มารู้จัก Trading Card Game งานอดิเรกของสะสมที่ญี่ปุ่น ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตบางคนได้เลย!
กำลังคิดถึงการ์ดเกมที่เคยได้เล่น ได้สะสมกันเมื่อสมัยเด็กอยู่ใช่ไหม่ล่ะ? แต่น้อยคนที่จะรู้ประวัติความเป็นมาและมูลค่าที่แท้จริงของการ์ดของสะสมเหล่านี้ ไม่แน่ว่าการ์ดที่คุณเก็บมาตั้งแต่สมัยเด็กอาจจะเปลี่ยนชีวิตคุณไปเลยก็เป็นได้! มาลองดูกันว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น และคิดว่าเมื่อดูบทความนี้จบคุณจะต้องไปหาการ์ดที่เก็บไว้ตั้งแต่สมัยเด็กในบ้านคุณอย่างแน่นอน
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
ประวัติความเป็นมาของเล่นในญี่ปุ่น
ของเล่นที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่นคืออะไร? คำตอบก็คือ “ลูกข่าง” นั่นเอง ซึ่งเชื่อกันว่าริเริ่มการเล่นลูกข่างกันมาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 7-10 ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “独楽” (โคมะ) ซึ่งสมัยก่อนเป็นไม้รูปทรงแหลมที่สามารถนำมาปั่นได้ และมีการพัฒนาในเรื่องของเล่นมาเรื่อยๆ เช่น ลูกบอล การเล่นลูกหินและการเล่นตุ๊กตาสำหรับเด็กหญิง ซึ่งเป็นเกมการเล่นสำหรับขุนนางโดยเฉพาะ และเมื่อการเวลาผ่านไปพวกการละเล่นพวกนี้ก็ได้แพร่กระจายออกไปยังประชาชนทั่วไป
จนกระทั่งเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน และทำของของเล่นนั้นมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเกม “ฟามิคอม” ที่ได้ถูกผลิตออกมาในปี 1983 และตามมาด้วยเครื่องเกมพกพาอีกมากมาย เช่นเดียวกันกับการ์ดเกม-อนิเมะ ที่ทำการ์ดออกมาเป็นตัวละครต่างๆในเกมหรือในอนิเมะ เช่น Yu-Gi-Oh! และได้มีการผลิตเรื่อยมากจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเทรดดิ้งการ์ดเกมหรือที่รู้จักกันในนาม TCG นั้นได้รับความนิยมแพร่หลายถึงขั้นเกิดการจัดการแข่งขันระดับประเทศขึ้นมาเลยทีเดียว
ทำไมเทรดดิ้งการ์ดเกมถึงได้รับความนิยมขนาดนั้น?
เทรดดิ้งการ์ดเกม (TCG) เป็นเกมการ์ดที่ผู้เล่นได้รวบรวมการ์ดมาจัดทำเป็นการ์ดเด็คและมาเล่นแข่งกัน ซึ่งการ์ดสามารถรวบรวมกันได้อย่างอิสระ หรือต้องจัดการ์ดตามกฎที่การแข่งขันได้กำหนดไว้และเล่นกันตามกฎของเกม
TCG เริ่มต้นจาก Magic: The Gathering ในอเมริกาที่ออกแบบโดยนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกัน Richard Garfield และวางจำหน่ายโดย Wizards of the Coast ในเดือนสิงหาคมปี 1993 และมาได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในญี่ปุ่น และจากนั้นทางญี่ปุ่นก็ได้ออก TCG ของประเทศตัวเอง โดยเริ่มจาก Pokemon, Yu-Gi-Oh!, Duel Masters และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย
TCG ส่วนมากจะมีระดับความหายากที่แตกต่างกันไป และจะมีการ์ดที่หายากหรือที่เรียกว่า “การ์ดแรร์” ให้ได้ตามหากันอีกด้วย ซึ่งการ์ดแต่ละใบก็จะมีความสามารถที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งยิ่งเป็นการ์ดแรร์หายากก็จะมีความสามารถพิเศษกว่าการ์ดทั่วๆ ไป และทำให้สามารถใช้เพื่อเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าความหายากนั้นก็ทำให้เกิดความต้องการเพิ่มมากขึ้นจึงเริ่มมีการซื้อขายตามที่มาของชื่อเทรดดิ้งการ์ด และนอกจากนั้นยังมีบางส่วนที่เป็นนักสะสมก็ตามหาเหล่าการ์ดใบแรร์ที่หายากอีกเช่นกัน
แล้วในญี่ปุ่น TCG ได้รับความนิยมมากแค่ไหน?
อย่างที่กล่าวไว้ว่า TCG ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นอย่างเต็มรูปแบบเกมแรกก็คือ “Pokemon Card Game” ซึ่งผลิตขึ้นในปี 1996 โดย Media Factory (ในขณะนั้น) ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลามเนื่องจากในช่วงนั้นเป็นช่วงที่อนิเมะ Poket Monster (Pokemon) กำลังออกฉายอยู่ด้วย และจากนั้นมีการ์ดที่ออกตามมาด้วยก็คือ “Super Robot Wars Scramble Gather” โดย Bandai และก็มีการ์ดยอดนิยมอย่าง “Magic: The Gathering” เวอร์ชันญี่ปุ่นก็เริ่มวางจำหน่ายและได้รับความนิยมมากเช่นกัน ต่อมายังมีมังงะชื่อดัง “Yu-Gi-Oh!” ซึ่งตอนนั้นตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องออกมาในนิตยสาร Weekly Shonen Jump ก็ได้ถือกำเนิดการ์ดออกมาเช่นกัน และการ์ดเหล่านี้ทั้งหมดนั้นได้รับความนิยมเอามากๆ เรียกได้ว่าในประเทศญี่ปุ่นในช่วงนั้นไม่มีใครไม่รู้จักการ์ดเกม/อนิเมะ Pokemon และ Yu-Gi-Oh!
ดั่งว่าความสัมพันธ์ระหว่าง TCG กับมังงะ/อะนิเมะสำหรับเด็กๆ ได้ถือกำเนิดขึ้น เริ่มมีการสะสมกันแบบจริงจังกันเรื่อยมา จนกระทั่งช่วงปลายของยุค 90 ถึงต้นยุค 2000 เกมและอนิเมะต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นส่วนมากได้เริ่มทำ TCG เป็นของตัวเอง จนเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่เรียกว่า “TCG บูม” ขึ้น และเป็นผลให้การมีอยู่ของ TCG นั้นได้ออกไปเกินกว่าสังคมของเด็กๆ โดยมีผู้คนทั่วไปให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และเกิดการซื้อขายกันอย่างกว้างขวาง แต่ในทางกลับกันแง่ลบ ก็มีปัญหาเกิดขึ้นมากมายในประเทศ เช่น การทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างเด็ก การขโมยการ์ดในร้านค้า และยังมีกลโกงที่ทำให้สามารถหาการ์ดแรร์ได้โดยไม่ต้องเปิดซองการ์ด เป็นต้น ในช่วงนี้เองที่ทำให้มุมมองของ TCG นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล
เรียกได้ว่า TCG ถือได้ว่ากลายเป็นการลงทุนอย่างนึงไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเก็บการ์ดใบแรร์หายากเพื่อรอให้ราคาขึ้น หรือจะเก็บเป็นกล่องการ์ดหรือเคส(ทั้งลัง) เพื่อรอตอนที่สินค้าในตลาดเหลือน้อยและนำมาขายเพื่อทำกำไร นอกจากนี้ยังมีวิธีการเพิ่มมูลค่าการ์ดอีก เช่น การเกรดการ์ดเพื่อให้ทราบว่าการ์ดใบนี้มีความสวยงามไร้ที่ติมากแค่ไหน
โดยผู้รับเกรดระดับโลกก็คงหนีไม่พ้น PSA (Professional Sports Authenticator) และ BGS (Beckett) ที่เป็นบริษัทชั้นนำ มีความแม่นยำในการเกรดสูงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงสามารถมอบความน่าเชื่อถือให้กับนักสะสม และนักลงทุนทั่วโลกได้ และนอกจากนี้ในประเทศญี่ปุ่นเองยังมีบริษัทเกรดสัญชาติญี่ปุ่นเช่นกันซึ่งก็คือบริษัท ARS ซึ่งได้รับความนิยมไม่แพ้กันในประเทศญี่ปุ่น
เมื่อเราพูดถึงการลงทุนและการเพิ่มมูลค่ากันไปแล้ว ต่อไปเรามาดูราคากันบ้างว่า TCG เนี่ยจะมีขนาดตลาดอยู่ที่ประมาณไหน แน่นอนว่าราคาของ TCG นั้นมีการขึ้นลงตามกระแสเหมือนการลงทุนในสินค้าต่างๆ ทั่วโลก ขอยกตัวอย่างการ์ด Pokemon Illustrator PSA 10 ปี 1998 ที่เคยทำราคาขายไปสูงสุดถึง 5.27 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 185 ล้านบาท) หรือล่าสุดในเดือนมีนาคมปี 2024 นี้มีการ์ด Magic: The Gathering ที่ทำราคาไปสูงถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 105 ล้านบาท) นั่นก็คือการ์ด ปี 1996 Black lotus เกรด 10 ซึ่งหากใครไม่เคยรู้จัก TCG เห็นราคาแล้วต้องถึงกับตกใจอย่างแน่นอน แต่ในมุมกลับกันการืดที่มีราคาสูงบางใบ ในเวลาเพียงไม่กี่เดือนราคาก็สามารถหล่นลงมามากกว่า 50% ได้เช่นกัน การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน ประโยคนี้จึงควรท่องจำไว้ให้ขึ้นใจ
แล้วถ้าอยากเริ่มต้นเล่น TCG ซื้อที่ไหนได้บ้าง?
ในประเทศญี่ปุ่นมีร้านขายการ์ดเกม TCG อยู่มากมายแทบจะทุกเมืองของประเทศก็ว่าได้ แต่แหล่งที่มีสินค้า TCG ให้เลือกซื้อได้หลากหลายมากที่สุดก็คงไม่พ้นที่โตเกียว Akihabara เพราะมีร้าน TCG ตั้งเรียงรายจนคุณใช้เวลาทั้งวันก็ยังเลือกชมได้ไม่หมด นอกจากนี้ที่ Ikebukuro ก็ยังมีร้านให้เลือกซื้อเยอะไม่แพ้กัน แต่หากคุณถามว่าจะเลือกไปร้านไหนดี ร้านไหนมีชื่อเสียง ทางเราก็จะแนะนำให้ลองไปที่ร้าน Yellow Submarine ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศกว่า 25 สาขา และนอกจาก TCG แล้วยังมีฟิเกอร์ ของสะสมต่างๆ ให้ได้เลือกสรรค์กันอีกด้วย เริ่มน่าสนใจขึ้นมาแล้วใช่ไหมล่ะ? จริงๆ แล้วทาง tsunagu Japan ของเราได้มีโอกาสไปเที่ยวชมร้าน Yellow Submarine มาด้วย จะเป็นยังไงมาลองติดตามชมกัน!
ร้าน Yellow Submarine ในเครือบริษัท Hobby Base Yellow Submarine Co., Ltd. เป็นบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองไซตามะ จังหวัดไซตามะ ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการค้าปลีก การผลิต และการขายโมเดลของเล่น บอร์ดเกม ของสะสม รวมถึงการ์ดเกม TCG ด้วย ก่อตั้งเมื่อปี 1995 ชื่อสามัญคือ "Yellow Submarine" หรือเรียกสั้นๆ ว่า “YelSub" ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น และแต่ละสาขาก็จะมีสินค้าที่วางจำหน่ายแตกต่างกันออกไป
โดยร้าน Yellow Submarine นั้นแบ่งออกเป็นหลักๆ คือ (1)ร้านขายเกม ที่จะเน้นไปที่สินค้า การ์ดเกม TCG บอร์ดเกม และสินค้าอุปกรณ์ที่ใช้ฝนการเล่นเกมต่างๆ และร้านที่เป็นสาขา GAME SHOP จะมีให้บริการพื้นที่ไว้ให้ได้เล่นการ์ดเกมกันอีกด้วย (2)ร้านขายของสะสม จะเน้นไปที่สินค้าซื้อเพื่อสะสมหรือตั้งโชว์ เช่น ของสะสมจากอนิเมะ โมเดล ฟิกเกอร์ ของเล่น รวมไปถึงอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ อีกด้วย
ซึ่งจะแบ่งเป็นสาขาเฉพาะทางไปในแต่ละสาขาเพื่อที่จะสามารถให้บริการกับลูกค้าได้อย่างตรงความต้องการมากที่สุด จึงไม่แปลกเลยที่จะเห็นร้านสาขาที่อยู่ใกล้ๆ กันในแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้นหากคุณต้องการสินค้าหรือต้องการคำแนะนำจากพนักงานให้ตรงความต้องการมากที่สุดแล้วล่ะก็อย่าลืมเช็คว่าสาขานั้นๆ ของร้าน Yellow Submarine ด้วยว่าให้บริการเกี่ยวกับสินค้าใดเป็นหลัก
นอกจากนี้ยังมีบริการรับซื้อของอีกด้วย ซึ่งเป็นบริการที่สะดวกมากๆ เช่น หากท่านเปิดกล่องการ์ดและได้การ์ดที่ท่านไม่ต้องการสะสม หรือเปิดเจอการ์ดที่พอมีราคาก็สามารถทำการขายให้กับร้านได้เลย ไม่ต้องแบกกลับบ้านแถมได้เงินกลับมาในกระเป๋าอีกด้วย
รู้แบบนี้แล้วก็มาดูกันดีกว่าว่าแต่ละสาขานั้นให้บริการในด้านในบ้าง จะได้ไปใช้บริการได้ถูกสาขา
ร้านขายเกมเป็นหลัก
โตเกียว : สาขาอิเคะบุคุโระ GAME SHOP
โตเกียว : สาขามาจิดะ GAME SHOP
โตเกียว : สาขาอากิฮาบาระ RPG SHOP
คานากาว่า : สาขาโยโกฮาม่า
ไซตามะ : สาขาคาวาโกเอะ CARD SHOP
ชิบะ : สาขาชิบะ GAME SHOP
ฮอกไกโด : สาขาซัปโปโร GAME SHOP
โอซาก้า : สาขานัมบะ
เกียวโต : สาขาเกียวโต
ไอจิ : สาขานาโกย่า
เฮียวโกะ : สาขาฮิเมจิ
ฟุกุโอกะ : สาขา Magiccers Fukuoka
ร้านของเล่นและของสะสม
โตเกียว : สาขาชินจูกุ
โตเกียว : สาขา Tachikawa
โตเกียว : สาขาหลัก อากิฮาบาระ★Mint
คานากาว่า : สาขา Mizoguchi
คานากาว่า : สาขา โยโกฮาม่า
คานากาว่า : สาขา คาวาซากิ
ไซตามะ : สาขาหลัก Omiya &Play soft Miyahara
ชิบะ : สาขา Kashiwa Marui
โทจิกิ : สาขา Utsunomiya
โอซาก้า : สาขาหลัก นัมบะ
เฮียวโกะ : สาขา Sannomiya
ฮิโรชิม่า : สาขา ฮิโรชิม่า
นอกจากนี้ยังมีสาขาชิบะ ที่เน้นไปยังพวกสินค้า โมเดล ของเล่น ฟิกเกอร์ เครื่องมือ/วัสดุสำหรับโมเดล และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานอดิเรกอีกด้วย
ไปกันเลย! Yellow Submarine สาขาหลัก Akihabara★Mint
Yellow Submarine สาขาหลัก Akihabara★Mint ซึ่งตั้งอยู่หน้าสถานีอกิฮาบาระ ตึก Akihabara Radio Kaikan ชั้น 6F มาดูกันว่าที่สาขานี้มีสินค้าอะไรให้เลือกช็อปกันบ้าง!
โชคดีที่วันนี้เราไปพบกับผู้จัดการร้านของ สาขาหลัก Akihabara★Mint และได้มีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยเกี่ยวกับของสะสมและการ์ดเกม ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้นมาลองดูกันเลย
∟ ชอบของเล่น ของสะสมต่างๆ ไหม? ถ้าชอบ ชอบเกี่ยวกับอะไร?
ผู้จัดการ : ชอบมาก ตอนเด็กๆ สมัยประถมชอบเล่นโมเดลกันดั้ม และโตมาก็เริ่มต่อกันดั้มมาจนถึงช่วงก่อนทำงานเลย ก็เลยอยากจะลองทำงานเกี่ยวกับพวกของเล่นและของสะสม แต่หลังจากทำงานก็ยังมีต่อกันดั้มอยู่บ้าง แต่นานๆ ทีเนื่องจากงานค่อยข้างยุ่ง
∟ ทำงานที่ Yellow Submarine มานานหรือยัง? เข้ามาทำงานที่นี่ได้อย่างไร?
ผู้จัดการ : อย่างที่บอกเนื่องจากชอบพวกของเล่นต่างๆ จึงอยากทำงานเกี่ยวกับของเล่น ตอนแรกสมัครเข้ามาที่ Yellow Submarineโดยเป็นพนักงานพาร์ทไทม์เมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นทำงานอยู่ที่สาขาอื่น จนทำงานอยู่หลายปีและได้มีโอกาสสมัครเข้ามาทำงานเป็นพนักงานประจำในร้าน Yellow Submarine จนล่าสุดได้เลื่อนขั้นมาเป็นผู้จัดการของสาขานี้
∟ ของสะสมตอนนี้ยังมีสะสมอยู่หรือไม่?
ผู้จัดการ : ตอนนี้ก็ยังมีสะสมโมเดลกันดั้มต่างๆ อยู่ แต่ไม่ใช่รุ่นที่หายากหรือราคาสูงอะไร สะสมเป็นรุ่นที่ชอบ
∟ แล้วการ์ดเกม TCG ได้มีสะสมบ้างไหม?
ผู้จัดการ : การ์ดเกมต่างๆ ไม่เคยได้สะสมเลย เพราะส่วนมากก็จะซื้อแต่โมเดลกันดั้ม (หัวเราะ)
∟ TCG บูมขึ้นมากเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความคิดเห็นอย่างไร?
ผู้จัดการ : จริงที่การ์ดเกม TCG บูมขึ้นมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีทั้งนักสะสมและนักลงทุน รวมไปถึงนักเสี่ยงดวงที่เข้ามาเผื่อแสวงหากำไรจากการ์ดเปิดกล่องการ์ด หรือลงทุนกับการ์ดที่หายาก เช่น การ์ด One Piece ที่ไม่ว่าผลิตออกมากี่รุ่นก็ขายออกหมดอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าเมื่อมีความต้องการสูงกว่าจำนวนของสินค้า ก็จะมีบางคนที่จะนำกล่องหรือการ์ดต่างๆ ไปขายต่อเอากำไร หรือแม้กระทั่งรับต่อคิวซื้อของ หรือจับฉลาก ทำให้เกิดเป็นธรุกิจใหม่ๆ ขึ้นมาอีกมากมาย นี่ก็คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้วงการของสะสม รวมถึง TCG นั้นบูมขึ้นมา
∟ ที่ร้านสินค้าอะไรขายดีสุดหรอครับ ทั้งของสะสมและ TCG
ผู้จัดการ : ขายดีสุดน่าจะเป็นโมเดลกันดั้ม เนื่องจากที่นี่เราเป็นสาขาที่เน้นไปที่ของสะสม จึงมีสินค้ามีให้เลือกซื้อเยอะ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ กํมีครบครัน คนส่วนมากก็จะมาเลือกซื้อกันที่นี่ ส่วน TCG ก็คงจะหนีไม่พ้น การ์ด One Piece ที่ช่วงนี้กำลังจะออกรุ่นใหม่มาอีกหลายรุ่นเลยแหละ ก็รอติดตามดูกันด้วยนะ
∟ ถ้าอยากให้ทางผู้จัดการบอกสินค้าที่อยากแนะนำ อยากจะแนะนำอะไรดี?
ผู้จัดการ : สินค้าเรามีหลากหลายรวมไปถึงอนิเมะใหม่ๆ ที่กำลังฮิต จะให้แนะนำสินค้าอันนี้อาจจะต้องขึ้นอยู่กับบุคคลว่าชอบสินค้าแบบไหน อยากสะสมแบบไหน อย่างตัวผมชอบพวกโมเดลกันดั้ม ถ้าให้แนะนำก็น่าจะตอบว่าโมเดลกันดั้มแหละนะ
∟ ที่ร้านตอนนี้มีการ์ด TCG ราคาสูงๆ ให้เราได้ชมเป็นขวัญตาบ้างไหม?
ผู้จัดการ : ส่วนมากการ์ดที่มีวางจำหน่ายในร้านจะเป็ฯการ์ดที่ทำการรับซื้อมาและนำมาวางจำหน่าย บางช่วงอาจจะไม่ได้มีการ์ดมากนัก แต่วันนี้โชคดีนะ พึ่งจะมีการ์ดที่มูลค่ากว่า 2,000,000 เยน เข้ามาพอดี เดี๋ยวไปดูกันเลยมั้ย?
∟ ก่อนไปชมขอฝากข้อความให้นักสะสมมือใหม่หน่อยว่าถ้าอยากเริ่มต้นสะสมจะเริ่มอย่างไร?
ผู้จัดการ : หากอยากเริ่มสะสมอะไรสักอย่าง สำคัญที่สุดเลยคือเราต้องรักในสิ่งที่เราสะสมจริงๆ ไม่อย่างนั้นเราอาจจะอยู่กับสิ่งนั้นๆ ได้ไม่นาน และตอนนี้วงการของสะสมได้ขยายและเติบโตไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งแน่นอนว่ามีผู้ไม่หวังดีที่จ้องจะเข้ามาแสวงหารายได้จากสิ่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าปลอมแปลง หรือหลอกให้โอนชำระเงินก่อน เพราะฉะนั้นให้เลือกซื้อกับร้านที่มีความน่าเชื่อถือน่าจะเป็นการดีที่สุด แต่ที่สำคัญต้องไม่เดือดร้อนตัวเองและคนอื่นด้วยนะ หากต้องไปกู้ยืมเพื่อมาซื้อของสะสมแล้วหล่ะก็ การสะสมคงหมดความสนุกอย่างแน่นอน
และทางผู้จัดการร้านก็ได้พาเราไปดูที่มุมขายการ์ด ซึ่งมีวางขายอยู่เกือบจะเต็มตู้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีการ์ดที่ผู้จัดการบอกว่าพึ่งเข้ามาอยู่ด้วย จะเป็นการ์ดอะไรกันนะตั้ง 2,000,000 ล้านเยน หรือประมาณ 500,000 บาทเลยทีเดียว
พอได้มาเห็นก็ไม่แปลกใจเลย การ์ดใบนั้นก็คือ Magic: The Gathering "Black lotus" ที่เคยทำราคาสูงที่สุดในโลกของ TCG มาแล้วนั่นเอง ซึ่งใบนี้เนื่องจากสภาพอาจจะไม่ได้สวยงามมากนัก จึงตั้งขายอยู่ที่ 2,180,000 เยน (ปัจจุบันอาจขายออกไปแล้ว) นอกจากนี้ยังมีการ์ดงามๆ สวยๆ ราคาดีๆ ในตู้อีกเพียบให้ได้เลือกชม เลือกซื้อกันอีกด้วย และนอกจากการ์ดแล้วผู้จัดการยังพาเราไปดูสินค้าอื่นๆ ในร้านต่อกันอีกด้วย จะมีประเภทไหนบ้างมาตามชมกันต่อได้ด้านล่างเลย
สินค้าในร้าน Yellow Submarine สาขาหลัก Akihabara★Mint
นอกจากการ์ดเกมที่เป็นเป้าหมายหลักของเราในวันนี้แล้ว แน่นอนว่าทาง Yellow Submarine สาขานี้ยังมีสินค้าที่น่าสนใจอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโมเดลจากอนิเมะชื่อดัง เช่น ดาบพิฆาตอสูร, นารูโตะ, ดราก้อนบอล, One Piece, Spy x Family, Kaiju No.8, สตูดิโอจิบลิ และอื่นๆ อีกมากมาย (มีของเยอะมากจริงๆ เนื่องจากเป็นสาขาหลัก)
นอกจากโมเดลของสะสมต่างๆ แล้วที่นี่ยังมี บอร์ดเกม และมุมของฝาก ให้ได้เลือกหาซื้อติดไม้ติดมือกันกลับไปอีกด้วย
และสำหรับท่านที่ชื่นชอบด้านกีฬา เนื่องจากที่นี่ได้รับความร่วมมือกับทางร้าน MINT ซึ่งเป็นร้านขายการ์ดกีฬาและของสะสมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ที่นี่ก็เลยมีมุมที่จำหน่ายการ์ดกีฬาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล บาสเกตบอล และเบสบอล ให้ได้เลือกซื้อกันอีกด้วย
สรุปส่งท้าย
สุดท้ายนี้หากใครกำลังมองหาร้านขายการ์ดเกมและของสะสมอนิเมะต่างๆ ก็อย่าลืมแวะมาที่ร้าน Yellow Submarine ที่มีสาขาให้ไปแวะมากมาย หรือใครมาเที่ยวโตเกียวและอยากมาดูสินค้าที่หลากหลายละลานตาก็อย่าลืมแวะมาที่สาขา Akihabara กันดูนะ รับรองว่าอยู่เลือกดูกันได้ทั้งวัน และสำหรับใครที่อยากจะเริ่มสะสมอะไรสักอย่าง ก็อย่าลืมเลือกที่ตัวเองชอบแล้วเราจะมีความสุขกับการสะสมของเรา และอย่าลืมว่าต้องไม่เดือดร้อนคนอื่นด้วยนะ ถ้าหากต้องไปหาหยิบยืมคนอื่นจนตัวเองและคนอื่นเดือดร้อนนั้นแล้วจะทำให้การสะสมของเราอาจไม่ใช่การสะสมอีกต่อไป
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่