคตสึราเมงจากร้าน Ippudo ที่ตั้งแต่เริ่มขยายกิจการไปยังต่างประเทศในปี 2008 ก็ได้รับความนิยมในนครนิวยอร์กของสหรัฐอเมริกามาตลอด เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกกระแสของราเมงญี่ปุ่นในต่างประเทศโดยแท้จริง
ภายในถ้วยประกอบด้วยผงซุป ซุปเหลว และมิโซะแบบเผ็ดกับน้ำมันบาล์มสีดำสำหรับปรุงภายหลัง นอกจากนี้ยังมีหมูย่าง แมงกะพรุน และ Wakegi (พันธ์ผสมระหว่างต้นหอมและหัวหอม) เป็นเครื่องเคียงด้วย หลังจากใส่ผงปรุงรสแล้วก็ใส่น้ำร้อนลงไป รอ 3 นาทีก็พร้อมรับประทาน
เมื่อพูดถึงทงคตสึราเมง คงจะมีหลายๆ คนที่อดชักสีหน้ากับกลิ่นสาบเฉพาะของซุปกระดูกหมูไม่ได้ แต่ไม่ต้องกลัวไป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปถ้วยนี้จะให้เราได้ลิ้มรสของทงคตสึราเมงแบบแท้ๆ โดยที่แทบไม่ได้กลิ่นที่ว่าเลย! ซุปรสชาติกลมกล่อม เจือกลิ่นของน้ำมันบาล์มสีดำกับมิโซะเผ็ดให้ได้รสชาติฝาดและเผ็ดเล็กน้อยปิดท้าย
เส้นเป็นแบบไม่ทอดและเคี้ยวสนุกสู้ฟัน เก็บความรู้สึกของแป้งอันเป็นเอกลักษณ์ของเส้นราเมงแบบซุปกระดูกหมูเอาไว้ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ทงคตสึราเมงยังไม่มีข้อจำกัดด้านความนุ่มของเส้น สามารถปรับหาแบบที่ชอบที่สุดกันได้ตามสะดวก สำหรับคนที่ชอบเส้นแบบที่แข็งขึ้นมาหน่อยก็อาจจะปรับเวลาต้มลดจาก 3 นาทีลงเป็น 2 นาทีหรือ 2 นาทีครึ่งก็ได้ จึงได้รับความนิยมด้วยเป็นบะหมี่ถ้วยที่ทานได้ง่ายและไม่ต้องมีพิธีรีตองในการทำมากนั่นเอง
■ อันดับความนิยมที่เหมือนกับปี 2018 แบบเป๊ะๆ
ผลการโหวตบะหมี่ถ้วยของปี 2019 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงจากปี 2018 น้อยมาก แม้จะผ่านมา 1 ปีแล้วแต่ 3 อันดับแรกก็ยังคงเกาะตำแหน่งเอาไว้กันอย่างเหนียวแน่นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะ Moko Tanmen Nakamoto ที่ยังคงรักษาอันดับ 1 ไว้ได้แม้จะวางขายมากว่า 10 ปีแล้ว
แล้วผลการเลิกตั้งในปี 2020 ที่จะถึงนี้ล่ะจะเป็นอย่างไรบ้าง แค่คิดก็สนุกแล้ว!
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่