ไขข้อสงสัย ทำไมชาวญี่ปุ่นถึงอายุยืน??

ทุกคนอาจคุ้นหูกันดีว่าชาวญี่ปุ่นนั้นมักจะมีอายุยืน และกว่าห้าในสิบของคนที่อายุยืนที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนั้นอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ถ้าเราถามว่าทำไมคนญี่ปุ่นจึงมีอายุยืน ส่วนใหญ่ก็จะได้คำตอบว่าเป็นเพราะโภชนาการและวิถีชีวิต แต่จะมีปัจจัยอื่นๆ ที่คนไม่ค่อยทราบอีกไหม ที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นมีชีวิตยืนยาวและสุขภาพดี วันนี้เราจะไปหาคำตอบกัน!

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

บทความนี้อาจมีลิงก์พาร์ทเนอร์ หากคุณทำการซื้อผ่านลิงก์พาร์ทเนอร์ เราอาจได้รับค่าคอมมิชชั่นโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับคุณ

กินอะไร และกินเท่าไหร่

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขียนบทความเรื่อง 10 ข้อที่พึงระลึกไว้ในการมีชีวิตยืนยาว (list of 10 items to keep in mind in order to live a long life) ซึ่งทั้งสิบข้อนั้นสามารถย่อลงให้เหลือสามหัวข้อหลักๆ คือ โภชนาการ การออกกำลังกาย และการเข้าสังคม เรามาเริ่มจากการดูกันก่อนดีกว่าว่าโภชนาการของอาหารญี่ปุ่นนั้นมีบทบาทในชีวิตที่ยืนยาวเป็นพิเศษของพวกเขาอย่างไร

น้ำตาลน้อยกว่า

หลายคนที่เคยไปประเทศญี่ปุ่นมาแล้วจะสังเกตเห็นว่าชาวญี่ปุ่นนั้นผอมและมีสุขภาพดี ประชากรของประเทศญี่ปุ่นนั้นมีอัตราของโรคอ้วนต่ำที่สุดในโลก อยู่ที่เพียง 3.5% เท่านั้น ลองเทียบตัวเลขนี้กับประเทศอื่นๆ อย่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขขึ้นไปแตะถึง 25% และ 32% ตามลำดับก็จะเข้าใจ

โดยเฉลี่ยแล้ว ชาวญี่ปุ่นบริโภคน้ำตาล 50 กรัมต่อวันซึ่งยังถือว่าสูงกว่าคำแนะนำที่จำกัดไว้ที่ 30 - 35 กรัม แต่เมื่อเปรียบเทียบตัวเลขนี้กับชาวอเมริกาและยุโรปที่บริโภคราว 70 - 100 กรัมต่อวันแล้ว ความแตกต่างนั้นก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าทำไมชาวญี่ปุ่นถึงยังหุ่นผอมเพรียวกันอยู่

แคลอรี่น้อยกว่า

อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจคือค่าแคลอรี่ เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยแคลอรี่ที่รับเข้าไปในแต่ละวันต่อคนของประเทศญี่ปุ่นแล้ว จะอยู่ที่ประมาณ 2,700 แคลอรี่ต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทางฝั่งสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่รับเข้าไปวันละ 3,500 - 3,800 แคลอรี่อยู่เกือบ 1,000 แคลอรี่ เมื่อคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพมากมายที่มาพร้อมกับโรคอ้วน (โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองตีบ ฯลฯ) จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ประชากรในประเทศญี่ปุ่นจะมีสุขภาพดีกว่าและมีชีวิตยืนยาวกว่าจากการกินที่น้อยกว่าและบริโภคน้ำตาลน้อยกว่า

อีกหนึ่งข้อโต้แย้งถึงเหตุผลหลักๆ ที่ว่าทำไมคนที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นถึงได้ผอมกว่าก็คือโภชนาการของอาหารญี่ปุ่นนั้นมุ่งเน้นไปยังอาหารเพื่อสุขภาพมากกว่า เช่น คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคเนื้อปลาเป็นโปรตีนหลักแทนที่จะเป็นเนื้อวัว

นอกจากนี้ ตลาดนัดชาวไร่ยังหาได้ไม่ยากในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตลาดเหล่านี้มักจะมีผักที่สดใหม่กว่าผักที่วางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต แถมยังมีราคาถูกกว่าอีกด้วย ทำให้ได้รับประทานผักผลไม้สดใหม่ที่ดีต่อสุขภาพอยู่เสมอ

 

ทางเลือกเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า

ถึงบางคนจะไม่สามารถซื้ออาหารจากผู้ขายในท้องที่ได้ แต่คนญี่ปุ่นก็ยังสามารถหาตัวเลือกอาหารเพื่อสุขภาพอื่นๆ อีกมากมายได้อย่างง่ายๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นมักจะมีผักสด สลัด บะหมี่และปลาแบบต่างๆ ขายเป็นกล่องข้าวเบนโตะ

ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อของประเทศอื่นมีแนวโน้มที่จะขายอาหารขยะหรือของทอดที่เค็มหรือหวานจัด ถ้าคุณกำลังรีบเร่งและกำลังมองหาอะไรกินสักหน่อย การมีอาหารเพื่อสุขภาพไว้เป็นทางเลือกนั้นสร้างความต่างได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว

ชาเขียว

ชาวญี่ปุ่นนิยมดื่มชาเขียวกันมาก จนเป็นเครื่องดื่มจากตู้กดน้ำที่ขายดีที่สุด ในชาเขียวเต็มไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ว่ากันว่าช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้ แถมยังว่ากันว่าชาเขียวสามารถพัฒนาการทำงานของสมองและช่วยเผาผลาญไขมันได้อีกด้วย

จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่นที่เผยออกมาในปี 2010 จังหวัดชิซูโอกะและคาโกชิม่าที่เป็นสองแหล่งผลิตชาเขียวที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีอายุขัยเฉลี่ยของผู้หญิงอยู่ที่ 86 ปีและของผู้ชายอยู่ที่ประมาณ 80 ปีเลยทีเดียว

อาหารหมักดอง

ประเทศญี่ปุ่นมีการบริโภคอาหารหมักดองในปริมาณที่มากกว่าหลายๆ ประเทศ และแบคทีเรียที่มีประโยชน์ซึ่งอาศัยอยู่ในอาหารหมักดองนั้นจะช่วยทำให้สุขภาพช่องท้องดีขึ้น อาหารหมักดองหาได้ทั่วไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นโดยจะเสิร์ฟเป็นเครื่องเคียงจานเล็กๆ ในอาหารเกือบทุกอย่าง โดยเฉพาะที่จังหวัดนารานั้นขึ้นชื่อเรื่องสึเกโมโนะ (ผักดองแบบญี่ปุ่น) จังหวัดอิบารากิ (Ibaraki) จะขึ้นชื่อเรื่องนัตโตะ (ถั่วหมัก) ภูมิภาคคันโตขึ้นชื่อเรื่องอากามิโซะ (มิโซะแดง) และภูมิภาคคันไซขึ้นชื่อเรื่องชิมิโซะ (มิโซะขาว)

กระฉับกระเฉงและหมั่นเข้าสังคม หมายถึงสุขภาพที่แข็งแรง

เราจะถือว่าการมีสุขภาพดีและชีวิตยืนยาวของชาวญี่ปุ่นนั้นเป็นเพราะอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะความกระฉับกระเฉงแม้เข้าสู่วัยชราแล้วก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่น มีผลการวิจัยออกมายืนยันแล้วว่าความกระฉับกระเฉงเป็นกุญแจสำคัญในการมีชีวิตที่ยืนยาว และยังเพิ่มระดับการเข้าสังคมขึ้นเป็นสองเท่าตัวอีกด้วย

อีกหนึ่งการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่กินเวลาถึง 80 ปีให้ผลว่าการเข้าสังคมนั้นดีต่อสุขภาพโดยรวม ยิ่งไปกว่านั้น ความโดดเดี่ยวและความเหงาดูเหมือนจะเป็นนักฆ่าตั้งแต่แรกเริ่มเพราะทำให้สุขภาพและการทำงานของสมองถดถอย

รัฐบาลญี่ปุ่นออกมากระตุ้นให้ประชาชนออกไปทำงานที่สองหลังจากเกษียณแล้วหรือให้รอเกษียณหลังอายุเฉลี่ยที่ 62 ปี เพื่อให้ประชาชนยังคงกระฉับกระเฉงและมีสุขภาพดี ผู้สูงอายุหลายคนในประเทศญี่ปุ่นเป็นเกษตรกรผู้แข็งขัน อาศัยอยู่ที่แถบชนบทและทำงานที่ท้าทายความสามารถทางกายในช่วงวัย 80 ปีของพวกเขา

ในแง่ของสังคม แม้ว่าครอบครัวเดี่ยวจะกลายเป็นสิ่งปกติมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่นตลอดสองสามทศวรรษที่ผ่านมา แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่สมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุหลายคนจะอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกับลูกหลาน แรงสนับสนุนจากครอบครัวและการกระตุ้นจากปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวช่วยให้เหล่าผู้สูงอายุมีสุขภาพแข็งแรงและมีอายุที่ยืนยาว

อาจเป็นเพราะการดูแลสุขภาพ หรืออาจเป็นเพราะกรรมพันธุ์

โภชนาการและการออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ แต่โชคไม่ดีที่ความเจ็บป่วยและโรคภัยไข้เจ็บ บางครั้งก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่โชคดีสำหรับชาวญี่ปุ่นที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบสาธารณะสุขที่ดีที่สุดในโลก และยังสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย รวมถึงยังมีช่องทางในการรับการรักษาที่หลากหลายอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น 10% ของ GDP ญี่ปุ่นนั้นก็ถูกใช้สำหรับระบบสาธารณสุขอีกด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการกระตุ้นจากภาคเอกชนในการรักษาสุขภาพให้ดีเมื่อเข้าสู่วัยชรา ธนาคารในมัตสึโมโตะ (เมืองที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนากาโน่และเป็นเมืองที่มีค่าเฉลี่ยอายุขัยสูงที่สุด) เสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นสำหรับบัญชีออมทรัพย์ให้กับผู้สูงวัยที่มีการยืนยันว่าได้ไปตรวจสุขภาพมาตลอดสามปีติด แรงผลักดันในการป้องกันเพื่อหลีกเลี่ยงการรักษาจำพวกนี้ให้ผลที่ดีมาก และยังทำให้ค่ารักษาพยาบาลต่อหัวในจังหวัดนากาโน่ก็ค่อนข้างต่ำอีกด้วย

ยังมีข้อคิดเห็นอีกด้วยว่ากรรมพันธุ์ของชาวญี่ปุ่นเป็นปัจจัยที่มีผลต่อความอายุยืน ทั้งรูปแบบพันธุกรรม ND2-237 Met และยีนดีเอ็นเอ 5178 ซึ่งพบในเปอร์เซ็นต์ที่สูงในชาวญี่ปุ่นต่างก็มีส่วนช่วยให้อายุยืน ว่ากันว่ายีนส์พวกนี้ยังช่วยป้องกันโรคที่เริ่มเป็นในผู้ใหญ่ อย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (มักพบในวัยกลางคนถึงวัยชราต่างจากชนิดที่ 1 ที่มักพบในเด็ก) เช่นเดียวกับโรคทางสมองและโรคโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย

แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

สรุปส่งท้าย

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในช่วงไม่กี่รุ่นที่ผ่านมาของคนญี่ปุ่นที่มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามามากขึ้น ทำให้บางคนก็มีความคิดเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นอาจไม่ได้เป็นประเทศที่มี "ศตวรรษิกชน" (คนที่มีอายุเกิน 110 ปี) มากเท่ากับเมื่อก่อนอีกแล้ว

แต่ถึงอย่างนั้น ประเทศญี่ปุ่นก็ยังคงครองแชมป์คนที่มีอายุมากที่สุดในโลกอยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าสาเหตุที่คนญี่ปุ่นอายุยืนจะมาจากโภชนาการ สังคมแบบทั่วๆ ไป หรือกรรมพันธุ์เกี่ยวกับสุขภาพก็ตาม การนำวิถีชีวิตแบบชาวญี่ปุ่นในด้านต่างๆ มาปรับใช้ก็คงจะส่งผลดีต่อตัวเราไม่มากก็น้อยเลยล่ะ

หากมีคำถาม คำแนะนำ หรือข้อเสนอแนะใดๆ เกี่ยวกับบทความของเรา สามารถติดต่อและติดตามเราผ่านทางเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ได้เลย !

เนื้อหาในบทความนี้ อัพเดทล่าสุด ณ วันที่เผยแพร่

รับส่วนลดมากมายในญี่ปุ่น ที่นี่!

เกี่ยวกับนักเขียน

Jack
Jack Xavier
Jack Xavier มีความหลงใหลในการค้นพบและแนะนำวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้โลกได้รับรู้ หลังจากอาศัยอยู่ในญี่ปุ่นมาเกือบทศวรรษ เดินทางไปยังเกือบ 47 จังหวัดของญี่ปุ่น และรู้จักถนนหนทางในโตเกียวดีกว่าชาวโตเกียวส่วนใหญ่ ด้วยทัศนคติที่ว่า "ยังมีอะไรให้เรียนรู้อีกมากมาย" เกี่ยวกับญี่ปุ่น จึงมีความอยากรู้อยากเห็นและตื่นเต้นอยู่เสมอที่จะแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับญี่ปุ่นกับทุกคนที่สนใจ
  • แผนการท่องเที่ยวคัดสรรค์โดยนักเขียน tsunagu Japan!

ค้นหาร้านอาหาร