เหตุไฉนไยจึงเรียกคิวชู (เก้าจังหวัด) ทั้งๆ ที่จริงแล้วมีเพียงเจ็ดจังหวัด
คิวชู เป็นเกาะที่อยู่ทางใต้สุดของหมู่เกาะใหญ่สี่เกาะที่ประกอบเป็นประเทศญี่ปุ่น เป็นที่ตั้งของหลายๆ จังหวัดที่ทุกคนอาจเคยได้ยินและคุ้นเคยเช่น ฟุกุโอกะ นางาซากิ และคุมาโมโตะ นอกจากนี้คิวชูยังถือเป็นแหล่งพักผ่อนชั้นเยี่ยมที่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารรสเลิศและสภาพอากาศที่อบอุ่น แต่คุณรู้หรือไม่ว่าชื่อ "คิวชู" หมายถึง "เก้าจังหวัด" ในภาษาญี่ปุ่น แม้ว่าอันที่จริงแล้วบนเกาะจะมีเพียงแค่เจ็ดจังหวัดก็ตาม บทความนี้จะบอกเล่าถึงที่มาของชื่อนี้และพาคุณไปเจาะลึกประวัติศาสตร์ของคิวชูกัน
บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ
คิวชู อยู่ที่ไหน?
ญี่ปุ่นเป็นประเทศหมู่เกาะที่ประกอบด้วยเกาะหลักสี่เกาะ (ฮอกไกโด ฮอนชู ชิโกกุและคิวชู) รวมถึงเกาะเล็ก ๆ อีกกว่า 6,000 พันเกาะ ในบรรดาเกาะสำคัญทั้งสี่ คิวชูนั้นอยู่ห่างออกไปทางตะวันตกเฉียงใต้มากที่สุด
เจ็ดจังหวัดในคิวชูมีอะไรบ้าง?
เกาะคิวชูประกอบไปด้วยเจ็ดจังหวัด ได้แก่ โออิตะ ฟุกุโอกะ ซากะ นางาซากิ คุมาโมโตะ มิยาซากิและคาโกชิมะ ซึ่งเป็นชื่อที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินผ่านหูกันมาบ้าง
หลายคนคงคุ้นเคยกับนางาซากิเพราะที่นี่เป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับความเสียหายจากการทิ้งระเบิดปรมาณูในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของประวัติศาสตร์อันยาวนานในฐานะเมืองท่าที่เป็นประตูเชื่อมต่อกับต่างประเทศ เนื่องจากท่าเรือของเมืองนี้เป็นเพียงช่องทางเดียวที่ญี่ปุ่นใช้ในการติดต่อกับโลกภายนอกตลอดระยะเวลากว่า 214 ปีอันโดดเดี่ยวของญี่ปุ่น
สำหรับผู้ที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่น น่าจะเคยได้ยินชื่อจังหวัดฟุกุโอกะเนื่องจากเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นแหล่งรวมร้านอาหารและยังเป็นต้นกำเนิดของเครือราเม็งระดับนานาชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดเช่น Ippudo, Ichiran และ Hakata Ikkosha
นอกจากนี้ คุณคงเคยได้ยินชื่อ "ซากุระจิมะ (Sakurajima)" ภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นขนาดใหญ่ในจังหวัดคาโกชิมะ "คุมะมง" มาสคอตหมีดำสุดน่ารักและเป็นที่นิยมของจังหวัดคุมาโมโตะ บ่อน้ำพุร้อนเบปปุในตำนานของจังหวัดโออิตะ เครื่องลายครามอาริตะ ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดซากะ หรือ ช่องเขาทาคาจิโฮะที่สวยงามของจังหวัดมิยาซากิ
ที่จริงแล้วคิวชูถือเป็นสถานที่ที่รวมธรรมชาติอันสวยงาม อาหารแสนอร่อย ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่นไว้ด้วยกันอย่างลงตัวเลยทีเดียว
เพราะอะไรถึงเรียกว่า"คิวชู (เก้าจังหวัด)?
ในภาษาญี่ปุ่น คำว่า "คิวชู" นั้นเขียนด้วย 九州 ซึ่งแปลตรงตัวว่า "เก้าจังหวัด" ทว่าในความเป็นจริงนั้นมีเพียงแค่เจ็ดจังหวัดเท่านั้น ถ้าอย่างนั้นแล้วที่มาที่ไปของชื่อนี้มันคืออะไรกัน
คำตอบนั้นอยู่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นโบราณ
ชื่อภาษาญี่ปุ่นเดิมของเกาะคิวชูคือ "สุคุชิโนชิมะ (Tsukushinoshima)" ทว่าในช่วงราวศตวรรษที่ 8 รัฐบาลกลางได้ถูกก่อตั้งขึ้นในญี่ปุ่นภายใต้ระบบกฎหมายใหม่เรียกว่า "ริตสึเรียวเซ (律令制)" ซึ่งเป็นระบบที่รับมาจากจีน ในแนวคิดที่ว่า ทุกชีวิตของประชาชนรวมไปถึงที่ดินอยู่ในการปกครองของกษัตริย์ ภายใต้ระบบใหม่นี้ ญี่ปุ่นได้ถูกแบ่งออกเป็น 68 เขตปกครอง
ทั้งนี้ คิวชูได้ถูกแบ่งออกเป็นเก้าเขตการปกครอง ได้แก่ ฮิเซ็น ฮิโกะ ชิคุเซ็น ชิคุโกะ บุเซ็น บุงโกะ,ฮิวงะ ซัตสึมะและโอสุมิ คำเรียกรวมทั้งเก้าเขตปกครองนี้ก็คือ "คิวชู (九州)" หรือ "คิวโกกุ (九国)" หมายถึง "เก้าเขตปกครอง" นั่นเอง
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือเกาะชิโกกุ เกาะหลักอีกแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นก็ได้รับชื่อจากจำนวนเขตปกครองที่มีอยู่เช่นกัน (สี่คือ ชิโกกุ (四国) แปลว่า "สี่เขตปกครอง" ในภาษาญี่ปุ่น)
เมื่อถึงจุดหนึ่งของประวัติศาสตร์ ชื่อ "สุคุชิโนชิมะ" ก็เลือนหายไป และถูกเรียกว่าคิวชูแทน
เจ็ดจังหวัดในปัจจุบันบนเกาะคิวชูนั้น ถูกตั้งขึ้นหลังจากการปฏิวัติเมจิในช่วงปลาย ค.ศ. 1800 เมื่อรัฐบาลทหารศักดินาถูกยกเลิกและอำนาจกลับคืนสู่จักรพรรดิ เก้าเขตการปกครองถูกรวบเข้าด้วยกันเหลือเพียงเจ็ดจังหวัด แต่ยังคงชื่อคิวชูไว้ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ดังที่คุณเห็นในแผนที่ด้านล่าง จังหวัดฟุกุโอกะนั้นก่อตั้งขึ้นจากการรวมเขตปกครองชิคุเซ็น ชิคุโกะและบางส่วนของเขตบุเซ็นเข้าด้วยกัน จังหวัดโออิตะมาจากการรวมเขตบุงโกะและบางส่วนของเขตบุเซ็น จังหวัดซากะมาจากครึ่งทางฝั่งตะวันออกของเขตฮิเซ็น ส่วนทางครึ่งฝั่งตะวันออกกลายมาเป็นจังหวัดนางาซากิ จังหวัดคาโกชิมะมาจากเขตซัตสึมะและโออิสุมิ เขตฮิโกะกลายเป็นจังหวัดคุมาโมโตะ และเขตฮิวงะกลายเป็นจังหวัดมิยาซากิ
เขตการปกครองโบราณของคิวชูยังคงอยู่ต่อไปในอาหารพื้นเมืองทั้งห้าที่ตั้งชื่อตามเขตปกครองเก่า
แม้ว่าเขตปกครองเก่าของคิวชูจะถูกแทนที่ด้วยจังหวัดอย่างเป็นทางการ แต่ประเพณีหลายอย่างของเขตปกครองเก่านั้นยังคงมีอยู่มาจนถึงปัจจุบัน หากคุณได้เดินทางผ่านมาที่คิวชู คุณจะได้พบกับอาหาร งานฝีมือ ร้านค้าและสิ่งต่างๆ มากมายที่ยังคงมีชื่อของเขตปกครองเก่าเป็นส่วนหนึ่ง หากคุณได้พบเจอสิ่งเหล่านั้นเข้า มั่นใจได้เลยว่ามันต้องมีประวัติศาสตร์อันยาวนานอย่างแน่นอน
ชิคุเซ็นนิ (Chikuzenni)
หากคุณมีโอกาสไปเยือนฟุกุโอกะ (เดิมคือเขตปกครองชิคุเซ็น) หนึ่งในอาหารพื้นเมืองที่คุณควรลองคือเมนู "ชิคุเซ็นนิ (筑前煮)" เป็นเมนูเรียบง่าย ที่ใช้ไก่และผักชนิดต่างๆ หั่นเป็นชิ้นใหญ่ๆ ผัดเข้าด้วยกัน จากนั้นก็นำไปเคี่ยวในซอสรสเค็มและหวานที่ทำจากน้ำตาลและซอสถั่วเหลือง โดยอาหารประเภทที่นำไปเคี่ยวแบบนี้จะเรียกว่า "นิโมโนะ (煮物)" สามารถพบได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่สิ่งที่ทำให้เมนูชิคุเซ็นนินั้นพิเศษต่างออกไปคือการที่ส่วนผสมถูกทอดก่อนจะนำไปเคี่ยว ทำให้ได้รสชาติที่เข้มข้นขึ้นและเนื้อสัมผัสที่แตกต่างกันเล็กน้อย
เนื้อบุงโกะ (Bungo Beef)
วากิวเป็นหนึ่งในอาหารที่ติดอันดับอาหารที่ต้องลองในญี่ปุ่นของใครหลายๆ คน แต่คำว่า "วากิว (和牛)" นั้น เป็นเพียงคำทั่วไปที่ใช้เรียกเนื้อวัวญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งในวากิวหรือเนื้อวัวญี่ปุ่นนั้นก็มี "แบรนด์" ที่โด่งดังอยู่มากมายทั่วญี่ปุ่น โดยแต่ละแบรนด์ก็จะมีลักษณะเฉพาะที่ให้ความพิเศษแตกต่างกันไป
หนึ่งในแบรนด์เนื้อวัวที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในหมู่คนญี่ปุ่นคือเนื้อบุงโกะจากจังหวัดโออิตะ (เดิมคือเขตปกครองบุงโกะ) ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องเนื้อลายหินอ่อนที่สลับซับซ้อนสวยงาม เนื้อวัวคุณภาพสูงนี้แม้จะมีราคาที่แพง แต่จะไม่ทำให้ผู้ที่ได้ลิ้มลองผิดหวังอย่างแน่นอน!
ซัตสึมะอาเกะ (Satsumaage)
ซัตสึมะอาเกะ เป็นอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดคาโกชิมะ (ชื่อเดิมคือเขตปกครองซัตสึมะ) เป็นลูกชิ้นปลาปรุงรสชนิดหนึ่ง ทำจากเนื้อปลาที่นำมาขูดแล้วปรุงรส มักปั้นเป็นให้เป็นลูกกลมๆ ซัตสึมะอาเกะสามารถนำไปเป็นส่วนประกอบได้ในหลายเมนู แต่คุณมักจะเจอมันใน "โอเด้ง" เมนูหน้าหนาวสุดคลาสสิค (ดังที่แสดงในภาพด้านบน) ซึ่งประกอบด้วยส่วนผสมมากมายที่ต้มในน้ำซุปรสอ่อน รสชาติที่ละมุนชวนให้ติดใจ และสัมผัสหนึบๆ ทำให้ซัตสึมะอาเกะเป็นอีกเมนูที่คุณต้องลิ้มลอง!
ฮิวงะนัตสึ (Hyuganatsu)
หากคุณได้ไปเยือนจังหวัดมิยาซากิ (ชื่อเดิมคือเขตปกครองฮิวงะ) ในช่วงปลายฤดูหนาวหรือ ต้นฤดูใบไม้ผลิล่ะก็ อย่าได้ลืมลองชิม "ฮิวงะนัตสึ (日向夏)" ผลไม้ท้องถิ่นรสเปรี้ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเชียว ต้นฮิวงะนัตสึต้นแรกถูกค้นพบในสวนของใครบางคนในเมืองมิยาซากิเมื่อปีค.ศ. 1820 หลังจากนั้นไม่นานก็ได้รับการปลูกและขยายพันธุ์ไปทั่วภูมิภาค โดยเชื่อกันว่า ฮิวงะนัตสี เป็นผลไม้กลายพันธุ์ที่หาได้ยากมาจากยูซุ (ผลไม้ตระกูลจำพวกส้มและมะนาวพันธุ์ดั้งเดิมของญี่ปุ่น มีรสเข้มข้นเกินกว่าที่จะรับประทานสดๆ ได้) มีรสฉ่ำ หวานกำลังดีและเปรี้ยวเล็กน้อย โดยปกติจะรับประทานโดยลอกผิวด้านนอกออก แต่ทิ้งส่วนที่เป็นสีขาวหนาๆ เอาไว้
ฮิเซ็น ฉะกายุ (Hizen Chagayu)
อาหารจานนี้เป็นอาหารพื้นเมืองที่มีเฉพาะในพื้นที่ริมทะเลอาริอาเกะบนชายฝั่งจังหวัดซากะ (ชื่อเดิมคือเขตปกครองฮิเซ็น) "โอคายุ (Okayu)" คือเมนูข้าวต้มทั่วไปที่สามารถหาได้ทั่วประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับ "ฮิเซ็น ฉะคายุ" ถือเป็นข้าวต้มแบบพิเศษ ที่ทำโดยการใส่ผงชาเขียวลงไปในข้าวหุงเพื่อเพิ่มรสชาติและทำให้ข้าวมีสัมผัสที่นุ่มลื่น หากคุณมีโอกาสได้ไปเยือนพื้นที่ชายฝั่งที่สวยงามของจังหวัดซากะ คงไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการได้เริ่มต้นวันใหม่ด้วยเมนูฮิเซ็น ฉะกายุสักชามแน่ๆ
มาเปิดประสบการณ์แสนวิเศษที่คิวชูกันเถอะ!
อ่านจนถึงตรงนี้ คุณคงทราบที่มาขอชื่อคิวชูกันแล้ว ลองมาสัมผัสและเปิดประสบการณ์ที่แสนวิเศษมากมายของเกาะอันสวยงามแห่งนี้ที่รอให้คุณมาสำรวจ เชื่อเถอะว่าคิวชูเป็นหนึ่งในสถานที่ที่เจ๋งที่สุดของญี่ปุ่นในการเปิดโลกกว้าง ไม่ว่าคุณจะสนใจเรื่องอาหาร ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ หรือวัฒนธรรมเก่าแก่ของญี่ปุ่นก็ตาม หากคุณกำลังวางแผนจะเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นอยู่ล่ะก็ ลองเพิ่มจังหวัดของเกาะที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ลงในแผนการเดินทางของคุณดูสิ!
Visit Kyushu Official Website: https://www.visit-kyushu.com/en/
หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !
เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่