ข้อควรปฏิบัติพื้นฐานเมื่อเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น
ทุกๆ ปีที่ประเทศญี่ปุ่นจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่สร้างแรงสั่นสะเทือนได้น้อยมากจนเราแทบไม่รู้สึก แต่เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการเกิดแผ่นดินไหวสูงจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้น ในบทความนี้ เราจะมาแนะนำข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยขั้นพื้นฐานเมื่อคุณต้องเจอกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศญี่ปุ่น
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
แผ่นดินไหวเกิดขึ้นได้อย่างไร?
แผ่นดินไหวเกิดจากการเคลื่อนตัวของชั้นหินใต้ดินที่ก่อให้เกิดแรงดันใต้เปลือกโลก เมื่อเกิดแรงดันมากเกินไปก็จะทำให้ชั้นหินแตกและปลดปล่อยพลังงานออกมาทำให้เกิดแผ่นดินไหว
ประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก 4 แผ่น ได้แก่ แผ่นยูเรเชีย (Eurasian Plate), แผ่นอเมริกาเหนือ (North American Plate), แผ่นแปซิฟิก (Pacific Plate) และแผ่นทะเลฟิลิปปินส์ (Philippine Se Plate) นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง
แผ่นดินไหวครั้งที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งที่ใหญ่ที่สุดในบันทึกประวัติศาสตร์ คือ แผ่นดินไหวในประเทศชิลี (Great Chilean Earthquake) เมื่อปี พ.ศ. 2503 เป็นแผ่นดินไหวขนาด 9.5 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชิลีตอนกลางและก่อให้เกิดความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง และยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิที่ส่งผลกระทบต่อชิลีตอนใต้และเกาะฮาวาย ผลกระทบนี้ยังไปไกลถึงประเทศนิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์และญี่ปุ่นอีกด้วย
ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2549 - 2558 ประเทศญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขึ้นถึง 66 ครั้ง โดยครั้งที่ใหญ่ที่สุด คือ แผ่นดินไหวและสึนามิในภูมิภาคโทโฮคุ ในปี พ.ศ. 2554 ที่วัดขนาดได้ 9.0 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นเกือบ 20,000 ราย
ภาพด้านบน คือ โฆษณาที่ทางบริษัท Yahoo! ทำขึ้นเพื่อสร้างความตระหนักในการป้องกันภัยพิบัติ ข้อความในแถบสีแดงพูดถึงความสูงของคลื่นสึนามิ (16.7 เมตร) ที่ซัดเข้าฝั่งภูมิภาคโทโฮคุหลังจากเกิดแผ่นดินไหว
ลำดับการเกิดแผ่นดินไหว
Foreshock (แผ่นดินไหวนำ)
Foreshock เป็นการสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว การสั่นสะเทือนนั้นจะเป็น Foreshock ก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นตามมา
Main Shock (แผ่นดินไหวหลัก)
เมื่อเกิดแผ่นดินไหว จะมีการสั่นสะเทือนขนาดเล็กตามมาอีกเป็นระลอก การสั่นสะเทือนครั้งที่ใหญ่ที่สุดจะเรียกว่า Main Shock
Aftershock (แผ่นดินไหวตาม นิยมใช้คำทับศัพท์ว่า อาฟเตอร์ช็อก)
Aftershock คือ แผ่นดินไหวขนาดเล็กที่ตามมาหลังจากเกิด Main Shock ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลายครั้งและค่อยๆ ลดจำนวนลง
Aftershock มักมีความรุนแรงน้อยกว่า Main shock อย่างน้อย 1 แมกนิจูด ดังนั้น หาก Main shock มีความรุนแรงมาก Aftershock ก็อาจมีความรุนแรงมากพอที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื่องได้
ข้อควรปฏิบัติขั้นพื้นฐานเมื่อเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศญี่ปุ่น
หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว คนส่วนใหญ่มักบอกว่าไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในตอนนั้น ดังนั้น เมื่อรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนที่รุนแรง ขอให้คุณตั้งสติและเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ด้วยการปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้
เมื่ออยู่ในอาคารหรือที่ร่ม
อันตรายร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อคุณอยู่ในอาคารหรือที่ร่ม ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ล้มและกระจกหน้าต่างหรือหลอดไฟแตก ดังนั้น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวจึงควรปฏิบัติดังนี้:
・พาตัวเองไปอยู่ในบริเวณที่ห่างจากวัตถุสิ่งของที่สามารถตกใส่ตัวหรือล้มทับจนก่อให้เกิดอันตรายได้
・หลบใต้โต๊ะหรือเครื่องเรือนที่แข็งแรงเพื่อป้องกันไม่ให้เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือข้าวของบนชั้นต่างๆ ตกใส่
・หากเป็นไปได้ ควรสวมรองเท้าเพื่อป้องกันอุบัติเหตุในกรณีที่มีเศษแก้วแตกบนพื้น
・ควรอพยพออกจากห้องเมื่อการสั่นสะเทือนหยุดแล้วเท่านั้น
ตัวอย่างสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ และข้อควรปฏิบัติในแต่ละกรณี
เมื่ออยู่ในร้านอาหาร
เมื่อรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนให้หลบเข้าใต้โต๊ะทันที ร้านอาหารบางแห่งอาจกำหนดให้ลูกค้าต้องถอดรองเท้าเมื่ออยู่ในร้าน เมื่อต้องอพยพออกก็อย่าลืมสวมรองเท้าเพื่อป้องกันอันตรายด้วย
เมื่ออยู่ในห้องพักของโรงแรม
เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขณะที่คุณกำลังนอนอยู่ในห้องพักของโรงแรม ให้หลบใต้ผ้านวมหรือผ้าห่มจนกว่าเหตุการณ์จะสงบลง จะทำการอพยพได้ก็ต่อเมื่อการสั่นสะเทือนหยุดลงแล้วเท่านั้น ในกรณีนี้ ถึงแม้ว่าลิฟท์จะยังทำงานอยู่แต่คุณก็ควรใช้บันไดหนีไฟในการอพยพ เพราะลิฟท์อาจหยุดทำงานเมื่อไรก็ได้ เนื่องจากด้านในอาจมีเซนเซอร์ตรวจจับแผ่นดินไหวหรืออาจเกิดเหตุไฟฟ้าดับ ฯลฯ ซึ่งอาจจะทำให้คุณติดอยู่ภายในลิฟท์ได้
เมื่ออยู่ในห้องสุขา
หากเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ก็มีโอกาสสูงที่คุณจะติดอยู่ภายในห้องสุขา ดังนั้น หากคุณรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนที่รุนแรงก็ขอให้รีบเปิดประตูเอาไว้ก่อน แล้วหาทางออกไปยังโถงทางเดิน ทางเข้า หรือบริเวณอื่นๆ ในอาคารที่ปลอดภัยกว่าให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่ออยู่ในห้องน้ำหรืออ่างอาบน้ำ
เมื่ออยู่ในห้องน้ำหรืออ่างอาบน้ำให้หาอุปกรณ์ (เช่น กะละมัง) มาครอบศีรษะไว้เพื่อป้องกันอันตรายและรีบใส่เสื้อผ้าให้เร็วที่สุด จากนั้นให้หลบไปอยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยและรอจนกว่าเหตุการณ์จะสงบลง
เมื่อติดอยู่ในอาคาร
หากติดอยู่ในห้องหรืออาคาร ไม่ควรร้องตะโกนขอความช่วยเหลือเพราะจะทำให้เหนื่อยและสูญเสียพลังงาน ให้หาของแข็งมาทุบที่ผนังหรือประตูเพื่อส่งสัญญาณให้คนที่ผ่านไปมารู้ว่ามีคนอยู่ในห้องแทน
เราไม่อาจรู้ได้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นเมื่อไร มันอาจจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาหรือสถานการณ์ที่เราไม่คาดคิดก็ได้ ดังนั้น ทุกคนจึงควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับเหตุการณ์นี้อยู่เสมอ บทความนี้เป็นเพียงข้อควรปฏิบัติขั้นพื้นฐานเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเท่านั้น แต่เราสัญญาว่าจะมีข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นมาฝากคุณอีกแน่นอน
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถศึกษาคู่มือข้อควรปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้จากเว็บไซต์ การเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติของกรุงโตเกียว (ภาษาอังกฤษ)
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่